สารส่องใจ Enlightenment

พระธรรมรักษา (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗




วันนี้จะได้แสดงธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพอเป็นเครื่องปฏิสันถาร
ทั้งท่านผู้เป็นนักบวชและท่านสาธุชน
ที่ได้อุตส่าห์สละเวล่ำเวลาและทรัพย์สมบัติศฤงคารมาสู่สถานที่นี่ตามสมควรแก่เวลา



การฟังธรรมเพื่อให้เกิดผล ในขณะที่ฟังธรรมนั้น โปรดได้ทำความรู้สึกไว้เฉพาะหน้า
คือไม่ให้จิตส่งไปสู่สถานที่ต่างๆ แม้ที่สุดผู้กำลังเทศน์ ให้มีความรู้อยู่จำเพาะภายในใจ
ธรรมเทศนาที่ท่านแสดงมากน้อยหนักเบา
จะเข้าไปสัมผัสความรับรู้ที่เราตั้งไว้แล้วด้วยดีนั้น
และในขณะเดียวกัน จะเป็นเครื่องกล่อมจิตใจของเรา
ให้ได้รับความสงบเยือกเย็นในขณะที่ฟังเทศน์
บางครั้งอาจรวมสนิทได้ในขณะนั้นก็มี
คำว่าจิตรวมสนิทนั้น คือไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องใดๆ
มีความรู้ที่เด่นชัดอยู่ภายในใจดวงเดียวเท่านั้น
แม้ที่สุดเสียงแห่งธรรมเทศนาก็ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างนี้ท่านเรียกว่ารวมอย่างสนิท



ในธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
แปลว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม จะเห็นผลเป็นชั้นๆ ประจักษ์ใจของตน
ผู้ปฏิบัติในทาน คือเป็นผู้เสียสละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เรียกว่าทาน
เมื่อทานเข้าจนเกิดความเคยชินแก่จิตใจแล้ว จะรู้สึกมีความเยือกเย็นภายในใจ
ถ้าไม่ได้ให้ทาน ได้ขาดไปเสียในเวลาที่เคยทำ ใจจะรู้สึกว้าเหว่ ไม่เป็นที่สบาย
เคยรักษาศีล ถึงวันเข้ามาแม้จะมีกิจการยุ่งยากขนาดไหน ใจก็มีความมุ่งหวังต่อศีลตนเสมอ
เมื่อรักษาจนมีความเคยชินต่อศีลแล้ว
ถ้าได้ขาดเสียในวันใดวันหนึ่ง รู้สึกเสียใจที่วันนี้ได้ทำตัวให้ขาดประโยชน์ไป
การอบรมจิตใจที่เรียกว่าภาวนาก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ทั้งสามประเภทนี้เมื่อได้ทำให้เกิดความเคยชินภายในใจแล้ว
จะปรากฏเป็นความร่มเย็นภายในใจเสมอ



คำว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่วนั้น
ไม่ได้หมายเรื่องอนาคตโดยถ่ายเดียว แต่หมายเอาเรื่องปัจจุบันของตัวด้วย
คือผู้ปฏิบัติดีต่อบ้านเมือง ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนโดยการกระทำผิดของตน
ตัวเองก็มีความเยือกเย็น และไม่มีความเดือดร้อนสงสัยภายในใจว่า
จะถูกโทษทัณฑ์อันใดให้ได้รับความลำบาก
เพราะการกระทำของตนสะอาด จิตใจก็เยือกเย็น อยู่ที่ไหนก็สบาย
ยิ่งได้ปฏิบัติคุณธรรมเข้าภายในใจ
จะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล หรือการเจริญภาวนา
ก็ยิ่งมีความรู้สึกเยือกเย็นภายในใจเป็นลำดับๆ



เฉพาะอย่างยิ่งการอบรมจิตใจ จะปรากฏผลที่เด่นชัด
แม้อำนาจแห่งทาน อำนาจแห่งศีล ที่ตนเคยให้ทานและรักษาศีลมา
ก็จะรวมเข้าสู่จุดเดียวคือความสงบแห่งใจ
เพราะฉะนั้นใจผู้อบรมด้วยดี จึงเป็นรวมแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย
เราจะทำมาแต่อดีตกี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์
เมื่อใจได้ปรากฏเป็นความสงบเข้าแล้วเท่านั้น
อำนาจแห่งคุณธรรมทั้งหลายจะมารวมอยู่ที่จุดเดียวทั้งสิ้น
แม้จะจำมื้อวันปีเดือนที่ตนทำมา หรือจำชาติภพที่ตนทำมาไม่ได้ก็ตาม
แต่ผลที่ปรากฏนั้นจะปฏิเสธไปจากจิตใจที่ตนกำลังรู้อยู่ไม่ได้
นี่ท่านก็เรียกว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนภายในใจ


เมื่อปัจจุบันขณะนี้และวันนี้มีความเยือกเย็นอยู่ ด้วยอำนาจแห่งทานแล้ว
กาลข้างหน้าก็คือเรื่องของใจดวงนี้ จะไปก่อภพก่อชาติในที่ไหนๆ กำเนิดใดๆ
ก็ต้องอยู่กับนายช่างผู้จะไปสร้างบ้านสร้างเรือน
นายช่างคนไหนที่มีความเฉลียวฉลาด ชำนิชำนาญในการปลูกบ้านปลูกเรือนแล้ว
บ้านเรือนที่ปรากฏเป็นผลขึ้นมาจากนายช่างนั้นๆ
ย่อมเป็นบ้านเรือนที่สวยงามและแน่นหนามั่นคงเสมอ
เรื่องของจิตที่เป็นนายช่างปรับปรุงตนเองมาจนมีความชำนิชำนาญ
ได้แก่การปฏิบัติคุณงามความดีแก่ตนเอง
แม้จะไปเกิดในสถานที่ใดๆ ก็ตาม
จิตที่เคยเป็นนายช่างปรับปรุงตนเองมาด้วยดีแล้วนั้น
จะต้องปรากฏเป็นรูปร่าง หรือปรากฏผลขึ้นมาภายในตัวเอง
อันเป็นที่พึงพอใจทุกๆ ภพทุก ๆ ชาติไป



นี่ก็เรียกว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ คือรักษาเป็นลำดับไป
นับตั้งแต่ขั้นเริ่มปฏิบัติ พระธรรมก็เริ่มจะรักษาผู้ปฏิบัติ
คือให้ผลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสมควรจะแสดงผลให้เห็นชัดภายในใจ
และจนกระทั่งเห็นผลประจักษ์ใจจริงๆ เช่น ผู้อบรมภาวนาเป็นต้น
ถ้ายังไม่ปรากฏเป็นความสงบ แต่กิริยาที่ทำนั้นเป็นภาคพื้นเพื่อจะทำใจให้สงบอยู่แล้ว
เมื่อได้ทำไปนาน ๆ มีความสืบต่อกันเป็นลำดับ
ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาให้ผู้บำเพ็ญได้รู้ในวันใดวันหนึ่งจนได้
และเมื่อใจได้ปรากฏเป็นความสงบแล้ว
นั้นแลเป็นเชื้อหรือเป็นเหตุให้จิตใจมีความดูดดื่มในการกระทำที่จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ถ้าหากว่าเราทำจิตใจไม่ปรากฏเป็นผลตอบแทนขึ้นมาประจักษ์แล้ว
กิจการงานนั้น ๆ ก็ไม่สามารถจะทำได้จีรังถาวร
อาจจะล้มละลายไปในวันใดวันหนึ่งก็ได้
เช่นเขาทำนาไม่ปรากฏผลคือข้าวเป็นเครื่องตอบแทน
เราจะทำกิจการงานหรือหน้าที่ใดๆ ก็ตาม ผลเป็นเครื่องตอบแทนย่อมมีเสมอ
ผู้ปฏิบัติธรรมก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน



การอบรมจิตแม้จะมีความฟุ้งซ่านวุ่นวาย และเป็นสิ่งที่รักษายากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ก็ตาม
แต่ก็เป็นเรื่องของจิตที่จะสามารถรักษาตนเองได้ในลักษณะเดียวกัน
การทำเบื้องต้นก็ย่อมมีการลำบาก
แต่เมื่อได้ปรากฏเป็นความสงบขึ้นแล้ว นั้นแลจะเป็นเครื่องดูดดื่มภายในใจ
ให้มีแก่จิตแก่ใจที่จะบำเพ็ญความสงบให้มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จนกลายเป็นความเคยชิน
ความที่ตนท้อแท้อ่อนแอหรือขี้เกียจ ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะมีอยู่ประจำสันดานของปุถุชนเรา
ก็จะค่อยลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ
ส่วนความเพียรเพื่อพยายามทำจิตใจให้มีระดับสูง
หรือละเอียดยิ่งเข้าไปกว่านั้น ก็ย่อมมีกำลังมาก
เมื่อความเพียรของเรามีกำลังมากเข้าเท่าไร
ผลที่จะปรากฏให้ได้รับภายในใจก็คือความสงบ มีความละเอียดมากเข้าเท่าเทียมกัน


วิธีจะทำใจให้มีความสงบ ส่วนมากก็คือการกำหนดลมหายใจ
หายใจเข้า หายใจออก ให้มีความรู้สึกติดตามลมของตนเสมอ
อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน
ความรู้สึกทั้งหมดให้รวมตัวเข้าไปสู่จุดเดียว คือที่ลมหายใจปรากฏ
หรือเราจะกำหนด พุทโธ เป็นต้น
ก็โปรดได้ทำความรู้สึกให้แนบสนิทอยู่กับพุทโธ คือคำบริกรรมนั้น
เมื่อจิตได้ถูกสติเป็นเครื่องบังคับกำกับตัวอยู่เสมอ
จิตก็จะทำความรู้สึกกับบทบริกรรมมี พุทโธ เป็นต้น ได้สนิทเป็นลำดับไป
นั่นแลจิตจะมีโอกาสปรากฏเห็นความสงบทั้งที่ตนไม่เคยปรากฏมาเลยในขณะนั้นจนได้



การกำหนดลมหายใจ บางครั้งถ้าจิตสงบเต็มที่ หรือความรู้สึกภายในใจขณะนั้น
ปรากฏว่าลมหายใจได้หายไปจริงๆ ไม่มีอะไรเหลือเลย
แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบได้ว่า
ลมหายใจนี้ได้ซ่านไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย ออกทุกแห่งทุกหน อย่างนี้ก็มี
แต่จะเป็นความจริงอย่างไรนั้น ผู้ปฏิบัติก็ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า
ลมได้หมดไปจริงๆ เหรอจากลมหายใจนี้
แต่จะพอทราบได้ในเวลาลมหยาบ และค่อยละเอียดลงไปก็ทราบ
ละเอียดลงไปเป็นลำดับๆ ก็ทราบ
ทีนี้เวลาลมหมดไปจริงๆ ตอนนั้นก็มีการทราบได้ในลักษณะเดียวกัน
แต่ความรู้ที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ได้มีการแส่ส่ายไปสู่อารมณ์ใดๆ
มีหนึ่งคือความรู้เท่านั้น แต่ก่อนมีสองกับลม ทีนี้ลมได้ปรากฏว่าหายไป
ถ้าว่าไม่หายก็กลายเป็นอะไรไป ละเอียดออกไปตามสรรพางค์ร่างกาย
นี่การกำหนดลมเป็นอย่างนี้



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2Ffime6


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP