สารส่องใจ Enlightenment

น้ำอมตธรรม (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาดจ.อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕



น้ำอมตธรรม (ตอนที่ ๑) (คลิก)



วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา พระอธิษฐานพรรษาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงเดือน ๑๑ เพ็ญ
นี่พระท่านก็มีขอบเขตมีเหตุมีผลของท่าน ดำเนินตามหลักธรรมหลักวินัย
ถึงฤดูเข้าพรรษาแล้วก็ให้อยู่เป็นที่เป็นฐานบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสะดวกสบาย
ผู้ที่เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีแล้วจะสมาทานธุดงค์ข้อใด
ก็แล้วแต่อัธยาศัยชอบในบรรดาธุดงค์ ๑๓ ข้อนั้น
เช่น บิณฑบาตเป็นวัตรไม่ขาด เว้นแต่ไม่ฉัน
ถ้ายังฉันอยู่ก็ไปบิณฑบาตทุกวัน เรียกว่าบิณฑบาตเป็นวัตร
สมาทานธุดงค์ข้อบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร
คือไม่เกี่ยวข้องกับภาชนะใดๆ ถือบาตรเป็นภาชนะอันสำคัญ
ดังพระพุทธเจ้าทรงพาดำเนินมาแต่ก่อน


พระพุทธเจ้านั้นแลทรงถือว่าบาตรนี้เป็นเอกแห่งภาชนะของพระ
ไม่มีภาชนะใดที่จะเป็นเอกเป็นเยี่ยมยิ่งกว่าบาตรใบเดียวนั้น
ท่านจึงมอบให้ว่า อยนฺเต ปตฺโต นี้บาตรของท่านนะ เวลาบวช
อยํ สงฺฆาฏึ นี่ผ้าห่มของท่านนะ
อยํ อุตฺตราสงฺโค
นี่จีวรของท่าน
อยํ อนฺตรวาสโก นี้สบงของท่าน นี่ท่านบอก
ต่อจากนั้นก็ รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย
เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้ว จงพยายามเสาะแสวงหาอยู่ตามร่มไม้
ชายป่าชายเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา อันเป็นที่สงบสงัด
ในการประกอบความพากเพียรเพื่อจะสังหารกิเลส
ตัวเป็นเชื้อแห่งภพ พาให้เกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอยให้สิ้นซากไปจากใจ
จงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิตของพระเถิด พระพุทธเจ้าท่านสอนน่ะ



นี่เรียกว่า ฉันในบาตร แล้วก็ฉันหนเดียวไม่ฉันจิ๊บๆ จั๊บๆ ฉันหนเดียวเท่านั้น
เรียกว่า อาสนะเดียว นั่งที่เดียว พอฉันเสร็จแล้วในวันนั้นไม่ยุ่งอีกฉันอีก
ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เช่นเขาถวายบังสุกุลไว้ตามป่าช้า
ตามถนนหนทาง หรือตามหน้ากุฏิที่ใดที่หนึ่ง
ไปชักบังสุกุลนั้นมาใช้เป็นผ้านุ่งห่มใช้สอย เรียกว่าถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
หรือ เนสชฺชิ การอธิษฐานไม่นอนในคืนหนึ่งๆ หรือจะเอากี่คืนก็ตาม
ท่านเรียกว่า เนสชฺชิ มีอิริยาบถสาม
ยืนทำความเพียร นั่งทำความเพียร เดินทำความเพียร ไม่นอน จึงว่ามีอิริยาบถสาม
เราจะอธิษฐานกี่คืนก็แล้วแต่ ที่เรียกว่าธุดงค์แต่ละข้อๆ



ที่ให้สมาทานธุดงค์เหล่านี้ หรือผู้สมัครสมาทานธุดงค์เหล่านี้เพื่ออะไร
ก็เพื่อชำระกิเลสนั่นแหละไม่ได้เพื่ออะไรทั้งนั้น
การบำเพ็ญทั้งหลายนี้ล้วนแต่เป็นการปราบกิเลส
ธรรมไม่ได้ปราบแหละ มีแต่พยายามส่งเสริมให้มีมากขึ้น
ในขณะเดียวกันเราปราบกิเลสก็เป็นการบำเพ็ญธรรมไปในตัวแล้ว
เหมือนกับเราสร้างความเตียนโล่งขึ้นมาในสถานที่รกชัฏ
การถากถางต้นไม้ใบหญ้า รื้อขนมันออก ก็เป็นการสร้างความเตียนโล่งขึ้นมาในขณะนั้น
เมื่อต้นไม้ใบหญ้าที่ปกคลุมหุ้มห่อทั้งหลายนั้นถูกรื้อไปทิ้งหมดแล้ว
ความเตียนโล่งก็ปรากฏขึ้นมาเอง
หัวใจเราที่เป็นเหมือนกับพื้นที่ที่รกรุงรังอยู่ด้วยกิเลสตัณหาอาสวะต่างๆ
ก็พยายามถอดถอนออกด้วยความพากเพียร ทิ้งออกจากหัวใจเสียให้หมด
ความเตียนโล่งของใจก็ปรากฏขึ้น อมตธรรมก็แสดงขึ้นเต็มที่อย่างไม่สงสัย


คำว่าตลาดแห่งมรรคผลนิพพานนั้นอยู่ที่ใจของเราทุกๆ ท่านนะ
อย่าเข้าใจว่าอยู่เทศบาล ๑ เทศบาล ๒ ตลาดเทศบาล ๑ ตลาดเทศบาล ๒
อันนั้นมีแต่กระดูกหมูกระดูกวัวเกลื่อนนั่นแหละ
ให้พิจารณาตรงนี้ เรียกว่า ตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน
การสร้างคุณงามความดีทั้งหลายนั้นเพื่อมรรคผลนิพพานโดยตรง
นับแต่น้อยไปถึงมาก เมื่อมากเข้าๆ เพิ่มเข้าๆ เต็มกำลังแล้ว
ก็สามารถยกผู้บำเพ็ญ ผู้มีความดีเต็มภูมิแล้วนั้นให้พ้นจากทุกข์ไปได้
ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านพาเสด็จผ่านพ้นไปแล้ว ไม่สงสัย
เพราะอำนาจแห่งศาสนธรรมเหล่านี้แล
ธรรมเหล่านี้หรือทางอันนี้แลเป็นทางที่แคล้วคลาดปลอดภัย
เป็นทางเพื่อ สุคโต ขอให้พากันดำเนินอย่าลดละท้อถอย



เราอย่าเชื่อความขี้เกียจขี้คร้าน
ความมักง่ายอ่อนแอในการประกอบคุณงามความดี
นั้นเป็นกลมายาของกิเลสหลอกลวงโลกให้ล่มจมหาวันฟื้นตัวไม่ได้
ให้ใช้ความอุตส่าห์พยายาม
เพราะความดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากไม่เหมือนความชั่ว
ความชั่วนี้เกิดขึ้นได้ง่าย ตายได้ยาก
แต่ความดีนั้นเกิดขึ้นได้ยากแต่ตายได้ง่าย
พิจารณาซิ ความชั่วนั้นมันเป็นอัตโนมัติของมันอยู่แล้ว
มันลื่นอยู่ตลอด ไม่ต้องใส่น้ำมูกน้ำมันอะไร มันลื่นไปเลยละความชั่ว
เพราะมันเคยครองหัวใจโลกมานาน
หัวใจแต่ละดวงๆ นั้นมีแต่กิเลสตัณหาอาสวะเต็มจนหาที่ธรรมแทรกไม่ได้
มันเป็นผู้ขับขี่ เป็นผู้บังคับบัญชาถือพวงมาลัย เหยียบคันเร่งเพื่อผลประโยชน์ของมัน


คำว่าเหยียบเบรกมันจะเหยียบเฉพาะเวลาเราจะเข้าวัดเข้าวาเท่านั้น
ถ้าจะเข้าวัดเข้าวาฟังธรรมจำศีล มันจะเหยียบเบรกห้ามล้อทันที
ไม่ให้เรามา ไม่ให้เราไป ไม่ให้เราทำ
แต่ถ้าไปตามทางของมันแล้วเหยียบคันเร่งจนจมมิด
เจ้าของตกลงในคลองตาย แต่กิเลสไม่เจ็บไม่ตาย แต่สบายมาก
อยากให้รถเราตกคลองวันละร้อยหนเป็นอย่างน้อย
นั่นมันเอารัดเอาเปรียบอย่างนั้นนะกิเลสน่ะ มันทำคนมันทำอย่างนี้
เราควรจะเคียดแค้นให้กิเลส บุคคลผู้ใดเป็นผู้เคียดแค้นให้กิเลส
บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้เคียดแค้นให้ภัยให้เวรซึ่งมีอยู่ในตัวเราเอง
และเป็นผู้จะต่อสู้กับกิเลสความชั่วทั้งหลาย
กลายเป็นคนดีขึ้นมาได้โดยไม่ต้องสงสัย



จึงขอให้ทุกท่านได้พยายามบำเพ็ญคุณงามความดี
ตายแล้วไม่มีตลาดบำเพ็ญความดีนะ
ตลาดบำเพ็ญความดีก็สถานที่มนุษย์เราอยู่นี้
เป็นวัดวาอาวาสศาสนาหรือผู้รับสงเคราะห์จากเรา
เช่น การให้ทานให้ผู้ใด ผู้นั้นจะเป็นบุคคลเป็นสถานที่ทำความดีของเรา
สร้างอะไรขึ้นมาในสถานที่ใดสถานที่นั้นก็เป็นตลาดแห่งความดีของเรา
เหล่านี้มีอยู่ในโลกนี้ คนตายแล้วทำไม่ได้ ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร
เวลานี้เรายังมีชีวิตอยู่ รู้ดีรู้ชั่วทุกสิ่งทุกอย่าง



ศาสนธรรมเป็นของประเสริฐเลิศโลกเหมาะสมกับมนุษย์อย่างยิ่ง
เราเป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง
อย่าให้ศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้หลุดลอยผ่านไปจากตัวเรา
กอบโกยเอาแต่ความชั่วช้าลามกมาใส่ตนเต็มหัวใจ
ตายไปแล้วมีแต่ฟืนแต่ไฟทั้งกองเผาผลาญใครจะช่วยได้
ถ้าเราไม่สามารถช่วยเราตั้งแต่บัดนี้ที่ยังมีชีวิต
และรู้ตัวอยู่เวลานี้ก็ไม่มีทางอื่นจะแก้ได้
เหมือนกับผู้ต้องหา เมื่อได้เข้าติดคุกติดตะรางแล้ว
จะไปลากมันออกมาไม่ได้ถ้าไม่ครบกำหนดกรรมของมันเสียก่อน
ถ้าจะว่าถ้อยว่าความก็ว่ากันตั้งแต่ยังไม่ติดคุกติดตะราง เขายังไม่ตัดสินนี่
ลงเขาได้ตัดสินแล้วพูดอะไรก็ไม่ได้เรื่อง ลงได้เป็นคนตะรางแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าลงได้ตายไปแล้วเหมือนกับว่าได้ตัดสินลงไปแล้ว
ก็มอบให้ยมบาลเท่านั้นแหละเป็นผู้ตัดสิน


เวลานี้เรายังไม่ได้เข้าถึงเหตุการณ์อันสุดวิสัยนั้น
มีชีวิตอยู่จะเลือกเฟ้นตัวเองให้ทำดีในทางใดก็ให้รีบทำเสียแต่บัดนี้
อย่าให้เสียเวล่ำเวลา และอย่าเชื่อกิเลสจนเกินไป เราเคยเชื่อมันมานานแล้ว
ผลที่เกิดจากความเชื่อกิเลสมีแต่ความทุกข์ความล่มจมฉิบหาย
ถ้าเชื่อธรรมแล้วจะมีความเจริญรุ่งเรืองไปโดยลำดับ
เพราะธรรมไม่เคยทำคนให้ล่มจมแต่กาลไหนๆ มา



นี่ละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร
จึงขอให้ทุกท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานภายในใจของตนในเขตพรรษาเช่นนี้
ท่านผู้ใดจะตั้งใจบังคับบัญชาตนเองด้วยความดี
เพื่อปราบกิเลสตัวดื้อด้านหาญกระทำทุกสิ่งทุกอย่างนั้น
ด้วยความสัตย์ความจริงของเราก็ทำลงไป
เช่นเวลาจะหลับจะนอนไหว้พระเสียก่อนแล้วภาวนา
นึก พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ หรือจะกำหนดลมหายใจอะไรก็ได้
จนกระทั่งหลับไปกับลมหายใจหรือหลับไปกับคำว่า พุทฺโธ
ตื่นขึ้นมาตอนเช้าให้ไหว้พระเสียก่อนค่อยไป จะไปไหนก็ดี นี่อันหนึ่ง
จากนั้นเราจะใส่บาตรพระกี่องค์
วันหนึ่งๆ ได้ให้ทานไม่ขาดก็เป็นสัจบารมีของเราด้วย เป็นทานบารมีของเราด้วย
หรือคนเคยกินเหล้าเมาสุรา กัญชายาเมา เล่นการพนันขันต่อต่างๆ
ตัดออกเวลาในพรรษานั้น ให้ศีลธรรมได้เข้าทำงานแทนการพนัน
ทำงานแทนสุรายาเมา ทำงานแทนในสิ่งไม่ดีทั้งหลาย
กลายเป็นงานดีขึ้นมาภายในตัวเรา ขอให้ต่างคนต่างตั้งสัจอธิษฐานบังคับตนเอง



ถ้าไม่บังคับไม่ได้นะมนุษย์เรา อยากดีต้องบังคับ
บังคับอะไร บังคับความชั่วนั่นแหละ มันเป็นตัวอำนาจ ไม่ใช่บังคับอะไรนะ
ถ้าหากว่าความชั่วหมดไปแล้วไม่ต้องบังคับ
มันดีไปเอง เพราะไม่มีอะไรมากีดมาขวาง
ที่มันกีดมันขวางเราอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความชั่วทั้งนั้นแหละ
กิเลสตัณหามันไม่อยากให้ทำดี ถ้าเราจะทำดีมันเป็นมารขึ้นมาทันที มากีดมาขวาง
การทำความดีของเรานี้มันเป็นการทำลายความชั่ว ต่อสู้กับความชั่ว
จึงต้องได้รับความยากลำบากบ้าง ช่างมัน ความลำบากอย่างนี้ได้กำไร
พระพุทธเจ้าเคยลำบากมาแล้วในการต่อสู้กับความชั่ว
เป็นครูของเราอย่างเอกมาแล้ว สลบสามหนเห็นไหมตามตำรับตำรา
พระสาวกบางองค์ฝ่าเท้าแตกเพราะการต่อสู้กับความชั่ว กิเลสตัณหาต่างๆ


บางองค์จักษุแตก ฟังซิ จักษุแตก ตาท่านบอดไปตั้งสองข้าง
ทุกข์ไหม ลำบากไหม ตาท่านท่านเสียดายไหม
คนเราอยากมีตาตั้งสิบตาโน่น ตาบอดทั้งสองข้างใครจะไม่เสียดาย
พระจักขุบาลอธิษฐานไม่นอนสามเดือน
มีอิริยาบถสาม เดินจงกรม ยืนภาวนา นั่งสมาธิตลอด
ท่านไม่นอนทั้งวันทั้งคืนในสามเดือนนั้น จนกระทั่งตาจะแตก ไปให้หมอตรวจ
หมอเขาบอกว่า นี่ตาจะแตกนะ ถ้าท่านไม่นอนไม่ได้ตาจะแตก
เอ้า แตกก็แตกไปเถอะ ขออย่าให้ธรรมแตกก็แล้วกัน
อย่าให้คำสัตย์นี้แตก คำสัตย์ตั้งสัจจะไว้ว่าสามเดือนจะไม่นอนตลอด
และจะให้เต็มไปด้วยการทำสมาธิภาวนาในอิริยาบถสาม



พอดีในระยะนั้นจักษุท่านเป็นโรคขึ้นมา ไปให้หมอตรวจ
หมอบอกว่าท่านต้องนอน ถ้าไม่นอนไม่ได้ ตาท่านจะแตก
เอ๊า แตกก็แตกไปเถอะ คำสัตย์ไม่แตก ธรรมไม่แตกไม่เป็นไร
ตาจะแตกก็แตกไป แต่ธรรมอย่าให้แตก
เพราะจะนำธรรมนี้ไปสู่สุคติเป็นเบื้องต้นจนถึงพระนิพพานด้วยธรรมนี้
ไม่ได้ไปด้วยลูกตาแตกหรือลูกตาดี ท่านว่า พูดน่าฟังนะ
สุดท้ายตาท่านก็แตก กิเลสก็แตกออกจากใจท่าน
นั่นเห็นไหมท่านสู้กับกิเลสสู้จนตาแตก และกิเลสแตกไปด้วยกัน
พระจักขุบาลท่านเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ องค์บริสุทธิ์ของเรานั่นแหละ
ถ้าท่านเห็นแก่ตาของท่านลูกเดียวนั้นน่ะ ท่านก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์
นี่ท่านไม่ได้เห็นแก่ตา ท่านเห็นแก่ธรรม
ท่านจึงรู้ธรรมเห็นธรรมและได้เป็นสรณะของพวกเรา ขอให้ยึดท่านมาเป็นหลัก



แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ตาแตกเหมือนท่าน
ให้สลบเหมือนพระพุทธเจ้า
ให้ฝ่าเท้าแตกในการประกอบความเพียรเดินจงกรมภาวนาเหมือนพระโสณะ
เป็นแต่ให้มีความขยันหมั่นเพียร มีความบึกบึน
มีการหาญสู้ต่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายก็นับว่าเป็นลูกศิษย์มีครูสอน
ให้เรายึดหลักการดำเนินของท่านมาเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นแบบเป็นฉบับ
แม้เราไม่ได้อย่างท่านทุกกระเบียด
แต่เราก็ควรได้อย่างท่านในความเป็นศิษย์มีครู


เอาละหยุดแค่นี้ไฟเหลืองเริ่มขึ้นแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่ทุกๆ ท่าน


(คำว่าไฟเหลืองเริ่มขึ้นคือโรคหัวใจเริ่มแสดงลวดลาย)



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2J1ZO0Z


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP