จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ชีวิตต้องมีเป้าหมาย


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



250 destination



สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ เวลาก็ผ่านไปอีกหนึ่งปีแล้ว
ซึ่งเราก็ควรจะกลับมาทบทวนถึงเป้าหมายในชีวิตเรานะครับว่า
ในปีที่ผ่านมานั้น เราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือโทษอะไรในชีวิตเราบ้าง
หรือว่าเราปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้ทำประโยชน์แก่ชีวิตเท่าที่ควรหรือไม่


ผมได้เคยพบญาติธรรมบางท่านที่เป็นผู้สูงวัยและป่วยหนักระยะสุดท้าย
ซึ่งยากที่จะรักษาหาย และก็มุ่งทำเพียงแค่ประคองอาการ
โดยผมก็ถามว่าต้องการใช้เวลาชีวิตนี้ทำอะไร
ปรากฏว่าในหลายกรณีที่เคยพบนั้น
ญาติธรรมท่านที่เป็นผู้สูงวัยและป่วยหนักระยะสุดท้ายนั้น
ท่านก็ตอบไม่ได้ชัดเจนนะครับว่าท่านต้องการใช้เวลาทำอะไร
(บรรดาลูก ๆ ก็เรียนจบและทำงานกันแล้ว ท่านก็ไม่มีภาระอะไรต้องดูแล)
พอลองถามย้อนกลับไปว่า สมมุติว่าหมอสามารถจะรักษาให้หายได้
ถามว่าต้องการจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทำอะไร
ท่านก็ตอบไม่ได้ชัดเจนอยู่ดีว่าจะใช้เวลาชีวิตอยู่ทำอะไร
ซึ่งในกรณีนี้ก็คล้ายกับว่าเราอยากจะมีชีวิตอยู่ไปเรื่อย ๆ
โดยไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะอยู่ไปเพื่อทำอะไร


ในชีวิตเราที่ผ่านมานั้น เราย่อมเคยพบความสุขความทุกข์มามากมาย
ความสุขความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
ถ้าเราเพียงแต่ใช้ชีวิตเราอยู่ไปเรื่อย ๆ หรือเพื่อหาความสุขไปเรื่อย ๆ
ชีวิตเราก็จะหมดไปเพื่อสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
แล้วก็ย่อมจะเหมือนกับว่าชีวิตไม่มีเป้าหมายอะไร
แต่หากเราได้ศึกษาธรรม ประพฤติธรรม และภาวนาเป็นแล้ว
เราก็ย่อมจะทราบว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เราย่อมจะเลือกเป้าหมายชีวิตที่จะมุ่งไปเพื่อประโยชน์สูงสุด
ซึ่งก็คือการพ้นทุกข์สิ้นเชิง (หรือนิพพาน) นั่นเอง


หากเราวางเป้าหมายชีวิตเพื่อมุ่งจะพ้นทุกข์สิ้นเชิง
เราก็ย่อมจะมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน และทราบว่าจะใช้เวลาทำอะไร
โดยแม้ว่าเราจะป่วยหนักระยะสุดท้ายก็ตาม
เราก็ย่อมจะใช้เวลาที่เหลือสุดท้ายดังกล่าวเพื่อประพฤติธรรมและภาวนา
หรือหากเราไม่ได้ป่วยหนัก หรือป่วยหนักแต่รักษาหายก็ตาม
เราก็ย่อมจะใช้เวลาชีวิตเราเพื่อประพฤติธรรมและภาวนา
ซึ่งก็ย่อมจะเป็นการใช้เวลาชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด
และเมื่อใครถามเราก็ตาม เราก็ตอบได้ชัดเจนว่าจะใช้เวลาชีวิตทำอะไร


ในเมื่อเราได้ใช้เวลาชีวิตเพื่อประพฤติธรรมและภาวนาแล้ว
แม้ว่าเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่เห็นผลใด ๆ ทันใจก็ตาม
แต่เราก็พึงทราบว่าการประพฤติธรรมและภาวนานั้นย่อมไม่สูญเปล่า
และย่อมจะให้ประโยชน์แก่เรานะครับ
ใน “ภาวนาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
สอนว่า เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะขอให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะก็ตาม
แต่จิตนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ในทางกลับกัน เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา
แม้จะไม่ขอให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะก็ตาม
แต่จิตนั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘


เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ก็ตาม
แม่ไก่กกไข่เหล่านั้นไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี
แม้ว่าแม่ไก่นั้นจะขอให้ลูกใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปาก
เจาะกระเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็ตาม
แต่ลูกไก่เหล่านั้นย่อมไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก
เจาะกระเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้
เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี
แต่หากแม่ไก่กกไข่เหล่านั้นดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี
แม้ว่าแม่ไก่นั้นจะไม่ขอให้ลูกใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปาก
เจาะกระเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็ตาม
แต่ลูกไก่เหล่านั้นย่อมสามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก
เจาะกระเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้
เพราะแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี


เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้
แต่เขาจะไม่รู้ว่า วันนี้ด้ามมีดสึกไปเท่านี้
เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้
แต่อันที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไป เขาก็รู้ว่าสึกไป ฉันใด
เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้จะไม่รู้ว่า วันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้
เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้
แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้น ก็รู้ว่าสิ้นไป


เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะ
แล้วแล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือน ถึงฤดูหนาว เข็นขึ้นบก
เครื่องผูกประจำเรือตากลม และแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนชะ
ย่อมชำรุดเสียหาย เป็นของเปื่อยไป โดยไม่ยาก ฉันใด
เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่
สังโยชน์ย่อมสงบระงับไปโดยไม่ยาก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
http://www.84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=23&A=2593&Z=2628&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP