ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

โมคคัลานสูตร ว่าด้วยพระโมคคัลานะ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลามิคทายวัน
ใกล้สุงสุมารคิรนคร แคว้นภัคคะ
ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่
ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่
ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์
ครั้นแล้วทรงหายจากป่าเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคิรนคร แคว้นภัคคะ
เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว
ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ
โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ขอรับ พระเจ้าข้า.


โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ
เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นเข้าครอบงำ
เธอพึงอย่ากระทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้น
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละความง่วงนั้นไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละความง่วงนั้นไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละความง่วงนั้นไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอาฝ่ามือลูบตัว
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละความง่วงนั้นไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นจากที่นั่ง เอาน้ำล้างตา
เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา (ความสำคัญหมายในแสงสว่าง)
ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น
กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ ฉะนี้
ทำจิตให้มีแสงสว่างเกิดโดยไม่มีอะไรห่อหุ้ม
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา
สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอผู้อยู่อย่างนี้ละความง่วงนั้นได้
ถ้าเธอผู้อยู่อย่างนี้ยังละไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า
มีสติสัมปชัญญะ ทำความสำคัญว่าจะลุกขึ้นไว้ในใจ
พึงลุกขึ้นทันทีที่ตื่นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ
โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.


โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ
เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่ชูงวง (ถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล
โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
โมคคัลลานะ ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล
ก็ในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว
ในเพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้
เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา
เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน
เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ.


โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เราจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน
โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน
ก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน
เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ.


โมคคัลลานะ เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่
แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง
คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
ก็แต่ว่า เสนาสนะอันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน
ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกเร้น
เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนั้น.


ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ
ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา
มีความสำเร็จถึงที่สุด มีความเกษมจากโยคธรรมถึงที่สุด
เป็นพรหมจารีบุคคลถึงที่สุด มีที่สุดถึงที่สุด
ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.


ภ. โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น
ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง
ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน
เมื่อเธอพิจารณาเห็นอย่างนั้น ๆ ในเวทนาเหล่านั้นอยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบจำเพาะตนทีเดียว
ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี
โมคคัลลานะ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล
ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา
มีความสำเร็จถึงที่สุด มีความเกษมจากโยคธรรมถึงที่สุด
เป็นพรหมจารีบุคคลถึงที่สุด มีที่สุดถึงที่สุด
ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.


โมคคัลลานสูตร จบ



(โมคคัลลานสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP