ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

มหาสุญญตสูตร ว่าด้วยความว่าง สูตรใหญ่


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๓๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม
เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในแคว้นสักกะ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งสบง ทรงถือบาตรและจีวรแล้ว
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ในเวลาเช้า
ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว
จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ เพื่อทรงพักอิริยาบถในเวลากลางวัน
ก็ในสมัยนั้น ในวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ มีเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกันแล้ว
จึงมีพระดำริดังนี้ว่า ในวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ
เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน ที่นี่มีภิกษุอยู่มากมายหรือหนอ.


[๓๔๔] สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์กับภิกษุหลายรูป
ทำจีวรกรรมอยู่ในวิหารของเจ้าฆฏายศากยะ
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้นอยู่แล้ว
จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายศากยะ ประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้
พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า
อานนท์ ในวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน
ที่นั่นมีภิกษุอยู่มากมายหรือ?
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ
เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มาก ที่นั่นมีภิกษุอยู่มากมาย พระเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จีวรกาลสมัยของพวกข้าพระองค์กำลังดำเนินอยู่.


[๓๔๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน
ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความยินดีในการคลุกคลีกัน
ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย
อานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความยินดีในการคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ จักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด
สุขเกิดแต่ความสงบระงับ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
พึงหวังเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขเกิดแค่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด
สุขเกิดแต่ความสงบระงับ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้.


อานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความยินดีในการคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ
จักบรรลุเจโตวิมุตติซึ่งเกิดขึ้นตามสมัยที่น่ายินดี
หรือเจโตวิมุตติซึ่งมิได้เกิดขึ้นตามสมัยที่ไม่กำเริบ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
พึงหวังบรรลุเจโตวิมุตติซึ่งเกิดขึ้นตามสมัยที่น่ายินดี
หรือเจโตวิมุตติซึ่งมิได้เกิดขึ้นตามสมัยที่ไม่กำเริบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้.


อานนท์ เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้รูปอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ไม่เกิดโสกะ
ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส เพราะความแปรปรวน
และความเป็นอย่างอื่นของรูปที่บุคคลกำหนัดแล้ว ตามที่เขากำหนัดกันอย่างยิ่ง.


[๓๔๖] อานนท์ ก็วิหารธรรมนี้แลอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้น คือ
ตถาคตเข้าถึงสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่
อานนท์ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา
เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ เข้าไปหาตถาคตนั้น ผู้มีจำแนกธรรม
ผู้อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ อานนท์ ในท่ามกลางบริษัทนั้น ตถาคตมีจิตน้อมไปในวิเวก
โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกมักมะ
สิ้นสุดจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง
ย่อมเป็นผู้ทำการเจรจาที่เชิญให้กลับเท่านั้นโดยแท้
อานนท์ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุถ้าแม้หวังว่า เราจะเข้าถึงสุญญตสมาบัติภายในอยู่
ภิกษุนั้นพึงดำรงจิต พึงทำจิตให้สงบ พึงทำจิตให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
พึงตั้งจิตให้มั่นไว้ในภายในเท่านั้น.



ว่าด้วยสัมปชัญญะ

[๓๔๗] อานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิต จะทำจิตให้สงบ
จะทำจิตให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น จะตั้งจิตให้มั่นไว้ในภายในเท่านั้น ได้อย่างไร?
อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาณ มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปีติคลายไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ได้
และโสมนัสโทมนัสดับสนิทในก่อน อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่.
อานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน ทำจิตให้สงบ
ทำจิตให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตให้มั่นไว้ในภายในเท่านั้น.
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความวางภายใน เมื่อเธอใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเราใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในความว่างภายในนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก เมื่อเธอใส่ใจความว่างภายนอก
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในความว่างภายนอก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเราใส่ใจความว่างภายนอก
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในความว่างภายนอก
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในความว่างภายนอกนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก
เมื่อเธอใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอกจิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส
ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในความว่างทั้งภายในและภายนอก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเราใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอกจิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส
ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในความว่างทั้งภายในและภายนอก
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในความว่างทั้งภายในและภายนอกนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเราใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในอาเนญชสมาบัตินั้นได้.


อานนท์ ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้นพึงดำรงจิต พึงทำจิตใจให้สงบ
พึงทำจิตให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงตั้งจิตให้มั่นไว้ในภายในเท่านั้น

ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล เธอย่อมใส่ใจความว่างภายใน
เมื่อเธอใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป
เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเราใส่ใจความว่างภายใน
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในความว่างภายในนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก เมื่อเธอใส่ใจความว่างภายนอก
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างภายนอก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเราใส่ใจความว่างภายนอก
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างภายนอก
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในความว่างภายนอกนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก
เมื่อเธอใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก จิตย่อมแล่นไป
เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างทั้งภายในและภายนอก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเราใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างทั้งภายในและภายนอก
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในความว่างทั้งภายในและภายนอกนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเราใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในอาเนญชสมาบัตินั้นได้


[๓๔๘] อานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม
เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในการจงกรมนั้น
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะยืน
เธอย่อมยืนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในการยืนนั้น
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนั่ง
เธอย่อมนั่งด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้นั่งอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในการนั่งนั้น
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน
เธอย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในการนอนนั้น
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด
เธอย่อมมีสัมปชัญญะในการพูดนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ว่า
เราจักไม่พูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน
เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร
เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบกัน เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า
เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องถนนหนทาง
เรื่องทาสีในสถานที่ตักน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก
เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยเหตุนั้นเหตุนี้
และเธอมีสัมปชัญญะในการพูดนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ว่า
เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง
เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องสันโดษ เรื่องความสงัด
เรื่องความไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ
เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก
เธอย่อมมีสัมปชัญญะในการตรึกนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ว่า
เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ กามวิตก พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก และเธอย่อมมีสัมปชัญญะในการตรึกนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ว่า
เราจักตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกของที่ไกลจากข้าศึก
เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม
คือ เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก.


[๓๔๙] อานนท์ กามคุณนี้มี ๕ อย่างแล. ๕ อย่างเป็นไฉน?
คือ รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก
ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
เสียงที่รู้ด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก
ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก
ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก
ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก
ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
อานนท์ นี้แลคือ กามคุณ ๕ อย่าง
ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแล
ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา
เพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
อานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า มีอยู่แล
ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้
แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา
เพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล
เราละได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในกามคุณ ๕ นั้น


[๓๕๐] อานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล
ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า
อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อเธอพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่
ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว
ด้วยอาการนี้แล เธอย่อมมีสัมปชัญญะในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น.


อานนท์ ธรรมนั้น ๆ เหล่านี้แล เนื่องมาแต่กุศลส่วนเดียว
ไกลจากข้าศึก เป็นโลกุตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้
อานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรใกล้ชิดติดตามศาสดา?
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์

มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเหตุ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบอย่าง
มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย ขอประทานโอกาสพระเจ้าข้า
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้.



อุปัทวะ ๓ อย่าง

[๓๕๑] อานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตะเคยยะ
และไวยากรณ์เลย. นั่นเพราะเหตุไร?
เพราะธรรมทั้งหลายที่พวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว
เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น เป็นเวลานาน
อานนท์ แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดาเพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส
เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ
เรื่องมักน้อย เรื่องสันโดษ เรื่องความสงัด เรื่องความไม่คลุกคลี
เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา
เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
อานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของอาจารย์ย่อมมีได้
อุปัทวะของศิษย์ย่อมมีได้ อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้.


[๓๕๒] อานนท์ ก็อุปัทวะของอาจารย์ย่อมมีได้อย่างไร?
อานนท์ ศาสดาบางคนในโลกนี้ ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ

ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง
เมื่อศาสดานั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดี
ผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา
เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว
ศาสดานั้นจะยินดีพอใจความหมกมุ่น จะถึงความละโมบ
จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
อานนท์ ศาสดานี้เรียกว่า อาจารย์มีอุปัทวะด้วยอุปัทวะของอาจารย์
อกุศลธรรมอันลามก อันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว
อานนท์ อุปัทวะของอาจารย์ย่อมมีได้อย่างนี้แล.


[๓๕๓] อานนท์ ก็อุปัทวะของศิษย์ย่อมมีได้อย่างไร?
อานนท์ สาวกของศาสดานั้นนั่นแหละ เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามศาสดานั้น
ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา
ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น
พวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา
เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว
สาวกนั้นจะยินดีพอใจความหมกมุ่น จะถึงความละโมบ
จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
อานนท์ สาวกนี้เรียกว่าศิษย์มีอุปัทวะด้วยอุปัทวะของศิษย์
อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว
อานนท์ อุปัทวะของศิษย์ย่อมมีได้อย่างนี้แล.


[๓๕๔] อานนท์ ก็อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้อย่างไร?
อานนท์ ตถาคตอุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้
เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม
ตถาคตนั้นย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา
ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และล้อมฟาง
เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น
พวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา
เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว
ตถาคตนั้นย่อมไม่ยินดีพอใจความหมกมุ่น ไม่ถึงความละโมบ
ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
อานนท์ ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั้นแล
เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามคถาคตผู้ศาสดา ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ
ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง
เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น
พวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา
เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดีผู้เป็นชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว
สาวกนั้นจะยินดีพอใจความหมกมุ่น จะถึงความละโมบ
จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
อานนท์ สาวกนี้เรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัทวะ
ด้วยอุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์
อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว
อานนท์ อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้อย่างนี้แล.


อานนท์ ในอุปัทวะทั้ง ๓ นั้น อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้
มีวิบากเป็นทุกข์ยิ่งกว่า มีวิบากเผ็ดร้อนยิ่งกว่า
อุปัทวะของอาจารย์ และอุปัทวะของศิษย์ ทั้งเป็นไปเพื่อความตกต่ำด้วย
อานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงประพฤติต่อเราด้วยแนวปฏิบัติของมิตร
อย่าประพฤติต่อเราด้วยแนวปฏิบัติของข้าศึก
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน.


[๓๕๕] อานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยแนวปฏิบัติของข้าศึก
ไม่ใช่ด้วยแนวปฏิบัติของมิตรอย่างไร?
อานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ มุ่งประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า
นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ
เหล่าสาวกของศาสดานั้น ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้
และประพฤติก้าวล่วงคำสอนของศาสดา
อานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยแนวปฏิบัติของข้าศึก
ไม่ใช่ด้วยแนวปฏิบัติของมิตร.


[๓๕๖] อานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยแนวปฏิบัติของมิตร
ไม่ใช่ด้วยแนวปฏิบัติของข้าศึกอย่างไร?
อานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ มุ่งประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า
นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ
เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้
และไม่ประพฤติก้าวล่วงคำสอนของศาสดา
อานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยแนวปฏิบัติของมิตร
ไม่ใช่ด้วยแนวปฏิบัติของข้าศึก.


อานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงประพฤติต่อเราด้วยแนวปฏิบัติของมิตร
อย่าประพฤติต่อเราด้วยแนวปฏิบัติของข้าศึก
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน.
อานนท์ เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอ
เหมือนช่างหม้อประคับประคองภาชนะดินดิบ และดินดิบที่ยังไม่แห้ง
เราจักข่มแล้ว ๆ จึงบอก จักชำระแล้ว ๆ จึงบอก ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจักดำรงอยู่ได้.


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.


มหาสุญญตสูตร จบ



(มหาสุญญตสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๓)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP