จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ธรรมคุ้มครองโลก


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



231 destination



ในคราวนี้ เรามาสนทนากันในเรื่อง “ธรรมคุ้มครองโลก” กันนะครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของ
ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายว่า
ธรรมคุ้มครองโลก (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โลกบาลธรรม”) คือ
ธรรมที่ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม
และให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย ประกอบด้วย
๑. “หิริ” คือ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว และ
๒. “โอตตัปปะ” คือ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E2%C5%A1%BA%D2%C5%B8%C3%C3%C1



เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “หิริ” และ “โอตตัปปะ” เป็นธรรมคุ้มครองโลกนั้น
ใน “ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์” ได้อธิบายว่า
ธรรม ๒ อย่างนี้ คือ หิริ และโอตตัปปะย่อมคุ้มครองโลก
ถ้าไม่มีธรรม ๒ อย่างนี้คุ้มครองโลกแล้ว
ใคร ๆ ในโลกนี้จะไม่พึงบัญญัติว่ามารดา ว่าน้า ว่าป้า
ว่าภรรยาของอาจารย์ หรือว่าภรรยาของครู โลกจักถึงความสำส่อนกัน
เหมือนกับพวกแพะ พวกแกะ พวกไก่ พวกหมู พวกสุนัขบ้าน และพวกสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ซึ่งก็เพราะธรรม ๒ อย่างนี้ยังคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้น โลกจึงบัญญัติคำว่ามารดา
ว่าน้า ว่าป้า ว่าภรรยาของอาจารย์ หรือว่าภรรยาของครูอยู่
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=20&A=1267&w=%E2%CD%B5%B5%D1%BB%BB%D0


ตัวอย่างเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหิริ และโอตตัปปะนั้น
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีก้อนเหล็ก ๒ ก้อน
เหล็กก้อนหนึ่งเย็นแต่เปื้อนอุจจาระ
ส่วนเหล็กอีกก้อนหนึ่งร้อนจัดสัมผัสไฟลุกโพลง
คนฉลาดรังเกียจก้อนเหล็กที่เย็นแต่เปื้อนอุจจาระ จึงไม่จับ
เปรียบเสมือนความละอายในการทำชั่ว
ส่วนคนฉลาดรังเกียจก้อนเหล็กร้อนจัดสัมผัสไฟลุกโพลง เพราะกลัวความร้อน
เปรียบเสมือนความเกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว


นอกจากจะเป็นธรรมคุ้มครองโลกแล้ว
หิริ และโอตตัปปะยังเป็นธรรมที่สำคัญในเรื่องอื่น ๆ เช่น
หิริ และโอตตัปปะ เป็นส่วนหนึ่งของธรรม ๕ ประการ
ได้แก่ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญา
ซึ่งใน “สังขิตตสูตร” และ “วิตถตสูตร” กล่าวว่า
ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นพละหรือกำลังของเสขบุคคล
(หมายถึงบุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ คือยังไม่บรรลุพระอรหันต์)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=1&Z=19&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=20&Z=45&pagebreak=0


ใน “ทุกขสูตร” กล่าวว่า ภิกษุผู้ปราศจากธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน
เมื่อแตกกายตายไป พึงหวังได้ทุคติ
ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน
ไม่คับแค้น ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไป พึงหวังได้สุคติ
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=46&Z=59&pagebreak=0


ใน “ภตสูตร” กล่าวว่า ภิกษุผู้ปราศจากธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมถูกนำมาทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทิ้งไว้
ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญมาไว้บนสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาวางไว้
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=60&Z=71&pagebreak=0


ใน “สิกขสูตร” กล่าวว่า ภิกษุผู้ปราศจากธรรม ๕ ประการนี้
ลาสิกขาสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ย่อมถึงฐานะอันน่าติเตียน
ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญที่ชอบ
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=72&Z=87&pagebreak=0


ใน “จวนสูตร” กล่าวว่า ภิกษุผู้ปราศจากธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเคลื่อน และไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม
ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมไม่เคลื่อน และย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=126&Z=138&pagebreak=0


ใน “อคารวสูตร” กล่าวว่า ภิกษุผู้ปราศจากธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=155&Z=180&pagebreak=0


นอกจากหิริ และโอตตัปปะ เป็นส่วนหนึ่งของธรรม ๕ ประการที่กล่าวแล้ว
หิริ และโอตตัปปะ เป็นส่วนหนึ่งของสัปปุริสธรรม ๗ ประการ
หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษหรือธรรมของคนดี อันประกอบด้วย
ศรัทธา หิริ โอตตัปปะความเป็นเป็นพหูสูต วิริยะ สติ ปัญญา
(ดังที่กล่าวใน “เสขปฏิปทาสูตร”)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=480&Z=659&pagebreak=0


หิริ และโอตตัปปะ ยังเป็นส่วนหนึ่งของอริยทรัพย์ ๗ ประการ
ซึ่งเป็นทรัพย์อันประเสริฐ โดยโจรหรือใคร ๆ ก็แย่งชิงไปไม่ได้
เมื่อมีอริยทรัพย์นั้นแล้ว บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน
ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วย
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา (ดังที่กล่าวใน “ธนสูตร”)
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=23&item=6&items=1&preline=0&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%C3%D4%C2%B7%C3%D1%BE%C2%EC_%F7


นอกจากหิริและโอตตัปปะจะเป็นธรรมที่มีคุณประโยชน์มากดังที่กล่าวแล้ว
ในส่วนของการภาวนานั้น หิริและโอตตัปปะก็เป็นธรรมที่สำคัญในการภาวนา
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนใน “หิริสูตร” ว่า
เมื่อมีหิริและโอตตัปปะสมบูรณ์ อินทรีย์สังวรย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย
เมื่อมีอินทรีย์สังวรสมบูรณ์ ศีลย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย
เมื่อมีศีลสมบูรณ์ สัมมาสมาธิย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย
เมื่อมีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ยถาภูตญาณทัสสนะย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย
เมื่อมียถาภูตญาณทัสสนะสมบูรณ์ นิพพิทาและวิราคะย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย
เมื่อมีนิพพิทาและวิราคะสมบูรณ์ วิมุตติญาณทัสสนะย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย
เปรียบเหมือนต้นไม้สมบูรณ์ด้วยกิ่งและใบ แม้กะเทาะก็ดี เปลือกก็ดี กระพี้ก็ดี
แก่นก็ดี ของต้นไม้นั้น ย่อมถึงความสมบูรณ์ ฉะนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/_mcu/v.php?B=23&A=2139&Z=2161&pagebreak=0


ทีนี้ เรามาพิจารณากันต่อไปว่า เราจะสร้างหิริ และโอตตัปปะให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ใน “อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์” อธิบายว่าบุคคลสามารถยังหิริให้เกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุพิจารณาถึงชาติ วัย ความเป็นผู้กล้า และความเป็นพหูสูต กล่าวคือ
บุคคลพิจารณาถึงชาติอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการกระทำความชั่วนี้
ไม่ใช่สมควรแก่บุคคลสมบูรณ์ด้วยชาติดังเช่นเรา
บุคคลผู้พิจารณาถึงวัยอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการทำบาปนี้
ไม่สมควรแก่ผู้ดำรงอยู่ในวัยดังเช่นเรา
บุคคลพิจารณาถึงความเป็นผู้กล้าอย่างนี้ว่า
ขึ้นชื่อว่าการทำบาปนี้เป็นการทำของบุคคลผู้อ่อนแอ
ไม่สมควรแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยความกล้าดังเช่นเรา
บุคคลพิจารณาถึงความเป็นพหูสูตอย่างนี้ว่า
ขึ้นชื่อว่าการทำบาปนี้เป็นการกระทำของบุคคลอันธพาลไม่ใช่ของบัณฑิต
ไม่สมควรแก่บุคคลผู้เป็นพหูสูตผู้เป็นบัณฑิตดังเช่นเรา


หรืออีกอย่างหนึ่ง บุคคลสามารถยังหิริให้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุ ๔ ได้แก่
พิจารณาถึงชาติ เช่น เห็นว่าตนเองเป็นภิกษุ หรือเป็นมนุษย์ เป็นต้น
พิจารณาถึงศาสดา เช่น ไม่ก้าวล่วงในคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นต้น
พิจารณาถึงความเป็นทายาท เช่น เห็นว่าตนเองเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นต้น
พิจารณาถึงเพื่อนพรหมจารี เช่น ระลึกถึงเพื่อนพรหมจารีคนอื่น เป็นต้น


บุคคลสามารถยังโอตตัปปะให้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุ ๔ ประการคือ
ภัยเกิดแต่การติเตียนตนเอง คือเกรงกลัวการติเตียนตนเอง
ภัยเกิดแต่การติเตียนแต่ผู้อื่น คือเกรงกลัวการติเตียนของผู้อื่น
(ผู้อื่นในที่นี้ รวมทั้งเหล่าเทพเทวดาด้วย)
ภัยเกิดแต่อาชญา คือเกรงกลัวโทษแห่งกฎหมาย
ภัยแต่ทุคติ คือเกรงกลัวโทษแห่งอบายภูมิ
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34&i=16&p=3


อีกทางหนึ่ง สำหรับท่านที่เจริญสติเป็นนั้น
การเจริญสติย่อมสามารถสร้างหิริ และโอตตัปปะให้เกิดขึ้นได้
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนใน “สติสูตร” ว่า
เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่สมบูรณ์ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่สมบูรณ์ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่สมบูรณ์ ศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อศีลมีอยู่สมบูรณ์ สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่สมบูรณ์ ยถาภูตญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อยถาภูตญาณทัสนะมีอยู่สมบูรณ์ นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่สมบูรณ์ วิมุตติญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์
แม้เปลือก แม้กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ ฉะนั้น
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=7143&Z=7168&pagebreak=0


สรุปแล้ว หิริและโอตตัปปะสมบูรณ์เป็นธรรมที่สำคัญ
โดยนอกจากจะเป็นธรรมคุ้มครองโลกแล้ว
ยังเป็นธรรมที่อำนวยประโยชน์ในหลายประการ
และเป็นธรรมที่สำคัญในการภาวนาด้วยดังที่กล่าวแล้ว



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP