จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ละนันทิอย่างไร


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



222 destination



เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ผมได้สนทนากับเพื่อนสมัยโรงเรียนมัธยมท่านหนึ่ง
โดยเพื่อนท่านนี้ได้แนะนำให้เพื่อน ๆ ภาวนาด้วยการละนันทิ
(“นันทิ” แปลว่า ความเพลิดเพลิน หรือความยินดี)
กล่าวคือ เมื่อมีผัสสะใด ๆ อะไรมากระทบทางกายหรือทางใจก็ตาม
ก็ให้เรารีบรู้ตัว และละความเพลินในผัสสะที่มากระทบนั้น ๆ
แล้วก็ให้นำจิตไปรู้อยู่ที่ลมหายใจ เพื่อละการเกิดภพ


ผมได้ให้ความเห็นแย้งวิธีการดังกล่าวในสองเรื่องนะครับ
โดยเรื่องแรกคือ การเจริญวิปัสสนานั้น ไม่ได้กระทำด้วยการละนันทิ
และการละนันทิก็ไม่ใช่วิธีการเจริญวิปัสสนา
แต่การละนันทิเป็นผลมาจากการเจริญวิปัสสนา


โดยขอให้เราพิจารณาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังต่อไปนี้
ใน “นันทิขยสูตรที่ ๑” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
[๒๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นจักษุอันไม่เที่ยงนั่นแลว่า ไม่เที่ยง
ความเห็นของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบย่อมเบื่อหน่าย
เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน
เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน และราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯลฯ
ภิกษุเห็นใจอันไม่เที่ยงนั่นแลว่า ไม่เที่ยง
ความเห็นของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นความเห็นชอบ
เมื่อเห็นชอบย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ
เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ
เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=18&A=3698


ใน “นันทิขยสูตรที่ ๒” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
[๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแลว่า ไม่เที่ยง
ความเห็นของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบย่อมเบื่อหน่าย
เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน
เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว
ภิกษุเห็นเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันไม่เที่ยงนั่นแลว่า ไม่เที่ยง
ความเห็นของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นความเห็นชอบ
เมื่อเห็นชอบย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ
เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน
เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=18&A=3709


ใน “นันทิขยสูตรที่ ๔” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
[๒๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงใส่ใจถึงจักษุโดยอุบายอันแยบคาย
และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งจักษุตามความเป็นจริง
เมื่อใส่ใจถึงจักษุโดยอุบายอันแยบคาย
และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งจักษุตามความเป็นจริง
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ
เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน
เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่าจิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯลฯ
เธอทั้งหลายจงใส่ใจถึงใจ โดยอุบายอันแยบคาย
และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งใจตามความเป็นจริง
เมื่อใส่ใจถึงใจ โดยอุบายอันแยบคาย
และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งใจตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ
เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน
เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่าจิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=18&A=3719


ใน “นันทิขยสูตรที่ ๔” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
[๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงใส่ใจถึงรูปโดยอุบายอันแยบคาย
และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูปตามความเป็นจริง
เมื่อใส่ใจถึงรูปโดยอุบายอันแยบคาย
และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูปตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน
เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯลฯ
เธอทั้งหลายจงใส่ใจถึงธรรมารมณ์โดยอุบายอันแยบคาย
และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งธรรมารมณ์ตามความเป็นจริง
เมื่อใส่ใจถึงธรรมารมณ์โดยอุบายอันแยบคาย
และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งธรรมารมณ์ตามความเป็นจริง
ย่อมเบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ
เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นความเพลิดเพลินและราคะ
เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=18&A=3732


ผมได้ยก ๔ พระสูตรมาข้างต้น ซึ่งขอให้สังเกตว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเรื่องเหตุปัจจัยเป็นลำดับขั้นตอนนะครับ
โดยท่านไม่ได้ทรงสอนว่าให้เราละนันทิ หรือละความเพลิน
แต่ท่านทรงสอนว่า
๑. เพราะเห็นความตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย
๒. เพราะเบื่อหน่าย จึงสิ้นความเพลิน
๓. เพราะสิ้นความเพลิน จึงสิ้นราคะ
๔. เพราะสิ้นราคะและความเพลิน จึงหลุดพ้น


เช่นนี้แล้ว ในวิธีการภาวนานั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านไม่ได้ทรงสอนให้ละความเพลิน
แต่การละความเพลินนั้น เป็นผลมาจากการเบื่อหน่าย
และการเบื่อหน่ายนั้น ก็เป็นผลมาจากเห็นความตามความเป็นจริง
ดังนี้แล้ว วิธีการภาวนาคือ เห็นความตามความเป็นจริง
แล้วก็จะส่งผลให้เบื่อหน่าย ซึ่งจะส่งผลให้ละความเพลิน ตามลำดับ
(ไม่ใช่ว่าเราไปหยิบผลของการภาวนามาเป็นวิธีการภาวนา)


ผมจะขออธิบายเปรียบเทียบกับกรณีเด็กนักเรียนสอบเข้าเรียนนะครับ
สมมุติว่า ผมอธิบายเหตุปัจจัยในแต่ละขั้นตอน ดังต่อไปนี้
๑. เพราะเห็นความสำคัญในการสอบเข้าได้ จึงทำให้ตั้งใจเรียน
๒. เพราะตั้งใจเรียน จึงทำคะแนนได้ดี
๓. เพราะทำคะแนนได้ดี จึงสอบเข้าได้


ถ้าเหตุปัจจัยในการสอบเข้าเป็นตามลำดับดังอธิบายข้างต้นแล้ว
วิธีการที่สอบเข้าได้ ไม่ใช่การทำคะแนนได้ดีนะครับ
เพราะอยู่ ๆ เราจะไปสั่งเด็กว่า “จงทำคะแนนได้ดี”
เด็กจะทำได้อย่างไรล่ะครับ มันไม่ใช่เรื่องที่เสกได้
แต่มันเป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ฉะนั้น วิธีการจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน
กล่าวคือ หากสอนให้เด็กเห็นความสำคัญของการสอบเข้าได้
ก็จะส่งผลให้เด็กตั้งใจเรียน
และเมื่อเด็กตั้งใจเรียน ก็จะส่งผลให้ทำคะแนนได้ดี
แล้วก็ส่งผลให้สอบเข้าได้ในที่สุด


ในทางกลับกัน หากเด็กไม่เห็นความสำคัญหรือไม่ให้ความสำคัญแล้ว
เด็กก็จะไม่ตั้งใจเรียน แล้วในเมื่อเด็กไม่ตั้งใจเรียนแล้ว
อยู่ ๆ จะไปสั่งให้เด็กทำคะแนนให้ได้ดี เพื่อให้สอบเข้าได้
มันย่อมไม่เกิดผลที่ต้องการ เพราะไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัยครับ


ฉะนั้นแล้ว ในเรื่องของการภาวนานั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงสอนว่าให้เริ่มต้นที่การเห็นตามความเป็นจริง
เมื่อเห็นความเป็นจริงแล้ว ย่อมจะส่งผลให้เบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมจะส่งผลให้ละความเพลิน
แต่ท่านไม่ได้ทรงสอนว่าวิธีการคือให้ไปละความเพลินนะครับ
(กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราต้องทำเหตุให้เกิดผล ไม่ใช่ไปทำผล)


หากถ้าไม่เบื่อหน่ายแล้ว ย่อมไม่มีทางละเพลินได้
เราลองพิจารณานะครับ สมมุติว่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม
ตราบใดที่เราเห็นของสิ่งนั้นเป็นของดีของวิเศษแล้ว
เราจะสามารถไปละความเพลินในของสิ่งนั้นได้ไหม?
ตอบว่า ละไม่ได้หรอกครับ ในเมื่อเราเห็นว่ามันเป็นของดีของวิเศษนี่นะ
ที่สำคัญคือ หากมันเป็นของดีของวิเศษจริง ๆ แล้ว
เราจะไปละมันทำไมล่ะ ควรต้องรีบยึดไว้สิ ของดีของวิเศษนี่นะ
แต่หากเราเห็นตามจริง และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า
สิ่งที่เราหลงยึดว่าเป็นของดีของวิเศษนั้น
แท้จริงแล้วไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย
แต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้
และเป็นของที่เราไม่สามารถยึดถือเป็นตัวตนได้
เมื่อเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้วว่า
ของสิ่งนั้นไม่ใช่ของดีของวิเศษ ย่อมเบื่อหน่ายในของสิ่งนั้น
และเมื่อเบื่อหน่าย ก็ย่อมละความเพลินในของสิ่งนั้นได้เป็นธรรมดา


เรื่องที่สองที่ผมให้ความเห็นแย้งก็คือ การนำจิตไปรู้อยู่ที่ลมหายใจ
ก็ยังเป็นการเกิดภพอยู่ดีนะครับ ไม่ได้แปลว่าไม่เกิดภพแล้ว
ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้


เช่นนี้แล้ว ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็ยังเกิดภพนะครับ
โดยก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย
การดับภพไม่ได้ดับด้วยการนำจิตไปรู้อยู่ที่ลมหายใจ
แต่ต้องดับที่ต้นเหตุคือดับอวิชชา (คือความไม่รู้)
การดับอวิชชาก็สามารถกระทำด้วยการสร้างวิชชา (คือความรู้)
ด้วยการเห็นตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความเห็นชอบนั่นเอง
ซึ่งเมื่อเกิดวิชชาแล้ว อวิชชาย่อมไม่เกิด
เมื่อวิชชาไม่เกิดแล้ว ย่อมส่งผลให้ภพไม่เกิดตามไปด้วย



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP