จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๔๙ รินน้ำใจ



249 talk



ที่คนส่วนใหญ่
รู้สึกว่าชีวิตแห้งแล้ง
มีความสุขน้อย
มีความชุ่มชื่นใจน้อย
มีความอบอุ่นใจน้อย
ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ท่ามกลางคนแล้งน้ำใจ
ไม่เกิดแรงบันดาลใจให้อยากรินน้ำใจ
รู้ตัวอีกทีก็เหมือนไม่เหลือน้ำใจให้รินแล้ว
หรือกระทั่งกลายเป็นแล้งน้ำใจไปเสียเองแล้ว


สมัยยังไม่รู้ประสีประสา
ผมเคยเป็นเด็กเห็นแก่ตัว
แม้อยู่ท่ามกลางคนมีน้ำใจ
แต่กลับรู้สึกว่าโลกแห้งแล้ง
เหมือนไม่มีใครดี เหมือนไม่มีใครช่วยฉันได้
ไม่รู้เลยว่า ตัวการที่แท้จริง
ที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้แห้งแล้ง โลกนี้แห้งแล้ง 
ก็คือความแล้งน้ำใจของตัวเอง
และนิสัยเอาแต่เรียกร้อง
หาน้ำใจจากคนอื่นแบบไม่มีขีดจำกัดนั่นแหละ


ผมรู้จักคำว่า ‘น้ำใจ’ จริงๆครั้งแรก
ก็เมื่อยังเป็นวัยรุ่นนั่งรอรถเมล์หน้าหมู่บ้าน
เห็นคนตาบอดพยายามข้ามถนน
เขามาคนเดียว และยกไม้เท้าโบก
เพื่อขอให้รถหยุดให้เขา
แต่รถสิบล้อคันหนึ่งก็ตะบึงแล่นไม่ชะลอ
ทำให้เขาตกใจผวา
ผมได้แต่นึกตำหนิว่า
ทำไมไม่มากับคนตาดี
มีเหตุผลจำเป็นขนาดไหนที่ต้องข้ามถนนคนเดียว


ผมมองหาอยู่ว่า ทำไมไม่มีผู้ใหญ่ลุกไปช่วยเลย
ทำไมไม่มีใครสักคน
ที่ ‘กล้า’ ให้ความช่วยเหลือคนตาบอดข้ามถนน
ใจหนึ่งผมนึกอยากให้ตัวเองเป็นคนคนนั้น
แต่เพราะยังเป็นเด็ก
ที่ขลาดเกินกว่าจะคิดทำอะไร ที่ไม่มีผู้ใหญ่ทำให้ดู
จึงได้แต่นึกว่า นั่งอยู่กับที่เหมือนคนอื่นเถอะ


ในที่สุดคนตาบอดคนนั้นก็ข้ามถนนได้สำเร็จ
เพราะมีรถกลุ่มหนึ่งเห็นการโบกไม้เท้าขอทางของเขา
แล้วมีน้ำใจพอจะหยุดให้โดยพร้อมเพรียง
ผมนึกโล่งอกที่ไม่ต้องเห็นภาพคนตาบอดโดนรถชนตาย
แล้วก็รู้สึกว่าคงเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น
เป็นเรื่อง ‘ช่วยไม่ได้’
ที่เขาเกิดมาพิการทางสายตาอย่างนั้น 
ก็ต้องเจอเรื่องแบบนั้นเป็นธรรมดา


คิดเช่นนั้นตอนอยู่ตรงนั้น
แต่พอกลับบ้าน ผมกลับนอนไม่หลับอยู่หลายคืน
นึกด่าตัวเองว่าทำไมใจร้ายขนาดนี้
ความทรงจำ ณ ขณะนั่งเฉยเป็นบื้อใบ้อยู่ที่ป้ายรถเมล์
ย้อนกลับมาฉายซ้ำซาก
และแจ่มชัดกว่าตอนกำลังเกิดขึ้นจริงเสียอีก
ผมระลึกได้ว่า ตัวเองร่ำๆอยากลุกขึ้นหลายครั้ง
แต่ไม่กล้า นึกว่าถ้าคนอื่นไม่ทำแล้วเราทำ
คงเหมือนตัวตลก ทำเรื่องผิดปกติ
หรือเหมือนน่าอาย
ที่จะดีเกินมนุษย์อื่นในละแวกเดียวกัน


หลายคืนเข้า ผมก็รู้สึกผิดจนทนไม่ไหว
อธิษฐานขอให้มีโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง
ขอให้เจอคนตาบอดข้ามถนนคนเดียวอีกหน
ผมจะได้ช่วยเขา
เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความทรมานใจเสียที


และนั่นก็ทำให้ผมประจักษ์ว่า
ปาฏิหาริย์ของการอยากทำดีมีจริง
ไม่นานผมพบกับคนตาบอดคนนั้นอีก
จุดเดิม แต่ไม่ใช่เวลาช่วงเดิม
เขายืนโบกไม้เท้าขอทางข้าม
โดยไม่มีใครคิดไปช่วยอีกตามเคย
เผลอๆจะพากันจ้องเป็นตาเดียว
ลุ้นว่าข้ามรอดหรือไม่รอดด้วยซ้ำ


ด้วยความที่ตั้งใจไว้ก่อน
ผมไม่รอช้า เดินไปแตะแขนเขา
และเอ่ยว่า ให้ผมช่วยพาข้ามนะครับ
ซึ่งพอเขาได้ยินเช่นนั้นก็ยิ้ม และเอ่ยขอบคุณ
แสดงว่าเคยได้รับการช่วยมาก่อน
เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ผิดปกติวิสัย
และเมื่อผมพาข้ามไปอีกฝั่งได้
เขาก็ขอบคุณ ขอบคุณนะคร้าบ...
ผมไม่เคยลืมน้ำเสียงจากใจของเขา
และความโล่งอกโล่งใจของตัวเองมาจนกระทั่งวันนี้


นับแต่นั้นผมจดจำว่า
การยื่นมือช่วยใครก่อนไม่ใช่เรื่องน่าอาย
ไม่ใช่เรื่องของตัวตลกที่ทำอะไรน่าหัวเราะ
ถึงแม้ไม่มีใครยืนปรบมือดังๆให้สักครึ่งนาที
เราก็มีความอิ่มใจ
เหมือนตบมือให้ตัวเองสักปีหนึ่งอยู่แล้ว


เราไม่ได้มีบุญคุณกับเขาฝ่ายเดียว
คนแปลกหน้าที่ช่วยให้เรารู้จัก ‘น้ำใจ’ ในตน
หรือกระทั่งกระตุ้นให้น้ำใจ
หลั่งรินออกมาจากหัวใจที่แห้งแล้งได้
ถือเป็นคนที่มีบุญคุณกับเราด้วย
เพราะช่วยให้เรารู้จักสร้างที่พึ่งที่แท้จริงให้ตัวเอง


พวกเราในเพจนี้ เคยสร้างโรงพยาบาล
ให้คนแปลกหน้าชาวสุรินทร์มาด้วยกัน
เคยสร้างพระประธาน เคยบวชพระเณรชาวเขา
เคยสร้างเมรุ เคยขุดเจาะน้ำบาดาล
ให้กับคนแปลกหน้าทั่วไทยมาด้วยกัน
และกำลังสร้างวัดกับมือ
ร่วมกับ ‘คนแปลกหน้า’ ที่ ‘ใจคุ้นกัน’
คุ้นเพราะเป็นส่วนหนึ่งของสุขที่จะไม่หายไป
คุ้นเพราะได้พบมหาสมุทรน้ำใจร่วมกัน
คุ้นเพราะได้กองบุญใหญ่เป็นเงาตามกัน
ในการถวายโอกาสบรรลุธรรมแด่ภิกษุไม่เลือกหน้า
ถือเป็นการร่วมลงบ่อบุญศักดิ์สิทธิ์
ที่มีอาถรรพณ์เปลี่ยนชีวิต
คงไม่อาจกลับไปอยู่กับอารมณ์แล้งน้ำใจได้อีก


ขอบคุณทุกท่านนะครับ
น่าดีใจที่ชาตินี้พวกเราได้มาเจอกัน
ได้ร่วมกันรู้จักการให้แบบไม่เอาอะไรคืน
รู้จักการรินน้ำใจกันซื่อๆ
แบบแน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดแอบแฝง
พบกันเป็นครั้งคราว
แต่สบายใจ เป็นกันเองชั่วชีวิต!


ดังตฤณ
ธันวาคม ๖๑





review


พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระสงฆ์สาวก
ถึงเรื่องของสัญญา ๗ ประการ ซึ่งเมื่อภิกษุเจริญให้มากแล้วย่อมมีอานิสงส์ยิ่ง
ติดตามรายละเอียดได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "ทุติยสัญญาสูตร ว่าด้วยสัญญาที่เจริญแล้วมีผลมาก"


การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผล โดยการศึกษาจากสื่อต่างๆ
แต่ไม่มีครูบาอาจารย์ที่สอนแบบพบหน้ากัน จะสามารถเป็นไปได้หรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา" 
ตอน "เราสามารถฝึกเจริญสติด้วยตนเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์ได้ไหม"


การเตรียมความพร้อมของตนเองไว้ล่วงหน้า 
เพื่อจะไม่เป็นภาระของผู้ใดในยามที่ชราหรือเจ็บป่วย 
ควรจะเตรียมการอย่างไรบ้าง 
เรื่องนี้คุณงดงามได้บอกเล่าไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "ไม่อยากเป็นภาระ"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP