จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

แสวงหาโทษด้วยนิ้ว


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



245 destination



ในยุคของโซเชียลมีเดียนี้ เราสามารถหาข้อมูลได้สะดวก และรวดเร็ว
แต่ข้อมูลที่หาได้นั้นก็มีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือข้อมูลที่เป็นโทษก็ได้
ยกตัวอย่าง เวลาเราติดตามเพจธรรมะ หรือแชร์คำสอนธรรมะ
เราก็ได้ประโยชน์ที่ได้อ่านเอง และได้ประโยชน์ที่ได้แชร์ธรรมะให้แก่บุคคลอื่น
แต่ในทางกลับกัน หากเราอ่านเพจหรือแหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
หรือนำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมไปแชร์ให้แก่บุคคลอื่น ก็ย่อมจะก่อโทษได้


ในปี ๒๕๕๐ ประเทศไทยได้มีการออกกฎหมาย
เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ได้แก่
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
(ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๖๐)
โดยในมาตรา ๑๔ (๑) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดความผิดว่า
ผู้ใด โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(เหตุที่ระบุว่าอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท
เพราะว่าถ้าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว
ก็มีบทกฎหมายกำหนดความผิดและโทษในประมวลกฎหมายอาญาไว้อยู่แล้ว)


ในมาตรา ๑๔ (๒) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดความผิดว่า
ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ
หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


นอกจากนี้ ในมาตรา ๑๔ (๕) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดความผิดด้วยว่า
ผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่า
เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๔ (๑) หรือ (๒) ข้างต้นแล้ว
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ดังนี้แล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่าเราไม่ควรจะไปแชร์ข้อมูลใด ๆ มั่วซั่ว
โดยที่ไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อนนะครับ
เพราะหากข้อมูลที่เราแชร์นั้นเป็นข้อมูลที่บุคคลอื่น
โพสต์ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง
และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
หรือเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแล้ว
หรือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ
หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนแล้ว
บุคคลที่แชร์ข้อมูลดังกล่าวก็ย่อมถือว่า “ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อ”
และก็ย่อมอาจจะติดร่างแหถูกดำเนินคดีไปด้วยก็ได้
(อนึ่ง ในกรณีที่ข้อความนั้นเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว
“ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อ” ก็ย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ด้วยเช่นกัน)


ในเรื่องความผิดในการแชร์โพสต์หรือข้อความนี้
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๑ ในประเทศไทยก็มีข่าวคดีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจครับ
คือคดีที่ เพจ CSI LA ออกข่าวในเรื่องแหม่มสาวชาวอังกฤษถูกข่มขืนบนเกาะเต่า
ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบว่า
เรื่องการกล่าวอ้างว่ามีการข่มขืนบนเกาะเต่าดังกล่าว ไม่เป็นความจริง
ต่อมา ศาลจังหวัดเกาะสมุยได้ออกหมายจับแอดมินเพจ CSI LA
ในฐานความผิดตามมาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) ข้างต้นนั้น
แต่ที่น่าสนใจคือ แฟนเพจจำนวน ๑๒ คนที่แชร์ข้อมูลดังกล่าว
ก็ถูกหมายจับเพื่อดำเนินคดีด้วยในฐานเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย
https://mgronline.com/crime/detail/9610000088637


ดังนี้แล้ว เราจะแชร์ข้อมูลอะไรก็ตาม ก็ต้องมีความระมัดระวังครับ
ควรพิจารณาว่าข้อความนั้น จะทำให้บุคคลอื่น หรือประชาชนทั่วไปเสียหายหรือไม่
หรือน่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ
หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือไม่
โดยถ้าไม่แน่ใจแล้ว ก็ไม่ควรแชร์ครับ โดยถือว่าปลอดภัยไว้ก่อน


ใน "ขตสูตร" (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ผู้ใดย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น"
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=42&Z=73


แต่ในยุคของโซเชียลมีเดียนี้ เราไม่เพียงแค่แสวงหาโทษได้ด้วยปากเท่านั้น
แต่เราสามารถแสวงหาโทษด้วยนิ้วก็ได้ ด้วยการกดคลิกแชร์นั่นเอง
หรือการกดพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียก็หาโทษได้ครับ
ฉะนั้น เราพึงมีสติรู้ทัน เพื่อจะได้ไม่ใช่นิ้วไปแสวงหาโทษแก่ตนเอง
และเราสามารถใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้นครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP