จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

บาปเกิดจากความจงใจ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



238_destination.JPG



เราอาจจะเคยได้อ่านพบข้อความที่แชร์กันว่า
การปล่อยเต่า ปล่อยหอย หรือปล่อยปลาบางประเภทลงแม่น้ำแล้ว
เป็นการทำให้เต่า หอย หรือปลาบางประเภทนั้นตาย
เพราะสัตว์บางประเภทเหล่านั้นไม่สามารถมีชีวิตอาศัยในแม่น้ำได้
การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการทำบุญกุศล แต่เป็นการทำบาปอกุศล


บางท่านที่เคยทำบุญไปซื้อเต่า หอย หรือปลาบางประเภทมาปล่อยในแม่น้ำ
พอได้อ่านข้อความเหล่านั้นแล้ว บางท่านก็อาจจะจิตตก หรือเสียใจ
เข้าใจว่าตนเองได้ทำบาปโดยการฆ่าสัตว์ที่นำไปปล่อยเหล่านั้นเสียแล้ว
ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครับ


ในเรื่องการทำบุญกุศล และทำบาปอกุศลนั้น
ในคาถาธรรมบท ยมกวรรค ((พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม
ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น
เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม
สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น
เหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=268&Z=329&pagebreak=0


ในอรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์ ได้เล่าว่า
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เดียรถีย์ทั้งหลาย เสื่อมลาภและสักการะแล้ว
เมื่อปรารถนาลาภและสักการะ จึงปลอมบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อบวชแล้ว พวกเดียรถีย์เหล่าแสดงทิฏฐิ (ลัทธิ) ของตนว่า นี้ธรรม นี้วินัย
พวกเดียรถีย์เหล่านั้น บางพวกแม้เมื่อไม่ได้บวช ก็ปลงผมเสียเอง
แล้วนุ่งผ้ากาสายะ เที่ยวไปในวิหารทั้งหลาย เข้าไปร่วมอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ยอมทำอุโบสถร่วมกับพวกภิกษุเดียรถีย์เหล่านั้น
ในคราวนั้น ภิกษุสงฆ์ไม่ได้ทำอุโบสถร่วมกับเดียรถีย์เหล่านั้นเลย
ในวัดอโศการาม อุโบสถขาดไปถึง ๗ ปี
พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชาแล้ว
พระราชาจึงทรงใช้ให้อำมาตย์ไประงับอธิกรณ์


อำมาตย์นั้นไปยังพระวิหารเพื่อระงับอธิกรณ์แล้ว
มีความเข้าใจผิดว่า พวกราชบุรุษ เมื่อจะปราบปัจจันตชนบทให้ราบคาบ
ก็ต้องฆ่าพวกโจร ฉันใด ภิกษุเหล่าใดไม่ทำอุโบสถ
พระราชาจักมีพระราชประสงค์ให้ฆ่าภิกษุเหล่านั้นเสีย ฉันนั้น


อำมาตย์ไปยังพระวิหาร และได้นัดให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว
เรียนชี้แจงว่า พระราชาทรงสั่งข้าพเจ้ามาว่า
เธอจงนิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้ทำอุโบสถเถิด
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ ขอพวกท่านจงทำอุโบสถกรรมเถิด


เหล่าภิกษุกล่าวว่า อาตมภาพจะไม่ทำอุโบสถร่วมกับเหล่าเดียรถีย์
อำมาตย์จึงเริ่มเอาดาบตัดศีรษะของเหล่าภิกษุให้ตกไป
ตั้งต้นตั้งแต่อาสนะของพระเถระลงไป
ท่านพระติสสเถระ (ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันกับพระราชา)
ได้เห็นอำมาตย์นั้นผู้ปฏิบัติผิดอย่างนั้น
จึงดำริว่า พระราชาคงจะไม่ทรงส่งมาเพื่อให้ฆ่าพระเถระทั้งหลาย
เรื่องนี้จักเป็นเรื่องที่อำมาตย์คนนี้เข้าใจผิดแน่นอนทีเดียว
ดังนี้ จึงได้ไปนั่งบนอาสนะใกล้อำมาตย์นั้นเสียเอง


อำมาตย์นายนั้นจำพระเถระนั้นได้จึงได้ไปราบทูลเรื่องดังกล่าวต่อพระราชา
พระราชาพอได้ทรงสดับเท่านั้น ก็เกิดความเร่าร้อนขึ้นในพระวรกาย
จึงเสด็จไปยังพระวิหาร ตรัสถามพวกภิกษุผู้เป็นพระเถระว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ อำมาตย์คนนี้โยมไม่ได้สั่งเลย
ได้ทำกรรมอย่างนี้แล้ว บาปนี้จะพึงมีแก่ใครหนอแล
เหล่าภิกษุได้ถวายความเห็นแด่พระราชาเป็นหลายแนวแตกต่างกัน
พระเถระบางพวกถวายพระพรว่า
อำมาตย์นายนี้ได้ทำตามพระดำรัสสั่งของมหาบพิตรแล้ว
บาปนั่นจึงมีแก่มหาบพิตรด้วย
พระเถระบางพวกถวายพระพรว่า
บาปนั่น ย่อมมีแด่มหาบพิตรและอำมาตย์แม้ทั้ง ๒ ด้วย
พระเถระบางพวกถวายพระพรอย่างนี้ว่า เมื่อมหาบพิตรไม่มีความคิด
ว่าอำมาตย์นายนี้จงไปฆ่าภิกษุทั้งหลาย แต่มีความประสงค์เป็นกุศล
จึงได้ส่งเขาไปด้วยสั่งว่า ขอภิกษุสงฆ์จงสามัคคีกันทำอุโบสถเถิด
เช่นนี้ มหาบพิตรมีพระราชประสงค์เป็นกุศล
บาปก็ไม่มีแด่มหาบพิตร บาปนั่นย่อมมีแก่อำมาตย์เท่านั้น


ต่อมาพระราชาจึงได้เรียนถามต่อพระโมคคลีบุตรติสสเถระว่า
“โยมได้ส่งอำมาตย์นายหนึ่งไปด้วยสั่งว่า เธอไปยังพระวิหารระงับอธิกรณ์
แล้วนิมนต์ให้ภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถเถิด ดังนี้ เขาไปยังพระวิหารแล้ว
ได้ปลงภิกษุเสียจากชีวิตจำนวนเท่านี้รูป บาปนั่นจะมีแก่ใคร?”
พระทูลถามว่า “พระองค์มีความคิดหรือว่า
อำมาตย์นี้จงไปยังพระวิหารแล้ว ฆ่าภิกษุทั้งหลายเสีย”
พระราชาตรัสตอบว่า “ไม่มี เจ้าข้า”
พระเถระตอบว่า “ถ้าพระองค์ไม่มีความคิดเห็นปานนี้ไซร้ บาปไม่มีแด่พระองค์เลย”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=1&p=4


ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรค
ได้เล่าถึงเรื่องของพระมหาปาละ (หรือพระจักขุปาลเถระ)
ซึ่งท่านตาบอด และเป็นพระอรหันต์
ในสมัยหนึ่ง ท่านได้ลงมาเดินจงกรมภายหลังฝนตก
ในเวลานั้น แมลงเม่าจำนวนมากอยู่บนพื้นที่ฝนตกใหม่ ๆ
เมื่อพระเถระจงกรมอยู่ได้เหยียบแมลงเม่าตายจำนวนมาก
(โดยที่ท่านไม่ทราบเนื่องจากท่านตาบอด)
ภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าในเรื่องนี้ว่า
พระจักขุปาลเถระจงกรมทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ตายแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า พวกเธอทั้งหลาย เห็นพระจักขุปาลเถระ
กำลังทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ตายแล้วหรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้เห็น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอทั้งหลายไม่เห็นพระจักขุปาลเถระ
ทำดังนั้น ฉันใด พระจักขุปาลเถระก็ไม่เห็นสัตว์มีชีวิตเหล่านั้น ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเจตนาเป็นเหตุให้ตาย
ของพระขีณาสพทั้งหลาย (คือบุคคลผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว) มิได้มี
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1


ในเมื่อคนที่ปล่อยเต่า ปล่อยหอย หรือปล่อยปลาบางประเภทลงแม่น้ำ
เขาไม่ได้ทราบมาก่อน จิตเขาไม่ได้มีเจตนาฆ่า
แต่จิตเขามีเจตนาช่วยชีวิตเป็นกุศล จึงไม่ถือเป็นบาปอกุศลนะครับ
ปาณาติบาตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีเจตนาฆ่า
ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า ก็ย่อมไม่เป็นปาณาติบาต


ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการหยิบยารักษาโรคให้แม่ด้วยเจตนากุศล
โดยอยากจะให้แม่หายป่วย ไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายหรือฆ่าแม่
แต่เราพลาดพลั้งหยิบยาผิด ทำให้แม่กินยาผิดแล้วตาย
เช่นนี้ไม่ได้ถือว่าเราเจตนาฆ่าแม่ และกลายเป็นบาปอนันตริยกรรมนะครับ
หรือแพทย์ทำการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย
แต่เกิดข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย
โดยที่แพทย์ไม่ได้เจตนาทำร้ายหรือฆ่าผู้ป่วย
ก็ย่อมไม่ถือเป็นบาปอกุศลในการฆ่าผู้ป่วยเช่นกัน


ในกรณีนี้ บางท่านอาจจะเข้าใจว่า
แม้ว่าจะไม่ได้เจตนาฆ่าก็ตาม แต่ก็น่าจะทำให้เกิดวิบากได้
ความเข้าใจดังกล่าวก็เป็นความเข้าใจผิดเช่นกัน
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้ความหมายว่า
“วิบาก” หมายถึง ผล, ผลแห่งกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%D4%BA%D2%A1&original=1


ในเมื่อ “วิบาก” แปลว่า ผลแห่งกรรม
เช่นนี้แล้ว วิบากจึงเกิดจากกรรม
หากไม่ได้ทำกรรมแล้ว ก็ย่อมไม่มีวิบากครับ
ในการนี้ การจะทำกรรม ก็ต้องมีเจตนา
เมื่อไม่มีเจตนา ก็ไม่มีกรรม
เมื่อไม่มีกรรม ก็ไม่มีวิบาก เป็นทอด ๆ เช่นนี้


ในนิพเพธิกสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจาด้วยใจ”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=9611&Z=9753&pagebreak=0


ในอรรถกถาของ “ติตติรชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง มีนายพรานนกคนหนึ่ง จับนกกระทาเป็นนกต่อได้ตัวหนึ่ง
ให้ศึกษาอย่างดีแล้วใส่กรงเลี้ยงไว้ นายพรานนกนั้นนำนกกระทาต่อนั้นไปป่า
แล้วจับพวกนกกระทาซึ่งพากันมาเพราะเสียงนกกระทาต่อนั้นเลี้ยงชีวิตอยู่
ครั้งนั้น นกกระทานั้นคิดว่า ญาติของเราเป็นอันมากพากันฉิบหาย
เพราะอาศัยเราผู้เดียว นั้นเป็นบาปของเรา จึงไม่ส่งเสียงร้อง
นายพรานนกนั้นรู้ว่า นกกระทาต่อนั้นไม่ร้อง
จึงเอาแขนงไม้ไผ่ตีศีรษะนกกระทาต่อนั้น
นกกระทาจึงร้องเพราะอาดูร เร่าร้อนด้วยความทุกข์


นกกระทานั้นคิดว่า เราไม่มีเจตนาว่า นกเหล่านี้จงตาย
แต่กรรมที่อาศัยเป็นไป คงจะถูกต้องเรา เมื่อเราไม่ร้อง นกเหล่านี้ก็ไม่มา
ต่อเมื่อเราร้องจึงมา นายพรานนกนี้จับพวกนกที่มาแล้ว ๆ ฆ่าเสีย
ในข้อนี้ บาปจะมีแก่เราหรือไม่หนอ


อยู่มาวันหนึ่ง พรานนกนั้นจับนกกระทาได้เป็นอันมาก บรรจุเต็มกระเช้า
คิดว่า จักดื่มน้ำ จึงไปยังอาศรมของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นดาบส

วางกรงนกต่อนั้นไว้ในสำนักของพระโพธิสัตว์ ดื่มน้ำแล้วนอนที่พื้นทรายหลับไป
นกกระทารู้ว่านายพรานนั้นหลับ จึงได้ถามความสงสัยกับดาบส
พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นดาบสได้กล่าวตอบว่า
“ดูก่อนปักษี ถ้าใจของท่านไม่น้อมไปเพื่อกรรมอันเป็นบาป
บาปย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่ขวนขวายกระทำบาปกรรม”


นกกระทาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวถามเพิ่มเติมว่า
“ท่านผู้เจริญ ถ้าข้าพเจ้าไม่ทำเสียง นกกระทานี้จะไม่มา
แต่เมื่อข้าพเจ้ากระทำเสียง นกกระทาจำนวนมากนี้มา
ด้วยคิดว่า ญาติของพวกเราจับอยู่ นายพรานจับนกกระทาตัวที่มานั้นฆ่าอยู่
ชื่อว่าย่อมถูกต้อง คือได้ประสบกรรม คือปาณาติบาตนี้ เพราะอาศัยข้าพเจ้า
ใจของข้าพเจ้าจึงรังเกียจคือถึงความรังเกียจอย่างนี้ว่า
นายพรานกระทำบาป เพราะอาศัยเรา บาปนี้จะมีแก่เราไหมหนอ”


พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวตอบว่า
“ถ้าใจของท่านไม่ประทุษร้าย เพราะอาการทำบาปกรรม
คือไม่โน้ม ไม่โอน ไม่เงื้อมไปในการทำบาปกรรมนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น กรรม แม้ที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ
ย่อมไม่ถูกต้อง คือไม่แปดเปื้อนท่าน เพราะบาปนั้นย่อมไม่แปดเปื้อน
คือย่อมไม่ติดจิตของท่านผู้มีความขวนขวายน้อย
คือไม่มีความห่วงใยในการทำบาป
ผู้เจริญ คือผู้บริสุทธิ์เพราะท่านไม่มีความจงใจในปาณาติบาต”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=574


ในอรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา มาติกาวิภังค์
ได้อธิบายว่า “ภิกษุใดทำในใจว่า เราจักเช็ดดาบหรือที่เปื้อนเลือด
แล้วสอดเข้าไปในกองฟาง ฆ่ามารดาก็ดี บิดาก็ดี
พระอรหันต์ก็ดี คนอาคันตุกะก็ดี ยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี
สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งนอนอยู่ในกองฟางนั้นตาย
ภิกษุนั้น ด้วยอำนาจแห่งโวหาร เรียกว่าฆาตกรได้
แต่เพราะไม่มีวธกเจตนา เธอจึงไม่ถูกต้องกรรม ทั้งไม่ต้องอาบัติ”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=01&i=187


ใน "มหาวรรค กรรมกถา" พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า "กรรมได้มีแล้ว วิบากแห่งกรรมได้มีแล้ว
กรรมได้มีแล้ว วิบากแห่งกรรมไม่ได้มีแล้ว กรรมได้มีแล้ว วิบากแห่งกรรมมีอยู่
กรรมได้มีแล้ว วิบากแห่งกรรมไม่มีอยู่ กรรมได้มีแล้ว วิบากแห่งกรรมจักมี
กรรมได้มีแล้ว วิบากแห่งกรรมจักไม่มี กรรมมีอยู่ วิบากแห่งกรรมมีอยู่
กรรมมีอยู่ วิบากแห่งกรรมไม่มี กรรมมีอยู่ วิบากแห่งกรรมจักมี
กรรมมีอยู่ วิบากแห่งกรรมจักไม่มี กรรมจักมี วิบากแห่งกรรมจักมี
กรรมจักมี วิบากแห่งกรรมจักไม่มี
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=7238&Z=7273&pagebreak=0
เราจะสังเกตได้ว่า วิบากกรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีกรรมนะครับ
โดยไม่มีกรณีที่ว่า กรรมไม่มีอยู่ แต่วิบากกรรมจักมีครับ
ดังนี้แล้ว เมื่อไม่มีกรรม ก็ย่อมไม่มีวิบาก
และเมื่อไม่มีเจตนา ก็ย่อมไม่มีกรรม และไม่มีวิบาก


โดยสรุปแล้ว ในเรื่องที่ว่าสัตว์ประเภทไหนไม่ควรจะปล่อยลงแม่น้ำ
ท่านก็สามารถไปค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเองได้ไม่ยากครับ
แต่หากได้เคยปล่อยสัตว์บางประเภทที่ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำไปแล้ว
ก็ไม่ต้องจิตตกหรือเสียใจว่าเป็นการทำบาปอกุศลนะครับ
เพราะในเมื่อไม่ได้มีเจตนาทำร้ายหรือเจตนาฆ่าแล้ว
ก็ย่อมจะไม่เป็นบาปในเรื่องปาณาติบาต และไม่มีวิบากเรื่องดังกล่าว
แต่ที่จะทำกรรมใหม่ต่อไป ก็ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมไว้
เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือปล่อยสัตว์ประเภทที่เหมาะจะอยู่ในแม่น้ำได้ถูกต้องครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP