ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ภูมิชสูตร ว่าด้วยทรงแสดงธรรมแก่พระภูมิชะ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน
อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ท่านพระภูมิชะ นุ่งสบง ถือบาตรและจีวร
แล้วเข้าไปยังวังของชัยเสนราชกุมาร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้
ต่อนั้น ชัยเสนราชกุมารเข้าไปหาท่านพระภูมิชะแล้ว
ได้ตรัสทักทายปราศรัยกับท่านพระภูมิชะ
ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


[๔๐๖] ชัยเสนราชกุมารประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้รับสั่งกะท่านพระภูมิชะดังนี้ว่า
ข้าแต่ท่านภูมิชะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ถ้าแม้บุคคลทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ในเรื่องนี้ ศาสดาของท่านภูมิชะมีวาทะอย่างไร มีความเห็นอย่างไร บอกไว้อย่างไร


[๔๐๗] ท่านภูมิชะกล่าวว่า พระราชกุมาร
เรื่องนี้อาตมภาพมิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย
แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือ
ถ้าแม้บุคคลทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
แต่ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย
เขาก็จะสามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย
เขาก็จะสามารถบรรลุผล
พระราชกุมาร เรื่องนี้อาตมภาพมิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย
แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้แล.


ชัยเสน. ถ้าศาสดาของท่านภูมิชะมีวาทะอย่างนี้
มีความเห็นอย่างนี้ บอกไว้อย่างนี้ ศาสดาของท่านภูมิชะ
ชะรอยจะดำรงอยู่เหนือหัวของสมณพราหมณ์จำนวนมากทั้งมวลโดยแท้.
ต่อนั้น ชัยเสนราชกุมารทรงอังคาสท่านพระภูมิชะ
ด้วยอาหารในถาดอันเป็นอาหารส่วนพระองค์.


[๔๐๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระภูมิชะกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังเวลาฉันภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอกราบทูลให้ทรงทราบ
เมื่อเช้านี้ข้าพระองค์นุ่งสบง ถือบาตรและจีวร แล้วเข้าไปยังวังของชัยเสนราชกุมาร
แล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ต่อนั้น ชัยเสนราชกุมารได้เข้ามาหาข้าพระองค์
แล้วได้ตรัสทักทายปราศรัยกับข้าพระองค์
ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
ได้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้รับสั่งกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านภูมิชะ
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ถ้าแม้บุคคลทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ในเรื่องนี้ ศาสดาของท่านภูมิชะมีวาทะอย่างไร มีความเห็นอย่างไร บอกไว้อย่างไร.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระราชกุมารรับสั่งแล้วอย่างนี้
ข้าพระองค์ได้กล่าวกะชัยเสนราชกุมารอย่างนี้ว่า
พระราชกุมาร เรื่องนี้อาตมภาพมิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย
แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แลคือ
ถ้าแม้บุคคลทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
แต่ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย เขาก็จะสามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย
เขาก็จะสามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย
เขาก็จะสามารถบรรลุผล
พระราชกุมาร เรื่องนี้อาตมภาพมิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย
แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้แล.
ชัยเสนราชกุมารรับสั่งว่า ถ้าศาสดาของท่านภูมิชะมีวาทะอย่างนี้
มีความเห็นอย่างนี้ บอกไว้อย่างนี้ ศาสดาของท่านภูมิชะ
ชะรอยจะดำรงอยู่เหนือหัวของสมณพราหมณ์จำนวนมากทั้งมวลโดยแท้.
ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนี้
จะเป็นผู้กล่าวตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำไม่จริง
พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรมและวาทะ อนุวาทะไร ๆ อันชอบด้วยเหตุ
จะไม่ถึงฐานะน่าตำหนิ ใช่ไหมพระเจ้าข้า.


[๔๐๙] ภ. ภูมิชะ เหมาะแล้ว เธอถูกถามอย่างนี้ เมื่อพยากรณ์อย่างนี้
ย่อมเป็นผู้กล่าวตามถ้อยคำของเรา ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง
พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรมและวาทะ อนุวาทะไร ๆ อันชอบด้วยเหตุ
ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิ.
ภูมิชะ ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฐิฏผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด
มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย.


[๔๑๐] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน แสวงหาน้ำมัน
จึงเที่ยวเสาะหาน้ำมัน เกลี่ยทรายลงในรางแล้ว เอาน้ำพรมไป ๆ แล้วคั้นเอา
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วเกลี่ยทรายลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ แล้วคั้นเอา
เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วเกลี่ยทรายลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ แล้วคั้นเอา
เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วเกลี่ยทรายลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ
แล้วคั้นเอา เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน
ถ้าทำความหวังก็มิใช่ความไม่หวังก็มิใช่แล้วเกลี่ยทรายลงในราง
เอาน้ำพรมไป ๆ แล้วคั้นเอา เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน
นั่นเพราะเหตุไร ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะได้น้ำมันโดยวิธีไม่แยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด
มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย.


[๔๑๑] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการนมสด แสวงหานมสด
จึงเที่ยวเสาะหานมสด แต่รีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน
เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ความไม่หวังก็มิใช่แล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน
เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด นั่นเพราะเหตุไร ภูมิชะ
เพราะเขาไม่สามารถจะได้นมสดโดยวิธีไม่แยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด
มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย.


[๔๑๒] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการเนยข้น แสวงหาเนยข้น
จึงเที่ยวเสาะหาเนยข้น ใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น เขาก็ไม่สามารถจะได้เนยข้น
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น เขาก็ไม่สามารถจะได้เนยข้น
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น
เขาก็ไม่สามารถจะได้เนยข้น
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วใส่น้ำลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น
เขาก็ไม่สามารถจะได้เนยข้น นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะได้เนยข้นโดยวิธีไม่แยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด
มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย.


[๔๑๓] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการไฟ แสวงหาไฟ จึงเที่ยวเสาะหาไฟ
เอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วเอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป เขาก็ไม่สามารถจะได้ไฟ
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วเอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป เขาก็ไม่สามารถจะได้ไฟ
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วเอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป
เขาก็ไม่สามารถจะได้ไฟ
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วเอาไม้สดที่มียางมาทำไม้สีไฟ สีกันไป
เขาก็ไม่สามารถจะได้ไฟ นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะได้ไฟโดยวิธีไม่แยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้น เหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด
มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย.


[๔๑๔] ภูมิชะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิชอบ มีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ
มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถบรรลุผลได้โดยอุบายแยบคาย.


[๔๑๕] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน แสวงหาน้ำมัน
จึงเที่ยวเสาะหาน้ำมัน เกลี่ยแป้งงา (บดงาเป็นแป้ง) ลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ คั้นไป ๆ
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วเกลี่ยแป้งงาลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ
คั้นไป ๆ เขาก็สามารถได้น้ำมัน
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วเกลี่ยแป้งงาลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ
คั้นไป ๆ เขาก็สามารถได้น้ำมัน
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วเกลี่ยแป้งงาลงในราง เอาน้ำพรมไป ๆ
คั้นไป ๆ เขาก็สามารถได้น้ำมัน
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วเกลี่ยแป้งงาลงในราง
เอาน้ำพรมไป ๆ คั้นไป ๆ เขาก็สามารถได้น้ำมัน นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถได้น้ำมันโดยวิธีแยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิชอบ มีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ
มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถบรรลุผลได้โดยอุบายแยบคาย.


[๔๑๖] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการนมสด แสวงหานมสด
จึงเที่ยวเสาะหานมสด รีดเอาจากเต้านมแม่โคลูกอ่อน
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วรีดเอาจากเต้านมแม่โคลูกอ่อน เขาก็สามารถได้นมสด
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วรีดเอาจากเต้านมแม่โคลูกอ่อน เขาก็สามารถได้นมสด
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วรีดเอาจากเต้านมแม่โคลูกอ่อน
เขาก็สามารถได้นมสด
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วรีดเอาจากเต้านมแม่โคลูกอ่อน
เขาก็สามารถได้นมสด นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถได้นมสดโดยวิธีแยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิชอบ มีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ
มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถบรรลุผลได้โดยอุบายแยบคาย.


[๔๑๗] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการเนยข้น แสวงหาเนยข้น
จึงเที่ยวเสาะหาเนยข้น ใส่นมส้มลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วใส่นมส้มลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น เขาก็สามารถได้เนยข้น
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วใส่นมส้มลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น เขาก็สามารถได้เนยข้น
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วใส่นมส้มลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น
เขาก็สามารถได้เนยข้น
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วใส่นมส้มลงในอ่าง คนเข้ากับนมข้น
เขาก็สามารถได้เนยข้น นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถได้เนยข้นโดยวิธีแยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิชอบ มีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ
มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถบรรลุผลได้โดยอุบายแยบคาย.


[๔๑๘] ภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการไฟ แสวงหาไฟ
จึงเที่ยวเสาะหาไฟ เอาไม้แห้งเกราะมาทำไม้สีไฟ สีกันไป
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วเอาไม้แห้งเกราะมาทำไม้สีไฟ สีกันไป เขาก็สามารถได้ไฟ
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วเอาไม้แห้งเกราะมาทำไม้สีไฟ สีกันไป เขาก็สามารถได้ไฟ
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วเอาไม้แห้งเกราะมาทำไม้สีไฟ
สีกันไป เขาก็สามารถได้ไฟ
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วเอาไม้แห้งเกราะมาทำไม้สีไฟ
สีกันไป เขาก็สามารถได้ไฟ นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถได้ไฟโดยวิธีแยบคาย ฉันใด
ภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง
ที่มีทิฏฐิชอบ มีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ
มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ
ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์
เขาก็สามารถบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร
ภูมิชะ เพราะเขาสามารถบรรลุผลได้โดยอุบายแยบคาย.


[๔๑๙] ภูมิชะ ถ้าเธอพึงทำอุปมา ๔ ข้อนี้ให้แจ่มแจ้งแก่ชัยเสนราชกุมารไซร้
ข้อที่ชัยเสนราชกุมารพึงเลื่อมใสเธอ และครั้นเลื่อมใสแล้ว
พึงทำอาการของบุคคลผู้เลื่อมใสต่อเธอ ไม่น่าแปลกใจเลย.
ท่านพระภูมิชะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์จักทำอุปมา ๔ ข้อนี้
ที่ไม่น่าอัศจรรย์ (ง่าย ๆ, ตื้น ๆ) ที่ข้าพระองค์ไม่เคยสดับมาก่อน
ให้แจ่มแจ้งแก่ชัยเสนราชกุมารเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แต่ที่ไหน.


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ท่านพระภูมิชะได้ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.


ภูมิชสูตร จบ



(ภูมิชสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๓)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP