ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

พาลบัณฑิตสูตร ว่าด้วยคนพาลและบัณฑิต (ตอนที่ ๑)


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้วว่า พระเจ้าข้า.


[๔๖๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ลักษณะของคนพาล
เครื่องหมายของคนพาล เครื่องอ้างของคนพาลนี้มี ๓ อย่าง
๓ อย่างเป็นไฉน? ภิกษุทั้งหลาย คนพาลในโลกนี้
มักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว มักทำการทำที่ชั่ว
ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว
บัณฑิตทั้งหลายจะพึงรู้จักเขาได้ด้วยลักษณะเครื่องหมายและเครื่องอ้างอย่างไรว่า
ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว
มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว
ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้เขาได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน.


[๔๖๙] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
ชนในที่นั้น ๆ พูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่กรรมชั่วนั้น
ถ้าคนพาลมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ
มักดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ในเรื่องที่พูดกันนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
ข้อที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล
สภาพเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในสภาพเหล่านั้นด้วย

ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อที่ ๑ นี้ในปัจจุบัน.


[๔๗๐] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก
คนพาลเห็นพระราชาทั้งหลายให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว
สั่งให้ลงกรรมกรณ์ชนิดต่าง ๆ คือ โบยด้วยแส้บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง
ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง (วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะ)
ขอดสังข์บ้าง (ถลกหนังศีรษะแล้วจัดให้ขาวเหมือนสังข์)
ปากราหูบ้าง (เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหู)
มาลัยไฟบ้าง (เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา)
คบมือบ้าง (เอาผ้าพันมือราดน้ำมันแล้วจุดไฟต่างคบ)
ริ้วส่ายบ้าง (ถลกหนังออกเป็นริ้ว ๆ ตั้งแต่คอถึงข้อเท้าแล้วให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลง)
นุ่งเปลือกไม้บ้าง (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้เหมือนนุ่งผ้าคากรอง)
ยืนกวางบ้าง (สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศ เอาไฟเผา)
เกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง (ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ และเอ็นออกมา)
เหรียญกษาปณ์บ้าง (เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์)
แปรงแสบบ้าง (เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออก เหลือไว้แต่กระดูก)
กางเวียนบ้าง (เสียบให้ติดดินแล้วจับหมุนรอบ ๆ)
ตั่งฟางบ้าง (ทุบกระดูกให้แหลกแล้วจับผมขย่อน ๆ ให้เนื้อรวมกันเป็นกอง
แล้วตั้งไว้เหมือนตั่งทำด้วยฟางสำหรับเช็ดเท้า)
ราดด้วยน้ำมันเดือด ๆ บ้าง สุนัขทึ้งบ้าง นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง
ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึงให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว
สั่งให้ลงกรรมกรณ์ชนิดต่าง ๆ คือ โบยด้วยแส้บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง
ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง ขอดสังข์บ้าง ปากราหูบ้าง
มาลัยไฟบ้าง คบมือบ้าง ริ้วส่ายบ้าง นุ่งเปลือกไม้บ้าง
ยืนกวางบ้าง เกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง เหรียญกษาปณ์บ้าง
แปรงแสบบ้าง กางเวียนบ้าง ตั่งฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันเดือด ๆ บ้าง
สุนัขทึ้งบ้าง นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
ก็สภาพเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในสภาพเหล่านั้นด้วย
ถ้าพระราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ชนิดต่าง ๆ
คือ โบยด้วยแส้บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง
ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง ขอดสังข์บ้าง ปากราหูบ้าง
มาลัยไฟบ้าง คบมือบ้าง ริ้วส่ายบ้าง นุ่งเปลือกไม้บ้าง
ยืนกวางบ้าง เกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง เหรียญกษาปณ์บ้าง
แปรงแสบบ้าง กางเวียนบ้าง ตั่งฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันเดือด ๆ บ้าง
สุนัขทึ้งบ้าง นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อที่ ๒ แม้นี้ในปัจจุบัน.


[๔๗๑] ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก กรรมลามกที่คนพาลทำไว้ในก่อน
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมแผ่ไปปกคลุม
ครอบคลุมคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น
เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมแผ่ไปปกคลุม
ครอบคลุมแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมลามกที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมแผ่ไปปกคลุม
ครอบคลุมคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า
เราไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้
ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความผิด ทำแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้ว
จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้
ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความผิด ทำแต่ความเลว แน่นอน
คนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ร่ำไห้ทุบอกชกตัว ถึงความงุนงงหลงใหล.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อที่ ๓ นี้แลในปัจจุบัน.


[๔๗๒] ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล
ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องถึงสิ่งใดที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว เขาพึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละ.
ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรกกระทำการเปรียบเทียบกันได้ไม่ง่าย.


[๔๗๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบเทียบได้ไหม?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ อาจเปรียบได้ แล้วตรัสต่อไปว่า
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติผิด
มาแสดงแด่พระราชาว่า ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์
ขอพระองค์โปรดลงอาชญาที่ทรงพระราชประสงค์แก่มันเถิด
พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถิด
พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนี้ในเวลาเช้า
พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเช้า
ครั้นเวลากลางวัน พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า พ่อมหาจำเริญ บุรุษนั้นเป็นอย่างไร
พวกราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ยังมีชีวิตอยู่นั่นแหละพระเจ้าข้า
พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถิด
พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลากลางวัน
พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลากลางวัน
ครั้นเวลาเย็น พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า พ่อมหาจำเริญ บุรุษนั้นเป็นอย่างไร
พวกราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ยังมีชีวิตอยู่นั่นแหละพระเจ้าข้า
พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถิด
พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลาเย็น
พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเย็น
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม
พึงเสวยทุกข์โทมนัสเหตุที่ถูกแทงนั้นบ้างหรือหนอ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็เสวยทุกข์โทมนัสเพราะเหตุที่ถูกแทงนั้นได้
ป่วยการกล่าวถึงหอกตั้งสามร้อยเล่ม.


[๔๗๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบก้อนหินย่อม ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ
แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ก้อนหินย่อม ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้ กับภูเขาหลวงหิมพานต์
อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน?


ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก้อนหินย่อม ๆ
ขนาดเท่าฝ่ามือที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือนี้
มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว
ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.


ภ. ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
ทุกข์โทมนัสที่บุรุษถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ กำลังเสวยอยู่นั้น
เปรียบเทียบทุกข์ของนรก ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว
ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้.


[๔๗๕] ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้ลงโทษทรมาน
ที่ชื่อว่าปัญจวิธพันธนะ (การจองจำ ๕ แห่ง) แก่คนพาลนั้น
คือ ตรึงตะปูเหล็กร้อนแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒
และที่ทรวงอกตรงกลาง คนพาลนั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า
เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และจะไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.


ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้น ขึงพืดแล้วเอาขวานถาก
คนพาลนั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น
และจะไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.


ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้น
เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วถากด้วยพร้า
คนพาลนั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น
และจะไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.


ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะเอาคนพาลนั้น
เทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง
คนพาลนั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น
และจะไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.


ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้น
ปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง
คนพาลนั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น
และจะไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.


ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับคนพาลนั้น
เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วโยนลงไปในหม้อทองแดงที่ร้อน
มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเดือดเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น
เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง
พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง
ย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น
และจะไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.


ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนคนพาลนั้น ลงไปในมหานรก
ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งจัดไว้เป็นส่วน ๆ มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ
ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของมหานรกนั้น ล้วนแล้วด้วยเหล็ก ด้วยไฟลุกโพลง
โชติช่วง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ตั้งอยู่ตลอดกาล ทุกเมื่อ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเรื่องนรกแม้โดยอเนกปริยายแล
อนึ่ง ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรก เปรียบเทียบกันด้วยการบอกกล่าวไม่ง่าย


[๔๗๖] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษามีอยู่
สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นย่อมใช้ฟันและเล็มกินหญ้าสด
ก็เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษาคือเหล่าไหน?
คือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่มีหญ้าเป็นภักษา.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในกาลก่อนในโลกนี้
ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกันกับ
สัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น.


[๔๗๗] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษามีอยู่
สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกล ๆ แล้วย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า
จักกินตรงนี้ ๆ. เปรียบเหมือนพวกพราหมณ์เดินไปตามกลิ่นเครื่องบูชา
ด้วยตั้งใจว่า จักกินตรงนี้ ๆ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
มีเหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา
สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกล ๆ แล้ว ย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า
จักกินตรงนี้ ๆ. ก็เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษาเหล่าไหน?
คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่มีคูถเป็นภักษา.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในกาลก่อนในโลกนี้
ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกันกับ
สัตว์จำพวกที่มีคูถเป็นภักษาเหล่านั้น.


[๔๗๘] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในที่มืดมีอยู่
ก็เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในที่มืดคือเหล่าไหน?
คือ แมลง ผีเสื้อกลางคืน ไส้เดือน หรือแม้จำพวกอื่น ๆ
ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่เกิดแก่ตายในที่มืด
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในกาลก่อนในโลกนี้
ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกันกับ
สัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในที่มืด.


[๔๗๙] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในน้ำมีอยู่
ก็เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในน้ำคือเหล่าไหน?
คือ ปลา เต่า จระเข้ หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่เกิดแก่ตายในน้ำ.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในกาลก่อนในโลกนี้
ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกันกับ
สัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในน้ำ.


[๔๘๐] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครกมีอยู่
ก็เหล่าสัตว์เดรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครกคือเหล่าไหน?
คือ เหล่าสัตว์จำพวกที่เกิดแก่ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี
ในขนมกุมมาสเน่าก็มี ในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี
หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่เกิดแก่ตายในของโสโครก.
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในกาลก่อนในโลกนี้
ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมือตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกันกับ
สัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก.


ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเรื่องกำเนิดสัตว์เดรัจฉานแม้โดยอเนกปริยายแล
อนึ่ง ทุกข์นี้กับทุกข์ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เปรียบเทียบกันด้วยการบอกกล่าวไม่ง่าย.


[๔๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นที่มีรูเดียวไปในมหาสมุทร
ทุ่นนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก
ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก
ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้ ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือ
มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วงไปร้อยปีจึงจะดำขึ้นครั้งหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงสอดคอเข้าที่ทุ่นมีรูเดียวนั้นได้บ้างไหม?


ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์เจริญ
ถ้าจะเป็นไปได้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน.


ภ. ภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงสอดคอเข้าที่ทุ่นมีรูเดียวนั้นได้ยังจะเร็วกว่า
เรากล่าวการที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ความเป็นมนุษย์
ยังยากกว่านั้นเสียอีก. นั่นเพราะเหตุไร?
ภิกษุทั้งหลาย เพราะในวินิบาตนี้ไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ
การทำกุศล การทำบุญ มีแต่สัตว์นรกที่กินกันเอง
สัตว์นรกที่เบียดเบียนสัตว์นรกที่อ่อนแอ.


[๔๘๒] ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล
ถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว
ไม่ว่ากาลไหน ๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดใหม่ในสกุลต่ำ
คือ สกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานล่าเนื้อ หรือสกุลคนจักสาน
หรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะ อันเป็นสกุลคนจน
มีข้าวน้ำและโภชนาหารน้อย มีชีวิตเป็นไปลำบาก
ซึ่งเป็นสกุลที่จะได้ของกิน และเครื่องนุ่งห่มโดยฝืดเคือง
และเขาจะมีผิวพรรณทราม น่าเกลียดชัง ร่างม่อต้อ มีโรคมาก
เป็นคนตาบอดบ้าง เป็นคนง่อยบ้าง เป็นคนกระจอกบ้าง เป็นคนเปลี้ยบ้าง
ไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย
และเครื่องตามประทีป. คนพาลนั้นจะประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
คนพาลนั้น ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว
เมื่อตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.


[๔๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงพนัน ต้องเสียลูกบ้าง เสียเมียบ้าง
เสียสมบัติทุกอย่างบ้าง ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นต้องถึงถูกจองจำ
เพราะความเคราะห์ร้ายครั้งแรกเทียว
ภิกษุทั้งหลาย เคราะห์ร้ายที่นักเลงการพนันที่ต้องเสียลูกบ้าง เสียเมียบ้าง
เสียสมบัติทุกอย่างบ้าง ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นต้องถึงถูกจองจำ
เพราะความเคราะห์ร้ายครั้งแรกเทียว นั้นเป็นความเคราะห์ร้ายมีประมาณน้อย
ที่แท้แล ข้อที่คนพาลนั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้นั่นเอง
เป็นความเคราะห์ร้ายที่ใหญ่หลวงกว่าความเคราะห์ร้ายนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นภูมิของคนพาลครบถ้วนบริบูรณ์.


(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP