จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๖๒ ดีแบบไหน ที่อยู่บนเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์



262 talk



ดีแบบอยู่เฉยๆ
ไม่ทำร้ายใครก่อน
ไม่ทำร้ายใครกลับ
เรียกว่า อยู่บนทางไม่เบียดเบียน
แต่ก็อาจไม่อยู่บนทางเกื้อกูล
แบบนี้ คือดีเสมอตัว
พร้อมจะกลับมาเป็นมนุษย์
ทุกข์บ้างสุขบ้างตามแต่จะช่วยตัวเอง


ดีแบบมีปฏิกิริยาตอบสนอง
ไม่เบียดเบียนใคร
และถ้าใครดีมาก็ดีกลับ
ใครมีพระคุณก็จดจำ ไม่ทำเป็นลืม
เรียกว่า อยู่บนทางรู้คุณคน
นับว่ามีเครื่องหมายของคนดี
พร้อมจะกลับมาเป็นมนุษย์
มีชะตาช่วยให้เป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์


ดีแบบอยากให้ก่อน อยากให้เปล่า
เป็นความสุขส่วนตัวที่จะให้
คิดขึ้นมาเองว่าอยากให้ส่วนเกินของตน
ไปเติมเต็มส่วนขาดของคนอื่น
แม้ใครเป็นฝ่ายร้ายมา
ก็พร้อมจะเป็นฝ่ายดีกลับ
นี่เรียกว่า อยู่บนทางเกื้อกูล
คือดีกว่าธรรมดา
จึงพร้อมจะไปเป็นเทพยดา
เสวยสุขที่เหนือกว่ามนุษย์


ดีแบบอยากสละออก
สละแม้ความมีตัวตน
ที่มีสิทธิ์กลับมาเบียดเบียนตนเองได้
แล้วก็ต้องเบียดเบียนใครๆอีก
มีสติเห็นกายใจ
โดยความเป็นรูปปรากฏแห่งทุกข์เสมอกัน
เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ไม่เห็นมีข้างร้ายมา ไม่เห็นมีข้างดีกลับ
มีแต่พวกเดียวกัน
ที่ต้องทนทุกข์อยู่กับอุปาทาน
เร่าร้อนอยู่กับความหลงสำคัญตนผิดเหมือนๆกัน
เห็นอย่างนี้ ก็ได้อยู่บนทางพ้นไป
เหนือกว่าคำว่า ‘ดี’ แบบที่คนเข้าใจกัน
จึงพร้อมจะไม่ไปสู่ภาวะเหนือกว่าเทพยดา
มีสิทธิ์อยู่กับสิ่งที่พระศาสดาตรัสว่าเป็นบรมสุขได้!


ดังตฤณ
กรกฎาคม ๖๒





review


หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แก่โลก
ยังคงเป็นความจริงทุกกาลสมัย
ผู้ที่พากเพียรปฏิบัติตามย่อมสามารถพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงได้
ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "น้ำอมตธรรม (ตอนที่ ๑)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)


หากเกิดความรู้สึกว่าจิตไม่สงบในขณะฝึกสมาธิ ควรทำอย่างไร
และสิ่งใดที่ทำให้สามารถจดจ่ออยู่กับลมหายใจได้อย่างมีความสุข

หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ฝึกสมาธิอย่างไรให้จิตรวม"


นวนิยายเรื่อง "ศิวาดล" หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของคุณชลนิล
เนื้อเรื่องเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
มาลุ้นกันว่า "พิจิก" และ "เมษา"
จะไขปริศนาลึกลับในคฤหาสน์ศิวาดลได้อย่างไร
ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP