ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจึงจะเห็นอนัตตาได้อย่างถูกต้อง



ถาม
– ดิฉันฝึกตามรู้ตามดูกายใจ แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของอนัตตา
อยากทราบว่าเวลาดู ต้องคิดนำเรื่องอนัตตาประกอบด้วยหรือเปล่าคะ


ถ้าเอาตามแนวการฝึกแบบสติปัฏฐาน ๔ นะครับ
ในส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ดูแล้วจะก่อให้เกิดอนัตตสัญญา หรือความรู้สึกว่าเป็นอนัตตานะ
ก็คือจะต้องเห็นว่าตาประจวบกับรูปนะ
แล้วเรารู้ว่าปฏิกิริยาทางใจเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น
หรือว่าเกิดเป็นความเห็นกิเลสประเภทใดขึ้นมานะ
หรือว่าหูประจวบกับเสียง แล้วเกิดปฏิกิริยาทางใจอย่างไรนะ
เกิดความยึดมั่นถือมั่นแค่ไหน



เอาอย่างนี้ ง่ายๆ เลย ท่องง่ายๆ นะว่าที่เราจะเห็นว่าเป็นอนัตตาได้
จะต้องรู้สึกถึงปฏิกิริยาทางใจ ว่าเป็นยึดหรือไม่ยึดนะ
เห็นทั้งความยึดแล้วก็ไม่อยากจะยึด

ถ้าหากว่าเห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะรู้สึกขึ้นมาว่า
อาการของใจที่มันเข้าไปต่อติด มันเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
สักแต่เป็นแค่ปฏิกิริยาทางใจชั่ววูบชั่ววาบเท่านั้น

ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นได้นะ
ยกตัวอย่างสำหรับผู้หญิงก็แล้วกัน
เอาง่ายๆ เห็นกระเป๋า เห็นเสื้อใหม่ๆ นะ ลดราคาห้าสิบเปอร์เซ็นต์
รู้สึกตาลุกขึ้นมานะ แต่เดิมไม่เคยอยากได้สินค้าตัวนี้ขึ้นมาก่อน
พอเห็นห้าสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาปุ๊บ อยากได้ทันที
อย่างนี้นี่ก็เรียกว่าตาเห็นรูป ตาไปประจวบกับเลขห้าสิบเปอร์เซ็นต์
แล้วเกิดอาการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาว่าต้องเอาให้ได้นะ
อยากได้ อยากมีขึ้นมา เพราะว่ามันถูกใจนะ มันโดนใจ
ลักษณะแบบนี้นี่นะ ถ้าเราสามารถรู้สึกได้เสียก่อน
ตั้งแต่ตอนที่เห็นห้าสิบเปอร์เซ็นต์นะ
แล้วใจมันมีความอยากทะยานเข้าไป ยึดเข้าไปนะ
เห็นได้แล้วก็รู้สึกได้ว่า เอ๊ะ เลขห้าสิบเปอร์เซ็นต์กับอาการยึดมั่นถือมั่น
มันเกิดขึ้นพร้อมกัน คือตาเห็นรูปปุ๊บนะ
มันเกิดอาการแล่นไป อยากจะจับจองเป็นเจ้าของทันที
สักแต่เป็นอาการทางใจเท่านั้น
ห้าสิบเปอร์เซ็นต์นี่จริงๆ แล้วไม่ได้ทำให้สินค้าเปลี่ยนแปลงเลย
ไม่ได้ทำให้คุณภาพของมันเพิ่มขึ้น แต่ว่าทำให้เรารู้สึกว่าได้เปรียบนะ
ทำให้เรารู้สึกว่าฉันซื้อได้ถูกกว่าคนอื่นอีกเยอะแยะที่ซื้อไปก่อนหน้า อย่างนี้



ด้วยอาการทะยานของใจนะ ถ้าหากว่าเราเห็นอยู่เสมอๆ
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเลขห้าสิบเปอร์เซ็นต์อะไรแบบนี้
แต่เห็นแม้กระทั่งว่าเสื้อผ้า หรือว่าอาหาร หรือว่าจะเป็นรองเท้า
จะเป็นของอะไรก็แล้วแต่ ที่เห็นได้ด้วยตา หรือได้ยินได้ด้วยหูนะ
แล้วเกิดความทะยานแล่นไป เห็นอาการทะยานแล่นนี้บ่อยๆ
จนกระทั่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาในครั้งหนึ่ง ในครั้งที่ร้อย ในครั้งที่พันที่เห็นนะ
ว่า เอ๊ะ นี่สักเป็นแต่ภาวะ อาการทางใจที่มันทะยานแล่นออกไป
จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีค่า มันไม่ได้มีความหมายของวัตถุที่มันเพิ่มขึ้น
หรือว่าที่มันจะดีหรือไม่ดีแค่ไหน
มันเป็นแค่อาการทางใจของเราแล่นออกไปเอง



พอเห็นอย่างนี้มากๆ เข้า บ่อยๆ เข้า
ในที่สุดแล้วนะ ใจเกิดความรู้สึกว่าของนี่ไม่ได้น่ามี ไม่ได้น่าเอาอยู่โดยตัวของมันเอง
มีแต่อาการทางใจ หรือปฏิกิริยาทางใจของเราเท่านั้นที่เกิดขึ้น
เห็นอย่างนี้นะ ในที่สุดปฏิกิริยาทางใจที่เกิดขึ้นทุกครั้ง
ที่มันแล่น ที่มันโจนทะยานออกไป ที่มันมีอาการเหมือนจะต้องเอาให้ได้
กลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ แต่เฉยในที่นี้ไม่ใช่เฉยแบบเฉยชาหรือว่าเฉื่อยชานะ
แต่เป็นอาการเฉยอันเกิดจากความรู้ว่าปฏิกิริยาทางใจมีไปก็เท่านั้น
นี่ตรงนี้ ในที่สุดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร
ตาประจวบกับรูปนะ ปฏิกิริยาทางใจก็จะออกมาเป็นว่า
นี่มีความรู้ว่าใจไม่มีปฏิกิริยาไปในทางแล่นออกไป
มันสักแต่เห็นว่า เออ ใจมันว่างๆ มันโล่งๆ อยู่
โล่งอยู่ด้วยอาการรู้ โล่งอยู่ด้วยอาการเห็น
หรือแม้แต่ได้ยิน หรือแม้แต่ได้กลิ่น หรือแม้แต่ได้แตะต้อง



หรือกระทั่งสุดยอดเลยก็คือว่าพอความคิดเกิดขึ้นกระทบใจ แล้วใจไม่มีปฏิกิริยานะ
แทนที่ว่าคิดอย่างนี้จะอาฆาตแค้น คิดอย่างนั้นจะเกิดความอยากได้
คิดอย่างโน้นจะเกิดความกังวลไปถึงอนาคตข้างหน้า
มันมีแต่ปฏิกิริยาออกมานะว่าสักแต่รู้ว่ามีความคิดกระทบใจ
แล้วไม่มีปฏิกิริยาเป็นชอบเป็นชังออกมานะ
ตรงนี้เราก็จะรู้สึกว่า เออ มันสักแต่มีอะไรมาประจวบกับใจ
มีอะไรมากระทบเข้ากับแก้วตา มากระทบกับหู
แต่สักแต่เป็นเรื่องที่ตามันไปกระทบเอง หูมันไปกระทบเอง
ไม่เกี่ยวกับเรานะ ไม่เกี่ยวกับตัวของเราที่จะไปยึดมั่นถือมั่นอะไร
นี่ตรงนี้มันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าทั้งหลายทั้งปวงมันแค่เป็นอนัตตานะ
มันไม่ได้มีอะไรอยู่จริงๆ มันไม่ได้มีความน่ายึดมั่นถือมั่นอยู่จริงๆ
พอความยึดมั่นถือมั่น พออุปาทานมันดับไป มันไม่เกิดขึ้น
อนัตตามันก็ปรากฏของมันอยู่แล้ว



คำว่าอนัตตานี่ก็คืออะไรทั้งหลายทั้งปวงนะ
สภาพธรรมมาประชุมมาประกอบกัน
ไม่สามารถไปชี้ว่าตัวใดตัวหนึ่งนี่มันเป็นตน มันเป็นของเรา
มันสามารถบังคับเอาได้ มันจะครอบครองเป็นเจ้าของได้
ความรู้สึกทางใจนั้นมันจะเห็นหมดเลยว่า
ทั้งหลายทั้งปวงมีแต่กระทบแล้วเด้งดึ๋ง กระทบแล้วเด้งดึ๋งนะ
ไม่มีการกระทบแล้วมีก่อปฏิกิริยาทางใจ
เป็นความรู้สึกว่านี่เราอยากได้ นี่เป็นของเรานะ
ความรู้สึกอันเนื่องด้วยเราหรือเกี่ยวข้องกับตัวเรา
พอมันหายไปเสียอย่างเดียว เหลือแต่ใจเปล่าๆ เหลือแต่ใจที่มันรู้อยู่เห็นอยู่
ว่างอยู่อย่างเป็นอุเบกขา ว่างอยู่อย่างรู้นะว่า เออ ไม่มีตัว มีแต่อนัตตานะครับ



นี่แหละตรงนี้แหละนะ เอาว่ากันด้วยเรื่องการปฏิบัติเลยก็แล้วกัน
อย่าเอาแค่นิยาม นิยามเปล่าๆ นี่บางทีท่องกันได้ง่ายๆ นะ
บอกว่าอนัตตาคืออะไรๆ ที่มันมาประชุมกันชั่วคราว
แล้วก็จะต้องเสื่อมสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน บังคับเอาไม่ได้
แต่ที่จะเกิดความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนี่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนนะว่าต้องดูในอายตนบรรพ ในสติปัฏฐาน ๔
ฝึกตามนั้นได้ก็จะเกิดความรู้สึกว่ามันเป็นอนัตตาจริงๆ
แต่ถ้าหากว่าจะฝึกโดยความเป็น คือเห็นอนิจจังนะ หรือว่าเกิดอนิจจสัญญา
พระพุทธเจ้าก็ให้ดูขันธบรรพนะครับ


เดี๋ยวลองไปดูรายละเอียดในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ผมเขียนนะ
เข้าใจว่าคุณน่าจะเคยเห็นนะครับ
หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร สามารถที่จะดาวน์โหลดมาอ่านได้ฟรีๆ ทั้งเล่มนะ

(ดาวน์โหลด (คลิก))


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP