จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๘) พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

 

 

219 destination



ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน
ซึ่งด้านหนึ่งที่สำคัญ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศได้แก่ ด้านการกีฬา
พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการกีฬาอย่างมาก
ดังที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาท เช่น
พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ๒๕๐๔
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔
“การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง
เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ
ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ
ทั้งในทางจิตใจและร่างกาย เป็นผลสืบเนื่องไปถึง
การเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปรารถนา”


พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ๒๕๐๗
ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๗
“การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้ว
ยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมาย นักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้ว
ย่อมมีใจแน่วแน่ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย
และมีความหนักแน่น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย
ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและน่าคบหาสมาคมด้วยอย่างยิ่ง”


ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเล่นกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
เมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่นกีฬาหลายประเภท
เช่น สกีน้ำแข็ง ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น
โดยทรงสกีน้ำแข็งครั้งแรกในปี ๒๔๗๗ เมื่อมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา



พระอัจฉริยภาพในกีฬาเรือใบ

กีฬาเรือใบเป็นหนึ่งในกีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระราชหฤทัย
เนื่องจากพระองค์ท่านโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว
พระองค์ท่านทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง
และทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


เรือใบลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๗
เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class)
โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน”
และลำต่อมาชื่อ “เรือเอจี” โดยทรงต่อตามแบบสากล
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงแข่งขันแล่นใบหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศ


ในปี ๒๕๐๘ เจ้าชายฟิลิปส์แห่ง Edinburgh เสด็จประพาสประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทราบว่าเจ้าชายฟิลิปส์โปรดเล่นเรือใบ
จึงทรงจัดการแข่งขันเรือใบจากพัทยาไปเกาะล้าน
โดยผู้ร่วมการแข่งขันในครั้งนั้น นอกจากในหลวงรัชกาลที่ ๙
เจ้าชายฟิลิปส์ และนักกีฬาทีมชาติสหรัฐอเมริกาอีกคนหนึ่ง
(ซึ่งได้แวะเมืองไทยก่อนที่จะเดินทางไปแข่งที่นิวซีแลนด์) แล้ว
ยังมีเรือใบอื่น ๆ ร่วมแข่งขันด้วยรวมทั้งสิ้น ๓๔ ลำ
ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในสมัยนั้น


เรือที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้ในการแข่งขันคือ
เรือราชปะแตนที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง
ผลการแข่งขันปรากฏว่าเรือใบซึ่งพระองค์ทรงเป็นกัปตัน
และหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทำหน้าที่เป็นลูกเรือ เข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง
พระปรีชาสามารถในครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือ
จนแม้แต่หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ก็ยังลงข่าวนี้


ในปี ๒๕๐๘ เดียวกันนี้ พระองค์ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International OK Class)
และทรงพระราชทานชื่อเรือลำดังกล่าวว่า “นวฤกษ์”
หลังจากนั้น ทรงต่อเรือใบ ประเภทนี้อีกหลายลำ
เช่น เรือเวคา ๑ (VEGA) เรือเวคา ๒ และเรือเวคา ๓ เป็นต้น


เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงเรือใบประเภทโอเค
ขนาด ๑๓ ฟุต ชื่อเวคา โดยลำพังเพียงพระองค์เดียว
จากหน้าพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ตั้งแต่เวลา ๐๔.๒๘ น. เดินทางไปถึงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เวลา ๒๑.๒๘ น.
โดยทรงแล่นไปข้ามอ่าวไทยโดยลำพังเพียงพระองค์เดียว
เป็นระยะทาง ๖๐ ไมล์ทะเล และทรงใช้เวลาทั้งหมด ๑๗ ชั่วโมงเต็ม
แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยอุตสาหะ
ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำธง “ราชนาวิกโยธิน” ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วย
ปักเหนือยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวเตยงาม
และทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก
นับแต่นั้นมา ธงราชนาวิกโยธินก็โบกสะบัดเหนือก้อนหินใหญ่
ที่อ่าวนาวิกโยธิน สัตหีบ มาจนถึงปัจจุบัน


ในการแข่งขันกีฬากีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์) ครั้งที่ ๔ ณ ประเทศไทย
เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๑๐ พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติ
เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาเรือใบด้วยพระองค์เอง
ในการแข่งขันครั้งนี้ทรงใช้เรือใบประเภทโอเค ซึ่งทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง
และทรงเป็นผู้ชนะเลิศ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ
โดยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ทูลเกล้าฯ
ถวายรางวัลเหรียญทองในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๐
ซึ่งต่อมารัฐบาลได้กำหนดวันนี้ของทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ


ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงออกแบบและต่อเรือใบประเภทม็อธจำนวนหลายลำ
เรือประเภทนี้เป็นเรือที่กำหนดความยาวตัวเรือไม่เกิน ๑๑ ฟุต
เนื้อที่ใบ ไม่เกิน ๗๕ ตารางฟุต ส่วนความกว้างของเรือ รูปร่างลักษณะของเรือ
ความสูงของเสา ออกแบบได้โดยไม่จำกัด
วัสดุที่ใช้สร้างเรืออาจทำด้วยโลหะ ไฟเบอร์กลาส หรือไม้ก็ได้
เรือม็อธที่ทรงออกแบบและทรงต่อด้วยพระองค์เองมีอยู่ ๓ แบบ
ซึ่งได้พระราชทานชื่อว่า เรือมด เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด
ซึ่งเรือใบแบบไมโครมดได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบ


พระองค์ทรงตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ชื่อ “สโมสรหมวดเรือใบหลวงจิตรลดา”
ในสวนจิตรลดา และมีสโมสรอื่น ๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์
ได้แก่ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย สโมสรเรือใบราชวรุณ ที่เมืองพัทยา เป็นต้น
โดยพระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือ
สร้างเรือใบมด และเรือซุปเปอร์มดตามแบบของพระองค์
จำหน่ายให้แก่สมาชิกสโมสรเรือใบในราคาถูก


เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เอง
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ คือ เรือโม้ก (Moke)
เป็นเรือที่ทรงทดลองสร้างโดยทรงออกแบบให้มีลักษณะผสม
ระหว่างเรือโอเค และเรือซุปเปอร์มด
คือทรงออกแบบให้มีขนาดของลำเรือใหญ่กว่าเรือซุปเปอร์มด
โดยให้มีขนาดใกล้เคียงเรือโอเค และใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือโอเค
หลังจากทรงออกแบบเรือโม้กแล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงออกแบบเรือใบอีก
เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจอื่น ๆ อีกเป็นมากมาย



พระอัจฉริยภาพในกีฬาแบตมินตัน

กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดปราน
เมื่อครั้งที่พระราชภารกิจยังไม่มากมายเหมือนเช่นปัจจุบันนี้
ในช่วงเวลานั้น กีฬาแบดมินตันของประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงมีรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดในหลายวาระโอกาสว่า
กีฬาแบดมินตันเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ประเภท
ที่คนไทยสามารถจะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้
เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป
รวมทั้งต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้กับ
สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย เมื่อปี ๒๔๙๓


สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรแบดมินตันแห่งชาติ
ได้พัฒนาวงการแบดมินตันอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติไอบีเอฟ
ถือว่าสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยเป็นสมาคมระดับแนวหน้า
ที่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกที่สำคัญ
เช่น การแข่งขันโธมัส-อูเบอร์คัพ รอบชิงชนะเลิศกรังด์ปรีซ์เซอร์กิตโลก
และการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่น เป็นต้น
สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง
ของสมาพันธ์แบดมินตันแห่งเอเชีย (Asian Badminton Confederation)
และมีบทบาทสำคัญในองค์กรแห่งนี้มาแต่ต้น
และประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตันแห่งเอเชียหลายครั้ง


สหพันธ์แบดมินตันนานาชาติได้จัดให้มาตรฐานการเล่นแบดมินตันของประเทศไทย
อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก (จาก Statute Book ของสหพันธ์ฯ)
โดยนักกีฬาไทยเคยเข้ารอบชิงชนะเลิศประเภททีมชายของโลกในประเภทรายบุคคล
นักแบดมินตันไทยหลายรุ่น ยังครองตำแหน่งชนะเลิศในรายการต่าง ๆ ระดับโลก
รวมทั้งมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์หรือซีเกมส์ตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
นักแบดมินตันไทยได้ครองเหรียญทองเหรียญเงิน และเหรียญทองแดงของแต่ละยุคสมัย


นอกจากทรงแบดมินตันเป็นการส่วนพระองค์แล้ว
ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการกีฬาแบดมินตันเป็นอันมาก
ทรงสามารถวิเคราะห์ถึงการเล่น และรับสั่งวิจารณ์ถึง
วิธีการเล่นของนักแบดมินตันระดับโลกแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
และทรงนำมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาฝีมือเทคนิคการเล่นของพระองค์เอง


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย เล่าว่า
ในครั้งหนึ่ง พระองค์ท่านรับสั่งถามว่าหนักใจไหมที่เล่นกับเออร์แลนด์ คอปส์
และที่หนักใจนั้น หนักใจในการเล่นแบบไหนของคอปส์
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน กราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่า
เออร์แลนด์ คอปส์ มีลูกตบที่รุนแรง
ที่เสียแต้มให้คอปส์ ส่วนมากเป็นเพราะรับลูกตบที่หนักหน่วงไม่ได้
และคอปส์ยังมีพละกำลังมาก อึดและอดทน ยิ่งเล่นก็ยิ่งมีกำลังมาก
พระองค์ท่านรับสั่งว่า เมื่อคอปส์มีลูกตบที่หนักและรุนแรง
สิ่งที่ควรจะทำคือ หลีกเลี่ยงอย่าให้คอปส์ตบลูกได้บ่อย หรือใช้ลูกตบได้ถนัด
ควรดึงคอปส์มาเล่นลูกหน้าให้มาก
เมื่อเขาพะวงบริเวณหน้าตาข่าย จะทำให้เขาถอยตบลูกไม่ถนัด
และนั่นคือกลยุทธ์ที่ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน ใช้ปราบ
มือแชมเปี้ยนโลกชาวเดนมาร์กผู้นี้ เมื่อปี ๒๕๐๒
ในการแข่งขันป้องกันตำแหน่งแชมเปี้ยนชายเดี่ยวออลมาลายัน ที่ประเทศสิงคโปร์


ด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ได้ก่อเกิดการพัฒนาอย่างใหญ่หลวงแก่กีฬาแบดมินตันในประเทศไทย
จนเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในเวทีแบดมินตันโลกได้ในที่สุด
ดังที่เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้มีนักแบดมินตันติดอันดับโลก
ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน



พระมหากรุณาธิคุณแก่กีฬามวย

กีฬามวยเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่นักกีฬาไทย
สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ด้วยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับวงการกีฬามวยมาโดยตลอด


พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานทอดพระเนตรการชก
ของนักมวยไทยกับนักมวยต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง เช่น
การชกระหว่าง โผน กิ่งเพชร กับ ปาสคาล เปเรซ นักมวยชาวอาร์เจนตินา
เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๐๓ ณ สนามมวยเวทีลุมพินี
ซึ่งผลการชก โผนสามารถเอาชนะคะแนนเปเรซไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์
ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกเป็นคนแรกของไทย
หรือการชกระหว่าง ชาติชาย เชี่ยวน้อย กับ แอฟเฟรน ทอร์เรส นักมวยชาวเม็กซิกัน
เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๓ ณ สนามกีฬากิตติขจร
(ปัจจุบันคือ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก)
ผลการชก ชาติชายเป็นฝ่ายคะแนน ได้ครองแชมป์โลกเป็นสมัยที่ ๒ เป็นต้น
ซึ่งหลังจากการชกทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้นักมวยเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด และมีพระราชปฏิสันถารอย่างเป็นกันเองและห่วงใย
และจะพระราชทานเข็มขัดแชมป์โลกให้ด้วย


เมื่อครั้งที่ แสน ส.เพลินจิต เดินทางไปป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก
ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น กับฮิโรกิ อิโอกะ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๘
ผลการชกแสนเอาชนะน็อกไปได้ในยกที่ ๑๐
หลังการแข่งขัน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงส่งพระราชสาสน์
ผ่านทางกงสุลไทย ณ เมืองโอซากา ความว่า
พระองค์ทอดพระเนตรการชกของแสนอยู่ผ่านทางโทรทัศน์
ทรงชมว่าแสนชกได้ดี ยังความปลาบปลื้มแก่แสนและคณะเป็นอย่างยิ่ง


นอกจากนี้แล้ว เมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ เข้าชิงชนะเลิศในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น
รุ่นเฟเธอร์เวต ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ ๒๖ ที่เมืองแอตแลนตา
รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๓๙
ก่อนชกในรอบชิงชนะเลิศ สมรักษ์ให้สัมภาษณ์ว่า จะคว้าชัยชนะให้ได้
เพื่อนำเหรียญทองกลับไปร่วมสมโภชเป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
ในวโรกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี
และเมื่อสมรักษ์สามารถเอาชนะได้ ได้ครองเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งแรกของนักกีฬาไทย
สมรักษ์ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าถวายเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญนี้
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย



พระมหากรุณาธิคุณสำหรับวงการกีฬา

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณ
แก่วงการกีฬาของชาติอย่างสม่ำเสมอ
โดยนอกเหนือจากการเอาพระทัยใส่ และทรงอุปถัมภ์การกีฬาหลายประเภทแล้ว
ยังปรากฏพระราชกรณียกิจหลายประการอันเป็นคุณประโยชน์อย่างสูง
แก่วงการกีฬา และนักกีฬาชาวไทย ยกตัวอย่างเช่น



ทรงรับสมาคมต่าง ๆ และการแข่งขันไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาหลาย ๆ สมาคม
และทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๕, ๖ และ ๘
รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔, ๘ และ ๑๓ (ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ)
ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย



พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่นักกีฬา
และผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อการกีฬาในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา
เช่น นักกีฬาทีมชาติไทยได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติแก่ประเทศชาติ
ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ และการแข่งขันโอลิมปิก เป็นต้น



พระราชทานทุนนักกีฬา

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานทุนแก่นักกีฬาอยู่อย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่น ทุนมวยไทยในมูลนิธิอานันทมหิดลที่พระราชทานแก่นักมวย
หรือทุนส่วนพระองค์ที่พระราชทานให้ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน
นักแบดมินตันรองแชมป์โลกชายเดี่ยว ออล อิงแลนด์ ๒ สมัย
เพื่อไปศึกษาในประเทศอังกฤษ เป็นต้น



พระราชทานไฟพระฤกษ์

ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญ ๆ
ไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศก็ตาม
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะพระราชทานไฟพระฤกษ์ให้แก่
คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาครั้งนั้น ๆ นำไปประกอบพิธีเปิดการแข่งขันทุกครั้ง



พระราชทานกำลังใจและพระบรมราโชวาทแก่นักกีฬา

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท
และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นักกีฬา และบุคลากรในวงการกีฬา
เข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ และเป็นการส่วนพระองค์อยู่เสมอ
อันเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักกีฬา และผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาเป็นอย่างมาก
ทั้งยังพระราชทานพระบรมราโชวาทอันทรงคุณประโยน์ที่นักกีฬาต่างยึดถือปฏิบัติเสมอมา



ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ที่ได้ทรงมีต่อวงการกีฬาอย่างต่อเนื่อง
องค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
จึงได้ทูลเกล้าถวายรางวัลต่าง ๆ ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยกตัวอย่างเช่น


เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๐ คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
เหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก คือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)”
ในฐานะที่ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง และทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด
โดยพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ
ถวายรางวัลเหรียญโอลิมปิกชั้นสูงสุดนี้


เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๔ สภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา


เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ สภาโอลิมปิกแห่งทวีปเอเชีย (OCA)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอริยาภรณ์ชั้นสูงสุด (OCA Merit Award)
เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณว่าพระองค์เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ด้านกีฬา


เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ คณะกรรมการโอลิมปิคสากล (IOC)
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Lalaounis Cup เพื่อเป็นสัญลักษณ์สูงสุด
ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในการเชิดชู
และประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่เคยเป็นนักกีฬาดีเด่น
และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมโลก โดยรางวัลนี้ยังไม่เคยมอบให้แก่ผู้ใดมาก่อน
และได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นบุคคลแรก


สภามวยโลก (WBC) ซึ่งมีประเทศสมาชิก ๑๖๑ ประเทศ
ได้จัดทำเหรียญรางวัลทองคำเกียรติยศสูงสุดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่
เหรียญทองคำ Golden Shining Symbol of World Leadership
โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
เพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนการกีฬาของประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวย โดยรางวัลดังกล่าวไม่ได้เคยมอบให้แก่ผู้ใดมาก่อน


ในปี ๒๕๔๙ สมาคมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ
(Association of National Olympic Committee : ANOC) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
อิสริยาภรณ์รางวัล ANOCMerit Award แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ซึ่งรางวัลดังกล่าวจัดทำขึ้นสำหรับบุคคลหรือองค์กรที่อุทิศตนแก่การกีฬา


เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)
ได้เทิดพระเกียรติพระองค์ โดยนายโจเซฟ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าชาวสวิตเซอร์แลนด์
ได้กล่าวสดุดีพระองค์ทางโทรทัศน์ก่อนพิธีเปิดฟุตบอลโลกที่ประเทศเยอรมนี
ซึ่งถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เนื่องในโอกาสพิเศษที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ด้วยความเคารพเทิดทูนสูงสุด
ในฐานะที่ทรงงานเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่องมานานถึง ๖๐ ปี


ในปี ๒๕๕๐ สหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
เครื่องหมายประดับแห่งเกียรติยศ (Decoration) ชั้นสูงสุด
ของสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU) แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬา
และทรงส่งเสริมการกีฬาเป็นที่ประจักษ์ชัด



ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.thaihealth.or.th/Content/33501-‘พ่อหลวง’%20กับวงการกีฬาไทย.html
http://www.ku.ac.th/e-magazine/dec52/know/know4.htm
http://oknation.nationtv.tv/blog/ooddee/2012/01/20/entry-2
https://www.dailynews.co.th/article/365081
http://www.badmintonthaitoday.com/news_detail.php?nid=74
https://www.badmintonthai.or.th/about/history
http://archive.lib.kmutt.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=224%3A2010-05-22-00-43-12&catid=49%3A2010-01-19-16-02-49&Itemid=69&limitstart=1
http://daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROemNHOHdNakkwTVRBMU9RPT0=&sectionid=TURNd09BPT0=&day=TWpBeE5pMHhNQzB5TkE9PQ==
https://today.line.me/TH/pc/article/รางวัลแด่พระปรีชาสามารถและพระเกียรติคุณ+ในหลวง+ร+๙-nvEnnK



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP