จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อานิสงส์การฟังธรรม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



252 destination



การฟังธรรมในสมัยอดีตโบราณกาลจะต้องเดินทางไปที่วัด
หรือสถานที่แสดงธรรม หรือนิมนต์พระภิกษุมาแสดงธรรมที่บ้าน
แต่ในปัจจุบันนี้ การฟังธรรมสะดวกอย่างมาก
เพราะสามารถฟังจากอินเตอร์เน็ตหรือแอพพลิเคชั่นได้ในหลายช่องทาง
โดยการฟังธรรมนี้ให้อานิสงส์อย่างมากนะครับ


นอกจากการฟังธรรมจะถือเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ
ได้แก่ “ธัมมัสสวนมัย” คือการทำบุญหรือทำความดีด้วยการฟังธรรมแล้ว
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BA%D8%AD%A1%D4%C3%D4%C2%D2%C7%D1%B5%B6%D8&original=1
การฟังธรรมยังให้อานิสงส์อีกหลายประการ


ใน ธัมมัสสวนสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
กล่าวว่า อานิสงส์ในการฟังธรรมมี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว
๓. ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ย่อมทำความเห็นให้ตรง (หรือ “ทิฏฐุชุกัมม์” ซึ่งเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ)
๕. จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=202&items=1&preline=0&pagebreak=0


ใน “ผัคคุณสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
กล่าวว่า อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร
และการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควรมี ๖ ประการ ได้แก่
๑. จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่เธอ
จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น
๒. จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต แต่ได้เห็นสาวกของตถาคต
สาวกของตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่เธอ
จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น
๓. จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต
แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา
เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่
จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
เพราะการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร
๔. จิตของภิกษุได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่เธอ
จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น
๕. จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต แต่เธอได้เห็นสาวกของตถาคต
สาวกของตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่เธอ
จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น
๖. จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต
แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา
เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่
จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
เพราะการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=8948&Z=9032&pagebreak=0


ใน “มหาวรรค” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
กล่าวสอนว่า การที่บุคคลฟังธรรมเนืองๆ และท่องจนคล่องปากขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ ๔ ประการ ได้แก่
๑. เธอมีสติ หลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น
สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
๒. เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย
แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท
เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด
นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
๓. เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย
ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท
แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง
สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
๔. เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย
แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท
แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท
แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า
ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน
เธอกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์
สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=4991&Z=5844&pagebreak=0


ใน “นันทกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
กล่าวสอนว่า อานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล
และการสนทนาธรรมตามกาลมี ๕ ประการนี้ ได้แก่
๑. ภิกษุย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใด ๆ
เธอย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจของพระศาสดา
เป็นที่เคารพสรรเสริญ ด้วยประการนั้น
๒. ภิกษุย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใด ๆ
เธอย่อมซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรมในธรรมนั้น ด้วยประการนั้น
๓. ภิกษุย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใด ๆ
เธอย่อมแทงตลอดบทแห่งอรรถอันลึกซึ้งในธรรมนั้น
เห็นด้วยปัญญาด้วยประการนั้น
๔. ภิกษุย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใด ๆ
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญด้วยประการนั้นยิ่งขึ้นไปว่า
ท่านผู้นี้บรรลุแล้วหรือกำลังบรรลุเป็นแน่
๕. ภิกษุย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใด ๆ
ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะ ยังไม่บรรลุอรหันต์
ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่
ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=7619&Z=7710&pagebreak=0


คนในสมัยพุทธกาลให้ความสำคัญแก่การฟังธรรมอย่างมาก
โดยไม่ให้เรื่องอื่น ๆ มาเป็นอันตรายต่อการฟังธรรม
ใน อรรถกถาของจูฬวรรค (อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์)
ได้เล่าเรื่องพระปิณฑปาติกเถระว่า ในสมัยหนึ่ง พระเถระได้นั่งฟังธรรมอยู่
และมีงูขว้างฆ้อนตัวหนึ่งได้มากัดท่านจนเนื้อหลุด
เหมือนเอาคีมคีบเนื้อออกจากปลีแข้ง
พระเถระมองดูเห็นงูขว้างฆ้อน คิดว่า วันนี้ เราจักไม่ทำอันตรายแก่การฟังธรรม
จึงจับงูใส่ลงในย่ามผูกปากย่ามไว้ แล้ววางไว้ในที่ไม่ไกล
นั่งฟังธรรมอยู่ อรุณขึ้นไป พิษงูสงบ และพระเถระได้บรรลุผลทั้งสาม
พิษงูได้ไหลออกจากปากแผลลงดินไป


ในอรรถกถาเดียวกัน ได้เล่าถึงเรื่องหญิงชาวบ้านกาฬุมพระว่า
หญิงคนหนึ่งเป็นชาวบ้านกาฬุมพระ ได้อุ้มลูกไปฟังธรรม
ให้ลูกนอนพิงต้นไม้ต้นหนึ่ง ตนเองยืนฟังธรรม
ในระหว่างรัตติภาค งูตัวหนึ่งกัดลูกที่นอนอยู่ใกล้ ๆ นาง แล้วหนีไป
นางคิดว่า ถ้าเราบอกว่าลูกของเราถูกงูกัดแล้ว
จักเป็นอันตรายแก่การฟังธรรม เมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
เด็กคนนี้ได้เป็นลูกของเรามาหลายครั้งแล้ว เราจักประพฤติธรรมเท่านั้น
แล้วยืนอยู่ตลอดทั้ง ๓ ยาม ประคองธรรมไว้ ได้บรรลุโสดาปัตติผล
เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ได้ทำลายพิษงูในบุตรด้วยการทำสัจจกิริยา แล้วอุ้มบุตรไป
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=481


อีกเรื่องหนึ่ง ในอรรถกถาของยมกวรรค (ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท) เล่าว่า
ในเมืองสาวัตถี ธัมมิกอุบาสกและครอบครัวได้บำเพ็ญกุศลเป็นนิตย์
ต่อมาได้โรคเกิดขึ้นแก่ธัมมิกอุบาสก เพราะอายุสังขารเสื่อมแล้ว
เขาใคร่จะฟังธรรมจึงส่งคนไปสู่สำนักพระศาสดา
และกราบทูลขอพระองค์ได้โปรดส่งภิกษุจำนวนหนึ่งไปแสดงธรรมแก่เขา
เมื่อเหล่าภิกษุได้ไปถึงแล้ว เขาได้กล่าวว่า
ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จงสาธยายสติปัฏฐานสูตร โปรดกระผมเถิด
ในระหว่างที่เหล่าภิกษุได้สาธยายสติปัฏฐานสูตรนั่นเอง
เหล่าเทวดาได้นำรถ ๖ คันประดับด้วยอลังการทุกอย่าง
เทียมด้วยม้าสินธพพันตัวใหญ่ประมาณได้ ๑๕๐ โยชน์มาจากเทวโลก ๖ ชั้น
เพื่อมาเชื้อเชิญธัมมิกอุบาสกให้ไปสู่เทวโลก
ธัมมิกอุบาสกไม่ปรารถนาจะให้เป็นอันตรายแก่การฟังธรรม
จึงกล่าวกับเหล่าเทวดานั้นว่า “ท่านทั้งหลาย จงรอก่อน จงรอก่อน”
โดยหลังจากนั้น ธัมมิกอุบาสกได้ถึงแก่มรณกรรม แล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=11


ในปัจจุบันนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าการฟังธรรมนั้นหาโอกาสได้ง่าย
เพราะสามารถฟังได้จากอินเตอร์เน็ตหรือแอพพลิเคชั่นในหลายช่องทาง
แต่ในความเป็นจริง หากเราพิจารณาระยะเวลาตลอดสังสารวัฏแล้ว
เราย่อมเห็นได้ว่าการได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นโอกาสที่ยากอย่างยิ่ง
ดังที่เราจะเห็นได้ว่าคนในสมัยพุทธกาลได้ให้ความสำคัญแก่การฟังธรรม
และไม่ยอมให้เรื่องอื่น ๆ มาเป็นอันตรายแก่การฟังธรรม
ในเมื่อเราได้มีโอกาสอันดีแล้ว เราจึงไม่ควรปล่อยโอกาสอันดีนี้ผ่านเลยไป
จึงควรที่จะแบ่งเวลาเพื่อฟังธรรมตามที่สมควรแก่ธรรมครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP