สารส่องใจ Enlightenment

ธาตุทั้งสี่ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร




พวกเราจงพิจารณาดูตัวเรากับรอบๆ ตัวเรา มันมีอะไร
ตามภูตามเขามีดินมีหิน นั่นเป็นธาตุดิน มีห้วยมีธาร นั่นเป็นธาตุน้ำ
มีฟ้าอากาศนั้นเป็นธาตุลม มีความร้อนมีไฟนั่นคือธาตุไฟ
ดูเอาซี่ธาตุดินเขาเป็นอะไร ธาตุน้ำเขาเป็นอะไร
ธาตุลมเขาเป็นอะไร ธาตุไฟเขาเป็นอะไร เขาเจ็บเขาปวดเขาร้อนอะไร
นี่แนะไฟ เห็นไหมล่ะ ธาตุไฟที่เผาอาหารให้ย่อย
เผาร่างกายให้ชำรุดทรุดโทรมไป หรือให้อุ่นตามสรรพางค์กาย นี่เรียกว่าธาตุไฟ
เรามาอาศัยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่ประชุมกันเข้า เรียกว่าเป็นตัวเป็นตน



เมื่อเราจำแนกแจกธาตุแล้วมันก็ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรซักอย่าง
มีแต่ธาตุ รวมลงเป็นรูป รูปกายได้แก่ธาตุสี่นี้
นามกายได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
สิ่งเหล่านี้เขาเป็นอะไรล่ะ ให้พิจารณาขันธ์ล้วนแต่ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง
สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารก็ไม่เที่ยง วิญญาณก็ไม่เที่ยง มันเป็นยังงั้น



นี่แหละเรามาพิจารณาให้ลงยังงี้ เราอย่าถือว่าเป็นคน อย่าถือว่าเป็นตัวเป็นตน
เข้าใจไหมล่ะข้อนี้ ต่างคนต่างเพ่งพิจารณา แล้วโรคภัยมันก็ไม่มี
สมเด็จสังฆนายกแต่ก่อนท่านนอนไม่หลับ
ได้ไปเทศนาข้อนี้ให้ พอเทศน์แล้วจิตท่านก็สงบ ท่านก็นอนได้
หมอทั้งสองหมอประคองอยู่
พอค่ำท่านนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย พอเช้าก็มักเป็นลม
นั่นแหละสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส ท่านลาพักไปอุบลฯ
อาตมาไปอุบลฯก็เลยเทศนายังงี้แหละ ท่านถามว่าฉันจะตลอดพรรษาไหม
พระเดชพระคุณอย่างนี้ก็ไม่ตลอดซี ใครจะทนได้
กลางคืนไม่ได้นอนตลอด กระสับกระส่ายยังงั้น
พอเทศนาแล้วจิตท่านสงบ ท่านก็นอนได้สบาย โรคท่านก็เลยหาย อยู่ได้อีกสี่ปีห้าปี



นี่แหละเราก็ควรพิจารณายังงั้น
สิ่งเหล่านั้นมันเป็นธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
สิ่งเหล่านั้นมันเป็นตัวเวทนา เป็นตัวสัญญา เป็นตัวสังขาร เป็นตัววิญญาณ
เราเห็นสิ่งทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นทุกข์
ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตนอยู่ที่ไหนเล่าทีนี้
โอปนะยิโก เราต้องน้อมเข้า ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนเท่านั้น
ใครเป็นผู้รู้เวทนา ใครเป็นผู้รู้สัญญา
ใครเป็นผู้รู้สังขาร ใครเป็นผู้รู้วิญญาณ เราก็ต้องน้อมเข้ามา
ใครว่าธาตุดิน ใครว่าธาตุน้ำ ใครว่าธาตุลมและธาตุไฟ
ผู้ไม่ได้เป็นพุทธะก็ไม่รู้อะไร เราจำแนกแจกออกไปแล้ว
ก็เหลือแต่พุทธะคือผู้รู้ ดังนี้เราจึงจับตัวมันได้
ที่ไม่รู้จักอันใดนั้นเพราะมันคลุมเครือกันอยู่
ไม่รู้จะเอาอันใดเป็นสุข ไม่รู้จะเอาอันใดเป็นทุกข์
จะเอาอันใดดีจะเอาอันใดชั่ว มืดอยู่ยังงั้น นี่เรา นี่เราจำแนกแล้ว
ส่วนใดเป็นธาตุดินมันก็เป็นดินไปแล้ว ส่วนใดเป็นธาตุน้ำมันก็เป็นน้ำลงไปแล้ว
ส่วนใดเป็นลมก็เป็นลมไปแล้ว ส่วนใดเป็นไฟก็เห็นว่าเป็นไฟไปหมด
ไฟเขาเป็นอะไร ดินเขาเป็นอะไร
เขาหลับเขานอนไหมล่ะ เขาเจ็บเขาปวดเขาเหนื่อยเขาหิวไหมล่ะ
สิ่งเหล่านี้เราก็พิจารณาให้มันรู้ เพื่อกำจัดภัย กำจัดเวร กำจัดกิเลส
ตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ
เราจึงจะไม่ยึดไม่ถือ



เมื่อเห็นแล้วจิตของเรามันก็วางก็ละน่ะซี ให้ดูซิ น้ำเขาเป็นอะไรล่ะ ดินเขาเป็นอะไรล่ะ
เขาเจ็บเขาปวดไหมล่ะ เขาหมุนเขาเวียนไหมล่ะ เขาไม่ได้ว่าอะไร เขาอยู่เฉย ๆ ยังงั้น
นี่ล่ะก้อนขี้ดินล่ะ นั่งอยู่คนละก้อน ก็มัวถือว่าเป็นคน ว่าเป็นตัว ว่าเป็นตน
มันก็ทุกข์ล่ะซี เกิดวุ่นวายเกิดเดือดร้อนซี่
ไปสมมุติเอาว่าเราเป็นโรค ว่าเราเป็นภัย ว่าเราเป็นโน่น ว่าเราเป็นนี่
เรื่องสมมุตินี่สัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในมหาสมุทร จมอยู่ที่สมมุติเป็นนั่นเป็นนี่
หากเราจำแนกแจกออกแล้วมันก็ไม่มี จิตมันก็สงบนั่นซี
พอจิตสงบแล้วมันก็หาย หมดภัยเวรทั้งหลาย เหลือแต่กรรม เหตุนั้นจึงให้พากันดูให้รู้
อายตนะเป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก
ตาเขาเป็นอะไร หูเขาเป็นอะไร จมูกเขาเป็นอะไร ลิ้นเขาเป็นอะไร กายเขาเป็นอะไร
เขาไม่ได้เป็นอะไรซักอย่าง ตาสำหรับดู หูสำหรับฟัง จมูกสำหรับดม เท่านั้นไม่ใช่เรอะ
ลิ้นก็สำหรับรับรสอาหาร กายก็สำหรับสัมผัส ใจเป็นธรรมารมณ์
นี่แหละให้พิจารณา นี่เป็นบ่อเกิดแห่งสุขและทุกข์
เขาว่าเห็นอย่างโน้นเห็นอย่างนี้ เราต้องน้อมเข้าไป เราไม่ว่าแล้วมีอะไรไหมล่ะ
นี่จึงพาให้กันพิจารณา



จงเพ่งพิจารณาให้มันรู้มันเห็นซี พอเราจำแนกแจกสิ่งเหล่านั้นแล้ว
จิตของเราก็เป็นหนึ่งอยู่ มันไม่มีคน ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีผู้ ไม่มีคน
ไม่มีบ้าน ไม่มีเมือง ไม่มีอะไรสักอย่าง จิตมันก็ว่างหมดละ
พอจิตมันว่างหมดแล้วก็ไม่มีอะไร ไม่มีภัย ไม่มีเวร
นี่เราไปก่อกรรมก่อเวร สมมติเป็นอันโน้น สมมติเป็นอันนี้
มันก็หลงสมมตินี่ซี สัตว์ทั้งหลายคาอยู่ที่นี่ จมในมหาสมุทรนี่ ข้ามไม่ได้
ต้องพ้นจากสมมติซิ ถามดูซิ เจ้าเป็นภูเขาไหมล่ะ เจ้าเป็นกกขามไหมล่ะ
เขาไม่ได้ว่าไม่ใช่เหรอ หรือว่าไง ถามดูเป็นกกขามไหม มิดแน่ะ
เขาไม่ได้ว่าอะไร เราไปว่าเขา เขาก็อยู่เฉยๆ
เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นกกขาม ต้นขามเขาก็ไม่ได้ว่า
ถามว่าเจ้าเป็นดินไหม แน่ะ มันก็ไม่ได้ว่าอะไรสักอย่าง
เจ้าเป็นน้ำไหม เจ้าเป็นลมเป็นไฟไหม เขาไม่ได้ว่าอะไร เราไปหลงเอาเฉยๆ
นี่แหละ ต้องจำแนกแจกออกไปเพื่อไม่ให้หลง



พุทโธให้มันรู้ซิ จิตของเราสงบ มีความเบิกบาน
พุทโธเป็นผู้เบิกบาน พุทโธสว่างไสว พุทโธเป็นผู้รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นรู้ได้หมด
ให้เรารู้เท่าสังขาร รู้เท่าวิญญาณ สังขารไม่เที่ยง วิญญาณมันก็ไม่เที่ยงทั้งหมด
เราไม่ควรไปยึดไปถือเอาเป็นตัวเป็นตน ถ้าไม่ยึด จิตของเรามันก็พ้นทุกข์น่ะซี
เราไม่ไปสมมติเราก็พ้นน่ะซิ จิตของเราพ้นจากทุกข์
ถ้าเราไม่ว่าทุกข์ละก้อทุกข์มีไหมล่ะ อย่าไปว่าซี อย่าไปสมมติ
แท้ที่จริงเขาไม่มีทุกข์ไม่มียากอะไร สังขารร่างกายนี้ เห็นไหมล่ะ
ตายแล้วนิมนต์พระไปชักบังสุกุล ว่าชักให้คนตาย แท้ที่จริงน่ะชักให้พวกเราดู
แต่ก่อนเขาก็เป็นเหมือนอย่างเรานี่แหละ ห่วงนั่นห่วงนี่ คานั้นคานี่
มาเดี๋ยวนี้ตายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ไม่คาอะไรสักอย่าง
เคยว่าเจ็บว่าปวด ยุงกัดก็ตี ปวดนั่นปวดนี่ ไปสุม (เผา) แล้วไม่ว่าอะไรเลย
แข้งขาหูตาจมูกเขาก็มีครบหมด ดูซีพวกเราทั้งหลาย
นี่แหละให้พิจารณากรรมฐาน ไปพิจารณาบังสุกุล ไปพิจารณาธรรมสังเวช
ท่านให้พิจารณาตนเสียก่อน



อยัง อัตตะภะโว ภวะ ความเกิดมาแล้ว
ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
อสุจิ อสุภัง มีแต่น้ำเน่าน้ำหนองเหมือนกันม๊ด
อิมัง กัมมัฏฐานัง ภเวติ ให้พิจารณากรรมฐานให้เห็นอย่างนั้น



ท่านให้พิจารณาตนให้เห็นเป็นอย่างนั้น
อันนี้ อนิจจา วตะ สังขารา สังขารทั้งหลายเป็นอย่างนี้ มันไม่เที่ยงทั้งหมด
เราไม่ควรจะหลง ให้พิจารณาให้มันรู้มันเห็น เราไม่ข้องอะไรไม่คาอะไร
ข้องลูกข้องหลาน ข้องบ้านข้องเมือง ไม่มีข้องล่ะผู้นี้
ยศมันก็ไม่คา อะไรมันก็ไม่คาซักอย่าง อะไรมันก็ไม่ข้องซักอย่าง
เห็นไหมล่ะ เราก็เพ่งดูให้มันรู้มันเห็นซี
นี่คนจะมีสุขเพราะเหตุใด ผู้ระงับสังขารน่ะหละ
วูปสโม สุโข มีความสุขเพราะระงับสังขาร
สัพเพ สัตตา มรัญติจะ มริงสุจะ มริสสเร ตเถวาหัง มริสสามิ นัตถิ เม เอถะ สังสโย
ไม่ต้องสงสัย เราทั้งหลายก็ต้องเป็นอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมตายมาแล้ว
ที่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็จะต้องเป็นเหมือนกัน เราไม่ต้องสงสัย
จะสงสัยอะไรอีกเล่า มันจะได้อะไรที่ไหนแม้สักอย่าง
แต่ก่อนเขาก็ห่วงนั่นห่วงนี่ ไปไหนก็ไม่ได้
มีแต่ข้องแต่คา กลัวอด กลัวหิว กลัวทุกข์ กลัวยาก
มาบัดนี้เขาไม่กลัวอะไรสักอย่าง เอาไฟสุมก็ไม่เห็น
อุ๊ยสักคำเดียว
เราก็พิจารณาให้มันรู้มันเห็นอย่างนั้นซี่ มันจะได้ไม่หลง
นี่พระเทศนา คนเป็นก็ไม่ฟัง
ชักบังสุกุลก็ว่าชักให้คนตายได้ไปสวรรค์นิพพาน เฮ่ย มันจะรู้จักที่ไหน



คนเรานั้นเมื่อมันจะตายมันก็เย็นแต่เท้าขึ้นมาทางแขนทางมือก็เย็นขึ้นมา
ศีรษะก็เย็นลงไป มาประชุมกันที่หัวใจ ถ้าผู้นั้นมีกุศล สร้างกุศลมา กุศลมันก็ไปเกิดแล้ว
จะมาอยู่อะไรนั่น จะมาอยู่อะไรในหีบนั้น ถ้ามันอยู่มันก็ติง (กระดุกกระดิก) เป็นซี
มันก็พูดได้ซี จะมานิ่ง จะต่อภพอยู่ทำไม
ถ้าบาปมีมันก็ต้องเสวยทุกข์แล้ว พอจะดับขันธ์มันก็เริ่มมีแล้ว
ภวา ภเว สัมภวันติ มันยังกระสับกระส่าย เพราะมันยังไม่มีที่เกาะ ยังไม่มีที่ไป
พอมันเห็นแล้วก็แพล๊บเดียวเท่านั้นไปแล้ว เหมือนกะถ่ายรูปติดน่ะแหละ จะมาอยู่ยังไง
ไม่ใช่ว่าชักบังสุกุลให้ผู้นั้นไปสวรรค์นิพพาน ชักให้คนที่ยังอยู่นี่ดูตังหาก
ท่านให้ดู ให้พิจารณาว่าข้องนั่นข้องนี่แล้ว มันได้อะไร มันมีอะไร



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก อาจาโรวาทฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๐


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP