จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๔๓ การฉลาดพูดความจริง



243 talk



เจตนาให้สบายใจ
ถือว่าดี เป็นบุญอย่างหนึ่ง


แต่วิธีช่วยให้เขาสบายใจ
ถ้าไม่สะอาด
บุญนั้นก็มีมลทิน
รู้สึกได้ด้วยใจตัวเองว่า
ไม่ผุดผ่องเต็มรอบ
แม้ปีติที่ได้ช่วย หรือช่วยได้
ก็เป็นปีติที่พร่อง
เพราะเจือความกังวลว่า
ภายหน้าเขาจะรู้ความจริงไหม
รู้แล้วจะยิ่งรู้สึกแย่หนัก
เหมือนเด็กถูกหลอกหรือเปล่า


ตัวอย่างที่มักยกกัน
คือ ญาติเป็นมะเร็ง ตายแน่
แต่คุณไม่กล้าบอกความจริง
เพราะรู้อยู่ว่าญาติกลัวตายมาก
หรือคนป่วยพูดประจำว่า
กลัวตายไม่ดี กลัวไปไม่ดี
อย่างนี้ขืนบอกโต้งๆว่า เสียใจด้วย
เธอกำลังจะตาย
ญาติคงช็อก ร้องไห้
หรือคร่ำครวญไม่ได้ศัพท์ต่างๆนานา


ข้อเท็จจริงคือ
ความกลัว หรือการไม่กล้าพูดความจริง
มักทำให้สมองไม่ทำงาน
ราวกับมีความมืดทึบมาล็อก มาเกาะกุมหัวไว้
สักแต่อยากผ่านๆพ้นไป
ด้วยคำอะไรก็ได้ที่คิดว่าคนฟังอยากฟัง
และเมื่อติดนิสัยพูดพอให้ผ่านๆ
หัวคิดก็จะติดล็อก
ยากที่จะคิดอะไรฉลาดๆ
เพื่อให้ความจริงปรากฏแบบไม่ต้องบิดเบือน


ความจริงชนิดที่ต้องอาศัยความกล้าพูดนั้น
ควรใจเย็น เห็นเป็นแบบฝึกหัด
และหวังผลล่วงหน้าว่า
ถ้าผ่านด่านหินได้หลายๆครั้ง
ก็จะเป็นผู้หนักแน่น
ได้ทำบารมีในการพูดแบบผู้ใหญ่
และรู้จักคิดสร้างเรื่องดีโดยไม่มีมลทินติดตัว


เช่นที่ถ้ารู้ว่าคนป่วยไม่ชอบคำว่า ‘ตาย’
เกลียดกลัวคำว่า ‘มะเร็ง’
เราก็ตัดคำเทือกนั้นทิ้ง
แล้วก็ดูใจตัวเอง ดูในหัวของตัวเองว่า
มันผุด ‘คำมักง่าย’ แบบไหนขึ้นมาบ้าง
เป็นต้นว่า "หมอบอกเดี๋ยวก็ดีขึ้น"
หรือ "ไม่เป็นไรน่า ไม่นานก็หาย"
คำลวงพรรค์นี้ก็คัดออกเหมือนกัน ไม่เอา
แม้แต่จะหลอกล่อด้วยการพูดเรื่องการทำบุญ
พูดเรื่องการไปสวรรค์ ก็ไม่ต้อง
เพราะตอนคนป่วยกำลังจดจ่อรอฟังอาการ
เขาจะอ่อนไหวและรู้ทันไปหมดอยู่แล้ว
ไม่อยากฟังการชักแม่น้ำทั้งห้าอยู่แล้ว


ทางที่ดีคือ เริ่มด้วยคำสำเร็จรูปที่ตรงไปตรงมา
เช่น "ผลตรวจออกมาแล้วนะ..."
นอกจากเตรียมคำ ให้เตรียมใจไว้เย็นๆ
เตรียมน้ำเสียงไว้ดีๆ
เตรียมสีหน้าสีตาไว้เรียบๆด้วย
ทำให้ฟังเป็นเรื่องธรรมดา สบตากันได้ปกติ
แล้วหลังจากพูดความจริงเสร็จ
จะใส่ความเห็นอย่างไรก็ใส่ไป
เช่น โอกาสหายมีกี่เปอร์เซ็นต์
หรือที่นี่บอกว่าไม่หาย
ที่อื่นบอกว่ามีสิทธิ์ไหม
ความเห็น จะเห็นอย่างไรก็ได้
ไม่มีคำว่าโกหก


คุณจะพบว่า
การฉลาดพูดความจริง
ไม่ใช่เรื่องของการเลือกใช้คำอย่างเดียว
แต่เป็นการ ‘เลือกใจ’
เลือกน้ำเสียง เลือกสีหน้าสีตา
ในทางที่เป็นกุศล
แบบที่ทำให้คนฟังเกิดการรับรู้ในทางบวกด้วย
เมื่อทำได้กับกรณีหนึ่ง
ก็จะทำได้กับกรณีทั่วไปอื่นๆ
ไม่ต้องมานั่งวิตกแบบไม่มีคำตอบว่า
จะช่วยอย่างไรไม่ต้องติดบาปติดกรรมกัน!


ดังตฤณ
กันยายน ๖๑




review


หากจิตเกิดความเร่าร้อนเพราะกามราคะ

จะมีวิธีแก้ไขให้ราคะนั้นดับลงได้อย่างไร
ติดตามได้ในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "อานนัทสูตร ว่าด้วยวิธีแก้จิตกระสัน"


ความอยากได้ในสิ่งต่างๆ อันทำให้เกิดความทุกข์นั้นจากเหตุใด
และทำอย่างไรใจจึงจะยอมปล่อยวางจากความต้องการนั้น
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรใจจึงจะไม่ไปยึดตามความอยาก"


"ศิวาดล" นวนิยายจากคุณชลนิล
นำเสนอเป็นตอนที่ ๔ แล้วนะคะ
เรื่องราวอันเร้นลับของคฤหาสน์อาถรรพณ์จะเป็นอย่างไร
ติดตามได้ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP