จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๑๗ หญิงกับชาย ปฏิบัติธรรมต่างกันอย่างไร?



217 talk



ก่อนปฏิบัติธรรม
ชายย่อมรู้สึกว่าตนเป็นชาย
หญิงย่อมรู้สึกว่าตนเป็นหญิง
อยู่ด้วยกันตามฐานะทางกฎหมาย
ก็ด้วยความเป็นสามี ความเป็นภรรยา
ไปวัดด้วยกันตามความเข้าถึงพระ
ฝ่ายชายยื่นของสังฆทานถึงมือพระได้
ขณะที่ฝ่ายหญิงต้องวางลงบนผ้ารับเท่านั้น


แต่เมื่อปฏิบัติธรรมเจริญสติ
ทุกคนต่างได้รับโอกาสทางเพศเท่าเทียมกัน
เพราะพระพุทธเจ้าท่านให้เริ่มต้นเหมือนๆกัน
คือ มีสติเห็นว่า
กำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า
เดี๋ยวลมเข้า เดี๋ยวลมออก
เดี๋ยวลมยาว เดี๋ยวลมสั้น
ลมหายใจไม่แบ่งเพศ
จะชายหรือหญิงก็เห็นเหมือนๆกันอย่างนี้


กล่าวโดยย่นย่อ
เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
แล้วต่อยอดเป็นการเห็นความไม่เที่ยง
ของทุกข์สุขอันมากับลมหายใจ
หายใจแล้วอึดอัด หายใจแล้วสบาย
ตลอดจนเห็นความไม่เที่ยง
ของอะไรๆอื่นใดในขอบเขตกายใจนี้
ในที่สุดก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อมีสติอันเดียวกัน


เมื่อมีสติ
เมื่อมีสมาธิ
เห็นกายสักแต่เป็นรูป
เห็นจิตสักแต่เป็นภาวะรู้
ก็จะถึงความรู้ว่าจิตไม่มีเพศ
และแม้แต่องค์ประกอบทางกาย
ที่เป็นของแข็ง ของเหลว 
ของอุ่น และของพัดไหว
ก็ไม่มีเพศ ไม่มีหน้าตาตัวตนเช่นกัน


ถ้าจะต่าง
ก็ต่างตามภาวะของบุคคลเป็นคนๆ
เช่น จะหญิงหรือชายก็ตาม
หากจิตใจหวั่นไหว ฟุ้งซ่านง่าย
ย่อมกลับไปกลับมา ท้อแท้บ่อย
ลังเลสงสัยได้ทุกวัน
วิ่งตะลอนหาอุบายลัดสำเร็จรูปไปเรื่อย


ต่อเมื่อจับจุดถูก
ถึงวันที่รู้จริงๆว่า
อะไรมีให้ดูอยู่เดี๋ยวนี้
ก็ดูไปอย่างนั้น
เบลอๆก็ยอมรับว่าเบลอๆ
ชัดขึ้นก็รับรู้ว่าชัดขึ้น
จิตแกว่งก็ยอมรับว่าจิตแกว่ง
จิตนิ่งก็รับรู้ว่าจิตนิ่ง
นั่งหลังงอก็ยอมรับว่านั่งหลังงอ
ยืดหลังตรงก็รับรู้ว่ายืดหลังตรง
แค่สังเกตความต่างว่า
ระหว่างลมหายใจหนึ่งกับอีกลมหายใจหนึ่ง
สภาพนั้นๆไม่เหมือนเดิมอย่างไร
มากขึ้นหรือน้อยลง เข้มข้นหรือเบาบาง
เพียงเท่านี้ นานไป ใจก็คลาย
จิตฉลาดขึ้น รู้ความจริงในตนมากขึ้น


พอกลับไปอยู่ในโลกที่วุ่นวาย
ผู้ปฏิบัติธรรมอาจต่างกันอีกครั้ง
เช่น เมื่อสักแต่เห็นว่ากายนั่งอยู่
ไม่มีใครนั่งอยู่
เห็นว่ากายนี้มีศักยภาพอย่างหนึ่งอยู่
นั่งอยู่อย่างเข้าใจอะไรดีพอ
ที่จะพูดให้คนอื่นเข้าใจตาม
นั่งอยู่อย่างรู้ดีพอ
จะทำสิ่งใดให้สำเร็จ
หรือว่านั่งอยู่ในภาวะเอ๋อๆ
ไม่เข้าใจพอ ไม่ได้รู้อะไรมากพอ
ที่จะพูดหรือทำอะไรให้เป็นประโยชน์
ก็ยอมรับตามจริงได้อย่างนั้น
ไม่เป็นทุกข์กับการอยากมีอยากเป็น
ที่เป็นไปไม่ได้เดี๋ยวนั้น
แต่อาจรู้ว่าต้องเรียน ต้องพยายามเท่าไร
จึงจะสำเร็จเหมือนรูปนามอื่นที่มีศักยภาพพอ


หากจะเกิดการแบ่งเพศอยู่บ้าง
ผู้ปฏิบัติธรรมก็จะเห็นเข้ามาในตน เช่น


หญิงที่เข้าใจอำนาจของเพศหญิง
เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ด้วยความอ่อนโยน
ส่วนหญิงที่แข่งอำนาจบาตรใหญ่กับผู้ชาย
ทำให้โลกวุ่นวายได้เหมือนเดิมด้วยความก้าวร้าว


ชายที่จิตใจอ่อนไหวอ่อนแอ
ไม่แพ้ไม่ชนะ
ไม่แตกต่างจากหญิงที่อ่อนไหวอ่อนแอ
นานเข้าก็อาจอยากเป็นหญิงให้รู้แล้วรู้รอด ฯลฯ


สรุปคือ ปฏิบัติธรรมแล้วเข้าใจโลก
เข้าใจตัวเอง เข้าใจที่มาที่ไป
เข้าใจความเท่าเทียมและแตกต่างระหว่างเพศ
ไม่ใช่เริ่มด้วยเพศไหนแล้ว
ได้เปรียบทางการปฏิบัติกว่ากัน!



ดังตฤณ
กันยายน ๖๐





review


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามได้เรียบเรียงไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม"
ตอน "พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๗) พระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี"


เมื่อไม่สามารถฝึกเจริญสติโดยการดูลมหายใจได้
เนื่องจากความเจ็บป่วยทางกายเป็นอุปสรรค
จะมีวิธีอื่นใดที่สามารถปฏิบัติได้บ้าง
หาคำตอบได้จากคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา" 
ตอน "ควรเจริญสติอย่างไรในยามป่วยเป็นไข้หวัด"


หากเจ็บเพราะความรักมาหลายหน
จากการที่ถูกคนรักนอกใจมาทุกครั้ง
แล้วจะทำอย่างไรให้ทุกข์ใจน้อยลง
ลองมาดูกรณีศึกษาได้ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน "มีรักครั้งใด (ไม่อยาก) เสียใจทุกครั้ง" ค่ะ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP