จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เจ้ากรรมนายเวร


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


239 destination



ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” กันมาบ้างนะครับ
โดยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๔ อธิบายว่า
หมายถึง ผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันมาแต่ชาติก่อน
http://www.royin.go.th/dictionary/
ซึ่งบางท่านอาจจะเข้าใจว่า หากเราเคยไปทำอะไรไม่ดีกับใครไว้ในอดีต
ผู้ที่เคยถูกเราทำไว้ก็จะมาเป็นเจ้ากรรมนายเวร
และเขาจะมาคอยอาฆาตและราวีทำร้ายเราไปเรื่อย ๆ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่ดีที่เราได้รับในเรื่องใด ๆ ก็เป็นเพราะเจ้ากรรมนายเวร


ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราทำบาปอกุศลกรรมใด ๆ ก็ตาม
และเราต้องมารับวิบากกรรม (หรือผลแห่งกรรม) ในภายหลังนั้น
วิบากกรรมที่เกิดขึ้นแก่เราดังกล่าว
ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นเพราะเจ้ากรรมนายเวรนะครับ
แต่วิบากกรรมย่อมสามารถเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยนั้นให้ผล
โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเจ้ากรรมนายเวรเลยก็ได้


ในที่นี้ ขอยกตัวอย่าง ๓ เรื่องจากอรรถกถา คาถาธรรมบท ปาปวรรค
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท) มาเพื่อพิจารณา
เรื่องแรก ในสมัยหนึ่ง ภิกษุกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
ชาวบ้านนิมนต์ให้นั่งในโรงฉันและถวายภัตตาหารแล้ว
ในขณะนั้น เปลวไฟลุกขึ้นจากเตาปรุงอาหารขึ้นไปติดชายคา
แล้วเกลียวหญ้าเส้นหนึ่งซึ่งติดไฟ ได้ปลิวขึ้นจากชายคาลอยไปสู่อากาศ
ในขณะนั้น กาตัวหนึ่งบินมาทางอากาศได้สอดคอเข้าไปในเกลียวหญ้านั้น
เกลียวหญ้าได้พันคอกาแล้ว ไฟได้ไหม้กานั้นตกลงที่กลางบ้าน


เหล่าภิกษุเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ไปกราบทูลถามบุพกรรมของกานั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเล่าถึงบุพกรรมของกานั้นว่า
ในอดีตกาล ชาวนาผู้หนึ่งฝึกโคของตน แต่ไม่อาจฝึกได้
โคของเขานั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็นอน
แม้เขาจะตีโคให้ลุกขึ้นแล้ว โคนั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่ง ก็นอนเหมือนเดิม
ชาวนานั้นถูกความโกรธครอบงำแล้ว จึงนำฟางไปพันคอโคนั้น
แล้วจุดไฟเผา โคนั้นได้ถูกไฟคลอกตายในที่นั้นเอง
ด้วยบาปกรรมอันชาวนาได้ทำแล้วในครั้งนั้น
เขาได้หมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน
เพราะวิบากของกรรมอันเป็นบาปนั้น ทำเขาให้เกิดเป็นกา
และถูกไฟไหม้ตายกลางอากาศอย่างนี้ใน ๗ อัตภาพ (ชาติ)


เรื่องที่สอง ในสมัยหนึ่ง ภิกษุกลุ่มหนึ่งได้โดยสารเรือข้ามสมุทร
ต่อมา เรือได้หยุดนิ่งเฉยในกลางสมุทร
หมู่ชนบนเรือพากันคิดว่า มีคนกาลกิณีอยู่ในเรือนี้
จึงได้แจกสลากให้ทุกคนจับ ปรากฏว่าภรรยาของนายเรือจับได้สลากนั้น
หมู่ชนในเรือพากันแจกสลากใหม่ โดยแจกทั้งหมด ๓ ครั้ง
ภรรยาของนายเรือก็จับได้สลากนั้นทั้ง ๓ ครั้ง
นายเรือได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่อาจให้มหาชนฉิบหายเพื่อประโยชน์แก่นางนี้
พวกท่านจงทิ้งนางลงในน้ำเถิด"
หลังจากนั้น นายเรือก็ให้หมู่ชนนำกระออมที่เต็มด้วยทรายผูกไว้ที่คอของหญิงนั้น
แล้วโยนนางลงไปในสมุทรถึงแก่ความตาย


เหล่าภิกษุเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ไปกราบทูลถามบุพกรรมของหญิงนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเล่าถึงบุพกรรมของหญิงนั้นว่า
ในอดีตกาล หญิงนั้นเป็นภรรยาแห่งคฤหบดีคนหนึ่ง
นางได้ทำกิจทุกอย่าง เช่น ตักน้ำ ซ้อมข้าว ปรุงอาหารเป็นต้น ด้วยตนเอง
สุนัขตัวหนึ่งของนางเฝ้าดูนาง และติดตามนางไปเสมอไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม
พวกคนหนุ่มเห็นเช่นนั้นได้กล่าวเยาะเย้ยนางในเรื่องที่มีสุนัขคอยติดตามนั้น
นางอับอายเพราะคำเยาะเย้ยของพวกคนหนุ่มเหล่านั้น
จึงทำร้ายสุนัขด้วยก้อนดินและท่อนไม้ เป็นต้น เพื่อให้หนีไป
สุนัขได้หนีไปแล้ว แต่ก็กลับมาติดตามนางอีก
(เหตุเนื่องด้วยสุนัขนั้นเคยเป็นสามีของนางในอัตภาพที่ ๓ ก่อนหน้า
สุนัขนั้นจึงไม่อาจตัดความรัก และไม่อาจละนางนั้นได้)
นางโกรธสุนัขนั้น จึงได้นำกระออมเปล่าไปสู่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง สุนัขก็ตามนางไป
นางบรรจุกระออมให้เต็มด้วยทรายแล้ว และได้ทำเสียงเรียกสุนัขนั้น
สุนัขดีใจว่านางเรียก จึงรีบกระดิกหางและเข้าไปหานาง
นางได้เอาปลายเชือกข้างหนึ่งผูกกระออมที่เต็มไปด้วยทรายไว้
แล้วเอาปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกที่คอสุนัข
จากนั้น ผลักกระออมให้กลิ้งลงน้ำ สุนัขก็ตกน้ำตามไปและได้จมน้ำตาย
หญิงนั้นได้หมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เพราะบุพกรรมนั้น
ด้วยวิบากที่เหลือ หญิงนั้นจึงถูกหมู่ชนเอากระออมเต็มด้วยทราย
ผูกคอถ่วงลงในน้ำ และถึงแก่ความตายแล้วตลอด ๑๐๐ อัตภาพ (ชาติ)


เรื่องที่สาม ภิกษุ ๗ รูปได้เดินทางไปสู่วัดแห่งหนึ่ง และได้ไปพักในถ้ำแห่งหนึ่ง
ในตอนกลางคืน แผ่นหินใหญ่ได้กลิ้งลงมาปิดปากถ้ำไว้
เหล่าภิกษุในวัดได้เรียกชาวบ้านจาก ๗ ตำบลโดยรอบมาช่วยกันขยับ
แต่ก็ไม่สามารถขยับให้แผ่นหินใหญ่นั้นเขยื้อนจากปากถ้ำได้
เหล่าภิกษุ ๗ รูปที่ติดอยู่ในถ้ำนั้น ถูกความหิวแผดเผา
และได้เสวยทุกข์ใหญ่ตลอด ๗ วัน
จากนั้นในวันที่ ๗ แผ่นหินใหญ่นั้นก็ได้กลิ้งออกไปจากปากถ้ำเอง


เหล่าภิกษุ ๗ รูปที่ติดอยู่ในถ้ำจึงได้ไปกราบทูลถามบุพกรรมของตน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเล่าถึงบุพกรรมของภิกษุ ๗ รูปนั้นว่า
ในอดีตกาลนั้น เหล่าภิกษุ ๗ รูปได้เคยเป็นเด็กเลี้ยงโค ๗ คน
อยู่มาวันหนึ่ง ได้มาพบตะกวดใหญ่ตัวหนึ่ง จึงช่วยกันไล่ตาม
ตะกวดใหญ่หนีเข้าไปสู่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ซึ่งจอมปลวกนั้นมี ๗ ช่อง
พวกเด็กปรึกษากันว่า ในเวลานี้ พวกเราไม่อาจจับได้ พรุ่งนี้ค่อยมาจับ
แต่ละคนจึงถือเอากิ่งไม้ที่หักได้คนละกำ ๆ มาปิดช่องทั้ง ๗ แล้วจากไป
ในวันรุ่งขึ้น เด็กเหล่านั้นได้ลืมตะกวดใหญ่นั้น และได้ต้อนโคไปในที่อื่น
ครั้นผ่านไป ๗ วัน เด็กเหล่านั้นได้พาโคกลับมา
และพบจอมปลวกนั้น จึงได้คิดถึงตะกวดใหญ่
เด็กเหล่านั้นได้เปิดช่องที่ตนได้ปิดไว้ พบตะกวดใหญ่หมดอาลัยในชีวิต
เหลือแต่กระดูกและหนังสั่นคลานออกมา
เด็กเหล่านั้นเห็นดังนั้นแล้ว จึงทำความเอ็นดูและพูดกันว่า
พวกเราอย่าฆ่ามันเลย มันอดเหยื่อตลอด ๗ วัน
จึงลูบหลังตะกวดใหญ่ แล้วปล่อยไป พร้อมกล่าวว่า จงไปตามสบายเถิด
เด็กเหล่านั้นไม่ต้องไปหมกไหม้ในนรก เพราะไม่ได้ฆ่าตะกวดใหญ่นั้น
แต่เด็กทั้ง ๗ นั้น ได้มาเป็นผู้อดข้าวร่วมกันตลอด ๗ วัน ใน ๑๔ อัตภาพ (ชาติ)
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19&p=11


เราจะเห็นได้ว่าในทั้ง ๓ เรื่องนั้น
เจ้ากรรมนายเวรไม่ได้เป็นผู้ไปเอาเรื่องหรือทำร้ายผู้ที่เคยทำบุพกรรมไว้นะครับ
แต่ว่าวิบากกรรมนั้นให้ผลเองแก่ผู้ที่ทำบุพกรรมไว้
กล่าวคือในเรื่องแรกนั้น ไฟจากเตาก็ติดที่เกลียวหญ้าบนชายคาเอง
เกลียวหญ้าที่ติดไฟได้ถูกลมพัดได้ปลิวลอยไปสู่อากาศเอง
แล้วกานั้นก็ได้บินนำคอตนเองมาสอดเข้าเกลียวหญ้าที่ติดไฟเอง
โดยที่ไม่ได้มีใครจะไปทำร้ายกานั้น


ในเรื่องที่สองนั้น เรือได้หยุดในกลางสมุทรเอง
แล้วหญิงนั้นก็ได้จับสลากได้เองทั้ง ๓ ครั้ง
คนที่จับหญิงนั้นโยนลงน้ำก็เป็นหมู่ชนหลายคนไม่ใช่คนเดียว
ดังนั้น กรณีจึงไม่ใช่ว่าสุนัขนั้นได้กลับมาทำร้ายหญิงนั้น


ในเรื่องที่สามนั้น แผ่นหินได้เคลื่อนมาปิดปากถ้ำเอง
แล้วเมื่อถึงเวลา ๗ วัน แผ่นหินนั้นก็ได้ขยับเคลื่อนออกไปเอง
โดยที่ไม่ได้มีใครไปพยายามขังเหล่าภิกษุ ๗ รูปนั้นไว้ในถ้ำ


ในตอนท้ายของอรรถกถา คาถาธรรมบท ปาปวรรค
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท) อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาว่า
บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
เพราะเขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่


ขอยกตัวอย่างเทียบเคียงอีกนะครับ
สมมุติว่าชายคนหนึ่งไปข่มขืนฆ่าผู้หญิงคนหนึ่ง
ต่อมา ชายคนนั้นถูกชาวบ้านบริเวณนั้นรุมประชาทัณฑ์ถึงแก่ความตาย
การที่ชายคนนั้นถูกรุมประชาทัณฑ์ถึงแก่ความตายย่อมเป็นวิบากกรรม
แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงที่โดนข่มขืนฆ่านั้นได้กลับมาทำร้ายเขาครับ
หรือหากชายคนนั้นถูกตำรวจจับ แล้วศาลได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิต
ชายคนนั้นจึงได้ถูกเพชฌฆาตนำไปประหารชีวิต
การที่ชายคนนั้นถูกนำไปลงโทษประหารชีวิตย่อมเป็นวิบากกรรม
แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงที่โดนข่มขืนฆ่านั้นได้กลับมาฆ่าเขาครับ


ฉะนั้นแล้ว ในระบบของการให้ผลแห่งกรรม หรือวิบากกรรมนั้น
กรรมนั้นสามารถให้ผลได้เอง โดยที่เจ้ากรรมนายเวรจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น บุตรไปทำร้ายพ่อแม่
แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้โกรธ หรืออาฆาตแค้นบุตรเลยก็ตาม
แต่บุตรก็ย่อมจะได้รับผลแห่งบาปกรรมนั้นได้


ในท้ายนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า
บุพกรรมนั้นให้วิบากกรรม (หรือผลแห่งกรรม) หนักกว่าหลายเท่านะครับ
อย่างเช่น ในเรื่องแรก ชาวนาได้จุดไฟเผาโคตายครั้งเดียวในเวลาไม่นาน
แต่ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน
หลังจากนั้น เกิดเป็นกาและถูกไฟไหม้ตายกลางอากาศใน ๗ ชาติ
ในเรื่องที่สอง หญิงนั้นฆ่าสุนัขครั้งเดียวในเวลาไม่นาน
หญิงนั้นต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน
หลังจากนั้น มาถูกหมู่ชนเอากระออมเต็มด้วยทรายผูกคอถ่วงลงในน้ำ
จนถึงแก่ความตายอีก ๑๐๐ ชาติ
ในเรื่องที่สาม เด็ก ๗ คนขังตะกวดใหญ่ไว้ ๗ วันในครั้งเดียว
หลังจากนั้น ต้องมาอดข้าวร่วมกัน ๗ วันใน ๑๔ ชาติ
ดังนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่ากรรมชั่วนั้นให้ผลร้ายแรงว่าบุพกรรมที่ทำไว้มาก
การทำกรรมชั่วในสังสารวัฏนี้ จึงเป็นสิ่งที่ขาดทุนสิ้นเชิงจริง ๆ ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP