จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

จัดงานอุปสมบทให้ได้บุญ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



254 destination



เมื่อไม่นานมานี้ เราคงได้ยินข่าวดังเรื่องงานบวชที่วัดแห่งหนึ่ง
ที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งกำลังจัดสอบ
GAT-PAT
โดยเจ้าภาพได้จัดให้มีการแสดงดนตรี
และเนื่องด้วยโรงเรียนมีการจัดสอบ จึงได้มีการขอให้ลดเสียงดนตรีลง
ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในงานไม่พอใจ และได้เข้าไปในโรงเรียนนั้น
ทำร้ายครูอาจารย์ และนักเรียนได้รับบาดเจ็บ
โดยกลุ่มคนที่เข้าไปทำร้ายในโรงเรียนนั้นก็มีอาการเมาสุราอีกด้วย


ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมากนะครับ
เพราะว่างานที่จัดในวัดนั้นก็เป็นงานบวชเสียด้วย
แทนที่เจ้าภาพจัดงานจะได้บุญกุศลมาก
แต่กลับกลายเป็นเกิดเรื่องบาปอกุศล และผิดกฎหมายอาญาอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นนะครับ
ถ้าหากญาติธรรมมีทิฏฐิที่ถูกต้องในเรื่องการจัดงานอุปสมบท


ในวันนี้เราก็จะมาสนทนาในเรื่องงานอุปสมบทกันครับ
ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายว่า
บวช” หมายถึง การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง
(ออกมาจากคำว่า ป + วช) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป
อนึ่ง บวชพระ คือ บวชเป็นภิกษุ เรียกว่า “อุปสมบท”
และบวชเณร คือ บวชเป็นสามเณร เรียกว่า “บรรพชา”
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BA%C7%AA&original=1


อุปสมบท” คือ การให้กุลบุตรบวชเป็นภิกษุ หรือให้กุลธิดาบวชเป็นภิกษุณี,
การบวชเป็นภิกษุ หรือภิกษุณี

http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%BB%CA%C1%BA%B7&original=1


อุปสัมปทา” คือ การบวช, การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี
โดยวิธีอุปสมบทมีทั้งหมด ๘ อย่าง แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ อย่างคือ
๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด”
เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง


๒. ติสรณคมนูปสัมปทา หรือสรณคมนูปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทำในยุคต้นพุทธกาล เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก
เมื่อทรงอนุญาตวิธีที่ ๓ แล้ว วิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร


๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว
และเป็นวิธีใช้สืบมาจนทุกวันนี้


วิธีอุปสมบทอีก ๕ อย่างที่เหลือ เป็นวิธีที่ทรงประทานเป็นการพิเศษ
จำเพาะบุคคลบ้าง ขาดตอนหมดไปแล้วบ้าง ได้แก่
(จัดเรียงลำดับใหม่ โดยเอาข้อ ๓. เป็นข้อ ๘. ท้ายสุด)


๓. โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยการรับโอวาท
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปะ


๔. ปัญหาพยากรณูปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาของพระพุทธองค์
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่โสปากสามเณร


๕. ครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา (หรืออัฏฐครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา)
การอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดีโคตรมี


๖. ทูเตนะ อุปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยทูต
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่นางคณิกา (หญิงโสเภณี) ชื่ออัฑฒกาสี


๗. อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา คือการอุปสมบทมีวาจา ๘ คือ
ทำด้วยญัตติจตุตถกรรม ๒ ครั้งจากสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือจากภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง
จากภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่ง ได้แก่การอุปสมบทของภิกษุณี


๘. ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา (ข้อ ๓. เดิมข้างต้น)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%BB%CA%D1%C1%BB%B7%D2


ทั้งนี้ วิธี “ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา” หมายถึง
วิธีอุปสมบทที่สงฆ์เป็นผู้กระทำอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โดยภิกษุประชุมครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่าสีมา
กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้นเข้าหมู่
และได้รับความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์นั้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%AD%D1%B5%B5%D4%A8%B5%D8%B5%B6%A1%D1%C1%C1%CD%D8%BB%CA%D1%C1%BB%B7%D2&original=1


ดังที่กล่าวแล้วว่า การบวช หมายถึง เว้นความชั่วทุกอย่าง
หรือการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป

ดังนี้แล้ว งานอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่จะเป็นบุญกุศลนั้น
ก็ย่อมต้องจัดโดยงดเว้นสิ่งอกุศล และงดเว้นการเบียดเบียนบุคคลอื่น
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการดื่มสุรานี้ผิดศีลอยู่แล้ว
ก็ย่อมไม่สมควรจัดให้มีสุราในงาน
ส่วนเรื่องการจัดมหรสพหรือดนตรีในงานอุปสมบทนั้น
ก็ย่อมจะเป็นการเบียดเบียนพระภิกษุในวัดด้วย
เพราะว่าในศีลของพระภิกษุนั้นห้ามดูมหรสพและฟังดนตรี
ในการจัดมหรสพหรือดนตรีเสียงดังนั้น
นอกจากจะรบกวนพระภิกษุในวัดแล้ว
ก็ยังเป็นการรบกวนหรือเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสถานที่ใกล้เคียงด้วย


หลายท่านอาจเข้าใจว่าการอุปสมบทย่อมจะได้บุญกุศลมาก
แต่ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไปหรอกนะครับ
โดยขึ้นอยู่กับความประพฤติของพระภิกษุเป็นสำคัญ
หากพระภิกษุประพฤติทุศีลแล้ว ย่อมเป็นกรรมหนักกว่าเป็นฆราวาสเสียอีก
เช่น หากฆราวาสประพฤติทุศีลได้ทานอาหารที่คนอื่นให้มา ก็ไม่ได้มีโทษอะไร
แต่หากเป็นภิกษุทุศีล แล้วไปฉันบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน
โดยเมื่อภิกษุนั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


ในอัคคิขันธูปมสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปรียบเทียบว่า
หากเป็นพระภิกษุทุศีลแล้ว พึงฉันก้อนเหล็กแดงไฟร้อนแล้วตายทันที
ยังดีกว่าฉันบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา
เพราะเมื่อฉันก้อนเหล็กแดงไฟร้อนลงไปแล้ว ก็ตายแค่คราวเดียว
และการฉันนั้นไม่เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ
แต่ว่าหากเป็นพระภิกษุทุศีลแล้วไปฉันบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้ว
เมื่อตายไปย่อมไปอบายภูมิ ซึ่งย่อมต้องได้รับวิบากกรรมในอบายภูมิเนิ่นนาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=2629&Z=2793&pagebreak=0


ในทำนองเดียวกัน บางท่านอาจเข้าใจว่าการจัดงานอุปสมบทจะได้บุญมาก
แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไปนะครับ โดยขึ้นอยู่กับว่าจัดอย่างไร

โดยหากจัดงานอุปสมบทแบบผิดศีล และเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว
แทนที่จะได้บุญกุศล ก็ย่อมจะได้บาปอกุศลครับ
กลายเป็นว่าอุตส่าห์เสียเงินเสียทอง เสียเวลาและกำลังเพื่อที่จะได้บาปอกุศล
นอกจากนี้ ยังเป็นการจัดงานในวัดด้วย ก็ย่อมจะได้รับโทษมหันต์ตามไปด้วย
ฉะนั้นแล้ว หากเราจะจัดงานอุปสมบทแล้ว
สิ่งสำคัญคือควรจะเน้นเรื่องสิ่งกุศล พระวินัยในเรื่องการอุปสมบท
และประโยชน์ในทางธรรมแก่ผู้ที่จะบวชนั้นเป็นสำคัญ
โดยไม่ควรไปเน้นเรื่องบันเทิงหรือเลี้ยงแขกครับ
และพึงละเว้นเรื่องอกุศล สุรา มหรสพ ดนตรี
รวมถึงเรื่องใด ๆ ทั้งปวงที่จะผิดศีล หรือเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP