ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ในขณะนั่งสมาธิ ควรรู้ลมหายใจอย่างเดียวหรือรู้อิริยาบถไปด้วย



ถาม - เวลานั่งสมาธิ ผมรู้สึกว่าขณะที่จิตเปิดกว้าง จะสามารถรู้สึกถึงกายที่นั่งอยู่ได้
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผมควรจะรู้สึกถึงอิริยาบถนั่งด้วย รู้ลมหายใจด้วย
หรือว่าควรจะทำความรู้สึกแค่ลมหายใจอย่างเดียวครับ



ถ้าหากว่ารู้ลมหายใจถูก มันจะรู้ไปถึงอิริยาบถด้วยเสมอ
อันนี้ขอตั้งเป็นข้อสังเกตเลยนะ
คนที่รู้ลมหายใจถูกต้องจริงๆ ในที่สุดแล้วมันจะรู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบันไปด้วย
กล่าวคือ ที่เห็นว่าหายใจเข้าหายใจออก
มันหายใจเข้า มันหายใจออก อยู่ในร่างที่กำลังอยู่ในอิริยาบถนั่ง
หรืออยู่ในอิริยาบถเดิน อย่างใดอย่างหนึ่งนะ
ถ้าหากว่ามีสติคมเป็นอัตโนมัติมากพอ
มันก็เลยไปถึงอิริยาบถยืนกับอิริยาบถนอนไปด้วย
แต่ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นช่วงที่ฝึกเจริญสติในช่วงปีแรกๆ
ก็จะเห็นลมหายใจเฉพาะในท่านั่งกับท่าเดิน
เพราะในท่านั่งกับท่าเดินที่เรากำหนดไว้ว่าเรากำลังจะเจริญสติ
นี่เป็นเวลาของการเจริญสติ มันถึงได้สังเกต
แต่อิริยาบถนอนกับอิริยาบถยืนไม่ค่อยสังเกตเท่าไหร่



แต่ถ้าลมหายใจของเรา มีความเป็นปกติ มีความสม่ำเสมอ
สติของเราเห็นว่าตัวลมหายใจนี้
มีความเข้ามีความออกอยู่ตลอดเวลา มียาวมีสั้นไม่เท่ากันอยู่เรื่อยๆ
นี่ตัวนี้นะที่มันจะทำให้พลอยเห็นไปด้วย
ว่าที่มันเข้ามันออกไม่เท่ากันอยู่ตลอดเวลา
มันเข้ามันออกอยู่ในร่างกายนี้ อิริยาบถนี้


พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเมื่อรู้ลมหายใจได้แล้ว ในสติปัฏฐานนะ พอรู้ลมหายใจได้
ท่านบอกว่ามีอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำคือรู้อิริยาบถไป

มันต่อเนื่องกันเลย ถ้าใครฝึกมาตามลำดับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ จะเห็นเลยนะ
การรู้ลมหายใจอย่างถูกต้อง จะทำให้มีความรู้เลยไปถึงอิริยาบถไปด้วยนะครับ
แต่ถ้าหากว่าเพ่งจ้องลมหายใจแน่นเกินไป
หรือว่ามีอาการของจิตของใจคับแคบมากเกินไป
มันก็จะรู้เลยมาถึงอิริยาบถไม่ได้ มันจะมีความรู้สึกติดๆ ขัดๆ ทึบๆ
มีความคับแคบ มีความไม่พร้อมจะรับรู้อะไรที่กว้างไปกว่าลมหายใจที่มาเป็นครั้งๆ


แต่ถ้าหากว่าจิตเปิดกว้างอย่างที่คุณว่า
ลมหายใจมันเหมือนจะถูกรู้ง่ายๆ เลย
แต่ละระลอกลม มันจะถูกรู้ง่ายๆ สบายๆ
แล้วก็ความรู้ง่ายๆ สบายๆ ด้วยจิตที่เปิดแบบนั้น
มันจะเห็นครอบไปถึงอิริยาบถ โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายามแต่อย่างใด


แต่ในสติปัฏฐานนี่นะ ท่านให้สังเกต ตัวสังเกตนี่แหละที่จะทำให้เราเข้าใจ
ว่าด้วยกลไกแบบนี้ ด้วยภาวะอย่างนี้นะ มันจะทำให้เกิดการรับรู้อย่างไร
กลไกที่ว่านี้ก็อย่างเช่น ถ้าเราไปเพ่งเราไปจ้องลมหายใจมากเกินไป
จิตจะคับแคบ และไม่สามารถรู้เลยมาทางอิริยาบถได้ ไม่สามารถรู้มาถึงอิริยาบถได้
แต่ถ้าหากว่าเรารู้สบายๆ นะ ร่างกายไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกำเกร็ง
มือเท้า ใบหน้า มีแต่อาการผ่อนคลาย
อย่างนี้ลมหายใจเข้าออกมันถูกรู้ เหมือนกับ เออ นั่งมองมาจากที่สูงที่กว้าง
แล้วก็มองมาด้วยความสบายอกสบายใจ



แล้วความสบายอกสบายใจ มันก็จะทำให้เห็น
ไม่เฉพาะลมหายใจ แต่ยังมีเรื่องของอิริยาบถ เรื่องของความฟุ้งซ่าน
ระลอกความฟุ้งซ่านที่มันผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ
มารบกวน มาดึงใจให้เป๋ออกไปจากฐานของลมหายใจ ฐานของร่างกายที่กำลังปรากฏนั่งอยู่
พอสังเกตเห็นกลไก พอเห็นธรรมชาติของจิต ว่ามันเป็นอย่างนี้
เราก็จะฉลาดทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ นี่มันจะมาตามลำดับนะ
แล้วก็เห็นเลยว่าพอเราสามารถรู้อิริยาบถหลักได้
พอลืมตาตื่นขึ้นมานะ จะขยับ จะเคลื่อนไหว จะกระดิกอะไร
มันรู้เองไปหมด มันสามารถที่จะเท่าทันได้ โดยไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องพยายามอะไรทั้งสิ้น
เพียงแต่มีสติ ไม่ประมาทอยู่ สังเกตอยู่ ว่า เออ สติเป็นแบบนี้เอง สมาธิเป็นแบบนี้เอง
เมื่อมีความตั้งมั่นแล้ว ก็สามารถที่จะเห็นอะไรต่อมิอะไรได้
โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ไม่ต้องบังคับตัวเอง
แล้วพอเราไม่ปล่อยสติ ยังสังเกตอยู่ ยังเห็นอยู่ ว่ามันรู้ไปได้เรื่อยๆ
มันก็จะมีความละเอียด มีความประณีต สามารถเห็นเข้ามาได้ชัดเจนมากขึ้น



อย่างคนที่มีสติสัมปชัญญะดีๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือมีความสุข
มีความรู้สึกว่ากายใจ มันไม่ดิ้น มันไม่พล่านไป มันไม่กระสับกระส่าย
ความสุขทางกายทางใจนี้ เห็นเลยว่ามันอยู่นาน
อยู่นานแต่ถ้าเราไม่ประมาท ยังสังเกตอยู่ว่าที่มันอยู่นานนั้นน่ะ
เดี๋ยวๆ มันก็ต้องเคลื่อนไปจนได้ เดี๋ยวๆ มันก็จะต้องเปลี่ยนเป็นหม่นหมองลง
หรือว่ามีความรู้สึกทุกข์ร้อนอะไรขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น อากาศร้อน หรือว่ารถติด หรือว่ามีเสียงที่ไม่น่าพอใจมากระทบหู
แบบนี้มันก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ว่าความสุขน่ะเป็นตัวเป็นตน หรือว่าเป็นสิ่งที่น่ายึดน่าเอา
เพราะในที่สุดแล้วนะ ทั้งหลายทั้งปวงมันต้องเปลี่ยน

ตัวข้อสรุปนี้แหละที่จะเป็นสิ่งที่เราบอกตัวเองได้ว่า
เราเริ่มต้นรู้ลมหายใจมาอย่างถูกต้องตรงทางนะครับ
นี่มันสามารถที่จะมองย้อนสืบกันไปสืบกันมาได้แบบนี้นะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP