สารส่องใจ Enlightenment

ดำเนินตามแนวทางแห่งนักปราชญ์ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐




ดำเนินตามแนวทางแห่งนักปราชญ์ (ตอนที่ ๑) (คลิก)


ในอุโบสถนั้นทรงแสดงย่อๆ ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวงหนึ่ง แปลว่าอย่างนั้น
กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลคือความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง
สจิตฺตปริโยทปนํ การยังจิตของตนให้ผ่องแผ้วจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์หนึ่ง
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์
ท่านทรงสั่งสอนอย่างนี้ นี่เป็นพระโอวาทย่อที่ประทานแก่พระสงฆ์สาวกในครั้งนั้น



คำว่าการไม่ทำบาปทั้งปวง คือทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
บาปคือความเศร้าหมอง ความมืดตื้อ ผลยังความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ทำ
ท่านก็สอนไว้ว่าการทำบาปนั้นคือการสร้างฟืนสร้างไฟไว้สำหรับเผาผลาญตนเอง
เผาลนตนเองให้เดือดร้อน ทั้งปัจจุบันและอนาคต
จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะเป็นข้าศึกต่อตนเองโดยถ่ายเดียว



การยังกุศลให้ถึงพร้อมนั้น หมายถึงความฉลาด
ทั้งกิจบ้านการเรือนอันเป็นประโยชน์
ฉลาดทั้งการบำเพ็ญกุศลที่จะทำตนของตนให้หลุดพ้น
จากกิเลสเครื่องพัวพัน หรือเครื่องกดขี่บังคับจิตใจทั้งหลายให้เป็นอิสระขึ้นโดยสมบูรณ์
เพราะความฉลาดที่ได้รับการอบรมสั่งสมมา
หรือการฝึกฝนอบรมตนให้เกิดความฉลาดหนึ่ง



การยังจิตของตนให้ผ่องแผ้วคือให้ผ่องใส จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์นี้
คำว่าผ่องใสกับความบริสุทธิ์นั้นต่างกัน
ท่านจึงสอนให้ทำจิตให้มีความผ่องแผ้ว จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์



ตามธรรมดาของจิตจะหาความผ่องใสไม่ได้
ต้องถูกปกคลุมหุ้มห่ออยู่ด้วยความมืดมิดปิดบังทั้งหลาย ล้อมรอบอยู่ในจิตใจ
สิ่งเหล่านี้แลเป็นผู้มีอำนาจปิดบังไว้
เช่นหลอดไฟ ไฟจะใสสว่างขนาดไหน
ถ้าหลอดไฟนั้นดำแล้วก็ต้องแสดงออกมาเป็นเรื่องดำ
สว่างมาก็เป็นดำ จะสว่างเต็มที่ของดวงไฟไม่ได้
จิตใจแม้จะมีความสว่างกระจ่างแจ้งหรือมีความฉลาดอยู่ภายในตัว
มีความสำคัญอยู่ภายในตัวมากน้อยเพียงไร
แต่อาศัยสิ่งที่มืดดำทั้งหลายนั้นเข้าไปปกปิดกำบัง ก็กลายเป็นของไม่มีคุณค่าไปได้



เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสั่งสอนให้ชำระสิ่งที่เป็นมลทิน
สิ่งที่ดำทั้งหลายเหล่านั้นออก ให้จิตได้มีความผ่องใส
เมื่อจิตมีความผ่องใสแล้ว ความสุขความเจริญ ความเย็นอกเย็นใจ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่พึงปรารถนา จะพึงปรากฏขึ้นภายในจิตใจของผู้มีความผ่องใสนั้นๆ
เมื่อได้ชำระความผ่องใสนั้นให้กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้ว
คำว่าวิมุตติพระนิพพานนั้นก็ไม่ต้องไปถามที่ไหน
ออกจากจิตดวงที่เป็นอิสระแก่ตนเองหรืออิสรเสรีแก่ตัวเองอย่างเต็มที่นั้นแล
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายให้ชื่อว่านิพพานทั้งเป็น
นี่เป็นพระโอวาทย่อที่ทรงสั่งสอนในวันมาฆบูชา
เราทั้งหลายที่เป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า ของพระสงฆ์สาวกท่าน
ก็ให้น้อมระลึกถึงท่านในวันเช่นนี้
ปฏิบัติบูชาด้วยการถือศีล การภาวนา ปฏิบัติอามิสบูชาด้วยการให้ทานต่างๆ
ซึ่งรวมแล้วเป็นบุญเป็นกุศลแก่เราด้วยกันทั้งนั้น
อย่าให้เสียเวล่ำเวลาที่เราได้อุตส่าห์มาจากบ้านจากเรือน



เจตนาของเราในเบื้องต้นที่ริเริ่มว่าจะมาบำเพ็ญกุศลตามวัดต่างๆ
และฟังเทศน์ฟังธรรมครูบาอาจารย์นั้นเป็นเจตนาที่เป็นกุศลอยู่แล้ว
ตลอดถึงเรานั่งรถมา ก็เจตนานั้นเราหยั่งถึงใจของเราตลอดสาย
จนกระทั่งมาถึงที่นี่แล้วจะไปถึงที่อื่นเพื่อการบำเพ็ญกุศล
นี้เรียกว่าเจตนาที่เป็นกุศลมีอยู่แล้วภายในจิตใจของเรา
นี่เป็นประเภทหนึ่งแห่งกุศลที่จะยังบุญกุศลให้เกิดขึ้นแก่เรา
ประเภทที่สองก็คือการบริจาค ก็ได้ทำแล้วเต็มกำลังความสามารถของเราตามใจหวัง
การได้ยินได้ฟัง เราก็ได้ยินได้ฟังโดยลำดับๆ นี้ก็เพิ่มคุณงามความดีขึ้นเป็นชั้นๆ
ไม่เสียทีที่เราได้มา เรียกว่ามีกำไรภายในตัวของเรา



เราเป็นชาวพุทธ ชื่อว่าเป็นผู้มีวาสนา
คนที่จะได้พบพระพุทธเจ้า ที่จะได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้
ต้องเป็นคนมีวาสนา ถ้าไม่มีแล้วอย่างไรก็ไม่ได้ฟัง
เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้เหมือนกับเม็ดหินเม็ดทรายซึ่งมีอยู่ทุกแห่งทุกหน
แม้จะปรินิพพานมาโดยลำดับลำดา ตรัสรู้ถ่ายทอดกันมาโดยลำดับลำดา
นับแล้วเท่าเม็ดหินเม็ดทรายก็ตาม
แต่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นท่านก็ไม่ได้มีอยู่ประจำแบบโลกๆ ที่เห็นกันอยู่นี้
ให้เราได้กราบไหว้ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านตลอดกาลที่เราต้องการ
พระองค์นี้ผ่านไป พระองค์นั้นผ่านมา



เวลานี้พระพุทธเจ้าของเราก็ผ่านไปด้วยพระรูปพระนาม
แต่ปรากฏอยู่โดยหลักธรรมชาติ
คือธรรมของท่านได้ประกาศสั่งสอนพวกเราทั้งหลายอยู่นี้
เราก็ได้นับถือพระพุทธเจ้าด้วยการได้ยินได้ฟังและประพฤติปฏิบัติตาม
จึงเป็นเหมือนกับได้เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่โดยสม่ำเสมอที่ระลึกถึงท่าน
หรือเราได้ทำคุณงามความดีตามพระโอวาทคำสั่งสอนของท่านสอนพวกเรา



คุณงามความดีทั้งหลายเหล่านี้แหละ
ที่จะเป็นเครื่องประคับประคองเราให้ไปสู่สถานที่ดีคติที่งาม
นึกสิ่งใดสมหวังก็เพราะอำนาจแห่งกุศล
นึกไม่สมหวัง นึกต้องการอย่างนั้นแต่กลับได้อย่างนี้ นั้นคือเรื่องของบาป
ตามธรรมดาของบาปต้องตัดรอนเราเสมอ
เราต้องการอยากได้มันกลับให้เสียไป
สิ่งใดไม่ต้องการสิ่งนั้นเจอ สิ่งใดต้องการสิ่งนั้นพลาดไป
นี่คือเรื่องอกุศลธรรมพาเป็นเหตุให้สร้างบาปสร้างกรรมขึ้นมา
ผลจึงมีแต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ที่จะเป็นเครื่องสนองเรา



แต่บุญกุศลไม่เป็นเช่นนั้น เราสร้างไว้แล้วด้วยความพอใจในทางที่ถูก
ผลที่ปรากฏขึ้นมาจึงมีแต่ความสุขความสำราญบานใจ
เกิดในภพใดชาติใดก็ตาม สมบัติทั้งหลายใดๆ นั้น ไม่เหมือนสมบัติคือบุญ
อันนี้ติดแนบกับใจของเราไปอยู่โดยสม่ำเสมอ
จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางคือถึงพระนิพพานเสียเมื่อใด
บุญกุศลจึงจะหมดปัญหากับเรา



เช่นเดียวกับเราก้าวจากบันไดขึ้นมา บันไดเป็นความจำเป็นสำหรับเรา
ที่ก้าวขึ้นมาสู่ศาลาหลังนี้หรือหลังใดก็ตาม บ้านใดก็ตาม
เมื่อถึงที่หมายแล้วบันไดก็หมดความหมายไป ทางก็หมดความหมายไป
เมื่อเราถึงจุดที่หมายแล้ว
บุญกุศลก็เป็นเครื่องสนับสนุนหรือส่งคนให้ถึงจุดหมายปลายทางเช่นนั้นเหมือนกัน
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
บุญกุศลนั้นก็หมดปัญหาไปเองเพราะถึงจุดหมายแล้ว
ไม่จำเป็นอะไรจะต้องไปเกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกับเราขึ้นถึงศาลาแล้ว จำเป็นอะไรจะต้องไปกอดบันได
หรือจะไปกอบโกยเอาถนนหนทางมาให้หนักเปล่าๆ เสียเวล่ำเวลา
คนทั้งหลายเขาจะว่าบ้าอีก นี่เมื่อถึงจุดที่หมายแล้วก็เป็นเช่นนั้น



ใจเป็นสิ่งสำคัญอยู่มาก สำหรับเราทุกคนที่มีใจ
การที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการตายแล้วเกิด เกิดในสถานที่ต่างๆ กัน
มีรูปร่าง มีลักษณะ มีอุปนิสัยใจคอ มีวาสนามากน้อยต่างกันนั้น
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้ทรงเห็นทุกแง่ทุกมุมแล้วนำมาสั่งสอนโลก
ไม่ได้สั่งสอนด้วยความสุ่มเดาเหมือนคนมีกิเลสตาฝ้าตาฟางทั้งหลาย
แต่สอนด้วยความแจ่มแจ้ง ด้วยพระญาณของพระองค์แล้ว
จึงได้มาประกาศสอนโลก ความจริงนี้จึงลบไม่สูญ
เช่นว่าตายแล้วสูญ นี้เป็นความสำคัญของโลกที่มีกิเลส
ทั้งๆ ที่ตนเป็นผู้เกิดผู้ตายอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไปเดาเอาเอง
ไปลบความเกิดความตายนั้นสูญไปเสียอย่างนี้ มันสูญไม่ได้
เพราะความสูญไม่สูญไม่ขึ้นอยู่กับความสำคัญ ความว่าเอาเฉยๆ
มันเกิดขึ้นจากเหตุ



ใจเมื่อมีเชื้อที่จะให้เกิดอยู่ภายในตัวเองแล้วต้องเกิดวันยังค่ำ
เป็นแต่เพียงว่าจะเกิดเป็นคนหรือเป็นสัตว์
เป็นลักษณะใด ภพใด ชาติใด กำเนิดใด ประณีตบรรจงหรือเลวทรามขนาดไหน
อันขึ้นอยู่กับวิบากแห่งกรรมเท่านั้น
นี่เป็นคติที่ตายตัวของสัตว์โลกที่จะพึงเป็นไปอย่างนี้
เพราะฉะนั้นผู้ที่เชื่อพระพุทธเจ้า
จึงจำเป็นต้องสร้างคุณงามความดีไว้เป็นเครื่องสนับสนุนตน
เพราะคำว่าตายแล้วเกิดนี้เป็นความจริง ลบไม่สูญ
ใครจะมีอำนาจวาสนาขนาดไหนก็ตาม จะมาลบเรื่องตายแล้วไม่ให้เกิดนี้เป็นไปไม่ได้
นอกจากตัวเองจะเป็นผู้ลบตัวเองด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย
ดังพระพุทธเจ้าทรงลบความเกิดต่อไปนั้นให้สิ้นสุดลงไปได้



ตามธรรมท่านว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตตฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด
พระพุทธเจ้าแต่ก่อนท่านก็เป็นนักเกิดนักตาย นักจับจองป่าช้าเช่นเดียวกับโลกทั่วๆ ไป
แต่แล้วก็เพราะอำนาจแห่งพระบารมีที่มีความแก่กล้าสามารถ
ตัดขาดได้ซึ่งความเกิดอันเป็นเรื่องก่อทุกข์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ
นั้นชื่อว่าพระองค์ท่านลบความเกิดนั้นออกด้วยอำนาจพระบารมี
แต่ไม่ได้หมายถึงว่า พระองค์ท่านตายไปแล้วสูญ
พระองค์ปรินิพพาน ไม่ได้สูญแบบที่โลกสูญกัน



โลกที่ว่าสูญกันนั้น คือสูญอย่างฉิบหายป่นปี้ไม่มีชิ้นดีเลย
หมดหวังทุกสิ่งทุกอย่างถ้าลงได้สูญไปแล้ว
แต่คำว่านิพพาน ตามธรรมท่านกล่าวไว้ว่า
นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ
นิพพานเป็นสูญอย่างยิ่งนั้น
คือสูญแบบพระนิพพาน ไม่ได้สูญแบบโลกที่สูญกัน
คำว่าสูญแบบพระนิพพานนั้นคืออย่างไร
อันนี้เราจะยกตัวอย่างให้ฟังก็ลำบาก เพราะไม่มีอะไรที่เป็นข้อเทียบเคียงได้
ให้ถึงเหตุถึงผลถึงความจริงของความสูญแห่งพระนิพพาน



เราพูดเอาเพียงแค่นี้พอจะเข้าใจได้ว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวชมเชยว่าพระนิพพานนี้เป็นธรรมอย่างยิ่ง
ยอดเยี่ยมกว่าบรรดาสิ่งทั้งหลายในสามโลกธาตุ
ไม่ได้มีตำหนิแม้นิดหนึ่งเลยว่าพระนิพพานที่ว่าสูญๆ แบบพระนิพพานนั้น
มีความขาดตกบกพร่องเหมือนโลกทั่วๆ ไป
หากว่าพระนิพพานเป็นสิ่งที่สูญดังโลกเข้าใจกัน
และฉิบหายป่นปี้ดังโลกทั้งหลายเข้าใจกันแล้ว
พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไม่ใช่เป็นคนโง่ เป็นคนฉลาดแหลมคมที่สุด
สามารถบรรลุถึงพระนิพพานได้ แล้วทำไมจึงมากล่าวว่า พระนิพพานว่า
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง



การสูญสิ้นแห่งคำว่าพระนิพพานสูญ
สูญโดยประการทั้งปวงในสิ่งที่เป็นข้าศึกในสิ่งที่เป็นสมมุติ
ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปเกี่ยวเกาะกับวิมุตติ
ธรรมชาติวิมุตติ คือความหลุดพ้น หรือจิตที่บริสุทธิ์นั้นได้เลย
ความบริสุทธิ์ของจิตนั้นแลคือวิมุตติพระนิพพาน
เหมือนเวลาท่านตรัสรู้แล้วสั่งสอนโลกทั้งหลายอยู่
นั่นพระองค์ท่านถึงพระนิพพานแล้วตั้งแต่ขณะตรัสรู้ทีแรก
หากว่านิพพานสูญ ใครเป็นผู้สั่งสอนโลกให้ถึงความจริงได้
ใครเป็นผู้ประกาศธรรมสอนโลก แล้วใครเป็นผู้ประกาศว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ล่ะ
เมื่อพระนิพพานสูญแล้ว ใครจะมาประกาศได้ล่ะ
เพราะมันสูญไปตามๆ กันตั้งแต่ขณะที่ตรัสรู้
ก็พระพุทธเจ้านั้นเอง ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น สั่งสอนโลกว่า
ทั้ง นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ทั้ง นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
คือสอนทั้งสองแง่ว่า นิพพานสูญอย่างยิ่งหนึ่ง นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่งหนึ่ง
ก็พระพุทธเจ้า พระองค์ที่บริสุทธิ์นั้นแล เป็นผู้ประกาศสอนไว้ในธรรมทั้งสองประเภทนี้



หากว่าผู้ไปนิพพานฉิบหายป่นปี้แล้ว ใครจะอยากไปกัน
พระพุทธเจ้าทั้งหลายยิ่งเป็นจอมปราชญ์ทั้งนั้น
ท่านจะประสงค์อะไรไปพระนิพพานซึ่งเป็นสถานที่ฉิบหายล่มจมเช่นนั้น
พระสาวกอรหัตอรหันต์จะไปโง่เง่าเต่าตุ่นวิ่งตามพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมโง่ทำไมกัน
ใครก็ไม่อยากไป ยิ่งหลวงตาบัวนี้แล้วไม่ยอมไปแน่ๆ ทีเดียว
ถ้านิพพานสูญแบบฉิบหายป่นปี้แล้ว
แต่นี้ยอมสละชีพแล้วเพื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เอา
พระพุทธเจ้าพาไปไหนไปทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้สั่งสอนโลกด้วยความคาดคะเน ด้วยความเดา ความสำคัญต่างๆ
แต่สอนด้วยความจริง ไม่ได้สอนด้วยความจดจำมาเหมือนอย่างพวกเราทั้งหลาย



ความจำกับความจริงนั้นต่างกัน
เช่นเราจำได้ว่าอันนั้นชื่อนั้นๆ เขาเล่าให้ฟังบ้านนั้นเมืองนั้นเป็นอย่างนั้นๆ
เป็นความจำขึ้นมา เราก็วาดภาพขึ้นมา
เช่น อเมริกาเป็นเมืองอย่างนั้นๆ เราก็วาดภาพขึ้นมาเป็นอย่างนั้นๆ ขึ้นทันที
แต่พอไปถึงประเทศอเมริกาจริงๆ แล้ว
ภาพที่วาดไว้นั้นหายไปหมดเพราะเป็นของปลอม เป็นความจำเอามา
เหลือตั้งแต่ความจริงที่เราไปเห็นประจักษ์กับตัวของเราเอง
เด่นอยู่ภายในจิตใจหายสงสัยโดยประการทั้งปวง



การที่จะถึงธรรมขั้นใดก็ตาม ถ้าถึงด้วยความจริงเห็นด้วยใจแล้ว จะไม่มีทางสงสัย
นี่พระพุทธเจ้าเห็นประจักษ์ทั้งความสูญแห่งพระนิพพาน
ทั้งความสุขอันเหลือล้นของพระนิพพาน
ด้วยพระทัยพระองค์เองแล้วจะสงสัยอย่างไร แล้วจะผิดไปที่ไหนเมื่อนำมาสอนโลก
ฉะนั้นธรรมจึงเป็นของจริงตลอดมา เรียกว่าลบไม่สูญเหมือนกัน



การเกิด การตาย ถ้ายังมีเชื้ออยู่ก็ลบไม่สูญ
ใครจะปฏิเสธสักเท่าไรก็ตาม คำว่าบาป บุญ นรก สวรรค์
นี้ก็คือพระพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ทรงเห็นทุกแง่ทุกมุมแล้ว
จึงได้นำมาสอนโลกด้วยความรู้ความเห็นอันจริงจังของพระองค์
พวกเราไม่เห็นไม่รู้ จะปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นว่าไม่มีไม่เป็นได้อย่างไร
ผู้หนึ่งเห็น ผู้หนึ่งไม่เห็น ผู้หนึ่งรู้ ผู้หนึ่งไม่รู้ เราจะเชื่อคนไหน
ตามหลักความจริงแล้วก็เชื่อคนที่เห็น เชื่อคนที่รู้
เช่นคนตาบอดก็ต้องเชื่อคนตาดี เดินตามคนตาดี
คนโง่ก็ต้องเชื่อคนฉลาด เดินตามคนฉลาด



พระพุทธเจ้าเป็นจอมปราชญ์ เป็นผู้เฉลียวฉลาด
เราทำไมถึงจะกลายเป็นจอมปราชญ์ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า
ตำหนิติเตียนหรือลบล้างศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าออกหมด
แล้วเอาความเก่งกาจสามารถของเราเข้าไปแทนที่
แล้วก็กลายมาเป็นไฟเผาตัวเอง อย่างนี้จะเรียกว่าคนฉลาดได้อย่างไร



วันนี้ได้อธิบายธรรมะ ยกขึ้นเป็นสามบท ในวันมาฆบูชาให้ท่านทั้งหลายฟังว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ หนึ่ง กุสลสฺสูปสมฺปทา หนึ่ง สจิตฺตปริโยทปนํ หนึ่ง
ให้ท่านทั้งหลายได้นำไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติตนเอง
ให้มีขอบเขตเหตุผล ประคับประคองตนเองไปด้วยความราบรื่นดีงาม
สร้างคุณงามความดีไว้สำหรับตน
จะเป็นผู้ไม่จนตรอกจนมุมทั้งปัจจุบันและอนาคต
จะมีความสว่างไสวเจริญรุ่งเรืองไปในอนาคตกาลข้างหน้า
ไม่เสียท่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
ด้วยอำนาจแห่งทุนเดิมของเราที่สร้างเอาไว้ แล้วเราก็สร้างต่อไปอีก
เรียกว่าเป็นการเพิ่มบารมีของตน ก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปโดยลำดับ



ในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้
ขอบุญญานุภาพแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
จงมาคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกาย สบายใจ
ปราศจากโรคาพยาธิ อุปสรรคอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรมโดยทั่วกัน เอาละ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/2nTF3tv


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP