สารส่องใจ Enlightenment

เนกขัม (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ ภูเก็ต
     
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนค่ำ




เนกขัม (ตอนที่ ๑) (คลิก)


คราวนี้พวกเราเล่าจะทำอย่างไรจึงจะสละหรือเนกขัมได้อย่างยายแม่บ้านคนนั้น
จริงอยู่ทุกคนเกิดมาแล้ว ต้องได้อัตภาพอันมีค่านี้มาพร้อมแล้วทุกคน
ยายแม่บ้านคนนั้นก็เช่นเดียวกับพวกเรา และก็ต้องถนอมเลี้ยงรักด้วยกันทั้งนั้น
ฉะนั้นจึงยากอยู่สำหรับผู้มิได้พิจารณาให้เห็นสภาพตามเป็นจริงของมัน จะเห็นโทษของมันได้
เพราะมีหลายอย่างเป็นเครื่องปกปิดไว้ โดยเฉพาะก็คือเห็นว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว
เราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เรายังไม่แก่ ยังไม่ตาย เป็นต้น


แต่ถ้าพิจารณาถี่ถ้วนแล้วการที่เราถนอมเลี้ยงดูอัตภาพอันนี้ ด้วยอาหารการบริโภค เป็นต้น
ก็เพื่อบำบัดความทุกข์ คือมันทุกข์อยู่แล้วจึงหาของมาบำบัด มิใช่ส่งเสริมความสุข
การหาเครื่องนุ่งเครื่องห่มมาหุ้มห่อปกปิดมัน ก็คล้ายกับผ้าพันแผลของเน่าของปฏิกูลนั่นเอง
หาเครื่องมุงเครื่องบัง กันแดดร้อนลมฝนหรืออันตรายต่างๆ
ก็คือเป็นการป้องกันทุกข์อันจะมาถึง
การแสวงหาหมอหายามารักษา ก็คือการยาแผล ยาเรือรั่ว หลังคาบ้านรั่วนั่นเอง



สรุปแล้ว ปัจจัย ๔ ที่อัตภาพอันนี้อาศัยอยู่นั้น
เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ชั่วคราว มิใช่เป็นการแก้ทุกข์แท้
และเพื่อกันแตกมิให้มันบุบสลายไปเร็ว

ผู้ที่อาศัยปัจจัย ๔ นั้นด้วยความเพลิดเพลินมัวเมา
จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้หลงอยู่ในเบญจกามคุณโดยแท้
ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษแห่งอัตภาพอันนี้แล้ว
ท่านก็ปกปักรักษาเลี้ยงดู อาบน้ำชำระขัดถู เหมือนกับผู้ที่ยังไม่เห็นโทษ
แต่ท่านทำโดยไม่เป็นไปเพื่อความเมาหลงลืมตัว
ทำด้วยความไม่ประมาท มีสติ เห็นโทษอยู่เสมอ



ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับคนป่วยเป็นแผล
อาหาร
คนไข้มิใช่รับประทานด้วยความหิวและอร่อย
แต่เพื่อบำบัดให้มีกำลังพอทรงตัวอยู่ได้
ผ้านุ่งผ้าห่มถึงจะเป็นของดีและใหม่เอี่ยม มิใช่นุ่งห่มด้วยความหลงเพลิดเพลิน
นุ่งห่มเพื่อปกปิดร่างอันซูบโซสกปรกต่างหาก
อาคารที่อยู่ถึงแม้จะหรูหราโอ่โถงสักปานใดก็ดี
คนไข้ที่ไปอยู่อาศัยนั้นมิได้อยู่ด้วยความสนุกสนาน เหมือนการไปพักชายหาดชายทะเลเลย
ไปอยู่ด้วยการจำเป็นเพื่อสะดวกแก่การรักษาไข้เท่านั้น
ยาที่กินก็เหมือนกัน มิใช่เป็นของเอร็ดอร่อยอะไร
ถึงแม้บางอย่างจะเคลือบน้ำตาล ก็เพื่อให้กลืนง่ายสบายคอเท่านั้น
ที่กินก็เพื่อประโยชน์แก่การบำบัดไข้



ทุกคนเกิดมาในโลกนี้แล้ว จำเป็นต้องไปกับโลกเขา
หากทำผิดแปลกแตกต่างความนิยมประเพณีของเขา
เขาก็หาว่าเราเป็นบ้า ประเดี๋ยวอยู่กับเขาไม่ได้
ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเป็นไปกับโลกเขา แต่อย่าให้เมาหลงจนเกินขอบเขต
มีสติเพ่งพิจารณาให้เห็นตามสภาพเป็นจริงอยู่เสมอ

การเป็นอยู่ของผู้รู้กับผู้หลงผิดกัน
ผู้หลงมิใช่หลงแต่ตัวคนเดียวเท่านั้น ยังทำให้คนอื่นพลอยหลงตามอีกด้วย
การหลงในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็คือหลงเงาหลงงม หลงจมอยู่ในความแก่นั่นเอง
แล้วก็ประดิษฐ์คิดแต่งรูปแก่แปรสภาพ
ให้คนอื่นเห็นว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวสวยงาม พลอยตามหลงอีกด้วย
หลงว่าตนไม่เจ็บไม่ไข้ คือหลงไถลผิดไปจากความจริง
ความจริงแล้วความไม่สบายไม่ว่าจะด้วยประการใด ทั้งหมดเรียกว่าไข้ด้วยกันทั้งนั้น
หลงว่าตนไม่ตายยิ่งเป็นการหลงงมงายใหญ่
สิ่งใดถ้าแปรจากสภาพเดิมแล้วเรียกว่า ตาย ทั้งนั้น
เราแปรมาจากวัยต่างๆ ก็คือ เราตายมาแล้วโดยลำดับ แต่กลับว่าตนยังไม่ตาย



ฉะนั้น ทุกคนขอได้พิจารณาตามอุบายดังได้บรรยายมานี้
จึงจะเห็นโทษของอัตภาพอันนี้ อันเป็นที่ตั้งของกามคุณ ๕ จึงจะปล่อยวางอุปาทานเสียได้
แล้วจะเห็นอัตภาพอันนี้เป็นแต่เพียงบัญญัติอันหนึ่ง
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธาตุก็ดี ขันธ์ก็ดี มิใช่ตัวตนบุคคลอะไรเลย
การพิจารณาแยกบุคคลออกให้เป็นแต่สักว่า เป็นธาตุ ๔ ก็ดี เป็นขันธ์ ๕ ก็ดี
เป็นวิธีการปล่อยวางความยึดถือมั่นในรูปกายได้อย่างดีที่สุด

จะเห็นชัดตามเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ขอให้ยึดแนวพิจารณานี้ไว้ให้มั่น
อย่าประมาท เพียรพยายามพิจารณาอยู่เสมอ
อาจได้ความรู้ และความเห็นอันแปลกๆ เกิดขึ้นมาในความเพียรนั้นในวันหนึ่งจนได้



การปฏิบัติธรรมถ้าทำไม่ถูกตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
หรือปฏิบัติถูกแต่เราไม่ทำฉันทะ ความพอใจในคำสอนนั้น ก็จะไม่เกิดความเพียร (วิริยะ)
เมื่อขาดฉันทะ วิริยะ ทั้งสองประการนี้แล้ว ก็จะไร้ผลอันตนปรารถนา
แล้วจะมีแต่ความเบื่อหน่ายเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม
นอกจากจะไม่เป็นกุศลแก่ตนแล้ว จะเพิ่มบาปโทษให้เกิดมีขึ้นอีกด้วย
นั่นคือจะไปโทษคำสอนของพระพุทธเจ้า
อันสมบูรณ์ด้วยเหตุผลและคุณค่าอย่างประเสริฐ
ว่าปฏิบัติตามแล้วไร้ผล



เหมือนคำพูดของบางคนผู้ไม่เข้าใจในพระศาสนาว่า
บวชอยู่นานบาปมากบวช ๒-๓ วันก็พอแล้ว
คือการบวชนานมันท้อใจ ทำอะไรก็ไม่ถูกไม่เป็นกับเขา
จับวอกจับลิงมาขังไว้ในกรงมันก็น่าเห็นใจ เป็นบาปแน่เพราะความกลุ้มใจ
บวช ๒-๓ วันแรกกำลังศรัทธายังกล้าและไม่รู้จักอะไรเป็นอะไร
บวชชนิดนั้นเขาถือว่าบวชเอาบุญ มิใช่บวชให้รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไร
เกือบจะถือเอาตัวเหลืองๆ นั้น เป็นตัวบุญไปอีกด้วยซ้ำ
ความคิดเห็นชนิดนี้ มันไกลจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากเสียเหลือเกิน
ซึ่งก็มีอยู่ในใจของเหล่าพุทธบริษัทเป็นจำนวนมากทีเดียว



แท้จริงการบวชเป็นการบำเพ็ญบุญโดยแท้ ขอแต่ให้รู้ว่ามาบวชนั้น
คือเรามาทำความงดเว้นจากการทำชั่วทุกประการ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น
งดเว้นจากการทำความชั่วมากกว่าฆราวาส
แล้วจึงทำความพอใจในความดีของตน ที่ตนได้ทำดีอยู่นั้น
แล้วหมั่นพยายามรักษาความดีอันนั้นไว้ให้มั่นคง
ก็จะเกิดความพอใจในของดีอันตนไม่เคยได้มาก่อน

บุญ
คือความอิ่มใจพอใจในการที่ได้เห็นความดีที่ตนได้บำเพ็ญแล้ว
ก็จะเกิดมีขึ้นในตนของตน จึงจะเรียกว่าบุญ
ผู้เห็นบุญอย่างนี้แม้จะบวชอยู่ตั้งร้อยปีก็จะไม่บาป
เห็นเป็นการบำเพ็ญบุญตลอดเวลา

เขาบวชอยู่นานก็เหมือนการบวชของเขาครู่เดียว
เปรียบเหมือนบุคคลประกอบธุรกิจเมื่อได้รับผลเจริญก้าวหน้า
เวลา ๑๒ ชั่วโมงของเขาเหมือนครู่เดียว เวลาของเขาเป็นของมีค่ามาก
การละชั่วทำดี เห็นเป็นบาป การไม่ทำดีละความชั่วก็ไม่เห็นเป็นบุญ
เช่นนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกันต่อไปอีกแล้ว



เมื่อพวกเราพากันมาหัดภาวนา
พิจารณาความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แห่งอัตภาพอันนี้
หากยังไม่เห็นชัดเจนตามเป็นจริงก็ดี
ก็ได้ชื่อว่าเราพากันมาเจริญภาวนาทำอุบายกัมมัฏฐาน
ซึ่งแต่ก่อนเรายังมัวเมาหลงอยู่ ไม่เคยเจริญภาวนา
มาบัดนี้เราได้เจริญอุบายนั้นให้เกิดมีในใจของเรา
จึงควรทำความพอใจรักใคร่ เพียรพยายาม ทำไปเสมออย่าได้ท้อถอย
เมื่อทำไปจนเกิดความรู้แจ้ง เห็นชัดตามเป็นจริง
เพราะความปล่อยวางในเบญจกามคุณ แล้วจะเกิดความปลื้มปีติอิ่มใจ
เห็นตัวบุญเกิดขึ้นมาในใจของตนนั่นเอง
นั่นแหละเป็น ปรมัตถทาน ทานอย่างอุกฤษฏ์ ได้อานิสงส์อย่างเลิศ
เมื่อจิตปล่อยวางไม่เพลิดเพลินหลงมัวเมาในกามคุณแล้ว
ก็สงบเป็นปกติ เป็นศีลปรมัตถ์ พ้นจากอาสวะอย่างหยาบได้



จิตที่สงบละนิวรณ์ ๕ เข้าถึงเอกัคตา จนเป็นอัปปนาสมาธิ
ย้อนออกมาพิจารณาขันธ์ อันเป็นที่ยึดมั่นของอุปาทาน
บังเกิดญาณ เห็นอาการของขันธ์ทั้งภายนอกภายใน เป็นไปตามพระไตรลักษณ์
จิตก็จะหลุดพ้น ไม่ถืออะไรว่าเป็นเรา เป็นของๆ เราต่อไปอีก
รวมความแล้ว ทาน ศีล ภาวนา สงเคราะห์ลงเป็นเนกขัม
คือการสละออกจากกามคุณ ๕ และกองกิเลสบาปธรรมโดยสิ้นเชิง



แสดงธรรมมิกถาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวํ ด้วยประการฉะนี้ฯ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา “เนกขัม”
ใน “พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์
ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP