สารส่องใจ Enlightenment

นี่คือยอดกรรมฐาน (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๐




ณ โอกาสนี้ไป เป็นโอกาสฟังธรรม
เป็นการปฏิบัติธรรมะไปในตัว จึงมีวิธีนั่งสมาธิภาวนา
การนั่งสมาธิภาวนานี้
ให้พากันเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้าย
ตั้งกาย ตั้งตัวให้เที่ยงตรง หลับตา บริกรรมภาวนาพุทโธในใจ
หรือเอามรณกรรมฐานภาวนา



คนเราที่ไม่กลัวบาป ทำบาปได้ ก็คือว่าไม่เห็นมรณภัย ความตายที่จะมาถึงตน
พระพุทธเจ้าจึงเตือนว่าให้ภาวนามรณะ ความตายนี้ ให้มันได้ทุกลมหายใจเข้าออก
ถ้าเราแค่นึกได้ เจริญได้ซึ่งความตายทุกลมหายใจเข้าออก
แต่จิตใจนั้นยังไม่สงบ ยังไม่เป็นดวงหนึ่งดวงเดียว
ก็ได้แค่ปริยัติธรรม คือคำว่าเรื่องตาย
แต่จิตคนเรามันหาเป็นไปอย่างนั้นไม่ จึงจำเป็นต้องนึก ต้องเจริญ
จนจิตใจนั้นเห็นด้วย เข้าใจตามที่เราฟังธรรมคำสั่งสอนนั้นด้วย
จิตนี้จึงจะเข้าสู่สมาธิภาวนาเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวอยู่ภายใน


อุบายคือความตายนี้แหละ จึงเป็นยอดกรรมฐานสูงสุดในกรรมฐานทั้งหลาย
เพราะว่าเมื่อความตายมาถึงบุคคลใดแล้ว
บุคคลนั้นจำเป็นต้องตายไปตามยถากรรมนั้นๆ
ทีนี้ที่เราจะไตร่ตรองพินิจพิจารณาให้เห็น
ก็คือว่าได้ข่าวคนอื่นตายก็รีบให้เอามาสอนใจของตน เอามาสั่งสอนใจของเรา
ก็ไม่เฉพาะสองสามคำคิดนึกเท่านั้น แล้วก็หยุดไป
เอามาสอนมาตักเตือนจนจิตนั้นสงบระงับ มีความสลดสังเวชในความตาย
การนึกถึงความตายไม่ใช่แค่แต่ว่านึกๆ คิดๆ แล้วก็หยุดไป
อันนั้นมันเป็นเพียงแค่ความจดจำว่าเราจะต้องตาย ทุกคนที่เกิดมาจะต้องตายแน่ๆ
ถ้าเราไปฟังแต่คำพูด มันก็สุดแค่นั้นแหละ แต่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่แค่นั้น



ถ้าจิตมองเห็นความตายของบุคคลอื่นและของตัวเองด้วย
คนเราจะไม่นิ่งนอนใจ จะต้องรีบเร่งทีเดียว เร่งภาวนา
ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความตายนี้ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเห็นแจ้งซึ่งความตาย
คำที่ท่านสอนว่าให้นึกทุกลมหายใจ อันนั้นเป็นเรื่องของคำสอน
ส่วนการทำการปฏิบัตินั้น มันจะต้องเอามานึกมาพิจารณา
จนซึมซาบเข้าไปในหัวใจจริงๆ จนเห็นแจ้งภายในใจของตน
ว่าความตายนี้มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครจะมาแก้ไขไม่ได้
จนจิตใจมันเห็นแจ้งภายใน



ถ้ามันยังไม่เห็นแจ้งภายในทุกดวงใจ เราจะต้องมีสติระลึกอยู่
เมื่อเห็นสัตว์ตายก็เอามาเตือนใจ ไม่ว่าสัตว์ประเภทเล็ก ประเภทใหญ่
หรือสัตว์สี่เท้าสองเท้าอะไรก็ตาม ยิ่งเห็นสัตว์เหล่านั้นตายก็ให้เอามาสอนใจ
โดยเฉพาะอาหารการบริโภค อาหารการกินของคนเราทุกคน
เรากินอาหารทุกอย่าง แต่เราไม่ได้คิดถึงความตาย
อาหารมนุษย์นั้นส่วนมากก็เอาสัตว์ที่ตายมาเป็นอาหาร
ถ้าเป็นไข่ปูไข่ปลา มันก็เป็นล้านๆไข่ แต่เราก็ไม่ได้นึกให้มันเห็น
ว่าไข่แต่ละใบมันก็ตัวหนึ่งนั้นเอง ตัวหนึ่งก็คือเราคนหนึ่งนั้นเอง
ทำไมเราบริโภคอยู่ทุกวันจึงไม่ได้คิดให้เห็น
ว่าเขาตายขนาดไหน เราจะมีความตายอย่างนั้นหรือไม่
เอามานึก เอามาเจริญ จนเกิดความสลดสังเวช



ถ้าไม่มาคิดพินิจพิจารณาแล้ว จิตมันก็เลินเล่อเผอเรอ
สัตว์ต่างๆตายไม่เกี่ยว เราไม่ตาย คนอื่นตายไม่เกี่ยว เราไม่ตาย ตายแต่คนอื่น
จิตมันก็ประมาท อยากพูดบาปก็พูด อยากทำบาปก็ทำ คิดสิ่งใดเป็นบาปก็คิดได้
ไม่กลัวบาป เพราะมันไม่เห็นว่าเป็นบาป
คำว่า ไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ นั้นมันเป็นปัญหาอยู่
ดูให้เห็น อย่างว่าทำไมคนเราบางเวลาจึงเหยียบขวากเหยียบหนาม
ปักเท้า ปักตีนจนเดือดร้อน ก็เพราะไม่เห็น ถ้าเห็นแล้วคนนั้นจะไม่เหยียบ
เห็นแล้วแม้มันจะเหยียบลงไปมันก็เต้นหนี
เพราะมันมองเห็นว่าขวากหนามหรือสิ่งแหลมคม
เมื่อมันตำเข้าตามตัวเราที่ตรงไหนก็ตาม มันต้องเกิดความเดือดร้อน



พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เห็นความตายที่จะมาถึงตน
เห็นคนอื่นตายก็อย่านึกแต่ว่าคนโน้นตาย ถ้าคนที่เราเกลียดชังตายไปก็ดีใจ
ถ้าคนที่ตายนั้นเป็นญาติของเรา เป็นพ่อแม่เรา หรือเป็นลูกหลานของเรา
ก็เดือดร้อนด้วยความเป็นห่วงอาลัย
สิ่งเหล่านี้เราต้องคิดพิจารณาให้มันเห็น ทำไมไม่เห็น
คนเราที่เกิดมาปีเดียวเขาตายไปก่อนก็มี
เมื่อเขาตายไป ทำไมเราไม่นึก ไม่พิจารณาให้เห็น
หรือบางคนนั้น พ่อของเรานั้น เขาตายไหม พ่อเราก็ตายไป
แม่เราเขาตายไหม แม่ก็ตายไปก็มี
ในขณะที่เรานึกถึงอย่างนั้น แล้วตัวเรามันตายไหม
แม้เดี๋ยวนี้ยังไม่ตายแต่มันจะตายต่อไปในภายข้างหน้า
ต้องเอามาสอนใจของเราให้ได้ ไม่ให้ใจประมาท
ใจประมาท เห็นสัตว์ตายก็ไม่นึกถึงความตาย
ว่าแต่สัตว์โน้นตาย เห็นคนตายก็ไม่เอามาสอน
ว่าคนโน้นตาย แต่ตัวเรามันไม่ตาย และเรามันตายไม่เป็นด้วย
แต่มันจะต้องตายให้เราเห็นต่อไปในภายข้างหน้า



อันมรณกรรมฐานนี้ต้องนึกให้มาก เจริญให้มาก
นึกมากขนาดไหน เจริญมากขนาดไหน มันมีจุดอยู่
นึกเจริญจนมันสลดสังเวช มองเห็นความตายในจิตใจได้ตลอดเวลา
ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเขียนหนังสือเป็นความตาย พูดเป็นความตายเท่านั้น
จิตใจมันเห็นแจ้ง ณ ภายในว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ตัวเรา ตัวเขา ทั้งคน สัตว์
มันต้องมีความตายอย่างนี้ เจ้าตัวจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
แต่ความตายมันเป็นภัยอันใหญ่หลวง
เมื่อจิตมันเห็นอย่างนั้น แจ้งอย่างนั้น จิตมันก็สงบระงับ
ไม่ทำบาปในทางกาย ไม่กล่าวบาปในทางวาจา ไม่คิดบาปในทางจิตทางใจ
จิตใจก็มีแต่มุ่งให้ตัวเราและคนอื่นมีความสุขความสบาย
ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
เรียกว่ามุ่งให้ผู้อื่นมีความสุขตลอดเวลา
เพราะมองเห็นภัยอันตรายที่จะมาถึงตัวอยู่ตลอดเวลา
และก็ให้นึกให้เจริญอยู่ ไม่ให้มันหลง ให้มันแจ่มแจ้งในจิตในใจของเราทุกคน



เราจะอยู่ดีสบายไม่ตายไม่ได้
บางคนนั้นก่อนที่ยังไม่หลับไม่นอนก็อยู่สบายดี
เป็นพระเป็นเณรก็ไม่มีเรื่องอะไร เป็นญาติเป็นโยมก็ไม่มีเรื่องอะไร
แต่พอเข้าไปนอนหลับเท่านั้นแหละ
บางคนก็เกิดเป็นลม แก้ไขจนหายก็มี ไม่หาย ตายไปก็มี
บางคนไม่มีเรื่องอะไร เงียบหายไป ตื่นเช้าไปดู
ปรากฏว่าตายไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ตัวแข็งไปหมดแล้ว ร่างกายแข็งกระด้าง
ไม่รู้มันตายไปตั้งแต่เมื่อไร ตายแบบนี้มันมีอยู่ทั่วไป
แต่ว่าคนเราไม่เอามาภาวนา ไม่เห็น จิตมันก็ประมาท
เห็นสัตว์ตายก็ไม่สะดุ้งกลัวบาป เห็นคนตายก็ไม่สะดุ้งกลัวบาป
เพราะสติ สมาธิ ปัญญามันไม่เกิดไม่มีขึ้น
หรือว่าจิตใจภายในมันมืดมันดำ มองไม่เห็นซึ่งความตายนั้น
จิตมันก็ประมาทต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด



จึงจำเป็นต้องเอามานึก มาเจริญในใจทุกๆ คน
ไม่ใช่ว่าเพ่งให้คนสอน ให้คนอื่นนึก อย่างนี้ก็ไม่ได้
เมื่อเรายังนึกได้ เจริญได้ซึ่งความตาย เอามาสอนใจของตัวเองนั้นแหละ
ให้เกิดความรู้สึกสำนึกตัวในการที่จะแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีให้มันดีขึ้น
สิ่งใดยังไม่รู้ ไม่เข้าใจในธรรมปฏิบัติก็จะได้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาในใจ
คือต้องการผลแห่งการปฏิบัตินั้น
ท่านจึงให้เอามานึกมาเจริญ ให้มองเห็นอยู่ตลอดกาลเวลา
เพราะมันเป็นธรรมภายใน ไม่ใช่คนอื่นบอกอย่างเดียว
เอาจนมันเห็นในจิตในใจผู้รู้อยู่ ในตัวในใจของเราทุกดวงใจ
ไม่ว่าจะอยู่ในเพศพรรณวรรณะใดๆ มองเห็นมันได้ตลอด



ความตายนั้นท่านว่ามันคืบคลานเข้ามาจนถึงสมณะ นักบวช
นุ่งเหลือง นุ่งขาว นุ่งสี นุ่งอะไรก็ตาม มันคืบคลานเข้าไปได้ทุกคน
บางคราวยังมีพระอุปัชฌาย์ไปบวชนาคในช่วงใกล้ๆ ฤดูเข้าพรรษา
บวชนาคยังไม่หมดเพราะมันหลายองค์
จนค่ำมืด แล้วก็เลิกรากันไป พรุ่งนี้ค่อยบวชกันใหม่
ในคืนวันนั้นแหละ พระอุปัชฌาย์องค์นั้น พระองค์นั้น ไม่รู้ว่าเกิดโรคอะไร
จนตื่นเช้า พระเณรในวัดทั้งพระใหม่พระเก่าก็สงสัย
ว่าทำไมท่านยังไม่ลงมาจากกุฏิสักที
พระเณรก็ไปบิณฑบาตมาแล้ว ยังไม่เห็น ก็ไปตามดูที่กุฏิ
เมื่อไปตามแล้ว มันก็เกิดวิปริตขึ้นมา ไปจับเท้าก็สั่นถึงศีรษะ
ท่านตายไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แข็งกระด้างไปหมดแล้ว
เป็นอุปัชฌาย์มันก็ไม่ยกเว้นให้



เมื่อเราได้รู้ ได้เห็น ได้ฟังอย่างนี้ ก็ให้รีบมาสอนใจของเรา
ข้อแก้ตัวที่ว่าเราไม่ตาย ตายแต่อุปัชฌาย์ เราไม่ตายง่ายๆ ไม่ให้มันว่า
ก็ในเมื่ออุปัชฌาย์ยังตายได้ เราก็ต้องตายได้
พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทวดเรา ท่านทั้งหลายไปไหนเวลานี้
ก็ย่อมรวมความว่าเขาตายไปแล้ว เรายังไม่ตาย
แต่ว่าเราทุกคนนั้น หมายถึง กาย วาจา จิตนี้ จะต้องตายอย่างนั้นแน่นอน

ความคิด ความรู้ ความเห็นอันนี้ให้มันซึมซาบเข้าไปในจิตในใจ
ซึมเข้าไปจนเห็นแจ้งว่าความตายนี้มันเป็นความจริง ใครจะมากั้นไม่ให้ตายไม่ได้
กั้นอย่างหนึ่ง มันก็ตายอย่างหนึ่งให้ได้ ให้มันซึมซาบอยู่ในจิตในใจ
บางคนก็มักจะคิดว่า ข้าพเจ้ายังเด็กอยู่
เป็นสามเณรเด็กๆ อยู่ เป็นเด็กหนุ่มอยู่ไม่ตาย ไม่ได้
เวลามันจะตายขึ้นมา เด็กก็ตายได้ ไม่มีอะไรแก้ไขได้


เพราะความตายมันเป็นกรรมของแต่ละบุคคล
มันได้เวลาตายแล้วมันก็ต้องตาย จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็ตาม
เหตุการณ์แห่งความตายนั้น ท่านว่ามากมายคิดไม่ถึง
ทางที่เหมาะสม เราต้องนึกถึงมรณกรรมฐานให้มันกว้างขวางไว้
เห็นคนก็ให้เห็นคนนั้นจะต้องตาย
ไม่ว่าเห็นคนเด็ก คนหนุ่มคนสาว คนอะไรก็ตาม เห็นก็ให้เห็นตายไปด้วย
คือไม่ตายในเวลานั้น ก็จะต้องตายในเวลาต่อๆ ไป
ภายในร้อยปี ทั้งเราทั้งเขา ทั้งนักบวช นักบ้าน ใครจะเก่งกล้าสามารถอย่างไรก็ตาม
ความตายนี้มันเข้าไปถึงหมด ไม่มีอะไรกั้นได้
ในทางธรรม ท่านจึงให้ชื่อว่าเป็นพญาใหญ่
ความตายนี้เป็นพญาใหญ่ เป็นผู้มีอิทธิพลใหญ่ยิ่ง
ใครจะกล้ามารบกับพญามัจจุราชคือความตายนั้น ไม่มีทางที่จะเอาชนะได้
อาวุธจะดีขนาดไหนก็ตาม
จะมาสู้กับพญามัจจุราชคือความตายนั้นไม่ได้ ต้องพ่ายแพ้ไปหมด


ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราท่านทั้งหลาย นึกให้เห็น เจริญให้ได้
เอาจนกระทั่งนั่งก็มองเห็นความตายจะมาถึงตัวเราอยู่
นอนสบายก็ไม่ให้ลืมว่าสบายขนาดไหนก็ตามแต่
เมื่อภัยคือความตายมาถึงเข้า นอนอยู่ก็ตายได้ นั่งอยู่ก็ตายได้
หัวเราะเพลิดเพลินก็ตายได้ ยืนอยู่ก็ตายได้ เดินไปเดินมาก็ตายได้
ทำการงานกิจกรรมอันใดอยู่ก็ตายได้ เขียนหนังสืออยู่ก็ตายได้
สวดมนต์ไหว้พระ พูดจาปราศรัย ร้องรำทำเพลงก็ตายได้ทั้งนั้น
ใครจะไปอวดดิบอวดดีว่าข้าพเจ้าไม่ตาย อวดไปเถอะ
ภายในร้อยปีนั้นแหละ มันจะมาสอนให้รู้
ในระยะนี้มันสอนความไข้ได้ป่วยให้เรารู้ไว้ก่อน
อีกไม่นาน สุดท้ายมันก็จะเอาความตายมาให้เรา
หรือว่ามันลากคอให้ตายไปเลย เราอย่าได้ประมาท



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จากพระธรรมเทศนา “นี่คือยอดกรรมฐาน”
ใน พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม๑๒
โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๕๐.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP