จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๒๔ ถ้ากายใจไม่ใช่ตัวตน แล้วตกลงเราเป็นอะไร?



224 talk



หลายครั้งที่การปฏิบัติ
มาติดขัดอยู่กับความคิดสงสัยว่า
ถ้ากายใจไม่ใช่ตัวตน
แล้วตกลงเราเป็นอะไร?


ผ่านไม่ได้ ก็เจริญสติต่อไม่ได้


หากเห็นความสงสัย
โดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ได้
ก็ต้องอาศัยการพิจารณาโดยแยบคายเข้าช่วย


เดิมที ไม่มีเรามาแต่แรก
ไม่ได้มีอัตตาไหนอยู่ก่อนแล้ว
จะมีอยู่จริง ก็แต่อุปาทาน
อุปาทานว่ามีตัวเรา มีของเราอยู่เป็นขณะๆ


ที่ต้องบอกว่า
มีอยู่แต่ ‘อุปาทานเป็นขณะๆ’
ก็เพราะอุปาทานในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน


อุปาทานว่ามีตัวตนเป็นเด็ก
ต่างกันมากจากอุปาทานว่ามีตัวตนเป็นผู้ใหญ่
เห็นต่างกัน คิดต่างกัน ตัดสินใจต่างกัน
เป็นคนละคนกัน บางทีราวกับเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน


อุปาทานว่ามีตัวตนยึดมั่นอุดมการณ์ข้างไหน
ต่างกันกับตัวตนฝ่ายตรงข้ามเป็นคนละฝั่ง
แต่ท้ายสุดเมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อประจักษ์บางสิ่ง
ก็คลี่คลาย กลายร่างเป็นข้างตรงข้ามง่ายๆ
ในชั่วข้ามวันข้ามคืน
แต่ทุกข้าง อาศัยโทสะโมหะแบบเดิมๆอยู่นั่นเอง
โทสะโมหะที่บีบให้สำคัญไปว่า
มีข้างที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด เป็นพระเอกที่สุด


หรือใกล้ตัวที่สุด ติดตัวที่สุด
อุปาทานว่ากำลัง ‘มีตัวเราหายใจอยู่’
ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้ามาชี้ให้มองตามพระองค์ว่า
ลมหายใจนี้ มีออก มีเข้า มียาว มีสั้น
เมื่อมองตามท่านชี้แค่ไม่กี่นาที
กระทั่งจิตแปรจากคิดฟุ้งเป็นนิ่งรู้ สว่างแจ้ง
จึงค่อยเห็นตามจริงว่า
ไม่เคยมีเราหายใจ
มีแต่ร่างกายเป็นเครื่องผ่านลมเข้า
และเป็นที่ระบายลมออก
ไม่เคยมีลมหายใจซ้ำชุดกันตั้งแต่เกิดจนตาย
ซึ่งก็ไม่ต่างจากภาวะทางกายอื่นๆ
เช่น หลังตรงบ้าง หลังงอบ้าง
กล้ามเนื้อเกร็งบ้าง ผ่อนคลายเนื้อตัวบ้าง
แล้วก็ไม่ต่างจากภาวะทางใจอื่นๆ
เช่น สบายใจบ้าง อึดอัดใจบ้าง 
สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง
จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง


แต่ทั้งๆที่รู้อยู่อย่างนั้น
ก็ไม่ใช่จะสลัดอุปาทานกันง่ายๆ
ต้องอาศัยเวลา ผ่านวัน ผ่านเดือน ผ่านปี
จดจ่อรู้ จดจ่อดูความไม่เที่ยงทั้งหลาย
จนกว่าจะตกผลึก
จิตแปรเป็นความสว่างรู้ที่ไร้ตัวตน
เลิกคิด เลิกฟุ้งซ่าน เลิกลังเลสับสน
เห็นภาวะทั้งหลายในกายใจเป็นแค่เครื่องคุมขัง
แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดสงสัย
ก็เป็นแค่พันธนาการด่านหนึ่ง
กระทั่งเกิดความวางเฉย ไม่ถูกอุปาทานเกาะกุม
นั่นเอง! จึงเกิดความรู้เป็นขณะๆว่า
ตัวเราคืออนัตตา ที่รู้แล้วว่าตัวเองเป็นอนัตตา
รู้แล้วว่าจะพ้นจากอนัตตาอันเป็นทุกข์ได้อย่างไร!


ดังตฤณ
ธันวาคม ๖๐




review


พระพุทธองค์ได้ทรงวิสัชนาถึงเหตุต่างๆ
ที่ทำให้แต่ละตระกูลร่ำรวยหรือยากจน
ติดตามได้ในคอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "กุลสูตร ว่าด้วยเหตุปัจจัย ๘ อย่างทำให้ตระกูลคับแค้น"


ส่วนคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ฉบับนี้
คุณงดงามได้ค้นคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องการนอน
ซึ่งปรากฏในพระสูตรต่างๆ
นำเสนอในตอน "การใส่ใจในเวลาก่อนนอน" ค่ะ


การมีใจยินดีในการสร้างกุศลประเภทต่างๆ ของผู้อื่น
หรือแม้แต่ความอิ่มใจยามชมละครที่มีฉากทำบุญ
จะส่งผลอย่างไรในยามที่กรรมเผล็ดผล
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "การอนุโมทนาบุญมีผลอย่างไร"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP