สารส่องใจ Enlightenment

รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




ให้ตั้งใจสำรวมจิตใจของตนให้ดี
เรามาประชุมกัน ความมุ่งหมายก็เพื่ออบรมจิตใจโดยตรง
ถ้าไม่รวมกันอย่างนี้ มันไม่มีกำลังใจเข้มแข็ง
เมื่อเราได้รวมกัน สามัคคีกันอย่างนี้ ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็ยินดีในการฝึกตน
เราอยู่ร่วมกัน เราถือธรรมเป็นใหญ่



เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว ต่างคนก็ทำใจให้เป็นธรรม ให้ตั้งอยู่ในความสงบ
มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะกระทบกระทั่งกัน ให้เป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ
ต่างคนต่างมีศีล มีวินัย มีสติเป็นวินัย ดั่งที่เคยพูดมาแล้ว มันก็สบายใจดี
เรียกว่าการปฏิบัติธรรมนี่ก็เพื่อความสบายใจ
ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วได้รับความทุกข์เดือดร้อนใจอย่างนั้น หามิได้เลย
เพราะว่าความสงบใจมันเป็นความสุขอย่างยอด
ความสุขนอกนั้นเป็นแต่เปลือก เป็นแต่กระพี้ของความสุขเท่านั้น
ขอให้พากันเข้าใจ



พระศาสดาทรงมุ่งฝึกคนให้มีจิตใจสงบระงับ
นี่แหละเป็นจุดหมายปลายทางของพระองค์

ก็ให้พากันนึกถึงจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า
เพราะเรานับถือพระพุทธองค์เป็นศาสดาผู้สั่งสอน
ผู้ชี้หนทางออกจากทุกข์ให้ ไม่ใช่อย่างอื่นใด
การนับถือพระพุทธเจ้าน่ะ เรามาศึกษาพระธรรมคำสอนของพระองค์
แล้วเห็นว่าคำสอนของพระองค์นี่
เป็นเครื่องชี้หนทางออกจากทุกข์ได้โดยตรงเลย ไม่ใช่อ้อมค้อม
ทุกคนต้องพิจารณาให้เห็นดังกล่าวมานี้ เรียกว่าให้เห็นคุณของพระธรรม



เพราะผู้ใดเมื่อปฏิบัติตามแล้ว ถ้าปฏิบัติถูกทางจริงๆ น่ะ
ย่อมได้รับความสุขความเย็นใจจริงๆ
เพราะจิตใจนี่ถ้าพิสูจน์โดยตรงเข้าไปแล้ว มันไม่มีรูปร่างอะไร มีแต่ความรู้สึกเท่านั้น
โรคภัยไข้เจ็บก็เข้าไม่ถึง ไม่ทำลายความรู้สึกอันนี้ได้
โรคภัยไข้เจ็บมันเบียดเบียนได้แต่ร่างกายเท่านั้นเอง



ความรู้สึกคือดวงจิตนี้ ถ้าหากไม่ได้ฝึกฝนให้เกิดความรู้ความฉลาดแล้ว
ร่างกายนี่มันแปรปรวนกระทบกระทั่งเอา จิตนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อน
เพราะไม่มีปัญญาจะรู้เท่าร่างกายนี้ตามเป็นจริง



ดังนั้น พระศาสดาจึงทรงสอนให้ฝึกจิตใจให้ตั้งมั่นลงไป
จะได้เกิดปัญญา รู้เท่าร่างกายตามเป็นจริง
เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่ามันไม่ใช่ของเราอย่างนี้ จิตก็ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อน
แต่ความรู้สึกเจ็บปวด ร้อนหนาวอะไรอย่างนี้ มันมีอยู่
แต่ว่าจิตนั้นไม่เป็นทุกข์ ไม่กระวนกระวาย
หมายความว่าอย่างนั้น เมื่อจิตรู้เท่านะ
ถ้าจิตไม่รู้เท่าแล้ว มันเป็นทุกข์กระวนกระวาย ทั้งกลัวตายก็กลัว อย่างนี้แหละ



ดังนั้นขอให้เข้าใจว่า เราฝึกจิตฝึกใจนี้ให้มันเข้มแข็ง
ไม่ให้มันยึดถือร่างกายสังขารอันนี้ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน
ฝึกจิตนี้เพื่อไม่ให้สะดุ้งหวาดกลัวต่อความตาย ต่อความแปรผันของรูปกายนี้
ไม่ให้จิตนี้มันเศร้าโศกเสียใจกับร่างกายอันนี้ เมื่อร่างกายนี้มันวิบัติแปรปรวนไป
จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็อย่างนี้แหละ ขอให้เข้าใจ
ทีนี้การที่จะฝึกจิตให้มันรู้เท่าร่างกายตามเป็นจริงได้
มันก็ต้องเริ่มมาตั้งแต่การรักษาศีลให้บริสุทธิ์โน่นแหละ



เมื่อศีลบริสุทธิ์ บาปไม่บังเกิด จิตใจก็เบิกบานผ่องแผ้ว
อานิสงส์ศีลอันนี้น่ะ ทำให้จิตใจเบิกบาน ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ
เมื่อมาตรวจดูความประพฤติทางกายวาจา เห็นว่าบริสุทธิ์อยู่
ไม่ได้ใช้กายวาจานี่ทำบาป พูดในสิ่งที่เป็นบาปแล้วอย่างนี้ จิตใจก็เบิกบานสิ
เมื่อรู้ว่าตนบริสุทธิ์จากบาปจากโทษแล้ว ก็เบิกบานไม่เดือดร้อน
อันนี้ล่ะอานิสงส์ศีลที่เราได้รับในปัจจุบัน
ขอให้เข้าใจกัน



เมื่อใจเบิกบานผ่องใสแล้ว มันก็เป็นบันไดก้าวไปสู่สมาธิ
มันเป็นอย่างงั้นเรื่องมันน่ะ
เพราะว่าการที่จิตใจจะเป็นสมาธินี่ มันก็ต้องใจเบิกใจบาน
ไม่ได้ขุ่นมัว ไม่ได้เศร้าหมอง ไม่ได้ทุกข์โศกอะไร
เช่นนี้มันจึงรวมลงเป็นหนึ่งได้

ถ้าหากว่ามันมีความทุกข์ ความโศก ความพิไรรำพัน
วิตกวิจารณ์อะไรต่ออะไรอยู่
จิตใจนี่มันจะสงบลงไม่ได้เลย มันเป็นอย่างงั้น
ดังนั้น มันต้องผ่านความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ ไป
ความทุกข์ทางใจอันจะทำให้เกิดความเสียใจ ดีใจ
กับเรื่องดีเรื่องชั่วภายนอกก็ไม่มี ก็ระงับแล้ว
บัดนี้ก็อดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายใน คือร่างกายสังขารนี้
ไม่หวั่นไหวไปตาม เพ่งให้รู้เท่าทุกขเวทนาในกายนี้ตามเป็นจริง
รู้ว่าเมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเราแล้ว ทุกข์มันก็ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้นะ



ดังนั้น เราจึงไม่ต้องหวั่นไหวไปตามทุกขเวทนานี้
เมื่อรู้เท่าอย่างนี้จิตมันก็วาง จิตวางแล้วมันจึงรวมลงเป็นหนึ่งได้
ขอให้เข้าใจ ถ้าหากว่ายังหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในกายอย่างนี้แล้ว
จิตจะรวมลงเป็นหนึ่งไม่ได้เลย อย่างนั้นต้องอดต้องทน
ก็เมื่อเรารู้ว่าร่างกายขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่ของเรา เราจะไปเดือดร้อนทำไม
ไอ้จิตที่มันเดือดร้อน เพราะมันถือว่าเป็นของเรา
ถือว่ากายของเราอย่างนี้น่ะ มันจึงได้เดือดร้อน



แต่ถ้ามันรู้แจ้งว่าไม่ใช่ของเราจริงๆ แล้วอย่างนี้
มันไม่เดือดร้อนนะจิตน่ะ มันก็อดได้ทนได้
ถึงแม้ว่าจะรู้เท่าร่างกายนี้อย่างไรก็ตาม
แล้วจะให้ความรู้สึกในความทุกขเวทนาต่างๆ มันระงับไปอย่างนี้ ไม่ใช่นะ
รู้เท่าอย่างไรมันก็ยังรู้จักอยู่นั่นแหละ รู้ทุกข์น่ะ เจ็บมันก็รู้เจ็บ
ปวดมันก็รู้ปวดอยู่นั่นแหละ ร้อนก็รู้ร้อนอยู่ หนาวก็รู้หนาวอยู่อย่างนี้นะ
แต่ว่าเมื่อมันรู้แจ้งแล้วมันไม่หวั่นไหว ขอให้เข้าใจ
อันนี้ขอย้ำแล้วย้ำอีก เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญน่ะ



บางคนก็เข้าใจผิดนะ คิดว่าเมื่อรู้แจ้งรู้เท่าตามเป็นจริงแล้ว
จะไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์เสียเลยอย่างนี้นะ อันนี้มันเข้าใจผิดไป
ก็อย่างที่เคยพูดให้ฟังอยู่แล้วว่า
จิตที่ไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์นั่นน่ะ มีแต่จิตเข้านิโรธสมาบัติโน่น
จิตพระพุทธเจ้า จิตพระอรหันต์ที่ท่านเข้าสู่นิโรธสมาบัติได้

ท่านยับยั้งอยู่ โดยไม่ต้องขยับเขยื้อนร่างกายไปไหนมาไหน ๗ วัน ๗ คืน ท่านก็อยู่ได้



อันนั้นแสดงว่า จิตท่านไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์ในร่างกายเลย
เมื่อจิตท่านตั้งอยู่โดยลำพังแล้วอย่างนี้
ไอ้ร่างกายมันก็พลอยสงบไป ไม่ป่วนปั่นหวั่นไหวอะไร
ในขณะที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติอยู่นั่นนะ
เหตุนั้นท่านจึงยับยั้งอยู่ได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน
ถ้าได้สัมผัสกับความทุกขเวทนาของร่างกายอยู่อย่างนี้
อยู่ไม่ได้ถึงปานนั้น ขอให้เข้าใจ



เมื่อท่านผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้อย่างนี้
มันก็ต้องได้สัมผัสกับความทุกข์ ความแปรปรวนของร่างกายอันนี้อยู่อย่างนั้นแหละ
แต่ว่าท่านผู้ละความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕
ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาได้แล้ว
ท่านก็ไม่เป็นทุกข์อย่างนี้นะ ให้เข้าใจ
รู้ทุกข์อยู่นั่นแหละ แต่ว่าจิตใจไม่เป็นทุกข์

ไม่กระวนกระวาย ไม่หวั่นไหว อดได้ทนได้ มีสติ รู้เท่าอยู่ตามธรรมดา
มีปัญญารู้แจ้งในขันธ์ ๕ ตามเป็นจริงอยู่



รู้ว่าขันธ์ ๕ นี้มันแปรปรวน มันกำลังจะแตกจะดับ
ไม่ใช่เราแปรปรวน ไม่ใช่เราแตกเราดับ
เราไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีอยู่ในเรา
ก็ต้องใช้ปัญญาสอนจิตอย่างนี้ มันเป็นความจริงนะ
เรียกว่าสอนความจริง ไม่ใช่ปั้นเรื่องเอาน่ะ เป็นความจริงสิ
ถ้าว่าขันธ์๕ มีอยู่ในเรา เรามีอยู่ในขันธ์ ๕ มันก็เป็นทุกข์ตลอดกาล
ไม่มีผู้ใดพ้นทุกข์ได้เลยอย่างนี้



เหตุที่มันจะมีผู้พ้นทุกข์ได้ แสดงว่าผู้ที่อยู่นอกเหนือขันธ์ ๕ มีอยู่
ผู้ที่ไม่ใช่อยู่ในวงของขันธ์ ๕ นั่นน่ะ มีอยู่
เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันเป็นจำพวกขันธ์ ๕
แล้วธรรมชาติที่อยู่นอกขันธ์ ๕ นั้นมี คืออะไรเล่า คือดวงจิตนั่นแหละ ให้เข้าใจ
ดวงจิตนี่มันไม่ได้เป็นขันธ์ ๕ หมายความว่าอย่างนั้น แต่อาศัยขันธ์ ๕ อยู่
หากไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้ว วิญญาณเล่า อ้าว วิญญาณก็เป็นอาการของจิต
ออกจากจิตมันเป็นอย่างนั้น



สังเกตดูสิเมื่อเวลาคนจะตายน่ะ เวลาจวนจะตายน่ะ วิญญาณทางกายมันก็ดับ
เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ดับความรู้สึกไป ความรู้สึกมันก็หายไปๆ
ขึ้นมาถึงหัวเข่า ขึ้นมาถึงขา ดับลงๆ ความรู้สึกไม่มีแล้วบัดนี้
นั่นแหละวิญญาณมันดับ ไอ้ทางเบื้องต่ำก็นับแต่ศีรษะลงไป
ความรู้สึกมันก็ดับลงๆ ดับลงไปถึงท่ามกลางอก



บัดนี้ความรู้สึกคือวิญญาณมันดับ ทางตาก็ดับ หูก็ดับ
จมูกก็ดับ ลิ้นก็ดับ อวัยวะร่างกายส่วนอื่นดับไปหมด
มันก็ไปรวมอยู่ที่จิต เหลือแต่จิตเท่านั้น อยู่ในท่ามกลางอกนั้น อย่างนี้แหละ
เมื่อจิตยังอยู่ ลมหายใจก็ยังปรากฏอยู่อย่างนี้แหละ
พอจิตถอนออกจากร่างนี้แล้ว ลมหายใจก็ดับวูบไปเลย
นี่ให้สังเกตดูให้ดีเป็นอย่างนี้แหละ
วิญญาณจึงได้ชื่อว่าเป็นอาการของจิต อยู่ในจำพวกขันธ์ ๕
เมื่อรูปร่างกายนี้อันมีธาตุทั้ง ๔ นี้ ไม่ปรองดองสามัคคีกันแล้ว มันก็แตกสามัคคีกัน



บัดนี้ นามธรรมที่อาศัยอยู่ในขันธ์ ๕ ก็อยู่ไม่ได้
เวทนา ความสุขความทุกข์อะไร
เมื่อวิญญาณความรู้สึกอันนี้มันดับไป ดับไปเท่าไหน เวทนาที่นั้นก็ไม่มีแล้ว
สัญญาความจำหมายในส่วนที่วิญญาณมันดับไปนั้นก็ไม่มีแล้ว
สังขารความปรุงแต่ง ว่าเราเจ็บแข้งเจ็บขา เจ็บเท้าหรือว่าปวดศีรษะ
อย่างนี้ไม่มีแล้ว เมื่อวิญญาณมันดับไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น



มันดับไปๆ ตรงไหน ความรู้สึกนามธรรมทั้ง ๔ นี่ก็ดับไปพร้อมๆ กันเลย
เมื่อวิญญาณดับ เวทนา สัญญา สังขาร ก็ดับๆ ไปตามกัน มันเป็นอย่างงั้น
อันนี้ไปมันก็ยังเหลือแต่ดวงจิตเท่านั้นแหละ อาศัยอยู่แต่หทัยวัตถุนั้น
ทีนี้เมื่อถึงวาระมันมาแล้ว เรียกว่าบุญเก่าหมดลงแล้ว
จิตก็อาศัยอยู่ในร่างนี้ไม่ได้ ถอนตัวออกจากหทัยวัตถุนั้นไปตามยถากรรม



ถ้าผู้มีบุญได้สั่งสมบุญไว้ มีสติควบคุมความรู้สึกคือดวงจิตได้
ไม่ให้เกาะ ไม่ให้ข้องอยู่ในโลกอันนี้ อย่างนี้นะ
เมื่อมันไม่เกาะไม่ข้องอยู่นี่นะ มีแต่บุญกุศลปรากฏอยู่ในจิตใจอย่างเดียวเท่านั้น
บุญกุศลมันก็นำไปสู่ที่สุขสบายได้ตามประสงค์เลย
แต่ถ้าจิตไปข้องอยู่ ถึงบุญมีอยู่มันก็ไม่ได้ บุญก็พาไปไม่ได้ ขอให้เข้าใจ



ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช
ท่านเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ จนสำเร็จ
ทีนี้ก็มาสร้างเจดีย์ ๘๔
,๐๐๐ องค์
แล้วได้อาราธนานิมนต์ให้พระอรหันต์ที่ท่านมีฤทธิ์ในสมัยนั้น
ไปอัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า
ที่บรรดากษัตริย์หัวเมืองต่างๆ เจ็ดหัวเมืองใหญ่ๆ แล้วก็หัวเมืองน้อยๆ
ซึ่งได้รับส่วนแบ่งจากโทณพราหมณ์ที่เมืองกุสินาราครั้งนั้นแล้ว
ต่างก็เอาไปก่อเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองของตนๆ


บัดนี้พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไปอัญเชิญเอาพระบรมธาตุนั้นมา
ด้วยอำนาจอานุภาพของตน เอามามอบแด่พระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้แบ่งเอาพระบรมธาตุนั้น
บรรจุไว้ในเจดีย์ทั้ง ๘๔
,๐๐๐ องค์ ให้ทั่วถึงกันไปหมด
แล้วบัดนี้พระเจ้าอโศกมหาราชมีศรัทธา
ได้ทำบุญกุศลสักการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่ตั้ง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน
ในวันสุดท้าย เอาสำลีชุบน้ำมัน แล้วเอามาติดใส่ร่างกายนี่โดยรอบ
เสร็จแล้วก็จุดไฟเผาตัวเอง เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
ไฟไหม้สำลีไปจนหมด แต่ไม่ไหม้ร่างของพระเจ้าอโศกมหาราชแม้แต่น้อย
ด้วยบุญญานุภาพอันนี้น่ะรักษาไว้


แต่พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้ภาวนา
ไม่ได้ทำความเพียร เพื่อทำกิเลสให้เบาบางลงไป
เมื่อเสร็จการบำเพ็ญบุญกุศลดังกล่าวนั้นแล้ว
เงินทองในท้องพระคลังก็ร่อยหรอลงไป
บัดนี้พระเจ้าอโศกมหาราชนี่ก็เจ็บป่วยอย่างหนัก
พวกเสนาอำมาตย์ก็ประชุมปรึกษาวิจารณ์กันว่า
พระราชาพระองค์นี้น่ะ ใช้จ่ายพระราชสมบัติส่วนของพระมหากษัตริย์หมด
ผู้ที่จะมาครองราชย์สืบต่อก็จะเดือดร้อนในภายหลัง
พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงโทมนัสน้อยใจ
ระงับอารมณ์อันนั้นไม่ได้ แล้วก็สวรรคตไป



พระองค์สวรรคตไปในขณะที่จิตใจเป็นอกุศล
บุญกุศลที่ตนได้ทำมามากมายนั้นลืมเสียแล้ว นึกไม่ได้อย่างนี้นะ
บาปอกุศลอันนั้นจึงนำวิญญาณของพระเจ้าอโศกมหาราช
ไปบังเกิดเป็นงูเหลือมตัวใหญ่ทีเดียว
เอาหางเกี่ยวกิ่งไม้อยู่ริมทะเล เอาหัวมุดลงน้ำ ดำน้ำกินปลาอยู่ในน้ำทะเล
แต่โชคดีที่ว่าท่านได้ลูกชายกับลูกสาวออกบวช
ลูกชายชื่อว่ามหินทะ ลูกสาวชื่อว่านางสังฆมิตตา ได้ออกบวชทั้งพี่ทั้งน้อง
บวชแล้วปฏิบัติไป ท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์



เมื่อบิดาสวรรคตไปแล้ว
พระมหินทเถระท่านก็เข้าฌานพิจารณาดูว่า บิดาไปเกิดในที่ไหน
ก็รู้ว่าจิตวิญญาณของบิดาไปเกิดเป็นงูเหลือมใหญ่
ดำน้ำกินปลาอยู่ในชายทะเลแห่งหนึ่ง
พระมหินทเถระจึงได้เหาะไปในอากาศ แล้วไปแสดงตนปรากฏให้งูเหลือมเห็น
แล้วแสดงว่าอาตมานี่แหละเป็นลูกของมหาบพิตร
มหาบพิตรทำจิตให้เป็นอกุศลในเวลาจวนสวรรคต
หรือเวลาจวนจะตายนั่นแหละ จึงได้มาเกิดเป็นงูเหลือมนี่
เพราะฉะนั้น ขอให้พระองค์จงระลึกถึงบุญกุศลที่พระองค์ได้กระทำมา
ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในจิตใจเสียในขณะนี้แหละ
แล้วพระองค์จะได้พ้นจากความเป็นอย่างนี้ไป



เมื่อลูกไปตักเตือนให้อย่างนั้นแล้ว
ก็ได้สติระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำมาแต่เป็นมนุษย์ แต่เป็นพระราชา มหากษัตริย์
เมื่อบุญกุศลนั่นบังเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว
ตายจากร่างที่เป็นงูเหลือมแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นอย่างนั้น



อันนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ยกมาให้ฟังว่า
บุคคลที่แม้จะทำบุญให้ทานรักษาศีลได้อย่างไรๆ ก็ตาม
แต่ถ้าหากว่าไม่เจริญสมาธิภาวนา
ไม่พยายามละนิวรณ์ ๕ ให้ระงับไปจากจิตใจ
ไม่ได้เจริญปัญญาให้เห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง ดังกล่าวมานั้น
เช่นนี้น่ะ เวลาจวนจะตายน่ะ
มันเผลอไปคว้าได้อารมณ์อันใด ก็ยึดอารมณ์อันนั้นไว้

จะเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวกับเป็นบาปอกุศล มันก็ยึดเอาไว้วิตกวิจารณ์อยู่
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะกำหนดละอารมณ์เหล่านั้นได้
เพราะไม่ได้ฝึกจิตใจมาให้เป็นสมาธิ ไม่ได้เจริญปัญญามาแต่ก่อน
นี่ให้พากันเข้าใจ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “รู้เท่ากาย รู้เท่าจิต” ใน วรลาโภวาท ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP