จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ธรรมที่ทำให้กล้าหาญ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



227 destination



ในคราวนี้ เราจะสนทนากันในเรื่องธรรมที่ทำให้กล้าหาญครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมาย
คำว่า “เวสารัชชกรณธรรม” หมายถึง ธรรมทำความกล้าหาญ,
ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ หรือคุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า
มี ๕ ประการ ได้แก่ ๑. ศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. ศีล คือมีความประพฤติดีงาม
๓. พาหุสัจจะ คือได้สดับหรือศึกษามาก
๔. วิริยารัมภะ คือเพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง
๕. ปัญญา คือรู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E0%C7%CA%D2%C3%D1%AA%AA%A1%C3%B3%B8%C3%C3%C1_%F5


ในเรื่อง “เวสารัชชกรณธรรม” นี้ ใน “เวสารัชชกรณสูตร” (พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) ได้กล่าวสอนว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ๕ ประการนี้
๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑
เป็นพหูสูต ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑ เป็นผู้มีปัญญา ๑
ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศรัทธา
ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ
ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ทุศีล ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศีล
ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ
ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ได้ศึกษาน้อย ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้เป็นพหูสูต
ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ
ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้เกียจคร้าน ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้ปรารภความเพียร
ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ
ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้มีปัญญาทราม ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีปัญญา
ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ
๕ ประการนี้แล ฯ”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=22&A=2923


คุณธรรมในเรื่อง “ศรัทธา” นี้ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเชื่อเท่านั้น
แต่หมายถึงว่าความเชื่อที่ประกอบด้วยวิจารณญาณและเหตุผล
โดยเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ และไม่เชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ
ซึ่งหากเรามีคุณธรรมใน ๕ ประการนี้แล้ว
ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้มีความกล้าหาญขึ้นมาได้


สังเกตว่าธรรมที่ทำให้กล้าหาญนี้ไม่เกี่ยวกับว่าจะต้องมีทรัพย์สิน
มีฐานะ มีตำแหน่ง หรือมียศฐบรรดาศักดิ์ใด ๆ นะครับ
แม้ว่าเราจะมีทรัพย์สินน้อย มีฐานะไม่ร่ำรวย มีตำแหน่งไม่สูง มียศไม่สูง
แต่เราก็สามารถมีความกล้าหาญได้ หากมีคุณธรรมในเรื่องที่กล่าว


ดังนี้ หากเรารู้สึกว่าเราเป็นคนขี้กลัวในเรื่องใด ๆ ก็ตาม
หากเราเป็นผู้มีความเชื่ออย่างไม่สมเหตุสมผลในเรื่องนั้น ๆ
เราเป็นผู้มีความประพฤติผิดศีล หรือประพฤติไม่ดีในเรื่องนั้น ๆ
เราศึกษาหรือได้ฟังเรื่องนั้น ๆ มาน้อย
เราเป็นผู้เกียจคร้านในเรื่องนั้น ๆ
และเราไม่ได้มีปัญญารู้รอบในสิ่งที่ควรรู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้ว
เราก็ย่อมจะขี้กลัวในเรื่องนั้น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ


ในทางกลับกัน เราสามารถพัฒนา “เวสารัชชกรณธรรม” นี้ขึ้นมาได้
โดยหากเราเป็นผู้มีความเชื่ออย่างมีเหตุผลในเรื่องนั้น ๆ
เราเป็นผู้มีความประพฤติดีงาม
เราได้ศึกษาหรือได้ฟังเรื่องนั้น ๆ มามาก
เราได้เพียรทำกิจในเรื่องนั้น ๆ อยู่อย่างจริงจัง
และเรามีปัญญารู้รอบในสิ่งที่ควรรู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้ว
เราก็ย่อมจะเป็นผู้มีความกล้าหาญในเรื่องนั้น ๆ ได้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP