จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

การใส่ใจในเวลาก่อนนอน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



224 destination



เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา
ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการนอน
โดยท่านได้สอบถามเกี่ยวกับพระสูตรหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
อานนท์! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้
จิตน้อมไปเพื่อการนอน เธอก็นอนด้วยการตั้งใจว่า
บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ไหลไปตามเราผู้นอนอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้

ญาติธรรมท่านนั้นสอบถามว่า เราจะทำตามคำสอนดังกล่าวนี้ได้หรือไม่


ผมได้ไปค้นดูและพบว่าคำสอนนี้มีอยู่ใน “มหาสุญญตสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
ซึ่งเราควรจะพิจารณาเนื้อหาคำสอนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
“... ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล
คือตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่
ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา
เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ
ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก
หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ
มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ โดยประการทั้งปวง
จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้
ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่
เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ


ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
(๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
(๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย
เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
(๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น


ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส
ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส
ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้


ดูกรอานนท์ ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายใน
ให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล

เธอย่อมใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป
เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้


ดูกรอานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม
เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะยืน
เธอย่อมยืนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการยืน
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนั่ง
เธอย่อมนั่งด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้นั่งอยู่แล้วอย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนั่ง
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน
เธอย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนอน
...”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=4846&Z=5089&pagebreak=0


พระสูตรนี้เนื้อหาค่อนข้างยาวนะครับ โดยที่ยกมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น
โดยบางท่านอาจจะเคยได้ยินหรือได้อ่านพบในอินเตอร์เน็ตบางแห่งว่า
ให้เรานำคำสอนนี้มาใช้ในการกำหนดจิตของเราในเวลานอน
ซึ่งในอันที่จริงแล้ว เราควรจะพิจารณาเนื้อหาในพระธรรมคำสอนให้ครบถ้วนว่า
ท่านสอนให้ใช้วิธีการนี้ในกรณีใด


หากเราพิจารณาในย่อหน้าที่สอนถึงวิธีการใส่ใจในเวลานอนแล้ว
เราจะเห็นได้ว่าในย่อหน้าจะมีคำว่า “หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้”
ถามว่า คำว่า “วิหารธรรมนี้” หมายถึง วิหารธรรมไหน?
โดยหากเราลองย้อนไปอ่านย่อหน้าก่อน ๆ ก็จะพบประโยคว่า
“วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือ
ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน”


ถามต่อไปว่าแล้วเราจะบรรลุ “สุญญตสมาบัติ” ได้อย่างไร?
หากอ่านในย่อหน้าตอนต้นก็จะพบว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติได้
ก็ด้วยดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งจิตภายในให้มั่น ทำฌานตามลำดับ ฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่


ในย่อหน้าเรื่องวิธีการใส่ใจในการนอนนี้ มีถ้อยคำว่า
“หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้” เป็นประโยคเงื่อนไขนะครับ
ว่าหากเราอยู่ในวิหารธรรมนี้แล้ว ก็พึงใส่ใจเช่นนี้
กล่าวคือ หากเราสามารถเจริญ “สุญญตสมาบัติ” ได้แล้ว ก็พึงใส่ใจเช่นนี้
แต่ปัญหาคือ หากเราไม่ได้อยู่ในวิหารธรรมนี้ล่ะ
โดยหากเราไม่สามารถเจริญ “สุญญตสมาบัติ” ได้แล้ว
ก็ย่อมจะมีปัญหาว่า เราจะไม่สามารถใส่ใจเช่นนั้นได้ แม้ว่าเราจะไปพยายามใส่ใจ
ห้ามไม่ให้อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัสมาครอบงำเราผู้นอนอยู่ก็ตาม
แต่มันก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะว่าเราไม่ได้มี “สุญญตสมาบัติ” ที่เป็นเงื่อนไขนั้น
ดังนี้แล้ว เราก็ควรหาแนวทางปฏิบัติภาวนาตามพระสูตรที่เหมาะกับเรา
โดยไม่ควรไปเลือกแนวทางตามพระสูตรที่ยากเกินความสามารถของเรา


กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า เวลาที่เราอ่านพบพระธรรมคำสอนในอินเตอร์เน็ต
ที่ตัดเพียงบางส่วนจากพระสูตรมาสอนให้ปฏิบัติกันนั้น
หากเป็นไปได้แล้ว เราก็พึงย้อนไปอ่านเนื้อหาพระสูตรที่ครบถ้วนด้วย
ว่าท่านสอนให้ปฏิบัติในกรณีไหน หรือสอนให้ทำโดยมีเงื่อนไขใด ๆ หรือไม่
โดยบางทีที่เขาตัดเพียงบางส่วนมาสอนให้เราปฏิบัตินั้น
อาจจะไม่ได้ยกมาให้ครบถ้วน แล้วก็ส่งผลให้เราไม่เข้าใจ
และเมื่อเราได้ไปประพฤติปฏิบัติแล้ว จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เพราะว่าเงื่อนไขหรือองค์ประกอบของเราไม่ได้ครบถ้วนตามพระธรรมคำสอน


ทีนี้ แนวทางตาม “มหาสุญญตสูตร” นี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับหลาย ๆ ท่าน
รวมทั้งผมเองด้วยล่ะ เพราะผมเองก็เข้าฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ไม่ได้
ผมจึงขอแนะนำวิธีการตามพระสูตรที่น่าจะง่ายกว่า
โดยผมแนะนำวิธีการตาม “โมคคัลลานสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) ซึ่งท่านสอนว่า
“เธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า
มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น
พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ
ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1873&Z=1938&pagebreak=0


โดยวิธีการตาม “โมคคัลลานสูตร” น่าจะง่ายกว่าและเหมาะกับหลาย ๆ ท่านมากกว่า
โดยท่านทรงสอนให้ พึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า
ส่วนการ “มีสติสัมปชัญญะ” คือแม้ว่าเวลานอน เราก็พึงเจริญสติ
ส่วนวิธีการเจริญสตินั้นก็แล้วแต่แต่ละท่านนะครับว่า ปกติแล้วตนเองใช้วิธีการใด
และให้ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น ซึ่งเมื่อตื่นแล้วก็จะไม่ประกอบความสุขในการนอน
โดยเรานอนเพียงเพื่อพักผ่อนร่างกายตามสมควรเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อหาความสุขในการนอน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP