จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

รักษาสิ่งเดียวเพื่อบรรลุธรรม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



242 destination



เราบางคนอาจจะรู้สึกว่าคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีมากมายเหลือเกิน
อย่างเช่นพระไตรปิฎกก็มีหลายสิบเล่ม ภาษาอ่านเข้าใจยาก อ่านไม่หมด
ข้อวัตรที่ควรปฏิบัติและเรื่องที่ควรศึกษาก็มีมากจนศึกษาไม่ไหว
ในสมัยพุทธกาลได้มีภิกษุบางรูปที่รู้สึกเช่นนี้
จนกระทั่งต้องการขอลาสิกขาเลยทีเดียวนะครับ


ในอรรถกถาของ “กัญจนขันธชาดก” เล่าเรื่องของภิกษุรูปหนึ่งว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑)
กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว
เขาจึงได้บวชถวายชีวิตในพระศาสนา
ในครั้งนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์ของเขาได้กล่าวสอน
ในเรื่องศีลมากมายหลายประเภทว่า นี้เรียกว่า จุลศีล นี้เรียกว่า มัชฌิมศีล
นี้เรียกว่า มหาศีล นี้เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล นี้เรียกว่า อินทริยสังวรศีล
นี้เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีล นี้เรียกว่า ปัจจยปฏิเสวนศีล เป็นต้น


ภิกษุนั้นคิดว่า ศีลนี้มีมากยิ่งนัก เราไม่อาจสมาทานประพฤติได้ทั้งหมด
ในเมื่อบรรพชาของคนที่ไม่อาจบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ได้ จะมีประโยชน์อะไร
เราจักเป็นคฤหัสถ์ ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว
เขาได้เรียนอาจารย์และอุปัชฌาย์ว่า กระผมไม่อาจรักษาศีลได้
เมื่อไม่อาจรักษาศีลได้ การบรรพชาก็จะมีประโยชน์อะไร
กระผมจะขอลาสิกขา


อาจารย์และอุปัชฌาย์ได้บอกกับภิกษุนั้นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้
เธอจงไปถวายบังคมต่อพระศาสดา
อาจารย์และอุปัชฌาย์จึงได้นำภิกษุนั้นได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับภิกษุผู้ปรารถนาจะลาสิกขานั้นว่า
ภิกษุ เธอสามารถรักษาศีล ๓ ข้อเท่านั้นได้หรือไม่?
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์อาจรักษาได้ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ตั้งแต่บัดนี้ เธอจงรักษาทวารทั้ง ๓ ไว้
คือกายทวาร วจีทวาร มโนทวาร อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยกาย
อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยวาจา อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยใจ
ไปเถิด อย่าสึกเลย จงรักษาศีล ๓ ข้อนี้เท่านั้นเถิด


ด้วยพระพุทธดำรัสเพียงเท่านี้ ภิกษุนั้นก็มีใจยินดี กราบทูลว่า
ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักรักษาศีล ๓ เหล่านี้ไว้
ภิกษุนั้นถวายบังคมพระศาสดา แล้วกลับไปพร้อมกับอาจารย์และพระอุปัชฌาย์
จากนั้น ภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาแล้วดำรงอยู่ในพระอรหัตผล โดย ๒-๓ วันเท่านั้น
http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270056


ในอรรถกถาของ “คาถาธรรมบท จิตตวรรค” ได้เล่าเรื่องภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท)
ในสมัยหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี
บุตรเศรษฐีผู้หนึ่งเข้าไปหาพระเถระผู้หนึ่งแล้วสอบถามว่า
กระผมใคร่จะพ้นจากทุกข์ ขอท่านโปรดบอกวิธีการ
สำหรับพ้นจากทุกข์แก่กระผมสักอย่างหนึ่ง
พระเถระกล่าวสอนว่า ถ้าเธอใคร่จะพ้นจากทุกข์
เธอจงถวายสลากภัต ถวายปักขิกภัต ถวายวัสสาวาสิกภัต
ถวายปัจจัยทั้งหลายมีจีวร เป็นต้น จงแบ่งทรัพย์สมบัติของตนให้เป็น ๓ ส่วน
ประกอบการงานด้วยทรัพย์ส่วน ๑ เลี้ยงบุตรและภรรยาด้วยทรัพย์ส่วน ๑
ถวายทรัพย์ส่วน ๑ ไว้ในพระพุทธศาสนา
เขารับว่า “ดีละ ขอรับ” แล้วเขาทำกิจทุกอย่าง ตามที่พระเถระบอก


จากนั้น เขาจึงได้เรียนถามพระเถระอีกว่า กระผมจะทำบุญอะไรอย่างอื่น
ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกขอรับ
พระเถระ ตอบว่า ผู้มีอายุ เธอจงรับไตรสรณะ และศีล ๕
เขาจึงรับไตรสรณะและศีล ๕
หลังจากนั้น เขาจึงเรียนถามถึงบุญที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
พระเถระก็แนะว่า ถ้ากระนั้น เธอจงรับศีล ๑๐
เขากล่าวว่า “ดีละ ขอรับ” แล้วก็รับศีล ๑๐
ด้วยเหตุที่เขาทำบุญอย่างนั้นโดยลำดับ เขาจึงมีนามว่า “อนุปุพพเศรษฐีบุตร”


จากนั้น เขาได้เรียนถามอีกว่า บุญอันยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่หรือขอรับ?
พระเถระจึงกล่าวว่า ถ้ากระนั้น เธอจงบวช
เขาได้ออกบวชแล้ว และได้ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรูปหนึ่งเป็นอาจารย์
ได้ภิกษุผู้ทรงพระวินัยรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์
อาจารย์ได้กล่าวสอนพระอภิธรรมว่า
ในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำกิจนี้จึงควร ทำกิจนี้ไม่ควร
ส่วนพระอุปัชฌาย์ก็กล่าวสอนในพระวินัยว่า
ในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำสิ่งนี้ควร ทำสิ่งนี้ไม่ควร สิ่งนี้เหมาะ สิ่งนี้ไม่เหมาะ


ภิกษุนั้นเห็นว่าเนื้อหาที่ต้องศึกษามีมากมายเหลือเกิน
จนทำให้คิดว่าหากเราดำรงเป็นฆราวาสก็สามารถปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ได้
และคิดว่าจะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ดีกว่า เขาจึงต้องการลาสิกขา
พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่านจึงได้นำภิกษุนั้น
ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามภิกษุที่ต้องการลาสิกขานั้นว่า
เพราะเหตุไร เธอจึงต้องการลาสิกขา?
ภิกษุนั้นได้กราบทูลเหตุที่ตนเองต้องการลาสิกขาแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า
ภิกษุ ถ้าเธอจักสามารถรักษาได้เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น
กิจคือการรักษาสิ่งทั้งหลายที่เหลือ ย่อมไม่มี
ภิกษุนั้นกราบทูลถามว่า รักษาอะไร? พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอรักษาเฉพาะจิตของเธอได้ไหม?
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า อาจรักษาได้ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้ากระนั้น เธอจงรักษาเฉพาะจิตของตนไว้
เธออาจพ้นจากทุกข์ได้
หลังจากนั้นแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า
“ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่
(เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้
ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากได้เป็นอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น
เทศนานั้นได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=13&p=3


กรณีมีข้อพิจารณาต่อไปว่า เราจะรักษาจิตของตนไว้ได้อย่างไร?
ใน “เตลปัตตชาดก ว่าด้วยการรักษาจิต” ได้กล่าวสอนว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
บุคคลพึงประคองภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน ฉันใด
บัณฑิตผู้ปรารถนาจะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป
ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ ฉันนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=634&Z=638&pagebreak=0


โดยในอรรถกถาของ เตลปัตตชาดก ได้อธิบายว่า
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาความว่า
“ผู้ปรารถนาทิศที่ยังไม่เคยไป พึงรักษาจิตของตนไว้
เหมือนคนประคองไปซึ่งโถน้ำมันอันเต็มเปี่ยมเสมอขอบ มิได้มีส่วนพร่องเลย”
(ทั้งนี้ คำว่า “ทิศที่ไม่เคยไป” ก็ประสงค์เอาทิศ คือพระนิพพาน
เพราะบรรดาปุถุชนในสงสารอันหาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่พบนี้ไม่เคยไป)


หมายความว่า พระโยคาวจรผู้เป็นบัณฑิตพึงประคองจิตของตน
อันเป็นดุจโถที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำมันนั้น ไว้ในระหว่างแห่งธรรมแม้ทั้งสอง
คือในอารมณ์กับสติที่ประกอบไว้เป็นอันดี แล้วพึงรักษาไว้
คือคุ้มครองไว้ด้วยกายคตาสติ
โดยจิตไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก แม้เพียงครู่เดียวฉันนั้น


เพราะเหตุไร? จึงเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุว่า การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เบา พลันตกไปในอารมณ์ที่ปรารถนานี้
ยังประโยชน์ให้สำเร็จ จิตที่ฝึกแล้ว เป็นเหตุนำความสุขมาให้


เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากแท้
ละเอียดลออ พลันตกไปในอารมณ์ที่น่าปรารถนา
จิตที่คุ้มครองไว้ได้แล้ว นำความสุขมาให้"


ด้วยว่า ชนเหล่าใด จักสำรวมจิตนี้ ซึ่งไปได้ไกล
เที่ยวไปโดดเดี่ยว ไม่มีรูปร่าง อาศัยถ้ำ คือร่างกายไว้ได้
ชนเหล่านั้น จักพ้นจากบ่วงแห่งมารได้


ส่วนคนนอกนี้ คือ ผู้ที่มีจิตไม่มั่นคง ไม่ทราบพระสัทธรรม
มีความเลื่อมใสรวนเร ย่อมมีปัญญาบริบูรณ์ไม่ได้
ส่วนผู้ที่คุ้นเคยกับพระกรรมฐานมานาน
มีจิตอันราคะไม่รั่วรดแล้ว มีใจอันโทสะตามกำจัดไม่ได้
ละบุญและบาปเสียได้แล้ว เป็นผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัยเลย


เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมกระทำจิตอันดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษาได้ยาก
ห้ามได้ยาก ให้ตรง เหมือนช่างศร ดัดลูกศร ฉะนั้น
เมื่อพระโยคาวจรกระทำจิตให้ตรงอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า ตามรักษาจิตของตน
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=96


ดังนี้แล้ว หากเรารู้สึกว่าข้อวัตรปฏิบัติมีมากมายจำไม่ไหวก็ตาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่าหากรักษาจิตของตนไว้ได้
ก็สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้เช่นกัน
ซึ่งในการรักษาจิตของตนนั้น ก็พึงให้รักษาด้วย “สติ” ครับ
การเจริญสติในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก
เพราะสติเป็นสิ่งที่คุ้มครองรักษาจิต
และจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP