ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

วักกลิสูตร ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ
มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ
ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า
มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา แล้วทูลว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา
ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า
ท่านขอประทานพระวโรกาสขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด.
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ. ฯลฯ
ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า
ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ.


[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองผ้าแล้ว
ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่.
ท่านพระวักกลิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล.
ครั้นเห็นแล้วก็ลุกขึ้นจากเตียง.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า
อย่าเลย วักกลิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย
อาสนะเหล่านี้ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจักนั่งที่อาสนะนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า
วักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ
ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ
อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏ?
ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว
ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า
มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ ไม่ทุเลาลงเลย.


ภ. วักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ ?
ว. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย
มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.
ภ. วักกลิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.
ภ. วักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?
ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว
ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้.
ภ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร
วักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม
วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเรา ก็ย่อมเห็นธรรม
วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
เธอทั้งหลายพึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
เธอทั้งหลายพึงเห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร
เธอทั้งหลายพึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ
เธอทั้งหลายพึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณทั้งหลาย
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้ว
ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปทางภูเขาคิชฌกูฏ.


[๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน
ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิด อาวุโส
ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียง แล้วหามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ
ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่าจะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละในละแวกบ้านเล่า?
ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้ว
อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
ตลอดราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว
เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ
ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้.
เทวดาเหล่านั้นได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว
ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ แล้วก็หายไป ณ ที่นั้นเอง.


[๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า
มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่
ครั้นแล้วจงบอกวักกลิภิกษุอย่างนี้ว่า อาวุโสวักกลิ
ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และคำของเทวดา ๒ องค์
อาวุโส ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ผู้มีฉวีวรรณงดงาม
ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุคิดเพื่อความหลุดพ้น
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้
อาวุโสวักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า
อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ
จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ
ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า
อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และคำของเทวดา ๒ องค์.


[๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า
มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียงเพราะว่า
ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว
จะพึงสำคัญว่าตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอย่างไรเล่า.
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระวักกลิแล้ว
ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้วกล่าวว่า
ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ผู้มีฉวีวรรณงดงาม
ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้
อาวุโสวักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า
อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ
จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาไม่เลวทรามแก่เธอ.
พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคม
พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของผมด้วยว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา
เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า
และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า
รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนาไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า สัญญาไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า สังขารไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
วามพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป.
ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน
ท่านพระวักกลิก็นำเอาศัสตรามา (เตรียมจะฆ่าตัวตาย).


[๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา
ท่านขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า
และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า
รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนาไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า สัญญาไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า สังขารไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.


[๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า
มาไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ
ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศัสตรามา.
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ
พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก
ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว.
ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศบูรพา
ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ.
ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศบูรพา
ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศหรือไม่?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.


ภ. ภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารผู้มีบาปค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร
ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตรตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ?
ภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.


วักกลิสูตร จบ



หมายเหตุ ในอรรกถาวักกลิสูตรอธิบายว่า
ได้ยินว่า พระเถระเป็นผู้มีมานะจัด.
ท่านมองไม่เห็นการกลับฟุ้งขึ้นมา (อีก) แห่งกิเลสทั้งหลาย
ที่ข่มไว้ได้ด้วยสมาธิและวิปัสสนา จึงมีความสำคัญว่า เราเป็นพระขีณาสพ
แล้วคิดว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราจะอยู่ไปทำไม เราจักเอามีดมาฆ่าตัวตาย
ดังนี้แล้ว ได้เอามีดที่คมมาเฉือนก้านคอ.
ทันใดนั้น ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน.
ขณะนั้นท่านจึงทราบว่า ตนเองยังเป็นปุถุชนอยู่
จึงรีบคว้าเอากัมมัฏฐานข้อเดิมมาพิจารณา
เนื่องจากว่าท่านยังไม่ได้ละทิ้งกัมมัฏฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วมรณภาพ.



(วักกลิสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP