ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าพระสงฆ์ขออะไร เราจำเป็นต้องให้ทุกอย่างหรือไม่



ถาม - เคยได้ยินมาว่าถ้าพระสงฆ์ขออะไร แล้วเราไม่ให้
ถึงเวลาที่กรรมที่ไม่ให้ตามที่พระขอเกิดเผล็ดผลขึ้นมา ก็จะทำกิจการอะไรไม่ค่อยรุ่งเรือง
คำถามคือถ้าพระสงฆ์ขอให้เราปลูกต้นไม้
แต่เรามีปัญหาเรื่องหลังและเข่า ไม่สามารถนั่งยองๆ ได้ และไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง
ถ้าเราปฏิเสธจะได้รับผลกรรมอะไรไหมคะ



ลักษณะที่ท่านขอนี่นะ ถ้าหากว่าเอาตามแบบที่มีบันทึกในพระคัมภีร์เลย
อย่างถ้าสมมุติว่าท่านเห็นว่าเรากำลังหุงหาอาหารอยู่
แล้วท่านโคจรบิณฑบาตมา ในยุคพุทธกาล
มาหยุดยืนหน้าบ้านเพื่อที่จะขอภิกขาจาร
ด้วยความหวังว่าญาติโยมมีศรัทธาในพุทธศาสนา
แล้วจะเห็นค่าของพระภิกษุสงฆ์ผู้สืบทอดพระศาสนา
แล้วก็ได้เอาข้าวมาเลี้ยง อะไรแบบนี้
แล้วเราเห็นเข้าก็ไล่ให้ไปพ้นๆ คือเกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ
ฉันจะทำกินของฉันเองนะ ให้นิมนต์ไปป้ายหน้าเถอะ อะไรแบบนั้น
นี่ตรงนี้ ผลที่ออกมาตามที่พระคัมภีร์ว่าไว้
ก็คือทำให้เป็นผู้ที่อยากได้อะไรแล้วไม่ได้อย่างใจ
คือไม่ให้สิ่งที่ควรให้กับผู้ที่ควรได้รับนะครับ



อย่างพระสงฆ์นี่เขาเรียกว่าเป็นนาบุญ เป็นผู้ที่ทำกิจที่มีความสว่างไสว
แล้วก็ถ้าหากว่าให้กำลังแก่ท่าน ให้ท่านไปสืบทอดความดี
ความสว่าง ความงามของพระศาสนา ก็จะเป็นคุณใหญ่กับโลก
และเราอยู่ในขอบข่ายที่จะทำได้ ณ เวลานั้นแล้ว ท่านมาขอแล้ว
แต่เรากลับปฏิเสธ กลับบ่ายเบี่ยง ทั้งๆ ที่กำลังทำครัวอยู่ กำลังมีอาหารอยู่ในมือนั่นน่ะ
ท่านได้กลิ่นออกมาจากครัว เรากำลังทำอยู่ชัดๆ แต่เรากลับนิมนต์ให้ไปป้ายหน้าเสีย
อย่างนี้ก็ได้ผลเป็นการที่ไม่ได้ในสิ่งที่อยากจะได้นะครับ
ก็อันนั้นเป็นสิ่งที่มีมาในพระคัมภีร์



ทีนี้ถ้าอย่างกรณีอื่น เวลาพระสงฆ์ขอนะ ถ้าท่านขอในสิ่งที่ไม่ควรจะขอ
แล้วเราพิจารณาว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์อะไรกับพระศาสนา
ไม่ใช่เป็นเรื่องของสงฆ์โดยรวม แต่เป็นเหตุผลส่วนตัว อยากได้นั่นอยากได้นี่
ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้เลยนะ ผิดวินัยนะ
ถ้าหากว่าญาติโยมไม่ได้ปวารณาตัวไว้ว่าจะให้
ว่าขออะไรแล้วจะสนองตอบตามประสงค์
แล้วอยู่ๆ ไปขอเอาดื้อๆ ผิดพระวินัยนะ
ผลนี่มันไม่เท่าไหร่หรอก
ก็คือเหมือนกับเป็นคนขอส่วนตัว เรื่องส่วนตัว แบบโลกๆ
ขอนั่นหน่อย ขอนี่หน่อย แล้วเราไม่พร้อมที่จะให้ หรือว่าเราไม่สะดวกใจที่จะให้
ก็ไม่เป็นไร มันไม่ได้มีผลมากมายอะไร



อย่างกรณีที่เรามีปัญหาเรื่องหลังกับเรื่องเข่า เราก็บอกท่านไปตามตรงเลย
ว่าเรามีปัญหาเรื่องนี้อยู่ ไม่สะดวกที่จะทำให้ อย่าไปเกรงใจ
คือบางทีนี่คนไทยนะครับ คนที่ไม่เชื่อ ไม่นับถือพระสงฆ์องค์เจ้า
ก็เข้าขั้นไม่ชอบไปเลย หันหลังให้ไปเลย หรือว่าทำเชิดใส่ไปเลย
หรือมีปฏิกิริยาทางใจไม่ดี เป็นอคติกับพระสงฆ์องค์เจ้าไปเลย
ส่วนคนที่เชื่อก็เชื่อมากเกินไปนะ
เหมือนกับว่าท่านทำอะไรต้องเห็นดีเห็นงามตามไปหมด อะไรแบบนั้น



เอาที่ตรงกลางก็แล้วกัน ก็คือว่าพระสงฆ์บางทีท่านก็เป็นสมมุติสงฆ์นะ
แล้วก็ต่อให้ท่านปฏิบัติธรรมขั้นไหนก็แล้วแต่ เป็นพระดีปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วย
บางทีก็ไม่ใช่ว่าจะมีความคิดที่ถูกต้องเสมอไปนะครับ
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านก็อนุญาตแล้วก็สนับสนุนญาติโยมที่มาฟ้องด้วย
ว่าพระสงฆ์ทำอย่างนั้น พระสงฆ์ทำอย่างนี้ ไม่เหมาะกับสมณสารูปเลย
พระพุทธเจ้าพอได้ยินคำฟ้องจากญาติโยม
ถ้าเห็นว่า เออ นี่เป็นที่ติฉินนินทาของฆราวาสหรือที่เรียกว่าโลกวัชชะจริงๆ
ท่านบัญญัติวินัยเดี๋ยวนั้นเลยนะ ต่อให้เป็นพระอรหันต์นะ



อย่างเคยมีกรณีที่พระอรหันต์ท่านไปเทศนาธรรมกับเหล่าภิกษุณีจนกระทั่งโพล้เพล้
ชาวเมืองเห็น เอ๊ะ นี่ออกมาจากสำนักของภิกษุณี เวลานี้มันล่วงเย็นเข้าไปแล้วนี่
ก็รู้สึกไม่ดีกัน ก็ไปทูลพระพุทธเจ้าบอกว่า โอ เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดีเลย
พระพุทธเจ้าตรัสตำหนิทันทีเลยนะ บอกว่าแบบนี้เป็นสิ่งที่ชาวโลกเขาติเตียน
แล้วท่านก็บัญญัติห้ามทันทีว่า
ห้ามไม่ให้ภิกษุ แม้แต่จะเข้าไปหรือออกมาจากสถานที่ที่มีภิกษุณีอยู่
ต่อให้เป็นการไปเทศนาธรรม ก็ไม่มีการยกเว้นนะ ห้ามเด็ดขาด



ก็สรุปว่าไม่ใช่พระสงฆ์ขออะไรเราต้องให้หมด ไม่ใช่อย่างนั้น
แล้วอย่าไปกลัวบาปกลัวกรรมว่าเดี๋ยวจะทำให้เราไม่ได้รับอะไรที่ควรจะได้
มันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ เราให้ในสิ่งที่สมควรจะให้
แล้วปวารณาตัวต่อผู้ที่เราเห็นแล้วว่าท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
เราเห็นแล้วว่าใจของเรานี่ลงให้ท่าน ยอมรับท่าน
คือแม้แต่ผมเอง คือพระขออะไร ไม่ใช่ว่าให้หมดนะครับ
อย่างบางทีมาขอในสิ่งที่เรารู้เลยว่าอันนี้นี่กิเลสส่วนตัวนะ
ไม่ใช่จะเป็นประโยชน์แก่วงการสงฆ์ หรือว่าแม้แต่ตัวท่านเอง อะไรแบบนี้
ผมก็ปฏิเสธ ปฏิเสธบางทีด้วยอาการนิ่งไปเฉยๆ นั่นแหละนะ
แต่ถ้ารูปไหนบางทีถ้าไม่ได้ขอ เรารู้สึกว่า โอ้โห อยากทำให้ท่าน ก็เต็มที่เลยนะ
ก็ปวารณาตัว แล้วก็ถ้าปวารณาตัวไว้แล้วท่านขอขึ้นมา อันนี้แหละที่จะมีผล


พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้กับพระอานนท์บอกว่าพวกที่ค้าขายของได้กำไร
เพราะว่าในอดีตเคยไปปวารณาตัวไว้ กล่าวเหมือนกับอนุญาตให้ท่านขอ
แล้วพอท่านขอขึ้นมาก็จัดให้ตามประสงค์ของท่านทุกประการครบถ้วน
นี่พวกนี้จะค้าของได้กำไรตามใจนึกดังใจ
คือ คาดเก็งเอาไว้ว่าจะได้กำไรสักห้าสิบเปอร์เซ็นต์
มันก็จะได้ประมาณนั้น หย่อนไปก็สี่สิบหรือสูงกว่านั้นก็หกสิบ เจ็ดสิบ
แต่ถ้าท่านขอหนึ่ง เราให้สอง ท่านขอสอง เราให้สิบ อะไรแบบนี้
ก็จะมีผลเป็นว่า เก็งกำไรไว้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ มันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
เก็งกำไรไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันได้พันเปอร์เซ็นต์ อะไรทำนองนั้น นี่ที่ท่านตรัสไว้นะ
ส่วนประเภทที่ไปปวารณาตัวไว้ แล้วพอถึงเวลาท่านขอขึ้นมา เราไม่เอาไปให้
อย่างนี้ก็จะไม่ได้กำไรตามประสงค์หรือไม่ก็ขาดทุนไปเลยนะ



ก็เอาเป็นคร่าวๆ นะว่าอย่าไปกลัวบาปกลัวกรรมเสมอไปนะ
ประเภทที่ว่าท่านขออะไรต้องให้ทุกอย่าง
มันมีหลักการคร่าวๆ ก็คือว่า
หนึ่ง เราพิจารณาแล้วว่าควรให้
สอง คือเราไปปวารณาตัวไว้ก่อนหรือเปล่า
สองตัวนี้เป็นจุดหลักที่สำคัญนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP