จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุยเรื่องฆ่าตัวตาย


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



229 destination



เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
มีข่าวของอดีตข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
โดยท่านได้ไปกระโดดตึกฆ่าตัวตายที่ห้างสรรสินค้าแห่งหนึ่ง
ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องของการฆ่าตัวตายกันครับ


ในเรื่องของการฆ่าตัวตายนั้น บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาว่า
ถ้าใครฆ่าตัวตายแล้ว จะต้องเกิดมาฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ
ในประเด็นนี้ผมได้ลองค้นในพระไตรปิฎกออนไลน์แล้วแต่ไม่พบนะครับ
และโดยส่วนตัวแล้ว ผมก็เห็นว่าไม่น่าจะใช่
เพราะถ้าบอกว่าใครฆ่าตัวตายแล้ว จะต้องเกิดมาฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติล่ะก็นะ
ตอนที่เกิดมาฆ่าตัวตายในชาติถัดไป ก็ต้องบวกไปอีก ๕๐๐ ชาติ
เท่ากับว่ามันก็จะทวีคูณไปกันใหญ่ ไม่รู้จักจบสิ้น


อีกประการหนึ่งก็คือ ในสมัยพุทธกาลนั้น มีเรื่องเล่าถึงพระภิกษุ ๒ รูป
ได้แก่ พระโคธิกะ และพระฉันนะ ที่ท่านได้ฆ่าตัวตาย
แต่ก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ในระหว่างที่ฆ่าตัวตายนั้น
ทั้งนี้ กรณีของพระภิกษุ ๒ รูปนี้เป็นข้อยกเว้น และเป็นส่วนน้อยนะครับ
“ห้ามเลียนแบบโดยเด็ดขาด”


ในกรณีของพระโคธิกะนั้น ใน “โคธิกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย
สคาถวรรค) เล่าว่า พระโคธิกะท่านเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคง
ท่านภาวนาไปจนบรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แล้วก็เสื่อม
เป็นไปอย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง จนท่านท้อใจ และนำศัสตรามาฆ่าตัวตาย
เหตุที่เจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์เสื่อมถึง ๖ ครั้ง ไม่ใช่ว่าท่านภาวนาไม่เก่งนะครับ
แต่ในอรรถกถาอธิบายว่า เหตุเพราะท่านมีอาพาธ
โดยท่านมีอาพาธเรื้อรังเป็นโรคลมน้ำดีและเสมหะ
ด้วยอาพาธนั้น ท่านจึงไม่อาจบำเพ็ญอุปการธรรมให้เป็นสัปปายะของสมาธิได้


ทีนี้ ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ภาวนามามากแล้ว
ในเวลาที่ท่านนอนหงายเอามีดตัดหลอดลมนั้น ทุกขเวทนาทั้งหลายได้เกิดขึ้น
ท่านสามารถข่มเวทนาแล้วกำหนดเวทนานั้นนั่นแหละ เป็นอารมณ์ตั้งสติมั่น
พิจารณามูลกัมมัฏฐานก็บรรลุพระอรหันต์ และปรินิพพานในเวลานั้น
โคธิกสูตรที่ ๓
อรรถกถาโคธิกสูตรที่ ๓


อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของพระฉันนะ ใน “ฉันโนวาทสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) ได้เล่าว่า
ท่านพระฉันนะอาพาธ ทนทุกขเวทนาเป็นที่สุด อาการไม่ทุเลาลงเลย
พระสารีบุตรได้ไปเยี่ยมท่านพระฉันนะ และได้สอบถามท่านว่า
ท่านฉันนะ ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรในจักษุ จักษุวิญญาณ
ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรในโสต โสตวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยโสตวิญญาณ
ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรในฆานะ ฆานวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยฆานวิญญาณ
ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรในชิวหา ชิวหาวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยชิวหาวิญญาณ
ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรในกาย กายวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยกายวิญญาณ
ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรในมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ
ว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา


ท่านพระฉันนะได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร
กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ
จึงพิจารณาเห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นความดับ รู้ความดับในโสต โสตวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยโสตวิญญาณ
จึงพิจารณาเห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นความดับ รู้ความดับในฆานะ ฆานวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยฆานวิญญาณ
จึงพิจารณาเห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นความดับ รู้ความดับในชิวหา ชิวหาวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยชิวหาวิญญาณ
จึงพิจารณาเห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นความดับ รู้ความดับในกาย กายวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยกายวิญญาณ
จึงพิจารณาเห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
เห็นความดับ รู้ความดับในมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ
จึงพิจารณาเห็นว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
ภายหลังจากที่พระสารีบุตรได้จากไปแล้ว
พระฉันทะท่านทนอาการอาพาธไม่ไหว
จึงได้นำศัสตรามาฆ่าตัวตาย โดยเฉือนก้านคอตนเอง
ในขณะนั้นเอง ความกลัวตายของท่านก็เกิดขึ้น และคตินิมิตปรากฏขึ้น
ท่านรู้ว่าตนเองยังเป็นปุถุชน จึงเกิดสลดใจ แล้วตั้งวิปัสสนา พิจารณาสังขาร
และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในเวลานั้น
ฉันโนวาทสูตร (๑๔๔)
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค ฉันโนวาทสูตร


กรณีของ พระโคธิกะ และพระฉันนะ นั้นท่านได้ภาวนามามากแล้วนะครับ
โดยกรณีของ พระโคธิกะ นั้น ในพระสูตรอธิบายว่า
ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคง
ท่านภาวนาไปจนบรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แล้วก็เสื่อมถึง ๖ ครั้ง
ในส่วนของพวกเราเองนี้ เมื่อยังประมาท ความเพียรน้อย จิตใจไม่ได้มั่นคง
และไม่เคยแม้ภาวนาไปบรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์เลย
ก็ย่อมถือได้ว่าเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน
หรือกรณีของพระฉันนะนั้น ท่านได้ภาวนามาจนเข้าใจว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว
แต่เมื่อเวลาที่ฆ่าตัวตายจึงทราบว่าตนเองยังเป็นปุถุชน
จึงได้เกิดสลดใจ และสามารถพิจารณาสังขารภาวนาต่อไปได้
ส่วนพวกเราถ้าไปเลียนแบบท่านแล้ว ในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น
แต่เราไม่ได้สามารถภาวนาได้แบบท่าน ก็มีโอกาสจะไปอบายภูมิเสียมากกว่า
ฉะนั้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปเลียนแบบกันนะครับ ห้ามเลียนแบบเด็ดขาด


ในประเด็นถัดมา บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาว่า
การฆ่าตัวตายนั้นถือเป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาตเสมือนกับการฆ่าผู้อื่น
ในประเด็นนี้เท่าที่ลองค้นดูแล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าไม่น่าจะใช่ครับ
เพราะหากพิจารณาคำว่า “ปาณาติบาต” แล้ว
ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานแปลว่า
การทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ
ส่วนในกรณีของการฆ่าตัวตายนี้ ไม่ได้ใช้คำว่า “ปาณาติบาต”
แต่จะใช้คำว่า “อัตตวินิบาต” หมายถึงการฆ่าตัวตาย
http://www.royin.go.th/dictionary/ (อัตวินิบาตกรรม)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D1%B5%C7%D4%B9%D4%BA%D2%B5&original=1


ในการกระทำปาณาติบาตนั้น มีองค์ประกอบ ๕ ประการ
(อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑.
ญาณกถา สีลมยญาณนิทเทส) ได้แก่
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
โดยหากฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ผู้มีคุณน้อย ย่อมมีโทษน้อย
แต่หากฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ผู้มีคุณมาก ย่อมมีโทษมาก
และหากกิเลสและความพยายามอ่อน ย่อมมีโทษน้อย
แต่หากกิเลสและความพยายามกล้า ย่อมมีโทษมาก
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา


ทำไมผมจึงเห็นว่าการฆ่าตัวตายไม่เหมือนกับการฆ่ามนุษย์คนอื่น
เพราะเหตุที่ว่าการฆ่ามนุษย์นั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่าเป็นอาบัติปาราชิก
กล่าวคือเป็นอาบัติหนักถึงขั้นขาดจากความเป็นภิกษุ
แต่ในกรณีที่พระภิกษุฆ่าตัวตายนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่าเป็นอาบัติทุกกฎ
กล่าวคือเป็นอาบัติขั้นเบา ไม่ได้ถึงขั้นขาดจากความเป็นภิกษุ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D2%BA%D1%B5%D4_%F7
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%B7%D8%A1%A1%AF&detail=on
โดยมีตัวอย่างในอรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์
มาติกา มาติกาวิภังค์ ซึ่งได้ยกตัวอย่างว่า
กรณีที่ภิกษุสั่งให้ภิกษุอื่นมาฆ่าตนเอง แล้วภิกษุผู้รับสั่งได้ฆ่าภิกษุผู้สั่งนั่นเองตาย
เช่นนี้แล้ว ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติทุกกฎ ส่วนภิกษุผู้ฆ่าต้องปาราชิก
อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา มาติกาวิภังค์
ดังนี้แล้ว จึงย่อมจะเห็นได้ว่าการฆ่าตนเองนั้นมีโทษเบากว่าการฆ่าผู้อื่น


นอกจากนี้แล้ว การฆ่าตนเองก็เป็นวิบากกรรมที่มาตัดรอนให้ชีวิตสั้นลง
โดยยกตัวอย่างเช่นใน “เวสาลีสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค) ได้เล่าถึงเรื่องภิกษุจำนวนมากฆ่าตัวตาย
โดยทยอยฆ่าตัวตายในวันละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง
ซึ่งในอรรถกถาเล่าว่า เหตุเพราะในอดีตกาล ภิกษุเหล่านั้นได้เป็นพรานเนื้อ
ได้ใช้ท่อนไม้และบ่วงล่าสัตว์ เลี้ยงชีวิตด้วยทำการฆ่าเนื้อและนกตลอดชีวิต
เมื่อตายแล้วก็ได้ไปบังเกิดในนรก หลังพ้นจากนรกแล้ว
ด้วยกุศลกรรมบางอย่างที่ทำไว้ในอดีตทำให้ได้มาเกิดในเป็นมนุษย์
และได้บวชในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่เพราะอกุศลกรรมเดิมของท่านเหล่านั้น ก็ทำให้ตัดชีวิตตนเอง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว
แต่ขึ้นชื่อว่าวิบากของกรรมแล้ว ไม่มีใครจะสามารถป้องกันได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน
ในเวลาที่เหล่าภิกษุเหล่านั้นได้ฆ่าตัวตาย
เวสาลีสูตร ว่าด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน
อรรถกถาเวสาลีสูตรที่ ๙


ดังนั้นแล้วในเวลาที่เราเห็นข่าวที่บุคคลอื่นฆ่าตัวตายนั้น
ก็พึงทำใจว่าเป็นวิบากกรรมในอดีตของเขานั้น ๆ นะครับ
แต่ในส่วนของตัวเราเอง พึงเข้าใจว่า การฆ่าตัวตายเป็นทางเลือกที่แย่มาก
และมีแต่จะทำให้ตัวเราเองประสบปัญหามากยิ่งขึ้น
เพราะขึ้นชื่อว่าวิบากของกรรมแล้ว ไม่มีใครจะสามารถป้องกันได้
ดังนั้นวิบากกรรมใด ๆ ก็ตามที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้วนั้น แต่เราพึงเข้าใจว่าเราไม่สามารถหนีพ้น
แม้ว่าเราจะจบชีวิตตนเองก็ตาม วิบากกรรมก็ย่อมจะตามเราได้อยู่ดี


ปัญหาที่สำคัญก็คือว่าเราหนีไปไหน?
ใน “วัตถูปมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้”
และ “เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้”
ทีนี้ ถามว่าเวลาที่เราจะฆ่าตัวตายนั้น จิตเราผ่องใสหรือเศร้าหมองล่ะครับ?
ถ้าเราไม่ทุกข์จนทนไม่ไหวแล้ว ก็คงไม่คิดเรื่องที่จะฆ่าตัวตัวตายใช่ไหม?
ดังนั้นแล้ว จิตที่เศร้าหมองในเวลาฆ่าตัวตายนี้แหละจะนำเราไปสู่ทุคติ
กล่าวคือ นำเราไปสู่อบายภูมิ เช่น นรก หรือเปรต เป็นต้น
ซึ่งมันย่อมจะแย่กว่าปัญหาทั้งปวงที่เราประสบอยู่ในเวลานี้อย่างแน่นอน
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์


ดังนี้แล้ว การที่เราหนีปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายนั้น ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย
แต่เป็นการทำให้เราเองแย่ลง เพราะว่าจิตเศร้าหมองจะนำเราไปสู่ทุคติ
หลังจากนั้น เมื่อพ้นจากทุคติมาแล้ว เราป้องกันวิบากกรรมไม่ได้
วิบากกรรมเดิมนั้นก็ยังจะให้ผลแก่เราอยู่ดี
แล้วเราจะฆ่าตัวตายไปทำไม ในเมื่อมันมีแต่ขาดทุนติดลบเช่นนี้?
เปรียบเสมือนว่า เราเจอเสือตัวหนึ่ง
เราก็เลยพยายามหนีเสือ แต่เราหนีไปเจอจระเข้
และหลังจากที่เราเจอจระเข้นั้นแล้ว เราจะต้องกลับมาเจอเสือตัวเดิมอีก
ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะดิ้นรนหนีไปเจอจระเข้ทำไมให้เจ็บตัวเพิ่ม?
เรายอมเจอเสือตัวเดียวให้จบ ๆ ไปเลย ย่อมจะทรมานน้อยกว่า


แล้วทางแก้ปัญหาล่ะ เราพึงทำอย่างไร?
หากเรารู้สึกว่าวิบากกรรมที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้
มันช่างทุกข์ทรมานเสียเหลือเกิน และเราต้องการพ้นจากทุกข์นี้
ไม่ต้องการประสบกับความทุกข์เช่นนี้อีกแล้ว
หนทางที่จะพ้นจากทุกข์ไม่ใช่การฆ่าตัวตายครับ
(เพราะมันเป็นการหนีเสือ ไปเจอจระเข้ แล้วกลับมาเจอเสือตัวเดิม)
หนทางก็มีอยู่ทางเดียว คือพึงศึกษาและปฏิบัติไตรสิกขา
ได้แก่ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
เพื่อมุ่งไปสู่การพ้นทุกข์สิ้นเชิงและออกจากสังสารวัฏนี้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP