จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (ตอนจบ) ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



221 destination



วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ซึ่งในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา คอลัมน์จุดหมายปลายธรรมได้นำเสนอ
ข้อมูลเกี่ยวกับพระบรมราโชวาท พระราชกรณีกิจ และพระอัจฉริยภาพบางส่วน
โดยยังมีพระบรมราโชวาท พระราชกรณีกิจ
และพระอัจฉริยภาพอีกมากมายที่ไม่ได้นำมาเสนอ
ถ้าจะพิจารณายกตัวอย่างเฉพาะในเรื่องพระอัจฉริยภาพที่ยังไม่ได้นำมาเสนอแล้ว
ก็ยกตัวอย่าง เช่น พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและงานวรรณกรรม
พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม และประติมากรรม พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ
พระอัจฉริยภาพด้านการช่าง และพระอัจฉริยภาพด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


อย่างไรก็ดี ในบทความตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีย์บทความพ่อหลวงของแผ่นดินแล้ว
(และหลังจากนี้ จะได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับธรรมะต่อไป)
ผมจึงใคร่ขอนำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจบางส่วนมานำเสนออย่างย่อ ๆ
เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านครับ



ปี ๒๔๗๐ (วันที่ ๕ ธันวาคม) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงประสูติ
ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบร์น (Mount Auburn Hospital)
เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระราชทานพระนาม
“ภูมิพลอดุลยเดช” มีความหมายว่า “ผู้มีเดช ไม่มีที่เปรียบ เป็นพลังของแผ่นดิน”



ปี ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนก คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช
กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ทรงมีปัญหาด้านพระสุขภาพ จึงได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมทั้งครอบครัว



ปี ๒๔๗๒ (วันที่ ๒๔ กันยายน) สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต
ขณะนั้นสมเด็จพระราชชนนีมีพระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษา
ต้องรับพระราชภาระเลี้ยงดูพระธิดา และพระโอรสตามลำพัง
ซึ่งมีพระชนมายุ ๖ พรรษา ๔ พรรษา และ ๑ พรรษา ๙ เดือนตามลำดับ



ปี ๒๔๗๓ เมื่อพระชันษาประมาณ ๓ พรรษา ทรงเริ่มสนพระทัย
และโปรดที่จะทำบ่อน้ำเล็ก ๆ ให้มีทางน้ำไหลไปตามที่ต้องการ



ปี ๒๔๗๔ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนราชินีล่าง ปากคลองตลาด
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘)
ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์
ส่วนในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลของมิสซิส เดวีส์ ซิมเมอร์แมน
ซึ่งเปิดบ้านเป็นโรงเรียนสอนเด็กเล็ก



ปี ๒๔๗๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอี


(วันที่ ๑๐ ธันวาคม) รัชกาลที่ ๗ พระราชทานรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรสยามให้แก่ประชาชนชาวไทย



ปี ๒๔๗๖ สมเด็จพระราชชนนีทรงพาพระธิดาและพระโอรส
ไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์
เมื่อทรงพระชันษา ๖ พรรษา ทรงซื้อกล้องถ่ายรูปกล้องแรก
ด้วยเงินส่วนพระองค์ ราคา ๒.๕๐ ฟรังก์ ฟิล์มม้วนละ ๐.๕๐ ฟรังก์



ปี ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗)
ทรงประกาศสละราชสมบัติขณะประทับ ณ เมืองแครนลี ประเทศอังกฤษ
ทรงมิได้แต่งตั้งผู้ใดสืบราชสมบัติ


(วันที่ ๖ และ ๗ มีนาคม) สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมพิจารณา
เรื่องการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องผู้สืบราชสันตติวงศ์แล้ว
เห็นชอบที่จะอัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์
เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งราชจักรีวงศ์
ขณะที่พระชนมมายุเพียง ๘ พรรษา ๕ เดือน


(วันที่ ๗ มีนาคม) รัฐบาลได้มีโทรเลขไปยังเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เพื่อกราบทูลเรื่องอัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์



ปี ๒๔๗๘ (วันที่ ๑๐ กรกฎาคม) ในขณะนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น
พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับสถาปนาเป็น

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช


(ปลายเดือนสิงหาคม) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ทรงจบการศึกษาชั้นประถมศึกษา แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ
ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์
(Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองโลซานน์



ปี ๒๔๘๐ ทรงฉลองพระเนตร (แว่นตา)


ทรงสร้างเครื่องรับวิทยุแร่ขึ้นใช้เอง


ทรงเริ่มสนพระทัยดนตรีโดยทรงหีบเพลง (accordion)
แต่ทรงเรียนไม่กี่ครั้งก็ทรงเลิก เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงเรียนเปียโน
และ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงเห็นว่าหีบเพลงไม่เข้ากับเปียโน



ปี ๒๔๘๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทยครั้งแรก และประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลา ๕๙ วัน



ปี ๒๔๘๒ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒
สภาพความเป็นอยู่ในระหว่างสงครามมีความยากลำบาก
เช่นเดียวกับครอบครัวประชาชนชาวสวิสทั้งหลาย
ทรงได้รับบัตรปันส่วนอาหารเช่นเดียวกับชาวสวิส
ทรงจักรยานเวลาเสด็จฯ ไปโรงเรียน
สมเด็จพระราชชนนีทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนย
และเก็บผลไม้มาทำแยมเก็บเอาไว้
โดยในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น
มีนายเปลื่อง ศิริภัทร เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรไทย



ปี ๒๔๘๓ ทรงเริ่มส่งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ไปลงพิมพ์ในนิตยสารสแตนดาร์ด
ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
(จนแม้กระทั่งเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ยังทรงถ่ายภาพไปลงนิตยสารอยู่)



ปี ๒๔๘๘ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลง
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาส กลาซีค กังโตนาล
(Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์
ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์
และได้เสด็จเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์
(Universite de Lausanne) โดยทรงศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์


ในปีเดียวกันนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทยครั้งที่สอง
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๘ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรตามต่างจังหวัด และนอกเขตพระนครหลายแห่ง


สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยา
โดยศึกษาข้อมูลจากของจริงทั้งหมด แล้วจึงทรงย่อส่วนลง
ทรงทำตัวเรือให้สูงจากระดับน้ำขึ้นมา ฝีพระหัตถ์งานชิ้นนี้ละเอียดและงดงาม
จนเจ้าพระยารามราฆพได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปประมูล
เพื่อการกุศลหาทุนบำรุงโรงพยาบาลปราบวัณโรค
ปรากฏว่านำไปประมูลขายได้ในราคา ๒๐,๐๐๐ บาท
และยังมีรูปถ่ายเรือจำลองลำดังกล่าวอีก ๒ รูปซึ่งนำไปประมูลได้รูปละ ๓,๐๐๐ บาท



ปี ๒๔๘๙ (วันที่ ๙ มิถุนายน) ในหลวงรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน
โดยในคืนวันเดียวกันนั้น รัฐสภาได้เปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์
ตามกฎบณเฑียรบาลว่าด้วยผู้สืบราชสันตติวงศ์แล้ว ได้มีมติเอกฉันท์ให้
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่
จึงได้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันเดียวกัน ขณะที่ทรงพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา ๖ เดือน
แต่เนื่องจากยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ รัฐสภาจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการขึ้น
ประกอบด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี


(วันที่ ๑๙ สิงหาคม) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จฯ
เพื่อกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในระหว่างที่รถแล่นฝ่าฝูงชนไปอย่างช้า ๆ ผ่านถนนราชดำเนินกลาง
ไปจนถึงวัดเบญจมบพิตร ทรงได้ยินเสียงคนหนึ่งร้องขึ้นว่า “อย่าละทิ้งประชาชน”
พระองค์ทรงอยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า
“ถ้าประชาชนไม่ละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้”
แต่รถได้วิ่งเลยไปไกลเสียแล้ว


ด้วยเหตุที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะต้องทำหน้าที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อเสด็จฯ กลับถึงเมืองโลซานน์แล้ว จึงทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษา
เป็นวิชาสังคมศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงเลือกไว้ตั้งแต่แรก
ในวิชาที่ทรงศึกษานี้ ได้ทรงศึกษาเกี่ยวกับการปกครอง กฎหมาย
ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และรัฐศาสตร์
ทางด้านอักษรศาสตร์ทรงศึกษาจนมีพระปรีชาสามารถ
ในภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน


ในปีเดียวกันนี้ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงแสงเทียน
เพลงยามเย็น เพลงสายฝน เพลงใกล้รุ่ง เพลง H.M. Blues
และเพลง Never Mind the Hungry Men’s Blues


ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” แล้วเสร็จ
(โดยพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือนวงวรรณคดี
ฉบับประจำเดือนสิงหาคม ๒๔๙๐ เป็นตอนแรก)


ทรงรับดำรงตำแหน่ง พระบรมราชูปถัมภ์แก่สภากาชาดไทย



ปี ๒๔๙๐ ทรงถ่ายภาพยนตร์การจุดดอกไม้เพลิง
ในงานฉลองฤดูร้อนบริเวณสวนสาธารณะที่เมืองโลซานน์



ปี ๒๔๙๑ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงอาทิตย์อับแสง เพลงเทวาพาคู่ฝัน
ทรงเสด็จฯ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
และได้ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นครั้งแรก


(เดือนตุลาคม) ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ริมทะเลสาบเยนีวา
เมืองมอร์ช (Morges ) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทำให้พระเนตรขวากระทบกระเทือน และต้องทรงพระเนตรปลอมในที่สุด



ปี ๒๔๙๒ ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
โดยพิธีหมั้นได้จัดเป็นการภายในที่โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงมหาจุฬาลงกรณ์



ปี ๒๔๙๓ ทรงเสด็จนิวัติกลับสู่ประเทศไทย


ทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศจอมพล
ของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ


(วันที่ ๒๘ - ๓๐ มีนาคม) ทรงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ของในหลวงรัชกาลที่ ๘


(วันที่ ๒๘ เมษายน) ทรงพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม


(วันที่ ๕ พฤษภาคม) ทรงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
และทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงคำหวาน และเพลงแก้วตาขวัญใจ


ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
แก่สภากาชาดไทย เพื่อให้สร้าง “ตึกมหิดลวงศานุสรณ์”
เพื่อเป็นสถานที่ค้นคว้า และทดลองทางวิทยาศาสตร์
ในการผลิตวัคซีนบีซีจีขึ้นใช้ภายในประเทศ แทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
เพื่อแก้ไขปัญหาโรควัณโรคที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนั้น



ปี ๒๔๙๔ (วันที่ ๕ เมษายน) ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อโสมส่อง และเพลงพรปีใหม่



ปี ๒๔๙๕ (วันที่ ๒๘ กรกฎาคม) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ประสูติ


ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น”
พระราชทานแก่วงดนตรี นำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศล
เพื่อหารายได้ช่วยเหลือ โครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติ
ของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์


ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้านห้วยคด
(ต่อมาเปลี่ยนเป็นห้วยมงคล) ตำบลหินเหล็กไฟ
อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต
โดยทรงนำอักษรย่อ “อ.ส.” มาจากคำว่าพระที่นั่งอัมพรสถาน
(และต่อมาในปี ๒๕๐๐ ได้ย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. ไปตั้งภายในบริเวณ
พระราชตำหนักจิตรดารโหฐาน)


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงรักคืนเรือน และเพลงธงไชยเฉลิมพล



ปี ๒๔๙๖ เนื่องจากเกิดโรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ระบาดอย่างรุนแรง
จึงทรงพระราชทานทุนประเดิมสำหรับจัดตั้งทุน “โปลิโอ สงเคราะห์” ขึ้น
พร้อมทั้งออกประกาศเชิญชวนประชาชนชาวไทย โดยเสด็จพระราชกุศล
ด้วยการทรงเล่นแซ็กโซโฟนเพลงตามคำขอทางวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต
ทำให้ได้เงินจำนวนมากส่งไปพระราชทานแก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ
และมหาวิทยาลัยมหิดล (โรงพยาบาลศิริราช) เพื่อนำไปสร้างตึก
และจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์ เครื่องเวชภัณฑ์ สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย


เนื่องด้วยประชาชนไทยจำนวนมากประสบปัญหาเป็นโรคเรื้อน
จึงทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
เพื่อให้เป็นทุนเริ่มแรก ในการสร้างอาคารสถานพยาบาลโรคเรื้อนขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
และทรงให้จัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย
เพื่อบำบัดฟื้นฟู และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน รวมทั้งฝึกอาชีพให้ผู้ป่วย
และสร้างสถานศึกษาเพื่อการอบรมเจ้าหน้าที่ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย
พร้อมทั้งหาสมมติฐานของโรคเพื่อกำจัดโรคเรื้อน
ส่งผลทำให้ประชาชนไทยหายขาดจากโรคเรื้อน
และโรคเรื้อนนี้หมดไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ
อนึ่ง ในการรักษาโรคเรื้อนแก่ผู้ป่วยบางรายที่ต้องตัดแขนหรือขาของผู้ป่วยนั้น
พระองค์ก็ได้ทรงจัดตั้งหน่วยแขนขาเทียมเพื่อพระราชทานให้ด้วย


ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า
อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยามค่ำ และเพลงมาร์ชราชวัลลภ



ปี ๒๔๙๗ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท
แก่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ เพื่อจัดสร้างหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
ทรงนำไปแสดงที่งานกาชาดที่สถานเสาวภา ซึ่งช่วยประชาสัมพันธ์งานได้อย่างดี


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงลมหนาว เพลงศุกร์สัญลักษณ์



ปี ๒๔๙๘ (วันที่ ๒ เมษายน) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนราชสุดา
กิติวัฒนาดุลโสภาภาคย์ ประสูติ


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือสำหรับบรรเทาทุกข์
และรักษาพยาบาลประชาชนที่อยู่ตามลำน้ำ
เพื่อพระราชทานแก่สภากาชาดไทยด้วย ชื่อว่า “เรือเวชพาหน์”
ซึ่งจัดเป็นเรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลำแรกของโลก


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนจิตรดา


ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Oh I Say เพลง Can’t You Ever See
เพลง Lay Kram Goes Dixie และเพลงค่ำแล้ว



ปี ๒๔๙๙ (วันที่ ๒๒ ตุลาคม) ทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
ทรงพระสมณฉายานามว่า “ภูมิพโล” และประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร


ทรงพระราชพระทานแนวพระราชดำริโครงการ “ฝนเทียม”


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียน ตชด. บำรุงที่ ๑
(โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์)



ปี ๒๕๐๐ งานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธทศวรรษ


(วันที่ ๔ กรกฎาคม) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี ประสูติ


(วันที่ ๓๑ ตุลาคม) ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ไปประทับที่พระตำหนักจิตรดารโหฐานตลอดมา
(จนกระทั่งทรงประกอบพิธีเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ
จึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงสายลม และเพลงไกลกังวล



ปี ๒๕๐๑ เนื่องด้วยเกิดเหตุอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง
ทรงพระราชทานทุนประเดิมก่อตั้งทุนปราบอหิวาตกโรค
โดยมีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจากการพระราชทานความช่วยเหลืออย่างรีบด่วน
และด้วยพระบรมราชวินิจฉัยอันรอบคอบ รวมถึงหน่วยราชการทุกหน่วยได้ร่วมมือกันเต็มที่
ทำให้ประเทศไทยสามารถปราบอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากให้ยุติสิ้นเชิงได้


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงแสงเดือน



ปี ๒๕๐๒ ทรงให้ฟื้นฟูประเพณีถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค
โดยทรงให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสำหรับ
เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม


ทรงจัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล


ทรงเริ่มพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship)
เพื่อเป็นทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาในต่างประเทศ


เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเวียดนาม


ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Somewhere Somehow
เพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน เพลง Nature Wallz (Kinari Suite)
เพลง The Hunter (Kinari Suite) เพลง Kinari Wallz (Kinari Suite)
เพลง Alexandra (แผ่นดินของเรา) และเพลงพระมหามงคล



ปี ๒๕๐๓ ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


ทรงเสด็จเยือนต่างประเทศเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ
ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศเยอรมนี
ประเทศโปรตุเกส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเดนมาร์ก
ประเทศนอร์เวย์ ประเทศสวีเดน ประเทศอิตาลี รัฐวาติกัน
ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศฝรั่งเศส ประเทศลักเซมเบิร์ก
ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศสเปน


เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินโดนิเซีย และประเทศพม่า



(ปี ๒๕๐๓ - ๒๕๑๐) หลังจากที่เสด็จทอดพระเนตรกิจการต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง
ที่ประเทศเยอรมนีแล้ว มีพระราชดำริให้กองทัพเรือต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง
โดยทรงได้ติดตามความก้าวหน้า พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย
เอกสารเกี่ยวกับวิชาการต่อเรือ คำแนะนำ และความช่วยเหลือต่าง ๆ
เพื่อช่วยทดสอบแบบเรือทางเทคนิคต่าง ๆ
จนกระทั่งในปี ๒๕๑๐ ได้เสด็จฯ ไปทรงวางกระดูกงูเรือ ต. ๙๑



ปี ๒๕๐๔ ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนภูมิพล


ทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางนาด้วยพระองค์เอง ณ วังไกลกังวล
(ต่อมาได้นำไปจัดเป็นต้นไม้ในป่าไม้สาธิตในสวนจิตรดา)


ทรงเริ่มดำเนินการโครงการนาสาธิต
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้พระราชทานใช้
ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
และเป็นการสาธิตการปลูกข้าวตัวอย่างแก่เกษตรกร



ปี ๒๕๐๕ ทรงริเริ่มโครงการโคนมสวนจิตรดา
เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกร


เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศปากีสถาน
ประเทศมาเลเซีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศออสเตรเลีย



ปี ๒๕๐๖ ทรงพระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ


เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน ประเทศฟิลิปปินส์
ประเทศเยอรมนี และประเทศออสเตรีย


ทรงพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์เข้าร่วมแสดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๔
(โดยได้พระราชทานรวมทั้งหมด ๔ ครั้ง ได้แก่ครั้งที่ ๑๔ - ๑๗)


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยูงทอง



ปี ๒๕๐๗ ทรงต่อเรือใบลำแรกด้วยพระองค์เอง เป็นเรือประเภทเอ็นเตอร์ไพร์ส
(International Enterprise Class) พระราชทานชื่อว่า “เรือราชปะแตน”


สถาบันดนตรีและกรุงเวียนนา
(The Institute of Music and Arts of City of Vienna)
ซึ่งเป็นสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลขที่ ๒๓
โดยทรงเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุด และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้



ปี ๒๕๐๘ ทรงขอพระราชทานปลานิลจากเจ้าฟ้าชายอากิฮิโต
มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับทูลเกล้าฯ ถวาย
ลูกปลานิลจำนวน ๕๐ ตัว โดยทรงนำไปเพาะเลี้ยง
หลังจากนั้น ได้พระราชทานพันธุ์ปลานิล จำนวน ๑๐,๐๐๐ ตัวแก่กรมประมง
เพื่อนำไปเพราะเลี้ยงและขยายพันธุ์ และเผยแพร่ให้แก่ประชาชน
จนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน


ทรงจัดตั้งทุน “นวฤกษ์” เพื่อให้มูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลน
ในพระบรมราชูปถัมภ์เก็บดอกผลไปใช้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน


ทรงใช้เรือ “ราชปะแตน” แข่งขันกับเจ้าชายฟิลิปส์ ดยุคแห่งเอดินเบอระ
โดยใช้เส้นทางไปกลับพัทยาเกาะล้าน มีผู้ร่วมแข่งขันทั้งหมด ๓๔ ลำ
โดยพระองค์ทรงเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง


ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Still on My Mind
เพลง Old Fashioned Melody เพลง No Moon เพลง Dream Island


ทรงประกอบพระราชพิธีพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร


(ในช่วงปี ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓) ทรงจัดสร้างพระสมเด็จจิตรดาด้วยพระองค์เอง
และพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน
จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๒,๕๐๐ องค์



ปี ๒๕๐๙ ทรงเริ่มโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร
ในโครงการหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี


(วันที่ ๑๙ เมษายน) ทรงเรือใบชื่อ “เวคา” จากหน้าพระราชวังไกลกังวล
อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวนาวิกโยธิน
อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เริ่มเวลา ๐๔.๒๘ น. ถึงเวลา ๒๑.๒๘ น.
ได้ทรงนำธงราชนาวิกโยธินปักเหนือก้อนหินใหญ่
และทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก


ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Echo และเพลงเกษตรศาสตร์


เรือใบที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงออกแบบนั้น
เหมาะกับสรีระของคนไทยและเหมาะสำหรับการแข่งขัน
มีประชาชนจำนวนมากต้องการนำเรือพระราชทานไปใช้
พระองค์จึงได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือดำเนินการต่อเรือพระราชทาน
จำหน่ายในราคาย่อมเยาให้แก่บุคคลที่ต้องการ



ปี ๒๕๑๐ ทรงริเริ่มโครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน


เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอิหร่าน ประเทศสหรัฐอเมริกา
และประเทศแคนาดา


ทรงออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เองเป็นลำสุดท้าย
ได้แก่ เรือโม้ก (Moke) เป็นเรือขนาดใหญ่กว่าเรือซุปเปอร์มด
และใกล้เคียงกับขนาดเรือโอเค


ทรงร่วมแข่งขันกีฬาเรือใบประเภท OK (O.K. Dighy Class)
ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔
(ซึ่งหลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์ SEA Game)
โดยทรงชนะเลิศเหรียญทอง




ปี ๒๕๑๑ ทรงจัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน



ปี ๒๕๑๒ ทรงจัดตั้งโครงการนมผงสวนดุสิต และศูนย์รวมนมจิตรดา


เริ่มปฏิบัติการทดลองโครงการฝนเทียมเป็นครั้งแรก
ที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา


ทรงให้ก่อตั้งโครงการพระบรมราชนุเคราะห์ชาวเขา
และมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
จนกระทั่งท้ายสุดได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง”
โดยทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์
เป็นทุนเริ่มแรกของมูลนิธิจำนวน ๕ แสนบาท


ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒ แสนบาท
ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อวิจัย ทดลอง และขยายพันธ์ผลไม้พืชเมืองหนาว
เพื่อช่วยเหลือชาวเขา และลดละเลิกการปลูกฝิ่น



ปี ๒๕๑๓ ทรงเริ่มเริ่มหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ออกแบบสายอากาศย่านความถี่สูง (UHF)
ที่ดีกว่าที่มีใช้ในขณะนั้น แทนที่จะปรับปรุงเครื่องวิทยุ
โดยในช่วงเวลานั้น ประชาชนต้องซื้อสายอากาศวิทยุจากต่างประเทศ
ซึ่งมีราคาแพง และต้องรอนาน โดยในการพัฒนาสายอากาศดังกล่าว
ทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของงานที่จะใช้และคุณสมบัติทางเทคนิค
ด้วยพระองค์เอง จนเกิดเป็นสายอากาศสุธี ๑, สุธี ๒, สุธี ๓ และ สุธี ๔



ปี ๒๕๑๔ พระราชพิธีรัชดาภิเษกเนื่องในวโรกาส
เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ ๒๕ ปี


ทรงพระราชทานพระราชดำริให้สร้างถนนรัชดาภิเษก
เพื่อเป็นวงแหวนรอบเมืองชั้นกลาง
ให้รถจากต่างจังหวัดสามารถผ่านกรุงเทพฯ ได้
โดยไม่ต้องเข้ามายังกลางเมือง


ทรงริเริ่มโครงการโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรดา


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงความฝันอันสูงสุด


สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ทูลเกล้าฯ ถวายเข็มเทิดพระเกียรติสูงสุดในศิลปะการถ่ายภาพ
(Supreme Emblem of P.ST.)



ปี ๒๕๑๕ ทรงแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาล
โดยทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร


ทรงก่อสร้าง “โรงเรียนร่มเกล้า” แห่งแรกที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม



ปี ๒๕๑๖ ทรงคลี่คลายวิกฤติเดือนตุลาคม (ในช่วงวันที่ ๑๔ - ๑๖ ตุลาคม)


ทรงพระราชทานข้อสรุปกรรมวิธีการทำฝนเทียมแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน


เริ่มพิมพ์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่มแรก
(หลังจากนั้นได้พิมพ์ออกมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า ๓๐ เล่ม)



ปี ๒๕๑๗ ทรงริเริ่มโครงการทดลองเอทานอล เพื่อใช้ทดแทนน้ำมัน


ทรงพระราชทานแบบสายอากาศเพื่อให้หน่วยงานราชการ
และรัฐวิสาหกิจอื่นนำไปใช้งาน ซึ่งปรากฏว่าระดับสัญญาณ
ของการติดต่อสื่อสารอยู่ในขั้นดีประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์
อันช่วยประหยัดเงินตราที่ต้องซื้อจากต่างประเทศและระยะเวลาที่รอสั่งซื้อ



ปี ๒๕๑๘ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๔ รอบ (๔๘ พรรษา)


ทรงริเริ่มโครงการโรงบดแกลบสวนจิตรดา


รัฐสภายุโรปทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรัฐสภายุโรป”
(Special Medal of Europe Parliament)



ปี ๒๕๑๙ ทรงริเริ่มให้ก่อตั้งธนาคารข้าว


ทรงก่อตั้งโครงการโรงเรียนพระอาบส
โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนโครงการ


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเราสู้ เพลงเรา-เหล่าราบ ๒๑



ปี ๒๕๒๐ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๐ พรรษา



ปี ๒๕๒๒ เริ่มดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือตามพระราชดำริ


เริ่มดำเนินการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก
ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา


ทรงริเริ่มโครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน


ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Blues for Uthit



ปี ๒๕๒๓ ทรงแปลหนังสือเรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” แล้วเสร็จ
โดยทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง A MAN CALLED INTREPID
(พระองค์ทรงใช้ระยะเวลาในการแปลถึง ๓ ปี
เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๒๐ และเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๓)


เริ่มมีการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ



ปี ๒๕๒๔ เริ่มดำเนินการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ตำบลสนามไชย
อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่อง “การปลูกป่า ๓ อย่างให้ประโยชน์ ๔ อย่าง”


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่อง “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก”


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่อง “การสร้างป่าเปียก”
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาป่าไม้
โดยใช้น้ำเข้ามาช่วยในการสร้างแนวป้องกันไฟไหม้ป่าในระยะยาว



ปี ๒๕๒๕ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี
และมีพระราชพิธีการเสด็จพยุหยาตราชลมารค


เริ่มก่อสร้างโครงการเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี


เริ่มดำเนินการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


เริ่มดำเนินการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร



ปี ๒๕๒๖ เริ่มดำเนินการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่


เริ่มดำเนินการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี



ปี ๒๕๒๗ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการ “แกล้งดิน”
เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำตามพระราชดำริ
โดยจัดทำฝายกันน้ำขนาดเล็ก



ปี ๒๕๒๘ ประชาชนถวายพระราชสมัญญา “มหาราช”


ทรงริเริ่มให้ดำเนินการวิจัยการผลิตเอทานอลจากอ้อย


ทรงริเริ่มให้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม


ทรงดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช


จัดตั้ง “โรงเรียนวมินทราชูทิศ” ใน ๕ ภูมิภาค


ทรงริเริ่มแนวพระราชดำริ “น้ำดีไล่น้ำเสีย”
เพื่อมาช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลองกรุงเทพมหานคร


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ
เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียและปฏิกูลขยะในกรุงเทพมหานคร



ปี ๒๕๒๙ ทรงเริ่มประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน


ทรงประดิษฐ์อักษรไทย (Font) ชื่อว่า “Fontastic”


ถวายพระราชสมัญญานาม “อัครศิลปิน”


สมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัลสันติภาพของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ
(The International Association of University Presidents Peace Award)



ปี ๒๕๓๐ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการจักรยานเผินน้ำ


จัดสร้างสวนหลวง ร. ๙ และสะพานพระราม ๙


จัดสร้างหอเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


คณะกรรมการโอลิมปิกสากลทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด


สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติในการนำชนบทให้วัฒนา
(The Gold Medal of Outstanding Leadership in Rural Development)



ปี ๒๕๓๑ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในวโรกาสที่ทรงครองราชย์นานที่สุด
(๔๒ ปี ๒๓ วัน) ยืนยาวกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ในพระราชพงศาวดาร


ทรงจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา


ทรงพระราชทานพระราชดำริในการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา
เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย


เริ่มดำเนินโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์


ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง “พระมหาชนก” แล้วเสร็จ
มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน
(โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จัดพิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล
เมื่อปี ๒๕๓๙ หนังสือเล่มนี้มีภาพวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่าน
ที่สำคัญที่สุดคือมีภาพฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เช่น
ภาพวันที่เรือล่ม โดยมีแผนที่อากาศแสดงเส้นทางพายุจริง ๆ
และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลาเหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น)


มูลนิธิแมกไซไซได้มอบรางวัลแมกไซไซ
สาขาการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแก่ โครงการหลวง



ปี ๒๕๓๒ ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า
ถวายชัยมงคลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษาจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
โดยเริ่มจากพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒ ซึ่งมีเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งนับจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา


ทรงเริ่มศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเกษตร “ทฤษฎีใหม่”
ในพื้นที่ส่วนพระองค์ที่ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี


(๔ ธันวาคม) ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งต่อมา (ในปี ๒๕๓๔) คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้
วันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมได้


สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยุอาสาสมัครทูลเกล้าฯ ถวาย
ประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณที่ทรงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
ควรแก่ประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นชั้นสูง



ปี ๒๕๓๓ ทรงจัดตั้งมูลนิธิพระดาบส
เพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการโรงเรียนพระดาบส


ราชสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร
(The Royal Photographic Society of Great Britain) กราบบังคมทูลเชิญ
ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ (Honorary Fellow)



ปี ๒๕๓๔ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการนำ “หญ้าแฝก”
มาใช้ประโยชน์เป็นครั้งแรก


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ
โครงการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนในจังหวัดต่าง ๆ


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสาน
ระหว่างพืชน้ำและระบบเติมอากาศที่หนอมสนมและหนองหาน จังหวัดสกลนคร


โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญทองประกาศเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม (UNEP Gold Medal of Distinction)


องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ทูลเกล้าฯ
ถวายเหรียญฟีแล (Philae Medal) เพื่อเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจ
ในการพัฒนาชนบท ถิ่นทุรกันดาร



ปี ๒๕๓๕ ทรงคลี่คลายวิกฤติเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕
สืบเนื่องจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)


องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน (Health for All Gold Medal)


โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ
การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ปี ๒๕๓๖ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล
จังหวัดนครนายก


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “เส้นทางเกลือ”
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนของประชาชน


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการเครื่องดักหมอก
เพื่อนำไอน้ำที่มีอยู่ในหมอกมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร


ทรงริเริ่มโครงการอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยคลอดฉุกเฉิน
ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริสำหรับตำรวจจราจร


กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนสิทธิบัตร “กังหันน้ำชัยพัฒนา”


The International Society of Chemical Ecology (ISCE)
ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติ
ในด้านการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ


The International Erosion Control Association (IECA)
ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล IECA’sInternational Merit Award
ในฐานที่ทรงแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้
ในการอนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อม


ธนาคารโลกทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด
ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝก
ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ



ปี ๒๕๓๗ ทรงเผยแพร่ข้อมูลและเอกสารองค์ความรู้
ในแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการเกษตร “ทฤษฎีใหม่”


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีบำบัดน้ำเสีย
โดยกระบวนการทางฟิสิกส์เคมีด้วยการทำให้ตกตะกอน


ทรงแปลหนังสือเรื่อง “ติโต” จากต้นฉบับเรื่อง TITO
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ
โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา


ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “รัก”


เริ่มก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์


โครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (UNDCP) ทูลเกล้าฯ ถวาย
Award of Appreciation in Recognition of Outstanding Contributions
In the Field of International Drug Control
เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
และทรงแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขา



ปี ๒๕๓๘ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง


โรงเรียนวังไกลกังวลจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ถ่ายทอดสดการเรียนการสอนไปยังโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา
กว่า ๓ หมื่นแห่งทั่วประเทศที่ขาดแคลนครู


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดสร้างถนนพระราม ๙
โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี
และวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก


ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเมนูไข่


กลุ่มนักธุรกิจไทยรวมกลุ่มทูลเกล้าฯ ถวายเพชรกาญจนาภิเษก
(The Golden Jubilee)



ปี ๒๕๓๙ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี


จัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
และจัดตั้งโรงเรียนการศึกษาทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ต


ทรงริเริ่มโครงการปลูกพืชกลุ่มมะกอกเพื่อการผลิตน้ำมัน


กองทัพไทยได้ประสานงานกับกรมศิลปากรจัดสร้าง “พระคทาจอมทัพไทย”
ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี


จัดสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙


จัดสร้างหออัครศิลปิน พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ
และถนนกาญจนาภิเษก


จัดตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติใน ๕ จังหวัดคือ
นครศรีธรรมราช นครราชสีมา น่าน บุรีรัมย์ และสระบุรี


รัฐบาลไทยถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ”


สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้ประกาศราชสดุดีพระเกียรติคุณ
ในฐานะ “Telecom Man of the Nation”


สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ทูลเกล้าฯ ถวาย
The International Rice Award เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์
ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรและพสกนิกรโดยรวม


วิทยาลัยแพทย์ทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกาทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล Partnering for the World Health Award
ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยโรคทรวงอก
และสุขภาพอนามัยของพสกนิกรมาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี


องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณด้านการพัฒนาการเกษตร
ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจบำรุงรักษาน้ำ และป่า
เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตร



ปี ๒๕๔๐ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


จัดสร้างหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ


องค์การสภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคการขาดสารไอโอดีน (ICCIDD)
ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณในการทรงเป็นผู้นำ ผู้บุกเบิก
และผู้ดำเนินงานโครงการควบคุมปัญหาการขาดไอโอดีนในประเทศไทย


คณะกรรมการจัดงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน
(S.E.A. Write Award) ทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นโลหะเกียรติยศทางด้านวรรณกรรม



ปี ๒๕๔๑ เริ่มโครงการทดลองน้ำมันดีโซฮอล์


สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD) ทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญทองสุดดีพระเกียรติคุณในการที่ทรงห่วงใยต่อสุขภาพปอดของประชาคมโลก
(Gold Medal Award)



ปี ๒๕๔๒ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาควบ ๖ รอบ


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ


ทรงประดิษฐ์ภาพตำราฝนหลวงด้วยคอมพิวเตอร์
เพื่อแสดงขั้นตอนและกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน
จากเมฆอุ่นและเมฆเย็น พระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวง
ให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน


องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญเทเลฟู๊ด (The Telefood Medal) ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญ
พระราชกรณียกิจพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย
ทรงช่วยลดความยากจนในชนบท และสร้างความมั่งคั่งทางด้านอาหาร


Lions Clubs International ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล Lions Humanitarian Award ในฐานที่ทรงอุทิศพระองค์
ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
โดยเฉพาะในด้านการสาธารณสุขและการศึกษา



ปี ๒๕๔๓ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดาได้วิจัย พัฒนา และทดลอง
นำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์หรือปาล์มดีเซลมาทดลองใช้กับรถยนต์


องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณขององค์กรอนามัยโลก
โล่เฉลิมพระเกียรติ WHO Plague
ในฐานะที่ทรงสนับสนุนงานด้านการสาธารณสุขทุกด้านในประเทศไทย
รวมทั้งการงดสูบบุหรี่เป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก


สมาคมนักประดิษฐ์คิดค้นแห่งเบลเยี่ยม (The Belgian Chamber of Inventors)
ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล Merite de L Invention
ในฐานะที่ทรงเป็นนักประดิษฐ์ดีเด่นจากผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนา


คณะการดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเยล รัฐคอนเนคทิคัต สหรัฐอเมริกา
ทูลเกล้าฯ ถวาย Sandford Medal เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณทางด้านการดนตรี


คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล Lalaounis Cup เพื่อสดุดีพระปรีชาสามารถทางด้านการกีฬา


คณะกรรมการนานาชาติและคณะกรรมการประจำชาติ
ในงาน Brussels Eureka 2000 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม
ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น ๕ รางวัล ได้แก่
เหรียญรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก
เหรียญรางวัลพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้วยรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด ถ้วยรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น และ
ถ้วยรางวัลพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์


รัฐบาลไทยถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”



ปี ๒๕๔๔ ทรงริเริ่มโครงการเจลลี่พระราชทาน เพื่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก


เสด็จฯ ไปวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน โดยท้ายรถพระที่นั่งติดสติ๊กเกอร์ว่า
“รถคันนี้ใช้น้ำมันปาล์ม ๑๐๐%)


คณะกรรมการจัดงาน Brussels Eureka 2001 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม
ทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ รางวัลได้แก่ รางวัล Gold Medal with Mention
และรางวัล Special Prix สำหรับโครงการฝนหลวง เกษตรทฤษฎีใหม่
และโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม
และรางวัล Diploma d’un Concept Nouvear de Development de la Thailand
ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ให้แนวความคิดใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศไทย


สภามวยโลกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองคำ Golden Shining Symbol of World
ในฐานะที่ทรงสนับสนุนกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวยในประเทศไทย



ปี ๒๕๔๕ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง “ทองแดง” (The Story of Tongdaeng)
เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน
เรื่องทองแดงเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี ๒๕๔๕


ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเรือหางกุด
เพื่อแก้ไขปัญหาของข้อจำกัดและความไม่ปลอดภัยของเรือหางยาว


รัฐบาลไทยถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งฝนหลวง”



ปี ๒๕๔๖ ทรงประชวรวุฑฒิโรค (โรคไส้เลื่อนข้างขวา) และ
ทรงประชวรโรคพระปิฐิกัณฐกัฐิ (เส้นประสาทไข้สันหลังกดทับ)



ปี ๒๕๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือ “ทองแดงฉบับการ์ตูน”


โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชน (UN-HABITAT) ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล UN-HABITATScroll of Honor Award (Special Citation)
ในฐานะที่ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรชาวไทย และพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอย่างยั่งยืน



ปี ๒๕๔๘ ทรงพระราชทานคำแนะนำให้ศาลแก้ไขวิกฤติการเมือง
โดยไม่ให้คอยที่จะขอนายกฯ พระราชทาน
เพราะไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย


สมาคมสินเชื่อการเกษตรและชนบทภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (APRACA)
ทูลเกล้าฯ ถวาย “รวงข้าวทองคำ” ในฐานที่ทรงอุทิศพระองค์
เพื่อการพัฒนาภาคชนบทและการเกษตร



ปี ๒๕๔๙ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี


สหประชาชาติ (United Nation) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์
(The Human Development Lifetime Achievement Award)
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่ได้มีการถวายรางวัลดังกล่าวนี้


รัฐบาลไทยถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
และ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”



ปี ๒๕๕๐ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา


ทรงพระประชวรผิดพระสมองด้านซ้ายขาดเลือด
โดยมีอาการพระวรกายด้านขวาอ่อนแรง


สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA) ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล IFIA Cup ในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถและทรงวิริยะอุตสาหะ
ในการศึกษาและค้นคว้าศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาประชาชนในท้องถิ่น
และทูลเกล้าฯ ถวาย Genius Prize สำหรับผลงานเกษตรทฤษฎีใหม่
และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สำนักงานองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล Global Leaders Award ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก
เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างโดดเด่น


คณะมนตรีสหพันธ์กีฬาซีเกมส์จำนวน ๑๑ ประเทศทูลเกล้าฯ ถวาย
รางวัล S.E.A Game Federation Merit Award
ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์นักกีฬา และทรงรับกีฬาซีเกมส์และเอเชี่ยนเกมส์
ที่ไทยเป็นเจ้าภาพอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกครั้ง


รัฐบาลไทยถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย”


สภาวิจัยแห่งชาติถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการวิจัย”



ปี ๒๕๕๙ (วันที่ ๑๓ ตุลาคม) เสด็จสู่สวรรคาลัย



ปี ๒๕๖๐ (วันที่ ๒๕ - ๒๙ ตุลาคม) พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร



ข้อมูลอ้างอิง:
หนังสือ “เฉลิมพระเกียรติ ๘ ทศวรรษมหาราชัน”
เรียบเรียงโดยทักษิณา ณ ตะกั่วทุ่ง จัดพิมพ์โดยบริษัทบูรพาสาส์น (1991) จำกัด
หนังสือ “พระเจ้าแผ่นดินของเราและเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย”
http://news.sanook.com/2083298/
http://www.vcharkarn.com/varticle/38236
http://ka.mahidol.ac.th/king_9/history.html
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
https://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อพระอิสริยยศและพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีวิทยุ_อ.ส.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP