สารส่องใจ Enlightenment

จิต (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร




จิต (ตอนที่ ๑) คลิก



เมื่อเรามี พุทโธ มีธัมโม มีสังโฆอยู่แล้ว
พุทโธคือเรารู้อยู่แล้ว ธัมโมก็คือเราก็ทำคุณงามความดีอยู่แล้ว
สังโฆเราได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่แล้ว
นี่แหละความชั่วทั้งหลายมันก็สลายไปเอง
เปรียบเหมือนกับมืดนี่แหละ เราจุดไฟขึ้นแล้วมืดมันก็หายไปเอง
ก็มีแต่ความสว่างไสว มีแต่ความผ่องใส นี่แหละเราอยากได้ไหมล่ะอย่างนี้
ให้พากันดูซิข้าศึกศัตรูมาจากไหน ภัยเวรมาจากไหน
มันไม่มาจากอื่นจากไกล มันมาจากราคะ โลภะ โทสะ โมหะนี่เอง
โลภัคคินา ความโลภมันเป็นไฟ
โทสัคคินา ความโกรธเป็นไฟ
โมหัคคินา ความหลงเป็นไฟ
ไฟนี้แหละมาไหม้หัวใจของเราให้วุ่นวาย เดือดร้อนหมดทั้งประเทศชาติบ้านเมือง
ด้วยเหตุนั้นเราจึงได้พากันมาทำบุญทำกุศลเพื่อระงับดับอันนี้ ไม่ใช่ระงับดับอื่นไกล
สมมติว่าเราให้ทาน เราก็ระงับดับความโลภนี่เอง
มันโลภมาเท่าไรเราก็สละออกไปเท่านั้น เป็นอย่างนี้แหละ



อนึ่งเรามารักษาศีล นี่เพื่อระงับดับความโกรธของเรา
เมื่อเรามีความโกรธแล้วเราก็ระลึกถึงศีลของเรา
นึกถึงเหตุใดศีลของเราจึงบกพร่อง นึกว่าเราโกรธอย่างนี้
เราเกิดมาจึงเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เป็นคนทุกข์ใจ เป็นคนใบ้คนบ้า
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ละได้เรื่องความโกรธของเรา
เมื่อเกิดโมโหโทโสขึ้นแล้ว มันเกิดฆ่ารันฟันแทงกัน เกิดปล้นสะดมกัน เกิดฆ่ากัน
ไม่ว่าอะไรทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้
เรามารักษาศีล เราก็รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจของเราให้เรียบร้อย
เราไม่ทำโทษน้อยใหญ่ทางกายทางใจแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มี
เกิดมาในชาติไหนภพไหนเราก็เป็นคนเรียบร้อย ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
นี่ให้เข้าใจไว้ ศาสนาท่านสอนไว้อย่างนี้
ทีนี้โมหะคือความหลง ท่านสอนให้เราภาวนา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ภาวนา พุทโธ๊ พุทโธ หมั่นระลึกไว้เราก็ไม่หลง



เมื่อเราไม่หลงแล้วเราก็ไม่กระทำความชั่ว กลัวบาปกลัวกรรมกลัวทุกข์กลัวยาก
เราก็นั่งไม่หลงแล้ว นั่งก็มีพุทโธ เป็นผู้รู้อยู่
นอนก็รู้อยู่ ยืนก็รู้อยู่ เดินก็รู้อยู่ ไปไหนก็รู้อยู่ เราอยู่เดี๋ยวนี้ก็รู้
ใจของเราเบิกบาน ใจเราเยือกใจเราเย็น ใจเราสุขใจเราสบาย
นี่แหละ เราทั้งหลายถามใครๆ ว่าบ้านเมืองของเราวุ่นวายมันเดือดร้อน
ร้อนที่ไหน นั่งดูซี่ ร้อนที่ไหนก็แก้ตรงนั้นซี่ ให้พากันแก้
เรามานี่คนมากน้อยเท่าไรล่ะ ต่างคนต่างสงบมันก็ไม่มีอะไร
มันก็มีระเบียบเรียบร้อยดี นี่แหละบุญกุศลมันเป็นอย่างนี้
เหตุนั้นให้พากันฟังให้รู้ให้เข้าใจต่อไป ให้พากันหมั่นภาวนา
เอ้า นั่งเข้าที่ฟังธรรม เทศน์ให้ฟังแล้ว มันสงบหรือไม่สงบ
นั่งเข้าที่ นั่งให้สบ๊ายสบาย ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ตั้งกายให้ตรงนั่งให้สบายๆ เรามานี่เราต้องการความสุขความสบาย
นั่งให้สบายๆ กายเราสบายแล้ว
ทีนี้ฟังธรรม ฟังรูปธรรมนามธรรม ฟังธรรมฟังยังไงเล่า
กายสบายแล้วก็นึกถึงดวงใจของเรา
นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์สาวกอยู่ในใจ


เมื่อเรานึกในใจอย่างนี้แล้ว ในเบื้องต้นนึกคำบริกรรมภาวนาเสียก่อน
ผู้เคยภาวนาแล้วก็ให้ดูใจแล้วภาวนานึกเอาเลย
ผู้ไม่เคยภาวนาก็ให้ระลึกอย่างนี้ว่า
พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ
สามหนแล้วให้รวมเอาแต่พุทโธคำเดียว
หลับตางับปากเสีย ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ให้ระลึกเอาในใจ
ระลึกเพราะเหตุใดเล่า ให้ระลึกในใจของเรา
พุทโธ ความรู้สึกเกิดตรงไหนแล้ว ตั้งสติไว้ตรงนั้น
ตาก็เพ่งดูที่ตรงนั้น หูก็ลงไปฟังที่ตรงนั้น
เราอยากได้ยินว่าความสุขมันเป็นยังไง ตาเราก็อยากเห็น ใจเราก็อยากรู้
ความรู้ตรงไหนแล้ว อยู่ตรงนั้น มันเป็นยังไงเล่า ให้เข้าวัดดู
ใจของเราเป็นบุญหรือเป็นบาป มันเป็นบุญเป็นยังไงเล่า
ใจเราดีหรือชั่วให้รู้จัก ดีมันเป็นยังไง ใจเราดีคือใจเราสงบ
มีความสุขความสบาย เย็นอกเห็นใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่วุ่นไม่วาย
พุทโธใจเบิกบานสบ๊าย พุทโธใจสว่างไสว พุทโธใจผ่องใสสะอาด
ปราศจากทุกข์ปราศจากโทษ ปราศจากภัยปราศจากเวร
ปราศจากความชั่วช้าลามก ปราศจากความทุกข์ความจน
ปราศจากโรคปราศจากภัย



นี่ดูเอา ใจเราสงบแล้ว ผู้นี้ไม่ได้ทำบาปทำกรรม กรรมมันจะมาจากไหนเล่า
ใจเราสว่างไสวผ่องใส ใจเราผ่องใส มันก็มองเห็นตนมองเห็นตัว
เห็นเขาเห็นเรา มองเห็นนรกมองเห็นสวรรค์ มองเห็นบุญมองเห็นบาป
ก็ดูซี่ บุญเป็นยังไง อธิบายมาแล้ว
ใจเรามีความสุขมีความสบาย นี่แหละบุญ
เมื่อเราดับขันธ์ก็ไปอยู่ที่สุขที่สบาย นี่แหละพากันฟังให้รู้ให้เข้าใจต่อไป
บาปเป็นยังไง เข้าวัดแล้วฟังธรรม ฟังดูซี่
บาปคือใจเราไม่ดี ใจไม่ดีก็ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน
ใจนี่นำสัตว์ทั้งหลายตกทุกข์ได้ยากในปัจจุบันและเบื้องหน้า
ใครๆ ก็ไม่อยากได้ไม่ใช่เหรอ


เมื่อใจไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี การงานก็ไม่ดี ครอบครัวก็ไม่ดี
ทำมาหากินเล่าเรียนอะไรก็ไม่ดี ชาวบ้านร้านตลาดประเทศชาติก็ไม่ดี
เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ใช่อื่น ไม่ใช่ฟ้าอากาศไม่ดี ใจเราไม่ดี
รีบนึกพุทโธตัดมันเสีย ให้รู้ไว้เสียเดี๋ยวนี้
เอ้า ต่อไปลองดู มันดีหรือไม่ดี สอบดูซี่ ใครดีไม่ดีก็รู้ตรงนี้แหละ
ใครดีก็ดูเอา ใครไม่ดีก็ดูเอา เราอยากได้ก็สร้างเอา
ไม่มีเทวบุตรเทวดาทำให้ ไม่มีพระพรหมทำให้
บ้านเมืองวุ่นวายเดือดร้อนจะทำวิธีไหน ก็ต่างคนต่างสงบอย่างนี้แหละ
อำนาจบุญกุศลกำจัดภัยกำจัดเวร กำจัดความชั่วช้าลามก
กำจัดความทุกข์ความจนได้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้
ด้วยอานุภาพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์น่ะแหละ ไม่มีอานุภาพอื่น
นี่แหละบ้านเมืองของเราก็จะอยู่เย็นเป็นสุข
ใจเราเป็นสุข บ้านเมืองก็เป็นสุข
ก็ใจคนนี้สร้างบ้านสร้างเมือง ใจคนนี้เป็นผู้รักษาประเทศชาติ
ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นก็อาศัยเรานั่งสมาธิภาวนานี้แหละ
ให้ดูใจเราสงบ มันสงบแล้วก็ไม่มีบาปไม่มีกรรม ไม่มีความชั่ว
มีแต่ความสุขความเจริญ


เมื่อใจไม่สงบแล้ววุ่นวายเดือดร้อน
เมื่อเห็นแล้วเราก็รีบแก้รีบชำระสะสางหัวใจของเรา
ต่างคนต่างสงบแล้ว มันก็สงบไปหมดดอก
ต่อไปแต่นี้ให้สัญญาณไว้ ได้ยินเสียงอะไรก็ตามให้รู้ว่าไม่มีอันตราย
แล้วเราก็ไม่ต้องเดือดร้อน ต่างคนต่างฟัง
ฟังได้ยินแล้วน้อมเข้าไปหาตนของตน...


(นั่งสมาธิ) นั่งให้สบาย อยากสุขอยากสบาย ทำใจให้มันว่าง ทำใจให้มันนิ่ง
มันข้องอะไรมันคาอะไรรีบแก้ไขเสียเดี๋ยวนี้
ตายแล้วแก้ไม่ได้น้า ถึงตัวแล้วแก้ไม่ได้น้า รีบแก้เสียในเบื้องต้นนี้
จะคอยให้ท่านอาจารย์หลวงปู่เมตตา ให้หลวงตาเมตตา
ใครเป็นทุกข์เป็นร้อนก็ให้ท่านเมตตา เราเองล่ะไม่เมตตาตน
เมตตาตนซี่ เอ็นดูตนจึงมานั่งอย่างนี้ ถ้าใครไม่เอ็นดูตนแล้วก็มานั่งไม่ใด้
เมตตาตน นั่งดูตน ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ตนดีหรือไม่ดี ให้รู้จัก
ไม่ใช่ฟ้าอากาศดี ไม่ใช่ฟ้าอากาศไม่ดี ดูเอาซี่
ไม่ใช่ฟ้าอากาศเป็นทุกข์ หัวใจเราเป็นทุกข์
เราไม่ต้องการทุกข์ก็นึก พุทโธ พุทโธ ให้ใจมันสงบ
ใจสงบแล้วก็หมดทุกข์ หมดเคราะห์ หมดเข็ญ หมดกิเลส หมดจัญไร
เพราะผู้นี้ไม่ได้ทำบาปทำกรรม กรรมมันจะมาจากไหน
เราไม่ไปกำเอา เราไม่ทำเอา เราไม่สร้างเอา กรรมมันจะมาจากไหนล่ะ
กรรมมันไม่ได้เกิดจากดินฟ้าอากาศ
เกิดจากกายของเรา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม



เวลานี้กายกรรมของเราก็เรียบร้อยแล้ว วจีกรรมของเราก็เรียบร้อยแล้ว
ยังเหลือแต่มโนกรรม มโนความน้อมนึก
เรานึกกรรมอันใดไว้ กรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจะรับผลของกรรมสืบไป
กรรมดีน่ะเราจะรู้ได้อย่างไร ใจเราสงบดี มีความสุขความสบาย นี่แหละกรรมดี
กรรมไม่ดีเป็นยังไงเล่า ใจไม่ดี ทะเยอทะยานดิ้นรน
ใจทุกข์ใจยาก ใจเดือดใจร้อน นี่กรรมไม่ดี
นำให้ทุกข์ นำให้ยากในปัจจุบันและเบื้องหน้า...
(นั่งต่อ)... ใครเป็นยังไงรู้จักตรงนี้แหละ ดีหรือไม่ดี
ให้ตรวจดูบุญของเรา ตรวจดูหัวใจของเรา
เราให้ทานร้อยหนพันหนไม่เท่าเรานั่งสมาธิหนเดียว มีผลานิสงส์มาก
นี่แหละ ให้พากันทำบุญกุศลสร้างคุณงามความดี บ้านเมืองจะได้อยู่เย็นเป็นสุข
อาศัยพระพุทธศาสนาสอนกายสอนใจของเราให้ละความชั่ว
กลัวเราทุกข์กลัวเรายาก กลัวเราลำบากกลัวเรารำคาญ
ท่านให้ทำคุณงามความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
ธรรมะคำสั่งสอนได้นำมาแสดงในธรรมจักกัปวัตนสูตร



สรุปแล้วคือกายและใจเป็นที่ตั้งแห่งพุทธศาสนา
เป็นที่ตั้งแห่งมรรคและผล เป็นที่ตั้งแห่งความสุขความเจริญ
เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้ว โยนิโสมนสิการพากันกำหนดจดจำไว้แล้ว
นำไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดตนของตนไปในธรรมคำสั่งสอน
ในท้ายที่สุดอัปปมาทธรรม เมื่อท่านทั้งหลายไม่มีความประมาทแล้ว
จะประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญ
ดังได้แสดงมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้




(ถอดจากบันทึกในแถบบันทึกเสียงของคุณเฉลา ปัทมสถาน
ม.ร.ว.ส่งศรี เกตุสิงห์ ผู้ถอด อวย เกตุสิงห์ ผู้เรียบเรียง)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก “อาจาโรวาท” ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๐


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP