จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุยเรื่องพระราหู


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



247 destination



หลายแห่งในประเทศไทยได้มีพิธีกรรมการกราบไหว้พระราหู
โดยใช้ของไหว้ตามที่แต่ละแห่งจะได้กำหนดหรือแนะนำไว้
ด้วยความเชื่อว่าการไหว้พระราหูนั้น
จะเป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ หรือนำมาซึ่งโชคลาภต่าง ๆ
ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องพระราหูนะครับ


ในพระไตรปิฎกได้มีเรื่องเล่าถึงพระราหูว่า
เป็นเทวดาองค์หนึ่งชื่อว่า “อสุรินทราหู”
ใน “ปัญญัติสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) สอนว่า
อสุรินทราหูเป็นเลิศ ในด้านความมีอัตภาพใหญ่
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=21&A=419&w=%C3%D2%CB%D9


ถามว่า “อสุรินทราหู” มีอัตภาพใหญ่เพียงไร?
ในอรรถกถาโสณทัณฑสูตร (ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) เล่าว่า
“ได้ยินว่า ท้าวอสุรินทรราหูสูงได้ ๔,๘๐๐ โยชน์
ระหว่างแขนของเขาวัดได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ ระหว่างนมวัดได้ ๖๐๐ โยชน์
พื้นมือและพื้นเท้าหนาได้ ๓๐๐ โยชน์ ข้อนิ้วยาวได้ ๕๐ โยชน์
ระหว่างคิ้วกว้าง ๕๐ โยชน์ หน้ายาว ๒๐๐ โยชน์ ลึกได้ ๓๐๐ โยชน์
มีปริมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์ คอยาวได้ ๓๐๐ โยชน์
หน้าผากยาวได้ ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะยาวได้ ๙๐๐ โยชน์”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=09&i=178


อสุรินทราหูมีอัตภาพใหญ่ขนาดสามารถจับพระจันทร์ได้
ซึ่งเราเองก็คงเคยได้ยินถ้อยคำที่ว่า “ราหูอมจันทร์” นะครับ
ใน “กุณาลชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
สอนว่า “นรชนผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา
แม้จะมีเดช มีมหาชนสักการะบูชา ถ้าตกอยู่ในอำนาจของหญิงแล้ว
ย่อมไม่รุ่งเรือง เหมือนพระจันทร์ถูกราหูจับ ฉะนั้น”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=28&A=1897&w=%C3%D2%CB%D9


นอกจากนี้ ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค ได้กล่าวถึง
เครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่างของพระอาทิตย์และพระจันทร์
ซึ่งหนึ่งใน ๔ อย่าง ได้แก่ อสุรินทราหู นั่นเอง
โดยกล่าวว่า “พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมอง เพราะเครื่องเศร้าหมอง
คืออสุรินทราหู จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=7&A=7675&w=%C3%D2%CB%D9


ในส่วนของคำถามสำคัญที่ว่า การไหว้พระราหู
จะเป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ หรือนำมาซึ่งโชคลาภใด ๆ หรือไม่นั้น
ไม่พบว่าในพระไตรปิฎกได้กล่าวเรื่องนี้ไว้นะครับ
อย่างไรก็ดี หากเรามีความเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรมแล้ว
เราย่อมเข้าใจได้ว่า เคราะห์หรือผลร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่เรานั้น
ก็เป็นเพราะว่าเราได้สร้างเหตุปัจจัยเอาไว้เอง
ดังนั้น การกราบไหว้เทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง
ย่อมไม่ได้เป็นการแก้กรรม หรือจะยกเลิกผลแห่งกรรมได้
นอกจากนี้ พระไตรปิฎกได้เล่าเกี่ยวกับอสุรินทราหูว่า
แม้อสุรินทราหูเองก็ยังกราบไหว้พระพุทธเจ้า


ในอรรถกถาโสณทัณฑสูตร (ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) เล่าว่า
อสุรินทราหูคิดว่าตนเองสูงมาก
จะไม่สามารถที่จะน้อมตัวลงแลดูพระผู้มีพระภาคเจ้าได้
ดังนี้ อสุรินทราหูจึงไม่มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้ฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมาเข้าเฝ้า
ด้วยคิดว่า เราจักมองดูพระศาสดา โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัชฌาสัยของอสุรินทราหูแล้ว
ทรงดำริว่า เราจักแสดงด้วยอิริยาบถไหนในบรรดาอิริยาบถทั้งสี่
ทรงดำริว่า ธรรมดาคนยืน แม้จะต่ำ ก็ปรากฏเหมือนคนสูง
แต่เราจักนอนแสดงตนแก่เขา ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า
อานนท์ เธอจงตั้งเตียงในบริเวณคันธกุฎี
แล้วทรงสำเร็จสีหไสยาสน์บนเตียงนั้น


ท้าวอสุรินทรราหูมาเข้าเฝ้าแล้ว
ชูคอขึ้นมองดูพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนอนอยู่
ราวกะว่าพระจันทร์เต็มดวงในท่ามกลางท้องฟ้า
และเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อสุรินทะ นี้อะไร
จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มิได้มาเฝ้าด้วยคิดว่า
เราจักไม่สามารถที่จะโน้มตัวลงแลดูได้ ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อสุรินทะ เรามิได้ก้มหน้าบำเพ็ญบารมีมา
เราให้ทานทำให้เลิศทั้งนั้น ดังนี้
วันนั้น อสุรินทรราหูได้ถึงสรณะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงน่าดูน่าชมมิใช่น้อย ด้วยประการดังนี้
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=09&i=178


ไม่เพียงแต่อสุรินทรราหูจะได้ถึงสรณะแล้ว
อสุรินทรราหูก็ยังเป็นผู้เชื่อฟังคาถาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ใน “จันทิมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) ได้เล่าว่า
ในสมัยพุทธกาล จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว
ในครั้งนั้น จันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงได้กล่าวคาถานี้ ในเวลานั้นว่า
“ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว
ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น”


ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภจันทิมเทวบุตร
ได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า
“จันทิมเทวบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ว่าเป็นที่พึ่ง
ดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก”


ลำดับนั้นอสุรินทราหูปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว
มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่
ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
อสุรินทเวปจิตติได้กล่าวกะอสุรินทราหูว่า
“ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย
ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่”


อสุรินทราหูกล่าวว่า “ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า
หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร
ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง
มีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=15&A=1553&w=%C3%D2%CB%D9


โดยสรุปแล้ว การที่เรากราบไหว้พระพุทธเจ้า
และเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
ย่อมจะได้ประโยชน์ยิ่งกว่าการกราบไหว้อสุรินทรราหู
ด้วยหวังว่าจะเป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ หรือนำมาซึ่งโชคลาภใด ๆ
เพราะแม้ว่าอสุรินทรราหูเองก็ยังกราบไหว้พระพุทธเจ้า
และเชื่อฟังคาถาของพระพุทธเจ้าครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP