จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุยเรื่องภาพพระพุทธรูป


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



267 destination



เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา
หลายท่านคงจะได้อ่านหรือฟังข่าวเกี่ยวกับภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน
โดยได้มีน้องนักศึกษา สาขาศิลปศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้วาดขึ้น
และได้นำไปจัดแสดงในงานศิลปะแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา
หลังจากนั้น เรื่องนี้ก็เป็นกระแสวิจารณ์กันอย่างมากในโซเชียลมีเดีย
โดยก็ได้มีการนำนักศึกษาพร้อมอาจารย์ผู้สอนไปกราบขอขมา
ต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถของพระอารามหลวงในวัดแห่งหนึ่ง
และขอขมาต่อหน้าเจ้าคณะจังหวัดด้วย
ซึ่งน้องนักศึกษาก็ได้ชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาลบหลู่พระพุทธศาสนาแต่อย่างใด


ในเรื่องนี้ ได้มีชาวพุทธบางกลุ่มที่ไม่พอใจ ได้ออกมาแจ้งความร้องทุกข์
เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาลบหลู่พระพุทธศาสนา
และมีชาวพุทธกลุ่มอื่น ๆ ที่แสดงความเห็นแตกต่างกันไปต่าง ๆ นานา
เช่น ชาวพุทธบางกลุ่มให้ความเห็นว่าปัญหานี้เกิดจาก
การที่ชาวพุทธไปยึดถือพระพุทธรูปว่าเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า
แทนที่จะยึดถือพระธรรม ซึ่งก็เป็นความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันไปครับ


คราวนี้ เราก็จะสนทนากันในเรื่องพระพุทธรูป หรือภาพพระพุทธรูป
ในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่ได้มีการสร้างพระพุทธรูป
แต่การสร้างพระพุทธรูปได้เริ่มขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ถึง ๕๕๐
ในยุคสมัยที่พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ หรือพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก
ได้เข้ามาครอบครองแคว้นคันธารราฐ (ปัจจุบันเป็นดินแดนของอัฟกานิสถาน)
และแผ่อาณาเขตไปทั่วบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป
โดยพระเจ้ามิลินท์ได้พบพระสงฆ์ท่านหนึ่งนามว่า พระนาคเสน
จึงมีเรื่องราวแห่งการตั้งคำถามของพระเจ้ามิลินท์ต่อพระนาคเสน
ทำให้พระเจ้ามิลินท์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
และได้เริ่มสร้างประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมายขึ้น
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B


สำหรับพระพุทธรูปนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอน
ให้เหล่าสาวกถือว่าพระพุทธรูปเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้านะครับ
แต่ทรงสอนว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว
ให้ถือว่าธรรมและวินัยอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงแล้ว
เป็นศาสนาแทนพระองค์
ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี
ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ
ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=141&items=1&preline=0&pagebreak=0


แม้ว่าพระพุทธรูปจะไม่ได้ถือเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้าก็ตาม
แต่พระพุทธรูปก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้

หรือที่เราเรียกว่า “เจดีย์”
ใน
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“เจดีย์ ๔” หมายถึง สิ่งที่ก่อขึ้น, ที่เคารพบูชา, สิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึง,
ในที่นี้หมายถึง สถานที่หรือสิ่งที่เคารพบูชา
เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา
เรียกเต็มว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หรือ พุทธเจดีย์ ได้แก่
๑. ธาตุเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ)
๒. บริโภคเจดีย์ (เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔
ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค
เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น)
๓. ธรรมเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์
แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น)
๔. อุทเทสิกเจดีย์ (เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=141
ดังนี้แล้ว พระพุทธรูปจึงถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์
ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพบูชาหรือสิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึงเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า


ในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึงอุทเทสิกเจดีย์หรือพระพุทธรูปไว้ด้วย
โดยใน
อรรถกถา กาลิงคโพธิชาดก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
กล่าวว่า พระอานนทเถระรับว่า ดีละ แล้วทูลถามพระตถาคตว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจดีย์มีกี่อย่าง
พระศาสดาตรัสตอบว่า มีสามอย่าง อานนท์
พระอานนทเถระทูลถามว่า สามอย่างอะไรบ้าง พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า ธาตุเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ อุทเทสิกเจดีย์ ๑
พระอานนทเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไป ข้าพระองค์อาจกระทำเจดีย์ได้หรือ
พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ สำหรับธาตุเจดีย์ไม่อาจทำได้
เพราะธาตุเจดีย์นั้น จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ ก็ไม่มีวัตถุปรากฏ เป็นเพียงเนื่องด้วยตถาคตเท่านั้น
ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้
ถึงพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม
ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1790&p=1


ในอรรถกถาของนิธิกัณฑสูตร (ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ) กล่าวว่า
เจดีย์นั้นมี ๓ อย่าง คือ บริโภคเจดีย์ อุทิสสกเจดีย์ ธาตุกเจดีย์
บรรดาเจดีย์ทั้ง ๓ นั้น โพธิพฤกษ์ ชื่อว่าบริโภคเจดีย์
พระพุทธปฏิมา ชื่อว่าอุทิสสกเจดีย์
พระสถูปที่มีห้องบรรจุพระธาตุ ชื่อว่าธาตุกเจดีย์
บัณฑิตรู้จักเจดีย์เป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ พึงทราบความแห่งคาถานี้อย่างนี้
ขุมทรัพย์นั้นใดตรัสว่า เป็นอันฝังดีแล้ว
ขุมทรัพย์นั้นที่เขาฝังไว้ในวัตถุเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว
เพราะเหตุไร เพราะสามารถอำนวยผลที่น่าปรารถนาได้ตลอดกาลนาน
จริงอย่างนั้น ชนทั้งหลายถวายในพระเจดีย์แม้เล็กน้อย
ย่อมเป็นผู้ได้ผลที่ปรารถนาตลอดกาลนาน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=9&p=1


แม้ว่าพระพุทธรูปจะถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์
หรือเป็นสิ่งที่เคารพบูชาหรือสิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึงเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าก็ตาม
แต่การได้เห็นพระพุทธรูปก็ยังไม่ถือว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า
ในวักกลิเถราปทาน (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก) นั้น
พระวักกลิเถระเล่าว่า “พระพิชิตมารทรงทราบว่า
เรายินดีในพระพุทธรูป จึงได้ตรัสสอนเราว่า
อย่าเลยวักกลิ ประโยชน์อะไรในรูปที่น่าเกลียดซึ่งชนพาลชอบเล่า
ก็บัณฑิตใดเห็นสัทธรรม บัณฑิตนั้นชื่อว่าเห็นเรา
ผู้ไม่เห็นสัทธรรมถึงจะเห็นเรา ก็ชื่อว่าไม่เห็น”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=2767&Z=2841&pagebreak=0


ในประเด็นที่ว่าการวาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมน
จะถือว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธรูปหรือ
อุทิสสกเจดีย์หรือไม่นั้น
ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาพิจารณาในบทความนี้
เพราะว่าเราต้องพิจารณาเจตนาของผู้วาดเป็นสำคัญ
(ซึ่งพฤติการณ์ก็ย่อมจะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงเจตนาได้)
โดยตามข่าวนั้น น้องนักศึกษาได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่
และได้มีการไปขอขมาต่อพระประธานในวัด และเจ้าคณะจังหวัดแล้ว


ในประเด็นสำคัญที่เราควรจะนำมาพิจารณาในส่วนตนเองก็คือ
หากเราได้พบข่าวใด ๆ ที่เราเห็นว่าอาจลบหลู่พระรัตนตรัยแล้ว
เราไม่ควรที่จะปล่อยให้ความโกรธหรือแค้นใจครอบงำจิตใจเรา
แต่ควรจะอธิบายชี้แจงให้เห็นตามความเป็นจริงครับ


ในพรหมชาลสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ก็ตาม
เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้หรือ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น
คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่า นั่นไม่จริง
แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย
และคำนั้นจะหาไม่ได้ในเราทั้งหลาย


ภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้น
ภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น
อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์
ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า
นั่นจริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้นก็มีในเราทั้งหลาย
และคำนั้นจะหาได้ในเราทั้งหลาย.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1&Z=1071&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP