สารส่องใจ Enlightenment

พระอริยเจ้าจะมีอภิญญาต่างๆ ทุกท่านหรือไม่



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร



ปุจฉา - หลวงปู่ครับ ผมมีข้อสงสัยทางธรรมที่อยากถามหาความรู้จากหลวงปู่ ดังนี้ครับ

๑. การปฏิบัติกรรมฐานในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ นั้น
จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติมีความสามารถพิเศษ
เช่น การมีฤทธิ์มีฌานแก่กล้าเดินย่นระยะทางได้ เป็นเช่นนี้ทุกๆ คนหรือไม่


๒. สาเหตุที่ถามในข้อ ๑
ก็เพราะผมอ่านประวัติพระในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เกือบทุกรูป
ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อชา หลวงปู่อ่อน
ล้วนมีปรากฏการณ์แสดงให้เห็นว่าท่านเหล่านี้สามารถกระทำในสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น
แม้ว่าองค์ท่านแต่ละรูปจะสั่งสอนทุกคนไม่ให้ไปติดยึดกับสิ่งเหล่านี้ก็ตาม


๓. จากปรากฏการณ์ดังกล่าว
ผมจึงอยากทราบว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะพระบางรูปเท่านั้น
หรือว่าหากใครปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน๔ หรืออภิญญาต่างๆ แล้ว
ก็ล้วนแต่จะแสดงฤทธิ์เดชได้เหมือนๆ กันทั้งสิ้น




วิสัชนา – ส่วนธรรมะที่ถามไปเรื่องสติปัฏฐาน ๔
และก็ถามเรื่องอภิญญา ๖ อยู่ในตัว
และขอให้เข้าใจในสติปัฏฐาน ๔ คือพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม
กายก็ดีก็เป็นรูปขันธ์อยู่ในตัว หรือรูปโลกอยู่ในตัว
หรือรูปธรรมอยู่ในตัว หรือรูปสังขารอยู่ในตัว หรือรูปธาตุอยู่ในตัว
มีความหมายอันเดียวกัน คือเกิดขึ้นแล้วก็แตกสลายไป
อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ทั้งนั้น
ส่วนเวทนาและจิต ธรรม นั้น นามโลกก็ว่า นามธรรมก็ว่า
นามขันธ์ก็ว่า นามสังขารก็ว่า นามธาตุก็ว่าอีก
เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนและแตกสลายอีก ก็อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์อีกด้วย
ท่านสอนให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ตามเป็นจริงก็คือไตรลักษณ์นั่นเอง


และสติปัฏฐาน ๔ ก็ย่นลงเป็น ๒ กายก็ย่นลงมาในรูปขันธ์
เวทนา จิต ธรรม ก็ย่นลงมาในนามขันธ์



ส่วนขันธ์ ๕ เล่า ก็มีความหมายอันเดียวกันกับสติปัฏฐาน ๔
คือรูปก็ย่นลงมาในรูปขันธ์ตามเดิม
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเล่าก็ย่นลงมาเป็นนามขันธ์
เช่นเดียวกันกับสติปัฏฐาน ๔
ทั้งรูปและนามก็ดีก็อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ดังที่ว่ามาแล้วนั้นเหมือนกัน


ทีนี้ อาทิตตปริยายสูตร คือสูตรที่เป็นของร้อน มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
คืออายตนะภายในก็ย่นลงมาเป็น ๒ เหมือนกัน



ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นก็ย่นลงมาเป็นรูปขันธ์
ก็อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์อีกเหมือนกัน
ตรงกันกับสติปัฏฐาน ๔ อีกเหมือนกันไม่แปลกเลย


ทีนี้ อยากทราบว่าสิ่งทั้งหลายดังที่ว่ามานี้สามารถได้อภิญญา ๖ หมดทุกท่านดอกหรือ?
ขอตอบว่า...อันนี้มันต้องขึ้นกับบารมีแต่ชาติก่อนที่สั่งสมและปรารถนามาโดยลำดับ
มีทานวัตร ศีลวัตร ภาวนาวัตร เป็นต้น
ซึ่งอยู่กับความปรารถนามาแต่ภพก่อนจึงจะเป็นไปได้
ส่วนผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ล้วนๆ เช่น ประเภทสุขวิปัสสโก เป็นต้น
ก็ปรารถนาด้านปัญญาไปรวบรัด จะแสดงเดชได้หรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา
ขอแต่ว่าพ้นจากกิเลสก็เป็นพอแล้ว
ท่านทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่าเจริญวิปัสสนาปัญญา ๓ ส่วน สมถะส่วนเดียว
กลมกลืนกันไปแต่ภพก่อนๆ จนถึงภพปัจจุบัน
จำพวกท่านที่แสดงฤทธิ์เดชที่เรียกว่าอภิญญา ๖ นั้น
แต่ชาติก่อนๆ เคยภาวนาเจริญสมถะ ๓ ส่วนปัญญาส่วนเดียว
สัมปยุตกันไปในตัวแล้วแสดงฤทธิ์เดช หูทิพย์ตาทิพย์ได้


มีปัญหาสอดเข้ามาว่า จำพวกที่แสดงฤทธิ์เดชไม่ได้นี้
เราจะไปถามท่านเหล่านี้ ท่านเหล่านี้ก็ไม่ติดไม่คาเหมือนกัน
ท่านเหล่านี้ต้องตอบว่าอภิญญาทั้ง ๖ นั้นอยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์หรือไม่
เมื่ออภิญญาทั้ง ๖ นั้นอยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์แล้วผมก็ไม่เสียดายกังวลเลย
ถ้าหากว่าพวกท่านเหล่านั้นตอบอย่างนี้
พวกเราอยู่ปัจจุบันนี้ เราให้คะแนนว่าพวกเหล่านั้นตอบถูกหรือไม่
?...
หรือเราจะให้คะแนนแต่พวกดำดินบินบน นกก็บินบนได้ ปลาไหลก็ดำดินเป็น
พวกเราให้คะแนนเขาเป็นพระอรหันต์หรือไม่?...
สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของชาวพุทธจะขบให้แตกทั้งนั้น


เอ้า...เดี๋ยวนี้หลวงปู่มีกิเลสมากอยู่
หลวงปู่ก็นับเม็ดหิน เม็ดทราย เม็ดแดด เม็ดลม เม็ดฝนได้
จะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ผู้ฟังจะมีสิทธิ์ หลวงปู่นับอย่างนี้...



คือสิ่งไหนที่เป็นของแค่นแข็ง สิ่งนั้นก็จัดเป็นธาตุดิน
หลวงปู่ก็นับลงเป็นเอกนิบาตว่าเอกปฐวีธาตุ หนึ่งดิน
สิ่งไหนที่เป็นของเหลวก็จัดเป็นธาตุน้ำ
หลวงปู่ก็นับลงเป็นเอกนิบาตว่าเอกอาโปธาตุ หนึ่งน้ำ
สิ่งไหนที่มีลักษณะร้อนจัดก็จัดเป็นธาตุไฟ
หลวงปู่ก็นับลงเป็นเอกนิบาตว่าเอกเตโชธาตุ หนึ่งไฟ
สิ่งไหนที่พัดไปมาก็จัดเป็นธาตุลม
หลวงปู่ก็นับลงเป็นเอกนิบาตว่าเอกวาโยธาตุ หนึ่งลม


ทำไมหลวงปู่จึงนับอย่างนี้ เพราะนับฝ่ายสังคโหคือย่นลงมา
ถ้าจะไปนับ ๑ ๒ ๓ ๔...ฯลฯ จนถึงอสงไขย กี่วันมันก็ไม่เสร็จ
ก็เป็นผีบ้าทั้งผู้นับและกรรมการด้วย ใช่หรือไม่
?...


คำสอนของพระพุทธศาสนาก็มีทั้งย่นและขยายออก ย่นเข้ามาจากอะไร
ก็ย่นเข้ามาจากเชือกเส้นเดียวที่ขึงยาวเหยียดไปทั่วไตรโลกธาตุนั่นเอง
เมื่อย่นสงเคราะห์ลงมาแล้วก็คือเชือกเส้นนั้นเอง
สาวเข้ามากองไว้ ก็กองใหญ่โตมโหฬารเต็มโลกอีก ก็เรียกว่าหนึ่งกองเชือก
ก็ตรงกับคำว่าหนึ่งน้ำ หนึ่งดิน หนึ่งไฟ หนึ่งลม ใช่หรือไม่
?...


เอ้า...เมื่อเห็นดินน้ำไฟลมชัดในปัจจุบันแล้ว
ดินน้ำไฟลมในอดีตอนาคตจะสงสัยหรือไม่
ถ้าสงสัยก็เรียกว่าแก้วเจ้าขากินข้าวกับกล้วย
กล้วยที่กินในปัจจุบันก็ไม่รู้จัก จะรู้จักกล้วยในอดีตอนาคตอย่างไรได้



เมื่อเป็นดังนี้ก็ส่อแสดงให้เห็นว่า
พระพุทธศาสนานี้ทรงสรรเสริญปัญญาเป็นนายหน้าของธรรมทุกหมวด
เหตุนั้นจึงสรรเสริญวิปัสสนาธุระคือธุระทางปัญญา
ไม่ได้ยืนยันว่าศีลธุระ สมาธิธุระ ฤทธิ์เดชธุระ
เรียกว่าย่อว่าปัญญาธุระเท่านั้นใช่หรือไม่
?...


สำหรับหลวงปู่ไม่สงสัยเรื่องฤทธิ์เดช
ผู้มีปัญญาจะจัดเป็นฤทธิ์เดชหรือไม่
?...
หรือจะจัดแต่ผู้ดำดินบินบนเหมือนนกและปลาไหล
ข้อนี้ก็ต้องควรคิด


เมื่ออธิบายมามากอย่างนี้แล้ว
คำถามในข้อ ๑ ๒ ๓ ก็ดี มันก็แก้กันไปในตัวแล้วใช่หรือไม่
?...


ด้วยเดชพระพุทธศาสนา
ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมอันใดที่รู้ตามเป็นจริง
ปฏิบัติตามเป็นจริง หลุดพ้นตามเป็นจริงโดยไม่เหลือ
พวกเราทั้งหลายจงรู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริง
หลุดพ้นตามเป็นจริงโดยไม่เหลืออยู่ทุกเมื่อเทอญ



ตอบจดหมายมาด้วยความนับถือไว้ในพระพุทธศาสนา



หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต






ป.ล. พระพาหิยะ พระบรมศาสดาเทศน์โดยย่อว่า “เป็นแต่สักว่ารู้ เป็นแต่สักว่าเห็น”
เพียงเท่านี้พระพาหิยะซึ่งเป็นฆราวาสก็กราบทูลพระองค์กะทันหันว่า
“พอแล้วขอรับ” ดังนี้ และก็เป็นพระอรหันต์แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ด้วย
เพราะเหตุใด?...พวกเราลองคิดดูดู๋
หลวงปู่คิดว่า คำว่า “เป็นแต่สักว่ารู้ว่าเห็น” นั้น
คือไม่ยึดถือผู้รู้ผู้เห็นว่าเป็นเรา ไม่ยึดถือเราว่าเป็นผู้รู้ผู้เห็น
นี้เป็นสังขารสูญและว่างในเงื่อน ๒
และก็ตีความหมายสังขารสูญในเงื่อน ๔ บวกกันเข้า
คือผู้อื่นไม่ใช่ผู้รู้ ผู้รู้ไม่ใช่ผู้อื่น ดังนี้


ทีนี้ อัตตวาทุปาทาน ความเห็นว่าตน ตัว เรา เขา สัตว์ บุคคล
ซึ่งเป็นจอมพลของอุปาทานทั้งปวง เมื่ออัตตวาทุปาทานแตกไปแล้ว
เพราะพระมหาสติพระมหาปัญญาอันกลมกลืนกัน
เป็นพยานแข็งแกร่งเหนืออัตตวาทุปาทานไปแล้ว ก็ข้ามทะเลหลงไปใช่หรือไม่
?...


อัตตวาทุปาทานและความหลงก็มีความหมายอันเดียวกัน
เมื่อแตกกระเจิงไปแล้ว อวิชชา ๔ หรืออวิชชา ๘ อันบัญญัติว่าโง่ๆ นั้น
ก็แตกกระเจิงไปในทีเดียวกันนั้นใช่หรือไม่
?...
กิเลสคือกองทัพของความหลงจะขี่ช้างสูบบุหรี่มาจากประตูใดล่ะ
“เอสะวันโต ทุกขัสสะ เป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ใช่หรือไม่?...”
เอาล่ะนะ มันเป็นโวหารเกินไปแล้ว ให้หารลงถึง ๑ ซะ คือหารถึงหลักหน่วย
ใครเป็นเจ้าของหนึ่งก็เป็นแต่สักว่าหนึ่ง ใช่หรือไม่?...


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP