สารส่องใจ Enlightenment

การบรรลุธรรมมีขั้นตอนอย่างไร



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา - ในเพศฆราวาส การศึกษาเล่าเรียนจะเริ่มจาก
ประถม - มัธยม - มหาวิทยาลัย - ปริญญาตรี - โท - เอก
อยากทราบว่าในเพศนักบวช การบรรลุธรรมตั้งแต่ โสดา - สกิทาคา - อนาคา - อรหันต์
มีขึ้นตอนอย่างไร เหมือนกันกับทางโลกไหมครับ



วิสัชนา - ขั้นตอนของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีดังต่อไปนี้

๑. พระโสดาบันไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดศีล ๕ ไม่เสียดายอยากจะถือศาสนาอื่นๆ
ไม่เสียดายอยากเล่นอบายมุขทุกประเภท ไม่เสียดายอยากจะผูกเวรสาปแช่งท่านผู้ใด
ไม่เสียดายอยากค้าขายเครื่องประหาร มีศาสตราอาวุธ เป็นต้น
หรือยาเบื่อเมาที่ทำให้สัตว์ต่างๆ ตาย



๒. ส่วนพระสกิทาคามีนั้น ก็มีความหมายอันเดียวกัน
แต่ละเอียดไปกว่าพระโสดาบันบ้าง ให้เข้าใจว่าอยู่ในภูมิเดียวกัน
ถ้าจะเทียบใส่ในของหยาบๆ ที่เป็นผู้ทรงครรภ์มีลูกแฝด พระสกิทาคามีต้องออกมาก่อน
พระโสดาบันออกมาทีหลังจำเป็นต้องได้เรียกผู้ออกมาจากครรภ์ก่อน ว่าพี่ชายหรือพี่หญิง
และมีความฉลาดลึกกว่ากันบ้าง
ถ้าจะเทียบในชั้นมัธยมก็หยาบๆ ก็พระสกิทาคามีสอบได้ที่หนึ่ง
พระโสดาบันได้ที่สอง แต่เป็นชั้นเดียวกัน



๓. พระอนาคามี เว้นจากไม่นึกถึงกามวิตก ความตริในทางกาม เพราะราคะขาดไปหมดแล้ว
และกิเลสพระอนาคามียังมีอยู่ แจกออกเป็นพิเศษ ๙ ข้อ
โดยใจความก็คือมานะถือตัว ๙ ข้อ

๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา


นี่แหละกิเลสของพระอนาคามี
และยังอยู่อีกคืออวิชชา คือความโง่อันละเอียด
ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์
ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตอนาคตโยงใส่กัน
ไม่รู้จักลูกโซ่ที่เกี่ยวข้องกันเป็นสายที่เป็นวงกลมผูกคออยู่ แต่ในโซ่นั้นดังนี้...มีอวิชชา
ความโง่คืออวิชชา ๔ ดังกล่าวแล้วนั้นเอง
เมื่อมีความโง่ใน ๔ ข้อนี้แล้ว ก็เป็นเหตุไม่ให้รู้จักสังขาร



สังขารนั้นแบ่งเป็น ๓
ปุญญาภิสัขาร อภิสังขารคือบุญที่สร้างขึ้น ด้วย ทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น
อปุญญาภิสังขาร อภิสังขาร คือบาปอันตรงกันข้ามกับบุญ
อเนญชาภิสังขาร อภิสังขาร คือ อเนญชา ได้แก่สมาบัติ
ไปติดสมาบัติจนถือว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคล จนแกะไม่ได้คายไม่ออก
และขออธิบายอีกว่า ในคำว่าบุญ ในทางพระพุทธศาสนาหมายเอาพระอนาคามีเท่านั้น
จะเหนือนั้นไปไม่บัญญัติว่าเป็นบุญ
ส่วนในทางตรงกันข้าม คือ บาป หมายเอามหาอเวจีนรกและโลกันตะนรกเท่านั้น



ทีนี้กล่าวถึงวิญญาณ
จักขุวิญญาณ วิญญาณทางดวงตา โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู
ฆานะวิญญาณ วิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น
กายวิญญาณ วิญญาณทางกาย มโนวิญญาณ วิญญาณทางใจ
เมื่อไม่รู้เท่าวิญญาณทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นวิญญาณปฏิภพปฏิสนธิ



ทีนี้กล่าวถึงนามรูปต่อไป นามัง แปลว่าชื่อมัน
มีเวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ เป็นต้น
ส่วนรูปหมายเอาดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นกายเรียกว่า รูป



ส่วนอายตนะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น ที่เรียกว่า อายตนะภายใน
ส่วนอายตนะภายนอก มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์
ที่มาสัมผัสกับอายตนะภายในให้ปรากฏขึ้น
ถ้าเป็นสิ่งที่ชอบใจก็เกิดเป็น สุขเวทนา
ถ้าเป็นสิ่งที่กลางๆ ไม่รักไม่ชังก็เป็น อุเบกขาเวทนา
ถ้าเป็นสิ่งที่รังเกียจก็เป็น ทุกขเวทนา
จะเรียกว่าเวทนาทั้ง ๓ ก็ได้
แต่เวทนาทั้ง ๓ นี้แหละถ้าเป็นเวทนาสุขก็จัดเป็นกามภพที่เรียกว่า กามตัณหา
ถ้ากำหนดไว้ก็เรียกว่า ภวตัณหา ถ้าไม่ชอบก็เป็น วิภวตัณหา



เมื่อเกิดเป็นตัณหาทั้งหลายเหล่านี้แล้ว
สิ่งที่ชอบก็เป็น กามุปาทาน มีทิฎฐิ และความเห็นผิดก็เป็น ทิฏฐุปาทาน
ถ้าสงสัยลูบคลำก็เป็น สีลัพพัตตุปาทาน
ถ้าถือมั่นว่าเรา ว่าเขา ว่าสัตว์ ว่าบุคคลก็เป็น อัตตวาทุปาทาน
แล้วก็กลายเป็นภพ เป็น รูปภพ เป็น อรูปภพ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็น วิภวภพ
แล้วก็เกิดเป็นโยนิ ๔ ที่เรียกว่า ชาติที่เกิด
ในครรภ์ ในไข่ ในเถ้าในไคล และเกิดผุดขึ้นเหมือนเทวดาและสัตว์นรก
ส่วนเกิดในครรภ์เราก็รู้ดีอยู่แล้ว พวกเกิดในฟองไข่เราก็รู้ดีอยู่แล้ว
พวกที่เกิดในเถ้าไคลของหมักหมมมีพวกเลือดขาวเป็นต้น เราก็รู้ดีอยู่แล้ว



ที่เรียกว่าชาติ ความเกิด มี ๔ ประเภท เมื่อชาติ ความเกิดมีแล้ว
ความแก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นเบี้ยบำเหน็จบำนาญไปตลอด
ส่วนความปรารถนาไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์หัวใจอีก
สังสารวัฏก็วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย
ถ้าตามแต่ปลายไปหาต้นก็ไปเจออวิชชาดังกล่าวแล้วนั้น (คือความโง่)
ถ้าตามอวิชชาลงมาเป็นลำดับ ก็มาเป็นวงกลมจรดกันกับ โทมนัส อุปายาส



จะอย่างไรก็ตาม เรารู้ดีอยู่แล้วว่าที่กล่าวมานี้
เป็นบ่วงลูกโซ่ที่คล้องคอของสัตว์ทั้งหลาย เป็นบ่วงอยู่ซึ่งตัดไม่ได้
แต่ถ้าหากว่าตัดอวิชชาความโง่แล้วก็ดี
หรือตัดตอนใดตอนหนึ่งที่เป็นบ่วงวงกลมอยู่นั้น ก็ขาดออกจากวงกลมไปหมด
ก็เป็นอันว่าหลุดจากบ่วงไปแล้ว



ส่วนพระอรหันต์ ท่านรู้เท่าถึงการณ์สิ่งเหล่านี้ไปแล้ว
รู้เท่าด้วย ปฏิบัติเท่าด้วย ตัดขาดเท่าด้วย แห่งใดแห่งหนึ่ง
สายโซ่ก็ยึดออก ไม่มีวงกลม ก็เป็นอันว่าหลุดพ้นไปหมด



ส่วนทางโลกจะเรียนถึงปริญญาไหนก็ตาม เพราะเป็นเพียงความจำเท่านั้น
ถ้ากิเลส โลภ โกรธ หลง ไม่เบาลง มันก็ใช้ไม่ได้
ฝ่ายทางพระศาสนาเมื่อเห็นชัดในพระโสดาบันแล้ว
ส่วนธรรมเบื้องสูงก็ต้องเปิดประตูไปเอง
เร็วหรือช้าก็ต้องขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคน และความเพียรที่แยบคายด้วย
แต่ให้เข้าใจว่าเมื่อถึงโสดาบันแล้ว เป็นผู้มองเห็นฝั่งพระนิพพาน
คือฝั่งที่ไม่มีโลภ ไม่โกรธ ไม่หลงด้วยพระปัญญา
ไม่ใช่ตานอกตาเนื้อ เหมือนพวกโลกีย์เสียแล้ว
พวกโลกีย์นั้นมันหลายบางที บางทีขึ้นหน้าก็มี บางทีถอยหลังก็มี บางทีปลีกไปทางอื่นเสีย



ยกอุทาหรณ์ เราจะเรียนถึงเปรียญ ๙ ประโยคก็ตาม
แต่ถ้ากิเลสไม่ลดละ ทุกข์ทั้งหลายก็ไม่ลดละออกจากใจเหมือนกัน
ให้เราเข้าใจว่าครั้งพุทธกาลยังไม่ได้บัญญัติปาราชิก ๔ หรือวินัยข้อใดทั้งนั้น
เมื่อผู้ฟังเข้าใจความหมายทั้งการฟังและการละการถอนกิเลสอยู่ในขณะฟัง
ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังก็ถึงพระโสดาบันในขณะนั้น
แล้วก็เตลิดจนถึงพระอรหันต์ในขณะจิตเดียวนั้น
แผล็บเดียวนั้นเหมือนเราเปิดสวิตช์ไฟฟ้า
การเปิดกับการสว่างไม่อยู่ห่างกันพอขณะใจ



ส่วนผู้ที่ได้พระโสดาบันไม่เตลิดถึงพระอรหันต์ในขณะนั้น
จะใส่ชื่อลือนามว่าเป็นพระโสดาบันตลอดชาติไม่ได้
เช่น พระอานนท์ เป็นต้น ได้พระโสดาบันแต่นานแล้ว
เมื่อพุทธองค์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว จึงได้พระอรหันต์ในวันทำสังคายนาครั้งที่ ๑ นั้น
จะบัญญัติว่าเป็นพระโสดาบันเอกพีชีก็ไม่ได้ เพราะสามารถเป็นอรหันต์ในชาตินั้นอยู่
เช่นพระสุทโธทนะในชาตินั้นเมื่อได้พระโสดาบัน แล้วก็ยังอยู่หลายปีจึงได้พระอนาคามี
ได้พระอรหันต์ในเวลาจวนจะสิ้นพระชนม์หรือพร้อมกับสิ้นพระชนม์
ดังนี้ จะเรียกว่าเป็นภูมิพระอนาคามีก็ไม่ได้
เพราะภูมิพระอรหันต์สามารถสำเร็จในชาติปัจจุบันอยู่



เทียบทางฆราวาสกับทางบรรพชิตก็เทียบได้เหมือนกัน
ฆราวาสที่ถึงโลกุตร นับแต่พระโสดาบันเป็นต้น
บางท่านออกจากนั้นแล้ว ก็ไปยังอยู่สกิทาคา อนาคา ก็มีอยู่
บางท่านก็ไม่ค้างอยู่ เตลิดไปถึงพระอรหันต์
ส่วนบรรพชิตในข้อนี้ก็คงหมายเป็นอันเดียวกัน
แต่พระเณรที่เป็นโลกีย์ก็คงหมายเหมือนฆราวาสเหมือนกัน แต่ว่ามีเพศต่างกัน
ส่วนกุศลผลบุญ ถ้ามีศีลพอเป็นไปได้ ก็ต่างจากคฤหัสถ์บ้าง
แต่นี่หมายความว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีศีล
ส่วนคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันนั้น เขามีศีล ๕ ไม่ด่างพร้อยแล้ว
แม้พระภิกษุสามเณรเป็นปุถุชนคนหนาอยู่ ก็สู้พระโสดาบันที่รักษาศีล ๕ บริสุทธิ์อยู่บ้านไม่ได้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP