สารส่องใจ Enlightenment

งานล้างป่าช้า (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙



งานล้างป่าช้า (ตอนที่ ๑) (คลิก)
งานล้างป่าช้า (ตอนที่ ๒) (คลิก)



นักรบต้องเป็นผู้กล้าหาญต่อความจริง ให้เห็นความจริง
จิตเป็นผู้ที่ชอบรู้ชอบเห็น มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา
ขอให้น้อมความอยากรู้อยากเห็นนั้นเข้ามาสู่
“สัจธรรม”
ให้อยากรู้อยากเห็นใน “สัจธรรม” คือความจริง


พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเป็นความจริง จริงแค่ไหนให้เห็นด้วยสติปัญญาของตัวเอง
จะเป็นที่หายสงสัยว่า อ้อ พระพุทธเจ้าท่านว่าสัจธรรมเป็นของจริง จริงอย่างนี้!
อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ ทุกข์ก็จริงอย่างนี้ สมุทัยก็จริงอย่างนี้
ปัญญาก็จริงอย่างนี้ จิตก็จริงอย่างนี้ เห็นได้ชัดๆ หายสงสัย
เรื่องพระพุทธเจ้าก็หายสงสัย
เรื่องความพากเพียรของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญอย่างไรมาบ้าง ก็หายสงสัย
อุบายวิธีต่างๆ ที่ทรงสอนไว้อย่างไร หายสงสัยไปหมด
นั่น! เมื่อถึงขั้นนั้นหายสงสัย หายไปโดยลำดับจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย


เพราะฉะนั้นจงพิจารณา “ขันธ์” ของเรานี้ เอาให้ดี
ยิ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยแล้วเราจะนอนใจไม่ได้
เอาลงให้เห็นเหตุเห็นผลกันจนกระทั่งสิ้นลม
เอ้า ลมมันสิ้นไปจากตัวของเรานี้ก็ไม่ฉิบหาย
มันก็ไปเป็น “ลม” ตามเดิม มันเพียงผ่านจากเราไปต่างหาก
คำว่า “เรา” เอาดินเอาน้ำเอาลมเอาไฟมาเป็น “เรา”
ดินสลายลงไปจากคำว่าเรานี้ก็ไปเป็นดิน
น้ำสลายลงไปจากคำว่าเรานี้ก็ไปเป็น “น้ำ” ไปเป็นลม ไปเป็นไฟ
ธรรมชาติคือใจนี้ก็เป็น “ใจ” แยกกันให้เห็นตามกำลังของสติปัญญาของเราอย่าท้อเลย!


นี่เหละความช่วยตัวเองช่วยอย่างนี้ ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถช่วยเราได้
ยิ่งถึงขั้นจำเป็นจำใจ ขั้นจนตรอกจนมุมจริงๆ แล้ว
มีแต่นั่งดูกันเฉยๆ นั่นแหละ ไม่มีใครที่จะช่วยเราได้
ถ้าเราไม่รีบช่วยเราด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของเราเสียตั้งแต่บัดนี้
จนเป็นที่พอใจ เป็นที่แน่ใจ


ส่วนความต้องการเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรนั้นไม่มีความหมาย
ถ้าความเพียรไม่เป็นเครื่องสนับสนุน ความเพียรจึงเป็นสิ่งสำคัญ
อดทนต่อความจริง อดทนต่ออรรถต่อธรรมไม่เสียหาย
เราอดทนต่อสิ่งอื่น ตรากตรำต่อสิ่งอื่นๆ เราเคยตรากตรำมามากแล้ว เราเคย!
คำว่า
“เราเคย” แล้วสิ่งนี้ทำไมเราจะไม่สามารถ
ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ “เพชฌฆาต”
พอจะฆ่าคนที่มีความเพียรอันกล้าหาญให้ฉิบหายวายปวงไปนี่
นอกจากฆ่ากิเลสอาสวะซึ่งเป็นตัวข้าศึกอยู่ภายในจิตใจให้เราลุ่มหลงไปตามเท่านั้น


จงพิจารณาลงให้เห็นชัดเจน ดูให้ดีสิ่งเหล่านี้กับจิตมันสนิทกันมาเป็นเวลานาน
ติดจมกันมาเป็นเวลานาน จนแยกไม่ออกว่า
“อะไรเป็นเรา อะไรเป็นธาตุเป็นขันธ์”
จึงรวมเอามาหมดนี้ว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรา
ตามหลักความจริงของท่านผู้รู้ไปแล้วท่านเห็นอย่างนั้นจริง แต่จิตของเรามันฝืนอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรื่องทุกข์มันจึงแทรกเข้ามาตามความฝืนซึ่งเป็นของผิดนั้น
ให้ได้รับความลำบากอยู่เสมอ
ถ้าเดินตามหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วนี้
และรู้ตามนี้แล้วจะไม่มีปัญหาอะไร ธาตุก็เป็นธาตุ ขันธ์ก็เป็นขันธ์
ให้ชื่อมันว่าอย่างไรก็เถอะ “เขา” เป็นสภาพของเขานั่นแหละ
เราเป็นผู้ให้ชื่อ “เขา” ว่า “นี่เป็นธาตุ นั่นเป็นขันธ์ นี่เป็นรูป
นั่นเป็นเวทนา นั่นเป็นสัญญา นี่เป็นสังขาร นั่นเป็นวิญญาณ”


ขอให้ปัญญารู้ทั่วถึงเท่านั้นแหละ มันหมดสมมุติไปเอง
แม้ไม่ไปสมมุติมันก็เป็น
“อาการหนึ่งๆ” เท่านั้น
เมื่อทราบความหมายของจิตเสียอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งนั้นๆ ก็เป็นความจริงของมันล้วนๆ
จิตก็มาเป็นความจริงของตนล้วนๆ ไม่คละเคล้ากัน
จงพิจารณาให้เห็นชัดอย่างนี้ เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วก็ค้นลงไป
มันอะไรกัน จิตดวงนี้ทำไมถึงได้ขยันนักกับเรื่องเกิดเรื่องตาย ทั้งๆ ที่โลกก็กลัวกันนักหนา
เราเองก็กลัวความตาย แต่ทำไมความเกิดนี้จึงขยันนัก
ตายปั๊บเกิดปุ๊บ แน่ะ! เกิดปุ๊บก็แบกเอาทุกข์ปุ๊บ
แน่! ทำไมจึงขยันนัก พิจารณาให้เห็น


มันเกิดไปจากอะไร? เรื่องอะไรพาให้เกิด?
ถ้าไม่ใช่จากจิตที่มีเชื้ออันสำคัญแฝงอยู่ภายในนี้
จะเป็นอะไรพาให้เกิดพาให้เป็นทุกข์ การเกิดเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์
พิจารณาลงไปค้นลงไป เอ้า อะไรจะฉิบหายให้เห็นให้รู้
เพราะเราต้องการความจริงนี่
อะไรจะฉิบหายลงไปให้มันรู้ด้วยปัญญาของเรา รู้ด้วยจิตของเรา
อะไรมันไม่ฉิบหายก็ให้รู้ด้วยจิตของเราอีกนั่นแหละ จะหมดปัญหาอยู่ที่จุดนั้น
ปัญหาใหญ่อยู่ที่จิตกว้านอะไรๆ รวมเข้ามาไว้ในตัวหมด ไปกว้านเอาข้างนอกเข้ามา
พอถูกตัดด้วยสติปัญญาแล้วก็หดตัวไปอยู่ภายใน
ไปหลบซ่อนอยู่ภายในจิตนั้น จิตก็ถืออันนี้ว่าเป็นตนอีก ก็หลงอีก
เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาเข้าไปอีก
ฟันเข้าไป ฟาดเข้าไปให้แหลกละเอียดไปตามๆ กันหมด


อะไรที่ไม่ใช่ของจริงในหลักธรรมชาติซึ่งมีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว มันจะสลายตัวลงไป
อันใดเป็นธรรมชาติของตัวเองแล้วจะไม่สลาย เช่นความรู้
เมื่อแยกสิ่งที่แปลกปลอม สิ่งที่แทรกซึมทั้งหลายออกหมดแล้ว
จิตก็เลยเป็นจิตล้วนๆ เป็นความบริสุทธิ์ จะฉิบหายไปไหนความบริสุทธิ์น่ะ!
ลองค้นหาดูซิ ป่าช้าแห่งความบริสุทธิ์ ป่าช้าแห่งจิตนี้ไม่มี ไม่ปรากฏ!
ยิ่งชำระสิ่งจอมปลอมที่พาให้ไปเที่ยวเกิดในร่างนั้น
ถือในร่างนั้นร่างนี้ ออกหมดแล้ว ยิ่งเป็นความเด่นชัด
นี้แลท่านว่า
“ธรรมประเสริฐ”! ประเสริฐที่ตรงนี้
แต่ก่อนผู้นี้แหละเป็นตัวสำคัญหลอกลวงตัวเองอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่พาให้หลอกมันอยู่ในจิต จิตนี้จึงเป็นเหมือนลูกฟุตบอลนั่นแหละ
ถูกเตะกลิ้งไปกลิ้งมา กิเลสนี้แหละมันเตะ ฟันขากิเลสให้แหลกเสียมันจะได้ไม่เตะ
ฟันด้วยปัญญาของเรา ด้วยสติของเราให้แหลกหมด ให้ตรงแน่ว
นิพพานเที่ยงจะไปถามที่ไหนเล่า?
พอถึงจุดที่เที่ยง คือไม่มีอะไรที่จะเข้ามาแทรกสิงได้อีกแล้ว มันก็ไม่เอนไม่เอียง
นั่นแหละ สนฺทิฏฺฐิโกรู้กันตรงนี้ เป็นสนฺทิฏฺฐิโก อันเต็มภูมิ


ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้จำเพาะตน
รู้ที่ตรงนี้เป็นจุดสุดท้าย รู้ที่ตรงนี้แล้วเรื่องก็หมดที่ตรงนี้
เรื่อง “ป่าช้า” ทั้งหลาย เคยเป็นความเกิดความตายมาเท่าไรๆ แล้ว
มาดับกันที่ตรงนี้ นี่เรียกว่า “งานล้างป่าช้า” คืองานกรรมฐาน! ฐานนี่แหละ
งานล้างป่าช้าของตนล้างที่ตรงนี้ ภพน้อยภพใหญ่ล้างออกให้หมดไม่มีอะไรเหลือ
นี่ผลที่เกิดขึ้นจากประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก
เข้าอยู่ในป่าในเขา การฝึกฝนทรมานตนไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ไป “เที่ยวกัมมัฏฐาน” ไปเที่ยวแบบนี้แหละ


ทีนี้คำว่า “กัมมัฏฐาน” (กรรมฐาน) นี้มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่ว่านักบวช ไม่ว่าฆราวาส
“กัมมัฏฐาน” คืออะไร? เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นั่น! “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน”
แปลว่า กัมมัฏฐานมี “หนัง” เป็นที่ห้า เป็นคำรบห้า
ก็มีอยู่กันทุกคนนี่ไม่ว่าพระว่าเณร พิจารณาตรงนี้เรียกว่า “พิจารณากัมมัฏฐาน”
เที่ยวอยู่ตรงนี้เรียกว่า“เที่ยวกัมมัฏฐาน” หลงก็หลงอันนี้
พิจารณาอันนี้รู้แล้วก็รู้กัมมัฏฐาน ถอดถอนกัมมัฏฐาน ถอดถอนภพถอดถอนชาติ
รื้อวัฏสงสารก็รื้อที่ตรงนี้ รวมเข้าไปก็ไปรื้อที่ใจ ก็หมดปัญหาที่ตรงนั้น
นั่นแหละกรรมฐานสมบูรณ์แล้ว
วุสิตํ พฺรหฺมจริยํพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
หรือว่างานกรรมฐานเสร็จสิ้นแล้ว จบที่ตรงนี้ จบทุกสิ่งทุกอย่าง


ศาสนาลงที่จุดนี้ เมื่อถึงจุดนี้แล้วพระพุทธเจ้าไม่ทรงสั่งสอนอะไรต่อไปอีก
เพราะศาสนาธรรมมุ่งจุดนี้
คือมุ่งล้างป่าช้าของสัตว์ที่ตรงนี้
เมื่อถึงจุดนี้แล้วก็เป็นอันว่าหมดปัญหา สาวกจะอยู่ด้วยกันกี่ร้อยกี่พันองค์
ท่านจะไม่มีอะไรสอนกัน เพื่อการบำรุงอย่างโน้นบำรุงอย่างนี้
แม้จะรุมล้อมพระพุทธเจ้าอยู่ก็ตาม พระองค์ก็ไม่ทรงสอนเพื่อการละกิเลส
เพราะได้ละกันหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
ดังใน
“โอวาทปาฏิโมกข์” ในวันมาฆบูชาที่ได้เทศน์เมื่อคืนนี้


สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
แน่ะ! ท่านประกาศ แสดงเป็นสัมโมทนียกถา เครื่องรื่นเริงสำหรับสาวกเท่านั้น
ไม่ได้จะแสดงให้สาวกจะถอนอะไร เพราะบรรดาสาวกเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
เป็นผู้สิ้นกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวงแล้ว การทำบาปก็ไม่มี ความฉลาดก็ถึงพร้อม
จิต ก็บรรลุถึงขั้นบริสุทธิ์หมดจดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
ถูกต้องตามหลักว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์แล้ว
ท่านไม่สอนเพื่อให้ละกิเลสอันใดอีกต่อไปเลย


พระอรหันต์ท่านอยู่กันจำนวนเท่าไรท่านจึงสะดวกสบาย
ท่านไม่มีอะไรกระทบกระเทือนตนและผู้อื่น เพราะเป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ด้วยกันแล้ว
แต่พวกเรามันมีกิเลสอยู่ภายในนี่ ไม่ได้ทะเลาะกับคนอื่นก็ทะเลาะกับตนเอง ยุ่งกับตัวเอง
นอกจากยุ่งกับตัวเองแล้ว ก็เอาเรื่องตัวเองนี้ไปยุ่งกับคนอื่นอีก
ระบาดไปหมด ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เอาไปป้ายไปทาคนนั้นคนนี้
แหลกเหลวไปหมด ร้องกันอลหม่านวุ่นไปหมด
เลยเป็นสภามวยฝีปาก สภามวยน้ำลายขึ้นมาในวัดในวาอย่างนี้ก็มีมากมายหลายแห่ง
แข่งดีกันก็เพราะของสกปรกที่มีอยู่ภายในจิตใจนี้เอง ถ้าหมดนี่แล้วก็หมดปัญหา



เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นสมควร


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2IaJHjg


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP