จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๑๙ การจัดการความเกลียด



219 talk



ความเกลียดไม่ใช่เมฆหมอก
ที่โรยตัวดักรอเราอยู่ตามทาง
แต่มันเป็นหลุมดำ
ที่ก่อตัวขึ้นมาจากกลางใจเราเอง
ดังนั้น การจัดการความเกลียด
จึงไม่ใช่ทำลายสิ่งที่อยู่นอกตัว
แต่เป็นการเปลี่ยนหลุมดำในตัว
ให้กลายเป็นหลุมขาวไปแทน


คนส่วนใหญ่
ไม่จัดการกับความเกลียดเลย
คนส่วนใหญ่จึงต้องทน
อยู่กับความทุกข์มาก
ทุกข์ปานกลาง หรือไม่ก็ทุกข์น้อยหน่อย
แต่ไม่มีทางเลือกอันเป็นสุขเอาเลย


คนส่วนน้อย
ฝึกจัดการกับความเกลียด
คนส่วนน้อยจึงมีโอกาสทางความสุข
แม้ยังละทุกข์ไม่ได้
แต่ก็ไม่ทุกข์จนดำมืดไปทั้งใจ


มองแบบพุทธ
คือมองว่าจิตแบบไหน
ที่ความเกลียดเกาะกุมหุ้มห่อไม่ได้
ถ้าได้จิตแบบนั้นมา
ก็ได้ชื่อว่าจัดการกับความเกลียด
แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด


จิต ‘แบบนั้น’ คือจิตที่เป็นกุศล
จิตที่มีสภาพเยือกเย็นเป็นปกติ
จิตที่ตั้งมั่นหวั่นไหวยาก
จิตที่มีสติตื่นรู้ เทียบขาวเทียบดำในตนได้ไว


จิตแบบนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แต่ต้องอาศัยความเกลียดนั่นเอง
เป็นบันไดขั้นแรกนำพาไป
เกลียดแล้วยอมรับว่าเกลียด
เกลียดแล้วรู้ว่าเป็นความดำมืดภายใน
รู้แล้วเห็นว่าความมืดไม่เที่ยง
ลมหายใจนี้มืดมาก ลมหายใจหน้ามืดน้อย


ขอเพียงไม่ตรึกนึกถึงศัตรู
ก็จะพบว่าความมืด
เป็นสิ่งที่ค่อยๆจางลงเองได้ในไม่กี่ลมหายใจ
แต่ถ้าวนเวียนกลับมาตรึกนึกอีก
ความมืดก็กลับมาอีก


เห็นการไปการมาของความมืดหลายๆครั้ง
ในที่สุดจะมีครั้งหนึ่งที่สะดุดปัญญา
เกิดความรู้สึกคล้ายตื่นจากฝัน
ได้ข้อสรุปว่าความมืดไม่ใช่เรา 
เราเป็นคนละตัวกับความมืด
เราอยู่ส่วนเรา ความมืดอยู่ส่วนความมืด
จึงขอแยกทางกับความมืดได้โดยง่าย
เหมือนแยกเมฆหมอกออกไป
เหลือแต่จิตที่เป็นอิสระจากความมืดดวงเดียว


เมื่อเข้าถึงจิตแบบนั้นได้ครั้งหนึ่ง
ก็ต้องเข้าถึงได้อีก
และเมื่อเข้าถึงได้บ่อยๆ
ในที่สุดก็ไม่อยากเกลียดให้เมื่อย
เพราะจิตเริ่มตั้งมั่นอยู่ในสภาพสว่างเย็น
ใคร่ในความโปร่งเบาเป็นกุศล
มากกว่าจะหวงอกุศลอันทึบหนัก
ถึงตรงนั้น
คุณจะเป็นผู้มีเส้นทางกรรมใหม่
อาจถึงขั้นฉลาดรู้วิธีเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร
ด้วยสีหน้า แววตา คำพูดเฉพาะหน้า
หรือกุศโลบายชาญฉลาดแรมปี
โดยไม่ต้องเสแสร้งแกล้งฝืน


ถ้าชีวิตของคุณ
อยู่ห่างจากเส้นทางความเกลียดชังของคนอื่น
มีความสุขมากกว่าคนส่วนใหญ่ในโลก
ขอให้รู้ไว้ว่านั่นไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ
แต่ด้วยการหมั่นฝึกเอาตัว
ออกมาจากเส้นทางความเกลียดชังในตนเอง!


ดังตฤณ
ตุลาคม ๖๐




review


คอลัมน์ "ธรรมะจากพระสูตร" ในฉบับนี้
เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระพาหิยะ
ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา
ติดตามได้ในตอน "พาหิยสูตร ว่าด้วยพระพาหิยะ" (-/\-)


ในการฝึกรู้ลมหายใจนั้นจะทราบได้อย่างไรว่ารู้ได้ถูกต้อง
และการปฏิบัติธรรมนั้นดำเนินมาอย่างตรงทาง
หาคำตอบได้จากคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ในขณะนั่งสมาธิ ควรรู้ลมหายใจอย่างเดียวหรือรู้อิริยาบถไปด้วย"


หากต้องพบปัญหาในการทำงานอย่างหนักจนรู้สึกท้อแท้
แล้วจะสร้างกำลังใจให้ตนเองได้อย่างไร
ลองมาดูเรื่องราวในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน "ถึงท้อแท้แต่จะสู้อยู่ต่อไป" ค่ะ (^__^)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP