จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

การกรวดน้ำ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



260 destination



เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านพบความเห็นหนึ่งในโซเชียลมีเดีย
ในเรื่องการกรวดน้ำว่าไม่อยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งก็มีบางความเห็นให้ความเห็นแย้ง
โดยอ้างถึงพุทธประวัติในเวลาก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้
และพระโพธิสัตว์ได้ผจญกับพญามารว่า
ในขณะที่พระโพธิสัตว์ประทับอยู่ที่โพธิบัลลังก์นั้น
พญามารได้มากล่าวตู่ว่า โพธิบัลลังก์เป็นสมบัติของตน
และได้ถามพระโพธิสัตว์ว่า มีใครเป็นพยานสำหรับการสร้างบารมีในอดีตบ้าง
พระโพธิสัตว์จึงทรงอ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน
ซึ่งพระแม่ธรณีก็ได้ผุดขึ้นจากพื้นปฐพี แล้วกล่าวเป็นพยาน
พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม โดยน้ำนั้นคือ “ทักษิโณทก”
หรือน้ำที่พระโพธิสัตว์ทรงกรวดในเวลาที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมีในแต่ชาติปางก่อน
ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องของการกรวดน้ำนะครับ



ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นั้น
คำว่า “กรวดน้ำ” หมายถึง ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ
พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย
และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%C3%C7%B4%B9%E9%D3&original=1


หากเราจะพิจารณาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ก็จะไม่พบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้กรวดน้ำนะครับ
ในส่วนที่เราอาจจะเคยได้อ่านหรือได้ฟังมาว่า
ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ได้ผจญกับพญามาร
แล้วพระแม่ธรณีได้มาเป็นพยาน และบีบน้ำออกจากมวยผม
ทำให้กองทัพพญามารลอยไปตามกระแสน้ำทักษิโณทกนั้น
จริง ๆ แล้ว เนื้อหาในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น


ในอรรถกถาอปัณณกชาดก (เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา) ระบุว่า
“มารไม่อาจทำให้พระโพธิสัตว์หนีไปด้วยลม ฝน ห่าฝนหิน
ห่าฝนเครื่องประหาร ห่าฝนถ่านเพลิง ห่าฝนเถ้ารึง ห่าฝนทราย
ห่าฝนเปือกตมและห่าฝน คือ ความมืด รวม ๙ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
จึงสั่งบริษัทนั้นว่า แน่ะพนาย พวกท่านจะหยุดอยู่ทำไม
จงจับสิทธัตถกุมารนี้ จงฆ่า จงทำให้หนีไป
ส่วนตนเองนั่งบนคอช้างคีรีเมข ถือจักราวุธเข้าไปใกล้พระโพธิสัตว์
แล้วกล่าวว่า สิทธัตถะ ท่านจงลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้
บัลลังก์นี้ไม่ถึงแก่ท่าน บัลลังก์นี้ถึงแก่เรา.


พระมหาสัตว์ได้ฟังคำของมารนั้น จึงได้ตรัสว่า
ดูก่อนมาร ท่านไม่ได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐
ทั้งไม่ได้บริจาคมหาบริจาค ๕ ไม่ได้บำเพ็ญญาตัตถจริยา
โลกัตถจริยา และพุทธัตถจริยา บัลลังก์นี้จึงไม่ถึงแก่ท่าน บัลลังก์นี้ได้ถึงแก่เรา.


มารโกรธอดกลั้นกำลังความโกรธไว้ไม่ได้ จึงขว้างจักราวุธใส่พระมหาสัตว์
เมื่อพระมหาสัตว์นั้นทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ทัศอยู่.
จักราวุธนั้น ได้ตั้งเป็นเพดานดอกไม้อยู่ในส่วนเบื้องบน.
ได้ยินว่า จักราวุธนั้นคมกล้านัก มารนั้นโกรธแล้ว ขว้างไปในที่อื่น ๆ
จะตัดเสาหินแท่งทึบเป็นอันเดียวไปเหมือนตัดหน่อไม้ไผ่.
แต่บัดนี้ เมื่อจักราวุธนั้นกลายเป็นเพดานดอกไม้ตั้งอยู่.
บริษัทมารนอกนี้คิดว่า สิทธัตถกุมารจักลุกจากบัลลังก์หนีไปในบัดนี้
จึงพากันปล่อยยอดเขาหินใหญ่ ๆ ลงมา.
เมื่อพระมหาบุรุษทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ทัศ
แม้ยอดเขาหินเหล่านั้น ก็ถึงภาวะเป็นกลุ่มดอกไม้ตกลงยังภาคพื้น
เทวดาทั้งหลายผู้ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาล
ยืดคอชะเง้อศีรษะออกดู ด้วยคิดกันว่า ท่านผู้เจริญ
อัตภาพอันถึงความงามแห่งพระรูปโฉมของสิทธัตถกุมาร ฉิบหายเสียแล้วหนอ
สิทธัตถกุมารจักทรงกระทำอย่างไรหนอ.


ลำดับนั้น พระมหาบุรุษตรัสว่า บัลลังก์ได้ถึงแก่เรา
ในวันที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญบารมี แล้วตรัสรู้ยิ่ง ดังนี้
แล้วตรัสกะมารผู้ยืนอยู่ สืบไปว่า
ดูก่อนมาร ใครเป็นสักขีพยานในความที่ท่านให้ทานแล้ว.


มารเหยียดมือไปตรงหน้าหมู่มาร
โดยพูดว่า มารเหล่านั้นมีประมาณเท่านี้เป็นพยาน.
ขณะนั้น เสียงของบริษัทมารซึ่งเป็นไปว่า เราเป็นพยาน เราเป็นพยาน ดังนี้
ได้เป็นเช่นกับเสียงแผ่นดินทรุด
ลำดับนั้น มารจึงกล่าวกะพระมหาบุรุษว่า
ดูก่อนสิทธัตถะ ในภาวะที่ท่านให้ทาน ใครเป็นสักขีพยาน.


พระมหาบุรุษตรัสว่า ก่อนอื่น ในภาวะที่ท่านให้ทาน
พลมารทั้งหลายผู้มีจิตใจเป็นพยาน
แต่สำหรับเรา ใคร ๆ ผู้มีจิตใจชื่อว่าจะเป็นพยานให้ ย่อมไม่มีในที่นี้.
ทานที่เราให้แล้วในอัตภาพอื่น ๆ จงยกไว้
ก็ในภาวะที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดรแล้ว
ได้ให้สัตตสตกมหาทาน ให้สิ่งของอย่างละ ๗๐๐
มหาปฐพีอันหนาทึบนี้ แม้จะไม่มีจิตใจ ก็เป็นสักขีพยานให้ก่อน
จึงทรงนำออกเฉพาะพระหัตถ์ขวา จากภายในกลีบจีวร
แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ชี้ลงตรงหน้ามหาปฐพี พร้อมกับตรัสว่า
ในคราวที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร
แล้วให้สัตตสตกมหาทาน ท่านได้เป็นพยานหรือไม่ได้เป็น


มหาปฐพีได้ดั่งสนั่นหวั่นไหว ประหนึ่งท่วมทับพลมาร
ด้วยร้อยเสียงพันเสียงว่า ในกาลนั้น เราเป็นพยานท่าน
แต่นั้น มหาปฐพีได้กล่าวว่า ท่านสิทธัตถะ
ทานที่ท่านให้แล้ว เป็นมหาทาน เป็นอุดมทาน.


เมื่อพระมหาบุรุษพิจารณาไป ๆ
ถึงทานที่ได้ให้โดยอัตภาพเป็นพระเวสสันดร
ช้างคีรีเมขสูง ๑๕๐ โยชน์ ก็คุกเข่าลง.
บริษัทของมารต่างพากันหนีไปยังทิศานุทิศ
ชื่อว่ามารสองตนจะไปทางเดียวกัน ย่อมไม่มี
ต่างละทิ้งเครื่องประดับศีรษะและผ้าที่นุ่งห่ม
หนีไปเฉพาะทิศทั้งหลายตรง ๆ หน้า.
ลำดับนั้น หมู่เทพทั้งหลายเห็นมารและพลมารหนีไปแล้ว
กล่าวกันว่า มารปราชัยพ่ายแพ้แล้ว สิทธัตถกุมารมีชัยชนะแล้ว
พวกเรามากระทำการบูชาความมีชัยกันเถิด ดังนี้”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27.0&i=1&p=7


เราจะเห็นได้ว่าพระไตรปิฎกจะไม่ได้ระบุ
เรื่องพระแม่ธรณีบีบน้ำออกจากมวยผมนะครับ
อย่างไรก็ดี ในพระไตรปิฎกก็ระบุเรื่องของการหลั่งน้ำเพื่อการถวายทาน
ได้แก่ เรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารได้หลั่งน้ำเพื่อถวายสวนเวฬุวัน
โดยในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ระบุว่า
“พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงอังคาส
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยพระหัตถ์ของพระองค์
จนให้พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตแล้ว
จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ท้าวเธอได้ทรงพระราชดำริว่า พระผู้มีพระภาคพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนดีหนอ
ซึ่งจะเป็นสถานที่ไม่ไกล ไม่ใกล้จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม
ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวัน ไม่พลุกพล่าน
กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก
ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด
และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย.


แล้วได้ทรงพระราชดำริต่อไปว่า สวนเวฬุวันของเรานี้แล
ไม่ไกลไม่ใกล้จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม
ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะพึงเข้าไปเฝ้าได้
กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง
ปราศจากลมแต่ชนที่เข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด
และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย
ฉะนั้น เราพึงถวายสวนเวฬุวันแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ดังนี้.
ลำดับนั้น จึงทรงจับพระสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาค
ด้วยพระราชดำรัสว่า หม่อมฉันถวายสวนเวฬุวันนั่นแก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขพระพุทธเจ้าข้า.


พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว
และทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช
ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา
แล้วเสด็จลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=1216&Z=1357&pagebreak=0
ดังนี้แล้ว ในสมัยพุทธกาล การที่ท่านจะถวายสิ่งของใหญ่ไม่สามารถยกขึ้นประเคนได้
ท่านก็จะใช้วิธีการหลั่งน้ำ เพื่อแสดงถึงการสละ หรือถวายให้
ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวไว้


ตามพจนานุกรมฉบับพุทธศาสตร์ที่ได้ยกมาข้างต้นนั้น
การกรวดน้ำกระทำเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ
โดยหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่
เช่นนี้แล้ว แม้ว่าการอุทิศบุญกุศลย่อมเน้นที่จิตมุ่งอุทิศเป็นสำคัญ
โดยไม่ได้จำเป็นจะต้องกรวดน้ำด้วยก็ตาม
แต่การกรวดน้ำก็ย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับบางท่าน
ที่จะเป็นเครื่องรวมกระแสจิตให้แน่วแน่ในการตั้งใจอุทิศนั้น
หรือในอีกทางหนึ่ง วิธีการหลั่งน้ำก็ยังเป็นวิธีการในสมัยพุทธกาล
ที่แสดงถึงการสละหรือถวายให้ โดยก็ย่อมเป็นการแสดงถึงการอุทิศบุญได้เช่นกัน


โดยสรุปแล้ว แม้ว่าการกรวดน้ำจะไม่ได้อยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ตาม
แต่การกรวดน้ำก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสละหรือถวายให้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ที่พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายเวฬุวันมหาวิหารแด่ภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
และการกรวดน้ำยังเป็นประโยชน์ในการเป็นเครื่องหมาย
และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตให้แน่วแน่ในการอุทิศนั้นด้วย
แต่สำหรับท่านที่สามารถตั้งจิตให้แน่วแน่ในการอุทิศบุญกุศลแล้ว
การกรวดน้ำก็ย่อมไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะย่อมเน้นที่จิตมุ่งอุทิศเป็นสำคัญครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP