ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปหาราทสูตร ว่าด้วยท้าวปหาราทะจอมอสูร


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๐๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่
ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา
ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท้าวปหาราทะจอมอสูรว่า
ปหาราทะ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร.


ภ. ปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร
ที่พวกอสูรเห็นแล้วย่อมอภิรมย์.


ป. มี ๘ ประการ พระเจ้าข้า ๘ ประการเป็นไฉน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ
หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ
หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมเสมอ ไม่ล้นฝั่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง
นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ
เพราะในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ
และในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในมหาสมุทร
พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือ
แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว
ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือ
แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว
อย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๔ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร
และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร
มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร
และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร
มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ๆ
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๖ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด
ในมหาสมุทรนั้น มีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์
สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด
ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์
สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ
สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา
พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ
๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ
และสิ่งที่มีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา
พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ
๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้แลธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ
ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้บ้างหรือ.


ภ. ปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้.


ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้
มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ภ. มี ๘ ประการ ปหาราทะ ๘ ประการเป็นไฉน
ปหาราทะ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด
ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ
มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ
มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยฉับพลัน
ปหาราทะ ข้อที่ในธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ
มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ
มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยฉับพลัน
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด
สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
ปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้
แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๒
ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ
เพราะในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที ฉันใด
ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้มีทุศีล มีบาปธรรม
มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์
เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น
ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง
ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา
ปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปกรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ
ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์
เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น
ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่านกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง
ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา
ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว
ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด
ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นศากยบุตรทั้งนั้น
ปหาราทะ ข้อที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งนั้น
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร
และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร
มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ๆ ฉันใด
ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมาก
vจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยการปรินิพพานนั้น
ปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยการปรินิพพานนั้น
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด
ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส
ปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรส
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด
รัตนะในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์
สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด
ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด
รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
ปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด
รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ ๆ
สิ่งที่มีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา
พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์
๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่ ฉันใด
ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ
สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนี้ มีดังนี้ คือ
พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล
พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อพระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์
ปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ
สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนี้มีดังนี้ คือ
พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล
พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสาทาคามิผล
พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอานาคามิผล
พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่
ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล
ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่.


ปหาราทสูตร จบ



(ปหาราทสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP