จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๗) พระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



217 destination



ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการดนตรี
ในระดับที่เรียกว่าเป็นอัจฉริยะระดับโลก
พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง
ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด
และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย

ในปี ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา
(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง)
ซึ่งเป็นสถาบันด้านการดนตรีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร
และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ ๒๓ แด่
ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ซึ่งผู้ที่จะได้รับเกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งสถาบันนี้
ล้วนเป็นผู้มีอาชีพและผลงานด้านดนตรี และศิลปะดีเด่น
เป็นที่ยอมรับของชาวโลกทั้งสิ้น
โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด
และเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้


ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา
ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ตดนตรี
และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น
ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟน
สอดแทรกกับแผ่นเสียงของ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี
เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ
และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก
พระองค์ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม
เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง
เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง
เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง
และเพื่อทรงดนตรี ร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์


พระองค์ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา
ในปี ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน”
ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก
และจนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ดังต่อไปนี้
ปี ๒๔๘๙
(๑) เพลงแสงเทียน (Candle Light Blues)
(๒) เพลงยามเย็น (Love at Sundown)
(๓) เพลงสายฝน (Falling Rain) (๔) เพลงใกล้รุ่ง (Near Dawn)
ปี ๒๔๙๐
(๕) เพลงชะตาชีวิต (The H.M.Blues)
(๖) เพลงดวงใจกับความรัก (Never Mind the H.M.Blues)
ปี ๒๔๙๑
(๗) เพลงมาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
ปี ๒๔๙๒
(๘) เพลง
อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
(๙) เพลงเทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
(๑๐) เพลงคำหวาน (Sweet Words)
(๑๑) เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ (Chulalongkorn Alma Mater)
(๑๒) เพลงแก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
ปี ๒๔๙๕
(๑๓) เพลงพรปีใหม่ (New Year Greetings)
(๑๔) เพลงรักคืนเรือน(Love Over Again) (๑๕) เพลงเพลงยามค่ำ (Twilight)
(๑๖) เพลงยิ้มสู้ (Smiles) (๑๗) เพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล (The Colours March)
ปี ๒๔๙๗
(๑๘) เพลงเมื่อโสมส่อง (I Never Dreamed)
(๑๙) ลมหนาว (Love in Spring) (๒๐) ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
ปี ๒๔๙๘
(๒๑) เพลง Oh I Say (๒๒) เพลง Can't You Ever See
(๒๓) เพลง Lay Kram goes Dixie
ปี ๒๕๐๐
(๒๔) เพลงค่ำแล้ว (Lullaby) (๒๕) เพลงสายลม (I Think of You)
(๒๖) เพลงไกลกังวล (When) (เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย)
ปี ๒๕๐๑
(๒๗) เพลงแสงเดือน (Magic Beams)
ปี ๒๕๐๒
(๒๘) เพลงฝัน (Somewhere Somehow) (เพลงเพลินภูพิงค์)
(๒๙) เพลงมาร์ชนาวิกโยธิน (The Royal Marines March)
ในปี ๒๕๐๒ นี้เอง ทรงพระราชนิพนธ์เพลงพระราชนิพนธ์ชุด “Kinari”
ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ชุด “มโนห์รา”
ซึ่งทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด
ทรงโปรดเกล้าฯให้วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลงประกอบการแสดงบัลเลต์ชุดมโนห์รา
ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงควบคุมการฝึกซ้อมเองด้วย
เพลงพระราชนิพนธ์ชุดนี้ประกอบด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ ได้แก่
(๓๐) เพลงภิรมย์รัก (A Love Story) (๓๑) Nature Waltz
(๓๒) The Hunter (๓๓) Kinari Waltz
ปี ๒๕๐๒
(๓๔) เพลงแผ่นดินของเรา (Alexandra) (๓๕) พระมหามงคล
ปี ๒๕๐๕
(๓๖) ยูงทอง
ปี ๒๕๐๘
(๓๗) เพลงในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
(๓๘) เพลงเตือนใจ (Old-Fashioned Melody)
(๓๙) เพลงไร้เดือน (No Moon) (เพลงไร้จันทร์)
(๔๐) เพลงเกาะในฝัน (Dream Island)
(๔๑) เพลงแว่ว (Echo)
ปี ๒๕๐๙
(๔๒) เพลงธรรมศาสตร์ (Thammasart Alma Mater)
ปี ๒๕๑๔
(๔๓) เพลงความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)
ปี ๒๕๑๖
(๔๔) เพลงเราสู้
ปี ๒๕๑๙
(๔๕) เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21)
ปี ๒๕๒๒
(๔๖) Blues for Uthit
ปี ๒๕๓๗
(๔๗) รัก
ปี ๒๕๓๘
(๔๘) เมนูไข่


สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พระองค์ทรงใช้ดนตรีเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน
และเพื่อประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการบริหารประเทศ กล่าวคือ
พระองค์ทรงพระราชทานเพลงแก่พสกนิกรชาวไทย
ซึ่งนอกจากเพลงจะมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟังแล้ว ยังให้คติในการดำรงชีวิต
และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ยกตัวอย่างเช่น
ในปี ๒๔๙๕ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงพรปีใหม่
เนื่องจากทรงพระประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง
ซึ่งได้นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๕
และถือว่าเป็นเพลงปีใหม่ของประชาชนชาวไทยสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ในปี ๒๔๙๕ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยิ้มสู้ (Smiles)
เพื่อเป็นการปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่คนตาบอด
และทรงพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์
ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๕


ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข พระองค์ทรงพระราชทานเพลงปลุกใจ
เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชน
ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อในการทำความดี
ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและสังคม ยกตัวอย่างเช่น
ในปี ๒๕๐๐ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไกลกังวล
ซึ่งต่อมาในปี ๒๕๑๔ บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้
ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทยเป็นเพลง "เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย"
เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย
ในปี ๒๕๑๔ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงความฝันอันสูงสุด
พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ
เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะขณะนั้นบ้านเมืองมีความวุ่นวาย
ในปี ๒๕๑๖ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเราสู้
โดยผู้ประพันธ์คำร้องคือนายสมภพ จันทรประภา ซึ่งได้ประพันธ์คำร้องจาก
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ
ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน


พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลงและพระราชทานแก่หน่วยงานต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น
ในปี ๒๔๙๑ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงมาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
พระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม
ในปี ๒๔๙๒ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ (Chulalongkorn Alma Mater)
พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในปี ๒๔๙๕ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล (The Colours March)
พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญ ธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพไทย
ในปี ๒๕๐๒ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงมาร์ชนาวิกโยธิน (The Royal Marines March)
พระราชทานแก่กรมนาวิกโยธิน
ในปี ๒๕๐๕ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยูงทอง
พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในปี ๒๕๐๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเกษตรศาสตร์
พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในปี ๒๕๑๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเราเหล่าทหารราบ ๒๑
พระราชทานแก่กรมทหารราบ ๒๑


ในคราวที่มีราชอาคันตุกะจากต่างประเทศเสด็จเยือนประเทศไทย
พระองค์ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อ กระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
ปี ๒๕๐๒ ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Alexandra เพื่อต้อนรับราชอาคันตุกะ
เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร
เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์
ซึ่งเริ่มแรกได้ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ
และได้ต่อมาได้ประพันธ์เพลงเพิ่มเติมและใส่คำร้องไทยเป็นชื่อเพลงแผ่นดินของเรา


ในบางวาระโอกาสทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำ
เพลงพระราชนิพนธ์ออกบรรเลงเพื่อหารายได้บริจาคให้แก่
องค์การการกุศลต่าง ๆ เช่น ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
แก่สมาคมปราบวัณโรคให้นำเพลงเพลงยามเย็นออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล
หรือพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำเพลงมาร์ชนาวิกโยธิน
ออกบรรเลง เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิมหิดล เป็นต้น


ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวมนักดนตรีสมัครเล่น
มารวมกันตั้งเป็นวงขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
ประกอบด้วยพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงคุ้นเคย
และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปี ๒๔๙๕
เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิง และสารประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
พระราชทานชื่อว่า “วงลายคราม” ก็ได้มีการออกอากาศ
ส่งวิทยุกระจายเสียงกับวงดนตรีต่าง ๆ ด้วย


ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มมาเล่นดนตรีร่วมกับวงลายคราม
จึงเกิดเป็น วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ขึ้น วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์มีลักษณะพิเศษคือ
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง
ออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุประจำวันศุกร์
และยังทรงจัดรายการเพลงเอง ทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก
บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลง และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง
วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ยังเป็นวงดนตรีที่โปรดให้ไปร่วมบรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี”
ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ
ภายหลังจากนั้น ได้ยกเลิกไป เพราะทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มมากขึ้น


นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลงและทรงดนตรีแล้ว
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงเป็น “ครูใหญ่” สอนดนตรีแก่ แพทย์ ราชองครักษ์
และข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในช่วงที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ
ตลอดจนข้าราชบริพารในพระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่เล่นดนตรีไม่เป็นเลย
จนเล่นดนตรีเป็น และสามารถบรรเลงในโอกาสพิเศษต่างๆได้
จนกระทั่งสามารถตั้งวงดนตรีขึ้นมาได้ชื่อว่า วง “สหายพัฒนา”
โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหัวหน้าวง


ในด้านดนตรีไทย ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทย
และนาฏศิลป์ไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทยช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้
เพื่อเป็นมาตรฐานของวงดนตรีรุ่นหลัง
ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากร
จัดพิมพ์หนังสือ “โน้ตเพลงไทย เล่ม ๑”
เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป
และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทย
โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์


นอกจากนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดพิธีครอบประธานครูโขนละคร
และต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงในวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอีกด้วย
ซึ่งกิจกรรมทั้ง ๒ อย่างนั้น ดำเนินมาจนถึงจุดที่ใกล้จะสูญสิ้นแล้ว
จึงนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อนุรักษ์ศิลปะของไทย
เพื่อให้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป


ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านการดนตรีดังที่กล่าวแล้ว
ในปี ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”
แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน”



ข้อมูลอ้างอิง:

http://www.kingramamusic.org/th/article/7_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7

https://web.ku.ac.th/king72/2530/music.htm

http://kanchanapisek.or.th/articles/music.th.html

http://www.photoontour.com/SpecialPhotos_HTML/60thcelebration/king_data5.htm#31

http://www.thaihealth.or.th/Content/21659-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5.html

http://welovethaiking.com/blog/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87/

http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/32150-044727

https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478576569



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP