จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กลั้นลมหายใจ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



235 destination



ในยุคโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนี้ เราย่อมจะได้พบคำแนะนำ
ในเรื่องวิธีการภาวนาในหลากหลายรูปแบบวิธีการนะครับ
เช่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งได้แนะนำให้ภาวนาด้วยการกลั้นลมหายใจ
โดยเขาเข้าใจว่ายิ่งกลั้นลมหายใจได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้มีสติมากยิ่งขึ้น
และเขาก็แนะนำให้คนอื่น ๆ ฝึกกลั้นลมหายใจบ่อย ๆ และให้กลั้นไว้นาน ๆ


เมื่อเราได้พบคำแนะนำวิธีการภาวนาใด ๆ ก็ตาม
แม้เราอาจจะรู้สึกว่ามันน่าจะดีก็ตาม เราไม่ควรรีบไปยึดถือมาทำนะครับ
แต่เราควรจะสอบทานอย่างรอบคอบก่อนว่าเป็นวิธีการ
ตามคำสอนของพระผู้มีพระเจ้าหรือไม่
ถ้ามันไม่ใช่วิธีการตามคำสอนของพระผู้มีพระเจ้าแล้ว
ก็ไม่พึงไปเสียเวลาทำครับ เพราะว่าเวลาชีวิตเรามีจำกัดมาก
พึงใช้เวลาภาวนาตามคำสอนของพระผู้มีพระเจ้าให้สมควรแก่ธรรม
จะคุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับชีวิตเรามากกว่า


ในเรื่องของวิธีการภาวนาโดยการกลั้นลมหายใจนี้
ไม่ได้อยู่ในพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านะครับ
โดยเรามาลองพิจารณาคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน หรือเรื่องอานาปานสติครับ
ในมหาสติปัฏฐานสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค) อานาปานบรรพ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน
เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ดังพรรณนามาฉะนี้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=6257&Z=6764&pagebreak=0


เราจะเห็นได้ว่าในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้กลั้นลมหายใจนะครับ
แต่ท่านทรงสอนให้มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
เปรียบเสมือนนายช่างกลึงที่เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว
เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น
ท่านไม่ได้สอนว่าให้นายช่างกลึงหยุดชักเชือกครับ


ในอานาปานสติสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร
ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี
อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก
ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก
ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้
ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=3924&Z=4181&pagebreak=0


เราจะเห็นได้ว่าในอานาปานสติสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ได้ทรงสอนให้กลั้นลมหายใจเช่นกัน
แต่ท่านทรงสอนให้มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
หรือสำเหนียกอยู่ดังที่กล่าวข้างต้นในเวลาที่หายใจออก หรือหายใจเข้านั้น


ดังนั้นแล้ว เรื่องการภาวนาโดยการกลั้นลมหายใจนั้น
ไม่ใช่วิธีการภาวนาตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ในทางกลับกัน วิธีการภาวนาโดยการกลั้นลมหายใจนี้
พระโพธิสัตว์ได้เคยทำมาก่อนแล้ว และพบว่าไม่ใช่หนทางตรัสรู้
แต่เป็นเพียงวิธีการบำเพ็ญทุกกรกิริยาเท่านั้น
โดยในมหาสัจจกสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้เล่าเรื่องที่พระโพธิ์สัตว์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยาว่า


“ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด
เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากและทางจมูก
เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากและทางจมูก
ลมก็ออกทางช่องหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ เหมือนเสียงสูบช่างทองที่เขาสูบอยู่ ฉะนั้น
ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน
แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่
แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้


ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด
เรากลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู
เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู
ลมเป็นอันมากก็เสียดแทงศีรษะ เหมือนบุรุษที่มีกำลัง เอามีดโกนที่คมเชือดศีรษะ ฉะนั้น
ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนมีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่
แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้


ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด
เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
เมื่อกลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะเป็นอันมากเหมือนบุรุษที่มีกำลังเอาเชือกหนังอันมั่นรัดเข้าที่ศีรษะ
ฉะนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนมีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่
แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้


ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด
เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
เมื่อกลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
ก็มีลมเป็นอันมากบาดท้อง เหมือนนายโคฆาต หรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด
เอามีดสำหรับแล่โคที่คมเถือแล่ท้อง ฉะนั้น
ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
แต่มีกายกระวนกระวายไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่
แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้


ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด
เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
เมื่อเรากลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู
ก็มีความเร่าร้อนในร่างกายเป็นอันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลัง ๒ คนช่วยกัน
จับบุรุษคนหนึ่งที่มีกำลังน้อยกว่า ที่แขนทั้ง ๒ ข้างแล้ว ให้เร่าร้อน อบอ้าวอยู่
ใกล้หลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
มีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้
มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=7552&w=%A1%C5%D1%E9%B9%C5%C1%CB%D2%C2%E3%A8


ดังนี้แล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่าวิธีการกลั้นลมหายใจนี้
เป็นเพียงวิธีการบำเพ็ญทุกรกิริยาเท่านั้น
ไม่ใช่วิธีการภาวนาเพื่อการตรัสรู้ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP