จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๒๙ ทำผิดกฎหมาย เป็นบาปไหม?



229 talk


กฎหมายส่วนใหญ่
ถูกตราขึ้นด้วย ‘สามัญสำนึก’
ที่จะให้ผู้คนทำเรื่องถูกต้อง
ไม่รบกวนกัน
เช่น มาตรา ๓๙๗
ห้ามจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น
แล้วก็ส่งเสริมให้เกื้อกูลกัน
เช่น มาตรา ๓๗๔
เห็นคนตกอยู่ในอันตรายต้องช่วย เป็นต้น


กฎหมายที่ถูกตราขึ้นด้วยสามัญสำนึก
มักคล้อยตามศีลธรรมอันดี
ช่วยให้เมืองมนุษย์รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้
ไม่กลายเป็นสัตว์บ้านป่านาเถื่อน
เพียงเพราะใครนึกอยากทำอะไรก็ทำ
ฉะนั้น ใครละเมิด ‘กฎหมายดีๆ’
ก็เท่ากับละเมิดศีลธรรม
จะรู้หรือไม่รู้กฎหมาย
ก็รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นบาป เป็นสิ่งผิด


อย่างไรก็ตาม
มีกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง
ที่ไม่ได้ตราขึ้นด้วยจิตสำนึก
แต่ถูกออกแบบขึ้นด้วย ‘อคติ’ ของผู้มีอำนาจ
บางทีก็เป็นไปเพื่อสนองความเชื่อส่วนตัว
บางทีก็เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม
หรือบางทีก็เป็นไปเพื่อเหตุผลประหลาดๆ
ที่ขัดกับสามัญสำนึกคนทั่วไป
แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ศีลธรรมเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง
กฎหมายประเภทนี้
ใครทำผิดก็ไม่เป็นบาป
ถึงแม้ในทางโลกจะต้องโดนลงโทษก็ตาม


แต่กล่าวถึงที่สุด ถ้าไม่มีกฎหมายเลย
ทุกคนจะแสดงความเห็นแก่ตัวเต็มที่
ทำบาปก่อเวรกันแบบไม่บันยะบันยังแน่
ฉะนั้น อย่างไรก็ต้องยึดกฎหมายไว้ก่อน
เพราะถ้าให้ทุกคนตีความตามอิสระได้ว่า
กฎหมายข้อนี้เกิดขึ้นจากอคติ ฉันไม่เคารพ’
ผลคือเราจะได้เห็นคนเข้าข้างตัวเองกันหมด
แม้กฎหมายดีๆ ก็หาว่าเป็นกติกาบ้าๆไปได้


กฎกติกาบ้าๆที่แท้จริง
จะทำให้สังคมไปไม่รอด
เมื่อมีคนเดือดร้อนมากพอ
ก็จะรวมตัวกันต้านอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราเดือดร้อนอยู่คนเดียว
แล้วอยากตัดสินว่ากฎหมายข้อนั้นข้อนี้
เป็นแค่กติกาบ้าๆ
อันนี้ต้องระวัง
เราอาจกำลังเข้าโหมดคิดเองเออเองอยู่ก็ได้!


ดังตฤณ
มีนาคม ๖๑




review


พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระสารีบุตร
เกี่ยวกับโสตาปัตติยังคะ คือ องค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา
รายละเอียดติดตามได้ในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน " ทุติยสาริปุตตสูตร ว่าด้วยองค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา"


การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ย่อมนำความสุขความเจริญมาสู่ตนเอง
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตราบจนถึงพระนิพพาน
ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "ดำเนินตามแนวทางแห่งนักปราชญ์ (ตอนที่ ๒)"
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ"(-/\-)


อาการทางกายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่สวดมนต์หรืออยู่ในสมาธิ
มีสาเหตุจากอะไร และควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"ถ้าสวดมนต์แล้วรู้สึกขนลุกมากๆ ควรทำอย่างไร"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP