ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะฝึกเห็นความเกิดดับของเวทนาและสัญญาได้อย่างไร



ถาม - มีวิธีใดที่จะฝึกให้เห็นความเกิดดับของเวทนาและสัญญา
ผมลองฝึกตามรู้ตามดู แล้วพบว่าสามารถลดอาการฟุ้งซ่านได้บ้าง
แต่ไม่แน่ใจว่าปฏิบัติผิดหรือถูก ขอคำแนะนำด้วยครับ



การที่จะเห็นความเกิดดับของเวทนาแล้วก็สัญญานะ
เรามาทำความเข้าใจกันอย่างนี้ก่อน
แม้แต่พระสารีบุตรท่านก็เคยบอกนะว่าท่านแยกไม่ออก
เวทนา สัญญา แล้วก็วิญญาณ สามตัวนี้
คือท่านแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นอันไหน
ก็เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่อยู่ๆ ในแต่ละขณะ
เราจะไปจี้จุดเอาว่าตรงนั้นเรียกว่าเวทนา ตรงนั้นเรียกว่าสัญญา
สุดแต่ว่านะ ทางที่ถูกแล้วสุดแต่ว่าอาการอะไรปรากฏเด่น



อย่างเช่นถ้าหากว่ากำลังมีความสุขมาก
อย่างนั้นดูเวทนาไป ดูว่าเวทนามีความไม่เที่ยง
แต่ถ้าหากว่ากำลังนึกขึ้นมาได้ว่า เออ นี่ตอนนี้เราเป็นใครหรือว่าเขาเป็นใคร
หรือว่ากำลังพยายามเค้นนึกนะว่า เอ คนนี้ชื่ออะไรนะ แล้วนึกขึ้นมาได้
นี่ตรงนี้ เรียกว่าสัญญาปรากฏเด่นขึ้นมานะ
จริงๆ แล้วเวลาที่มีอาการนึกขึ้นมาได้ คนนี้ชื่ออะไร
มันจะมีความสุขประกอบอยู่ด้วย
มันจะมีความยินดีประกอบอยู่ด้วย มีความปีติประกอบอยู่ด้วย
แต่ตรงนั้นมันไม่เด่น มันเด่นตรงที่ว่าอาการนึกได้นะว่าเขาชื่ออะไร
อย่างนี้เรียกว่าสัญญาปรากฏเด่น เราก็รู้ว่าสัญญาไม่เที่ยง
ไม่เที่ยงคือว่าต้องเค้นนึกเสียก่อน มันถึงจะออกมา
หรือบางทีเค้นนึกมันก็นึกไม่ออก
เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าเราจะจำชื่อใครได้ตลอดไป มันไม่เสมอนะ
อย่างนี้เราก็สามารถพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้



หรือแม้กระทั่งขณะอยู่ในสมาธิ แล้วเกิดภาพของใครขึ้นมา
ในขณะนั้นการรับรู้มีความละเอียดอ่อน มีความชัดเจน มีความว่องไวสูงมาก
จนกระทั่งเราสามารถรู้สึกสัมผัสถึงภาวะของสัญญา
คือกำหนดได้ว่านี่ภาวะนึกออกว่าภาพนิมิตที่ปรากฏนั้นเป็นภาพของใคร
เรารู้จักกับใครอยู่นะ หรือว่าเขาชื่ออะไร
แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการเห็นสัญญาได้เช่นกัน
นี้คือการที่เราจะฝึกตามรู้เกิดดับของเวทนาหรือว่าสัญญานะ
ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็ไปฝึกกันได้ตามอำเภอใจนะครับ
มันขึ้นอยู่กับกำลังของความรับรู้ด้วย
ความสามารถในการรับรู้เป็นปัจจัยสำคัญเลย
ที่จะบอกว่าเรากำลังควรจะดู ควรจะเห็นอะไร ภายในขอบเขตของกายใจนี้



ถ้าหากว่ากำลังคิดๆ ฟุ้งซ่านอยู่นะ
อย่างนี้ควรที่จะเริ่มจากการดูอะไรที่ง่ายที่สุดก่อน ที่ภาวะฟุ้งซ่านมันจะเอื้อให้ดูได้
ยกตัวอย่างเช่น ถามตัวเองตอนนี้กำลังหายใจเข้าหรือว่าหายใจออกอยู่
ต่อให้ฟุ้งซ่านจัดขนาดไหน มันก็จะยังพอสามารถรับรู้กันได้
นี่เรียกว่าเป็นการตั้งหลักนะ เป็นการรู้แบบตั้งหลัก

แล้วก็สามารถที่จะรู้ต่อได้ด้วยว่าลมหายใจต่อมาน่ะ
ที่มันเข้าที่มันออก มันยาวกว่าหรือว่าสั้นกว่าระลอกที่ผ่านมา
นี่เรียกว่าเป็นการฝึกรู้แบบสมตัวนะ


ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีสมาธิดีแล้วนะครับ เรามีสมาธิดีแล้วจริงๆ
คือมีความนิ่ง นิ่งขนาดที่ เอาตัวนี้เป็นเครื่องวัดนะ
สามารถรู้สึกถึงความนิ่งได้นาน นานพอสมควร นานกว่าสิบวินาทีขึ้นไป

อย่างนี้มันจะเห็นเวทนาได้ชัดเด่นเลย เวทนาจะเป็นสุขแน่ๆ
คือคนที่สามารถนิ่งได้มากกว่าสิบวินาทีขึ้นไป
มันจะรู้สึกถึงความเย็น มันจะรู้สึกถึงความว่าง วิเวก มันจะรู้สึกถึงความมีปีติอ่อนๆ
นี่อย่างนี้เรียกว่าเหมาะที่จะดูเวทนาอันเป็นสุข
แล้วพอสภาวะที่มันนิ่งๆเย็นๆ มันหายไป เวทนามันก็จะต่างไป
เราสามารถทำการรับรู้เข้าไปได้ว่ามันไม่เที่ยงโดยอาการอย่างนี้
ลักษณะที่ปรากฏเด่น ปรากฏชัด ปรากฏนิ่ง ปรากฏนาน
ถ้าหากว่ามันแปรไป เราจะไม่สงสัยเลยว่าอาการแปรไป อาการปรวนแปรไปนั้นน่ะ
มันปรากฏขึ้นที่วินาทีไหน มันชัดเจนนะ



ทีนี้ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะดูเวทนาได้
ตรงนั้นนะเพียงแค่เราศึกษาไว้ก่อน ทำความรับรู้ไว้ก่อนล่วงหน้า
ว่าสัญญาคืออาการที่จำได้ คืออาการที่หมายรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ถ้าขณะที่นิ่ง ขณะที่กำลังสงบสบายอยู่น่ะ กำลังหลับตาอยู่
ปรากฏนิมิตอะไรขึ้นมา อย่างเช่นนิมิตของความฟุ้งซ่าน
มันมีนะนิมิตของความฟุ้งซ่าน
คือพอสงบระงับไป มันจะมีระลอกความคิดผุดขึ้นมา
ท่ามกลางความรู้สึกสบาย ท่ามกลางความรู้สึกนิ่งว่าง
แล้วความคิดระลอกนั้นที่มันปรากฏขึ้นมา
มันเป็นความคิดเกี่ยวกับอะไร ทำให้จิตประหวัดหวนไปนึกถึงอะไร
สามารถจำได้ว่า อ้อ เรากำลังคิดถึงเรื่องนั้นๆ
นี่เรียกว่าเป็นการแสดงตัวของสัญญาแล้วนะ
พอความคิดกระทบใจแล้วเกิดความจำได้ นี่เรียกว่าสัญญา
คือมีธรรมารมณ์กระทบใจ อายตนะคู่ที่หกนะ
คือธรรมารมณ์นี่พอมากระทบใจแล้วเกิดสัญญาขึ้นมา จำได้หมายรู้ขึ้นมา
นี่ตัวนี้มันจะเป็นตัวที่เราสามารถเห็นได้ทันที
คือทำใจไว้ล่วงหน้าว่า สัญญาคือความจำได้หมายรู้
พอปรากฏภาวะนั้นขึ้นมาในสมาธิ เราก็แค่ทำความรับรู้ไปเฉยๆ
นี่เรียกว่าเป็นการเห็นสัญญาจริงๆ นะ


ส่วนตัววิญญาณนี่นะก็หมายถึงการรับรู้ คือมันมีอาการรู้ขึ้นมา
ถ้าถามว่าจะให้ดูวิญญาณปรากฏตอนไหน
ก็ดูตอนที่ เอาฝึกตอนที่รู้สึกถึงความว่าง
สมมุติว่าความว่างนั้นน่ะเป็นอาการของจิตก่อน เป็นอาการว่าง
แต่มันไม่ว่างจริงนะ คือมีอาการปรุงแต่งจิตอยู่ตลอดเวลานะ
มันไม่ใช่ว่าความรู้สึกว่างนั้นมันว่างเปล่า
แท้จริงแล้วความรู้สึกว่าว่างนั้นน่ะ
มันเป็นแค่อาการปรุงแต่งอย่างหนึ่งของใจ

ให้เห็นไปว่าว่าง ให้รู้สึกไปว่าว่าง
การรับรู้ตรงนั้นนี่นะ
ก็ขอให้รับรู้ว่าวิญญาณ วิญญาณขันธ์มันกำลังมีอาการรับรู้อยู่ว่าว่าง
ไม่ใช่ว่าจิตมันว่างเปล่า ไม่ใช่ว่าโลกนี้กลายเป็นของว่างเปล่าไป



คือประสบการณ์ทางใจของคนที่ไม่เคยสัมผัสความว่างมากๆ มาก่อน
จะรู้สึกไปว่า โอ้ นี่ไม่มีอะไรเลย นี่มันมีความว่างเปล่า
แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้าหากว่าเราฝึกในทางของการเจริญของสติ
เราจะมองด้วยความเข้าใจว่า นั่นเป็นอาการปรุงแต่งอย่างหนึ่งของจิตชั่วขณะ
ชั่วขณะที่มีสมาธิ ชั่วขณะที่ไม่มีความคิดอื่นเจือปน
ชั่วขณะที่ไม่มีการเห็นภาพทางตา ไม่ได้ยินเสียงทางหู
แล้วเกิดความปรุงแต่งไปว่าว่าง ว่างเปล่าจากผัสสะ
แท้จริงแล้วนะ พอมองเข้าไปแล้ว มันก็เป็นแค่การรับรู้ว่าว่าง
นี่ถ้าหากว่ามีความฟุ้งซ่านผุดขึ้นมาหลังจากนั้น
นั่นก็เป็นการรับรู้ว่าไม่ว่างแล้ว



นี่อย่างนี้นะ คือขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองได้อย่างไร อะไรกำลังปรากฏเด่นนั่นเอง
ถ้าหากว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเด่น ปรากฏชัดนั้น
มันทำให้เรารู้สึกได้ถึงภาวะธรรมชาติ
ว่านี่เป็นการปรุงแต่งของขันธ์ ขันธ์ทั้งห้านี่นะ มันเกิดขึ้นชั่วขณะ
แล้วก็เปลี่ยนไป แปรปรวนไปเรื่อยๆ

นี่ถือว่าใช้ได้ นี่ถือว่าจะทำให้เกิดการปล่อยวางอย่างแท้จริง
แล้วก็มันเฉียดใกล้เข้ากับรับรู้ถึงอนัตตาว่าไม่มีตัวตน
มันเฉียดใกล้กันนิดเดียวกับการบรรลุมรรคผล
เพราะว่าในสมัยพุทธกาล มีผู้ที่พิจารณาขันธ์ห้าโดยความเป็นของไม่เที่ยง
แล้วรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่าสักแต่มีภาวะธรรม สักแต่มีธรรมชาติอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
แล้วธรรมชาตินั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา
ไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีบุคคล ไม่ได้มีเราเขา ไม่ได้มีชายหญิง
ไม่ได้มีใครชื่ออะไรอยู่จริงๆ เลยอยู่ในโลกนี้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP