สารส่องใจ Enlightenment

รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต (ตอนที่ ๑) (คลิก)



ผู้ใดได้เจริญสมาธิ ได้เจริญปัญญามาแล้วอย่างนี้
ย่อมเป็นผู้มีสติมาก รู้ตัวอยู่เสมอ เวลายังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็รู้ตัวอยู่
ก็มองเห็นกำหนดรู้อยู่ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่มันแปรปรวน เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้น
ไม่ใช่มันอยู่นิ่งๆ เมื่อไรล่ะ มันไม่ได้อยู่นิ่งๆ เลย



รูปกายมันเกิดยังไงล่ะ ก็เคยพูดบ่อยๆ อยู่แล้วล่ะ แต่ต้องพูดอีก
ก็อย่างเช่นเรารับประทานอาหารเข้าไปอย่างนี้นะ
อาหารเก่าที่ไฟธาตุมันย่อยออกไปนั่นแล้ว มันก็ถ่ายเทออกไป
นั่นแหละเรียกว่า รูปเก่ามันดับไปแล้วรูปใหม่เกิดแทน
ก็รับประทานอาหารเข้าไปใหม่อีก เอาไปแทนของเก่าไว้
ไฟธาตุ น้ำย่อยอาหาร ก็ย่อยอาหารนั้นไป
ซึมซาบ หล่อเลี้ยงร่างกายอันนี้ แทนกันไว้อย่างนี้
แล้วส่วนใดที่เป็นน้ำย่อยอาหารที่ซึมซาบไปหล่อเลี้ยงร่างกายนี้
มันก็ไหลออกมาเป็นเหงื่อเป็นไคล เป็นน้ำมูกเป็นน้ำลายไปอย่างนั้นแหละ
เรียกว่าอาหารส่วนละเอียดอันนี้น่ะ


รูปเก่าดับไปแล้ว รูปใหม่เกิดขึ้นมาแทน
แต่ถ้าหากว่าไม่รับประทานอาหารเข้าไปแทน
เช่นนี้แล้ว รูปกายนี้มันก็ซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ตั้งอยู่ไม่ได้
รูปกายนี้จะตั้งอยู่ได้ ก็เพราะว่ามันมีอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่
จึงค่อยตั้งอยู่ได้ จึงมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ไม่ซูบไม่ผอม จึงมีกำลังเรี่ยวแรงดีอยู่
นี่ต้องพิจารณาให้เห็นดังนี้



แต่ทีนี้นะ ถ้าหากว่าบุญเก่าที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ก่อน
มันรักษา มันให้ผลไปในร่างกายนี่ มันร่อยหรอลง
ร่างกายมันก็ชำรุดทรุดโทรมลง เป็นอย่างงั้น
เมื่อร่างกายชำรุดทรุดโทรมลง
รับประทานอาหารก็ไม่มีรสมีชาติเหมือนเดิม นอนก็ไม่หลับเต็มที่
เมื่อร่างกายทรุดโทรมลงไปแล้ว ก็มักจะมีโรคภัยเบียดเบียน
เป็นโรคเป็นภัยเจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่
นั่นแหละ แสดงว่าบุญเก่ามันร่อยหรอลงไป ร่างกายนี่จึงมีโรคภัยมาเบียดเบียน
รับประทานอาหารก็ไม่ได้มากเต็มส่วน นอนก็ไม่หลับเต็มส่วน
เช่นนี้นะ ร่างกายมันก็ทรุดโทรมลง



เมื่อบุญเก่ามันหมดลงจริงๆ ลมหายใจก็หมดสิ้นลงไป จิตใจก็อาศัยร่างอันนี้อยู่ไม่ได้
บุญมีบาปมีที่ได้ทำไว้นั่น มันก็นำไปสู่สุขสู่ทุกข์ ไปตามบุญตามกรรม
ท่านผู้ละอาสวกิเลสสิ้นไปแล้ว ก็เข้าสู่นิพพาน ไม่ได้มาเกิดในภพน้อยภพใหญ่ต่อไป
ก็อย่างนี้แหละ ขอให้พากันเข้าใจ



แต่ทีนี้มาพูดถึงผู้ที่ยังละกิเลสให้หมดไม่ได้
ก็เพียรละกิเลสอันเป็นบาปอกุศลนั้น ให้มันน้อยลงไป เบาบางลงไป
หรือให้มันหมดสิ้นไปจากกาย วาจา ใจให้ได้
ก็นับว่าเป็นฐานที่ดีเลย ดีทีเดียวแหละ
เมื่อละบาปอกุศลได้หมดลงไปแล้วอย่างนี้
มันก็มีแต่บุญล้วนๆ เป็นที่พึ่งทางกาย ทางจิตใจอยู่



บัดนี้ มันก็มีโอกาสได้สั่งสมบุญ ให้เกิดมีขึ้นในตนยิ่งๆ ขึ้นไป
เพราะไม่มีบาปมาแทรกแซง ไม่มีบาปมาสกัดกั้น
ก็เหมือนอย่างที่ผู้ละบาปอันหยาบช้ามาแล้ว
เช่นอย่างว่า เป็นผู้มีศีล ๕ ศีล ๘ บริสุทธิ์ดี
มีศีล ๑๐ สามเณรก็รักษาศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์ดี
เป็นพระภิกษุก็รักษาศีลพระปาฏิโมกข์
คือ ศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดีอย่างนี้นะ
เมื่อมีศีลบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว
มันก็แสดงว่าละบาปอกุศลส่วนหยาบๆ นั้นได้
บาปก็ระงับดับไป ดังนั้น จิตใจจึงเบิกบานผ่องใส

ถ้าบุญบารมียังไม่เต็ม ก็ต้องฝึกฝนจิตใจให้มันสงบไป
รักษาความสงบระงับของจิตใจไว้
ก็อย่างนี้แหละการปฏิบัติ ขอให้พากันเข้าใจ



รักษาจิตดวงนี้นะ เมื่อเราชำนาญในการรักษากาย รักษาวาจา
มีสติเป็นวินัย ไม่ทำบาปแล้วนะ
ก็มีโอกาสได้รักษาจิตนี้ให้บริสุทธิ์ได้ ตั้งมั่นเป็นปกติอยู่ได้เรื่อยๆ ไป
อันนี้แหละ ที่จะทำให้บุญกุศลมันเจริญแก่กล้าขึ้นไปในจิตใจยิ่งๆ ขึ้นไป
บางทีบุญวาสนามี บุญกุศลมันอาจจะเต็มเข้าขั้นใดขั้นหนึ่ง
ในมรรคทั้ง ๔ ประการนั้น เมื่อบุญกุศลมันเต็มในขั้นใดแล้ว
ก็ย่อมสามารถที่จะบรรลุมรรคผลในขั้นนั้นได้ ในปัจจุบันชาติแหละ



แต่ถ้าหากว่าบุญกุศลยังไม่เต็ม ไม่เข้าขั้นใดๆ ก็จะเป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัย
ให้นำไปบังเกิดในสุคติภพใดภพหนึ่ง ที่จะบ่ายหน้าไปสู่ทุคติไม่มี
การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี่ ต้องให้รู้แจ้งได้ด้วยตนเองว่า
บาปนั่นตนได้ละมันหมดแล้ว ก็ให้รู้อย่างนี้นะ
ไม่ใช่ว่ามีแต่ความสงสัยเคลือบแคลงใจอยู่ว่า
บาปมันหมดไปแล้วหรือยังหนอ เราละมันหมดหรือยัง
เรามีแต่สงสัยลังเลอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ถูกต้อง ขอให้เข้าใจ
จะต้องตรวจ ต้องพิจารณาภาวนา
ตรวจตราดูอาการ กาย วาจา ความประพฤติของตนในแต่ละวันแต่ละคืนอย่างนี้นะ
ตนประพฤติผิดศีลมีไหม หรือไม่มี นี่ก็ต้องทบทวนดูแหละ มันก็รู้ได้



ถ้ารู้ว่าแต่ละวัน แต่ละคืนมานี่
ตนมีสติสัมปชัญญะ รักษากาย วาจา ใจ ให้ปกติอยู่
ให้สงบระงับจากบาปอกุศลอยู่ ไม่ได้หลง ไม่ได้เผลอทำบาปทำกรรม
ถ้าหากว่าได้เผลอไปอย่างนี้ เราก็สมาทานศีลเสีย
เมื่อสมาทานศีลแล้วก็อธิษฐานใจ คราวนี้เราจะมีสติเต็มที่เลย
ระมัดระวัง จะไม่เผลอ จะไม่ล่วงสิกขาบทที่ได้สมาทานแล้ว
เมื่อได้อธิษฐานกันไปอย่างนี้ ศีลมันก็มีตามเดิม
แล้วบาปที่ล่วงเกินศีลนั้นมันก็ระงับไป
เมื่อเรารู้ตัวแล้วนะ รู้แล้วก็สำรวมระวังต่อไปอย่างนี้นะ
แล้วบาปนั้นมันก็ระงับไป ให้เข้าใจ
ที่ว่าบุคคลทำบาปแล้ว บาปติดตามไปอยู่นั้น
เนื่องจากว่า มันทำบาปลงไปแล้ว ไม่รู้ตัว ไม่สารภาพผิด ไม่อธิษฐานใจละเว้น
เช่นนี้แหละบาปมันถึงได้ติดตามไปในภพในชาติต่อๆ ไป
นี่ให้เข้าใจ วิธีละบาปก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องมันน่ะ



สรุปแล้วการปฏิบัติธรรมนั่นน่ะ
ก็เพื่อมาพากเพียรพยายามละบาปอกุศล
ที่ตนได้ลุ่มหลง กระทำมาแต่ก่อนนั่นแหละ
ให้มันหมดไปสิ้นไปจากจิตใจ เมื่อตนมารู้ตัวแล้ว ก็มาสมาทานศีลนั่น
ตนจะไม่ทำบาปกรรมอย่างนั้นต่อไปอีก
แต่บาปกรรมที่ทำมาแล้ว มันยังมีอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ
จึงต้องภาวนาอาศัยทำใจสงบ
อธิษฐานใจละบาปกรรมที่ลุ่มหลงกระทำมาแต่ก่อนนั้น
ให้มันหมดไปสิ้นไปจากจิตใจนี้ นี่นะวิธีละบาปให้พากันเข้าใจ



ถ้าผู้ใดไม่เข้าใจอย่างนี้นะ นึกว่าตนสมาทานศีลแล้วก็แล้วไป
คิดว่าบาปคงระงับไปแล้วอย่างนี้ เลยไม่ทบทวนไม่อะไรอย่างนี้นะ
อย่างนั้นบาปมันไม่ระงับนะ บาปมันย่อมติดตามไปอยู่อย่างงั้นแหละ
ส่วนที่เราสมาทานศีล มันก็เป็นศีลไปอยู่ บาปมันก็ไม่เกิดแหละ
เมื่อเราสมาทานศีลมั่นคงกันไปแล้วนะ
แต่ส่วนที่มันทำมาแล้วนั่นสิ มันยังติดสอยห้อยตามอยู่
อันนั้นเราจึงต้องอาศัยอธิษฐานใจละเสมอๆ ไป



นี่แหละจึงสมกับความเพียร อันประกอบไปด้วยองค์ ๔ ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้
เฉพาะข้อ ๑ คือ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
ก็คือเพียรระมัดระวังกาย วาจา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ
ระวังกาย วาจา ไม่ให้ล่วงละเมิดในพุทธบัญญัติที่สมาทานแล้ว
ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้ ไม่ให้หลงยินดีไปในอารมณ์ที่น่ายินดี
อันจะเป็นเหตุก่อให้ทำบาป



เช่นอย่างว่า ผู้สมาทานมั่นในพรหมจรรย์อย่างนี้นะ
เรียกว่าศีลข้อ อพรหมจริยา
บุคคลใดยังมีจิตกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอยู่ อย่างนี้นะ
ยังเศร้าหมองอยู่นะ ศีลข้อนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนั้น
ดังนั้นน่ะเมื่อสมาทานศีล อันเป็นส่วนพรหมจรรย์อย่างนั้นแล้ว
เราก็พยายามสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่ให้หลงเผลอไปยินดียินร้ายในรูป เมื่อมากระทบนัยน์ตา เป็นต้น



เมื่อพยายามสำรวมจิต
ไม่ให้ยินดียินร้ายในรูปที่มากระทบนัยน์ตา ดังกล่าวมาแล้วเช่นนี้
อันบุคคลจะไปทำบาปด้วยความยินดียินร้ายในอารมณ์ มีรูปเป็นต้น
ดังกล่าวมานั้น มันก็ไม่มี นี่แหละแย่กว่าถ้าจะไปล่วงศีล
ถ้าผู้สมาทานศีล ๘ แล้ว จะไปแสดงความมารยาสาไถยกับเพศตรงกันข้าม
หรือไปจับต้องร่างกาย อย่างนี้ก็ไม่มี
แต่เราก็ไปเห็นสำนักชีบางแห่งหรือส่วนมากทีเดียว
ยังรับของต่อมือเพศตรงกันข้ามอยู่
อันนี้มันผิด เพื่อนก็ไม่สอนกันหรือไงก็ไม่รู้แหละ นี่พวกเราอย่าไปทำนะ



ต้องสำรวมรักษาตนให้ดี ให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์จริงๆ อย่าเผลอตัว
ฝ่ายเพศตรงกันข้ามเขาเอาสิ่งของอะไรยื่นส่งให้
อย่างนี้น่ะเผลอตัวล่ะ ไปยื่นมือจับเอากับเขาเลยอย่างนี้
มันก็ทำให้ศีลเศร้าหมองไปได้ ให้เข้าใจ
เราต้องมีสติให้เขาวางไว้เสียก่อน ถึงค่อยจับเอา
แล้วถ้ามันมีจิตยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อย่างว่านั่นแหละ
เมื่อเข้าใกล้เพศตรงกันข้ามแล้ว มันก็มีความยินดี อยากจะใกล้จะชิด



แม้เป็นภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน
ถ้ามีจิตยินดีในรูป เป็นต้น ดังกล่าวมานั้น อยู่ในใจอย่างนี้นะ
อยากจะเข้าใกล้ชิด หาเรื่องพูดจา หาการงานทำเกี่ยวข้องกันไป
ได้เข้าใกล้ชิดกัน ได้หัวเราะกัน ได้กระซิกกระซี้ต่อกัน
แล้วดีอกดีใจ อันนี้มันทำให้พรหมจรรย์เศร้าหมอง ให้เข้าใจนะ



นี่แหละอันบ่อเกิดแห่งบาปอกุศล
มันเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดขึ้นไปโดยลำดับอย่างนี้
เราต้องเรียนรู้ไว้


เมื่อผู้ใดรู้อย่างนี้แล้ว ก็สำรวมตนให้ดี
มีสติสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสมอๆ
เมื่อมีอารมณ์เหล่านั้นกระทบกระทั่งมา
ก็ห้ามจิตได้ ไม่ให้มันหลงยินดียินร้ายไป
อย่างนี้นะ
ผู้นั้นก็จะไม่ได้ทำบาปอกุศลอย่างกลาง
ส่วนอย่างหยาบนั้นเป็นอันว่าละมาแล้ว อย่างนี้นะ
แล้วอย่างกลาง ก็ไม่ได้ทำบาปอย่างกลางให้มีขึ้นในใจ
เช่นนี้การรักษาศีลก็คือ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ต้องสำรวมอินทรีย์ด้วยนั่นแหละ
จะเป็นภิกษุ สามเณรก็ตาม เหมือนกัน

ถ้าหากว่าปล่อยให้ความยินดียินร้าย ครอบงำจิตใจอยู่อย่างนั้น
มันก็แสดงออกทางกาย ทางวาจาโน่น
ใกล้ชิดกับเพศตรงกันข้ามบ่อยๆ
มันฉวยโอกาสเอาเวลามีการมีงาน ทำการทำงานต่างๆ ในวัดขึ้นมาแล้วอย่างนี้
เอาแล้วมั่วกันไปเลยอย่างนี้นะ
อย่าเน้อ อันนี้ให้พากันตั้งใจสังวรระวัง อย่าไปมั่ว
ต้องมีสติ ต้องระมัดระวัง ข้อสำคัญก็ระวังจิตนี่แหละให้มันดี
ทำจิตให้เป็นปกติ ไม่หลงยินดียินร้ายในอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นแล้ว
มันก็รู้แหละ ความประพฤติอย่างไรจึงพอดิบพอดีในเพศตรงกันข้าม
มันก็ต้องรู้เองแหละ ขอให้เข้าใจ



เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจนั้น
อย่าไปลืมจิตดวงนี้ ยังไงๆ เมื่อเราควบคุมจิตดวงนี้ได้แล้ว
ก็เป็นอันว่าควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา
มันก็ได้ความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันก็สำรวมไปได้ด้วยดี เป็นปกติอย่างนี้
ขอแต่เราฝึกจิตนี่ให้มันตั้งมั่นลงไป
ให้มีปัญญา รู้ความเกิด ความแปรปรวนแตกดับ
ของรูปของนาม ของสรรพสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอๆ แล้วนะ
อย่างนี้ มันก็รักษาความรู้สึกของจิตนี้ให้เป็นปกติได้
มันก็จะไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวนไปในอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดีรักใคร่ต่างๆ
ไม่แปรปรวนไปในอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินร้ายต่างๆ นั่นมันก็จะไม่แปรปรวนไป
ความรู้สึกมันก็จะเป็นปกติ สม่ำเสมอไป



แม้จะอยู่เงียบๆ แต่ตัวคนเดียว
ไม่ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเหล่านั้น มันก็เป็นปกติอยู่ได้
แม้ได้พบ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ต่างๆ เหล่านั้น
มันก็สามารถสำรวมจิตให้เป็นปกติอยู่ได้
นี่ความมุ่งหมายของการปฏิบัติให้มันลึกเข้าไป
มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ให้พากันเข้าใจ



เราปฏิบัติก็มุ่งอย่างนั้น ขอให้มุ่งอย่างนั้นเลยทีเดียว
ถ้าหากเราไม่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างนั้นน่ะ มันก็ไม่เจริญก้าวหน้าไปได้
การปฏิบัติธรรมมันก็ย่ำต๊อกอยู่กับของเก่าเท่านั้นเองแหละ
ครั้นพอจิตมันเดือดร้อนขึ้นมา ก็เอ้า ทำความเพียรข่มมันลง
ข่มไปข่มมา มันก็ระงับลงไป
อ้าว อยู่ไปอยู่มาพอเผลอๆ มันก็เกิดขึ้นมาเผาจิตให้เดือดร้อนวุ่นวาย
เราก็ทำความเพียรข่มๆ มันลงไป มันก็สงบลง
มันก็ย่ำต๊อกอยู่ที่เก่าอยู่เรื่อยไปอย่างนั้นแหละ มันไม่ก้าวไปได้เลย



ดังนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ขอให้ก้าวไปเรื่อยๆ
แม้ว่าจะก้าวไปทีละน้อยๆ ก็ยังดี ดีกว่าไม่ก้าว ดีกว่าถอยหลัง

เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันก้าวไปได้ ก็รู้ได้
ถ้าบุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะประจำอยู่กับจิตใจ อยู่กับกายวาจาเสมอแล้วนี่
มันรู้จักความเคลื่อนไหวของจิตใจได้ทุกขณะเลย
ขณะนี้จิตใจเคลื่อนไหวไปอย่างนั้นมันก็รู้
ผู้มีสติแก่กล้า ผู้มีสัมปชัญญะ รู้กาย รู้จิตตัวเองอยู่เสมออย่างนี้นะ
มันก็รู้ ให้พึงพากันเข้าใจ



ถ้าหากว่าไม่ประเมินผลแห่งการปฏิบัติไปพร้อมกันอย่างนี้
มันจะไปรู้ได้อย่างไรว่า เราปฏิบัติมานี่มันได้ผลมากน้อยเพียงใด
กิเลสเบาบางลงไปอย่างไรบ้าง มันก็รู้ไม่ได้เลย
นั่นแหละให้พึงพากันตั้งอกตั้งใจ กระทำความเพียรลงไป
ในเมื่อเราได้มาพบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
มาพบแนวทางข้อปฏิบัติอันถูกต้อง
อันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์แล้วอย่างนี้นะ
เราไม่ควรละโอกาสนี้ให้เสียไปเปล่าๆ



แม้ว่าเราประมาทในชาตินี้ ไม่กระทำความเพียร ปล่อยให้กิเลสครอบงำ
เอ้า ท่องเที่ยวไปในสงสารต่อไป มันก็เป็นทุกข์เดือดร้อนไป
หากว่าได้ไปฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไปอีก เห็นทุกข์เห็นภัยอีก
ก็เริ่มสร้างบุญกุศลไปเหมือนเดิมอยู่อย่างนั้นแหละ



ไอ้ทุกข์นี่แหละ มันกระตุ้นใจของคนเราให้สร้างบุญสร้างกุศล
เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า

สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข”
ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบาปนำมาซึ่งความทุกข์”

เราชาวพุทธน่ะได้ฟังพุทธภาษิตนี้แล้ว เราเบื่อทุกข์กัน
บัดนี้ไม่ต้องการทุกข์ ต้องการความสุข
เมื่อต้องการความสุข เราก็ต้องสั่งสมบุญ
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนนั้น ก็ขอให้เข้าใจตามนี้


ทำไมท่านจึงสอนให้สั่งสมบุญกุศล
ก็เพราะบุญกุศลเป็นชื่อแห่งความสุข
ผู้มีบุญได้ชื่อว่ามีความสุข ผู้มีบาปก็ได้ชื่อว่ามีความทุกข์

นี่มันคู่กันอย่างนี้เองแหละ
เมื่อบุคคลใดเบื่อต่อความทุกข์ทั้งหลายแล้ว มันก็ต้องน้อมใจไปในทางบุญกุศล
สั่งสมบุญกุศลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ประมาทการสำรวมจิต
รักษาจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลคุณงามความดีที่ตนเองได้กระทำมาแล้ว
ตั้งมั่นอยู่ในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมๆ กันไปอย่างนี้
มันก็เป็นเหตุให้บุญกุศลนั้น เจริญขึ้นในจิตใจได้



เพราะว่าคนเราเมื่อมีบุญมีคุณ เป็นทุนอยู่ในจิตใจแล้ว มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้
บุญกุศลอันนั้นจะกระตุ้นใจให้ทำความดีเรื่อยไป ไม่ประมาทเลย เป็นอย่างงั้น
แล้วบุญกุศลหนหลังก็มาตกแต่ง หรือมารักษาบำรุงร่างกายนี้
ให้อยู่เย็นเป็นสุข โรคภัยร้ายแรงไม่ค่อยเบียดเบียนร่างกาย
มีกำลังวังชาดี ประกอบกุศลกิจต่างๆ ได้เต็มที่
เมื่อมันพร้อมอย่างนี้แล้ว มันก็สั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้นได้โดยลำดับไป


ดังแสดงมาสมควรแก่เวลา ขอจบลงเพียงเท่านี้


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต” ใน วรลาโภวาท ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP