ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปัญจกังคสูตร ว่าด้วยช่างไม้ปัญจกังคะถามปัญหาพระอุทายี


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๔๐๙] ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่
ไหว้ท่านพระอุทายีแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้เท่าไรหนอ
ท่านพระอุทายีตอบว่า คฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง
คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
คฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างนี้แล.


[๔๑๐] เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว
ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง
ตรัสไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสุขอันสงบอันประณีต
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า
คฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้
แม้ครั้งที่ ๒ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย
ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสุขอันสงบอันประณีต
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า
คฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย
ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้
แม้ครั้งที่ ๓ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย
ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสุขอันสงบอันประณีต
ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะช่างไม้ตกลงได้
ฝ่ายช่างไม้ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายีตกลงได้.


[๔๑๑] ท่านพระอานนท์ ได้ฟังการสนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายีกับช่างไม้
ครั้นแล้วได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ นั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กราบทูลการสนทนาปราศรัยแม้นั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์
ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตามปริยายอันมีอยู่ของภิกษุอุทายี
ส่วนภิกษุอุทายีไม่คล้อยตามปริยายอันมีอยู่ของช่างไม้.



ประเภทแห่งเวทนา

[๔๑๒] อานนท์ โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี
โดยปริยายหนึ่งเรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี
อานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้
อานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล
ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว
เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นหวังได้
คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน เกิดความทะเลาะกัน
วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก
อานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล
อานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้
ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว
เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้ชนเหล่านั้นพึงหวังได้
คือ ชนเหล่านั้นจักพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นดุจน้ำเจือด้วยน้ำนม มองกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่.



กามสุข

[๔๑๓] อานนท์ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน.
คือ รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
เสียงที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยโสตะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
กลิ่นที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
รสที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
กามคุณ ๕ เหล่านี้แล
อานนท์ สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้
นี้เรา เรียกว่ากามสุข.


[๔๑๔] อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.



สุขอื่นที่เหนือกว่า

[๔๑๕] อานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้น มีอยู่.


[๔๑๖] อานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใครยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌานอันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุขอันเกิดแก่สมาธิอยู่.
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.


[๔๑๗] อานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั้นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.


[๔๑๘] อานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น.


[๔๑๙] อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.


[๔๒๐] อานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า
อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย
เพราะความดับสูญแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย
เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญาทั้งหลายโดยประการทั้งปวงอยู่
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.


[๔๒๑] อานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว
เข้าวิญญาณัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.


[๔๒๒] อานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว
เข้าอากิญจัญญายตนฌานโดยบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มี
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้น มีอยู่.


[๔๒๓] อานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว
เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้
เราไม่ยอมตามคำแก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.
เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่.


[๔๒๔] อานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน.
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมบัติอยู่
นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น
ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
พระสมณโคดมกล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข
ข้อนี้นั้นเพราะเหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร.
นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์มีวาทะอย่างนี้
พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงหมายเอาสุขเวทนา บัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุขเลย
บุคคลย่อมได้สุขในฐานะใด ๆ มีความสุขในฐานะใด ๆ
พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้น ๆ ไว้ในความสุขทุกแห่ง.


ปัญจกังคสูตร จบ



(ปัญจกังคสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๙)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP