จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

พ่อหลวงของแผ่นดิน (๑๕) ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับคณะองคมนตรี (ตอนที่ ๙)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



214 destination


สืบเนื่องจาก ๘ ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเนื้อหาบางส่วนจาก
หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี”

ซึ่งได้จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
ในตอนนี้ ผมจะขอนำบางส่วนของหนังสือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++


… ในช่วงสามปีเศษที่ผมปฏิบัติงานถวายในฐานะอธิบดี และต่อมาในฐานะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ผมได้ประสบการณ์ได้เรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตว่า เป็นบุญเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย มีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงยอมตรากตรำพระวรกาย เสด็จฯ ไปในท้องที่ทุรกันดาร ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผาหรือสายฝนที่กระหน่ำ ทรงพระดำเนินขึ้นไปบนภูเขาสูง หรือไต่ลงไปในหุบเหวที่เต็มไปด้วยโคลนตม ปลิง และทาก ในป่าที่รกชัฏ จนค่ำมืดดึกดื่น โดยมีพระราชประสงค์แน่วแน่ในอันที่จะทรงหาทางช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ท่าน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ยากจน มีปัญหาอุปสรรคในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ให้ได้มีโอกาสและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คืนวันหนึ่ง ผมได้ร่วมโต๊ะเสวยหลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระราชดำรัสที่ยังก้องอยู่ในหูของผมจนทุกวันนี้คือ “ที่เขายากจนต้องมาทำมาหากินในพื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะมา แต่เพราะเขาไม่มีที่อื่นที่จะไป ที่ฉันช่วยเขา ไม่ใช่ว่าจะช่วยตลอดไป แต่ช่วยเพื่อให้เขาได้มีโอกาสช่วยตัวเองต่อไป ...


... ผมเข้ารับตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ กรมชลประทานก็เปิดศูนย์รับเสด็จที่โครงการชลประทานนราธิวาสดังเช่นได้เคยปฏิบัติมา ทุกเช้าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะมาทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ตามปรกติ เมื่อทราบว่าจะเสด็จออกทรงงานที่ใด พลเอกเทียนชัย จั่นมุกดา กับ พลอากาศโทสุพจน์ ครุฑพันธุ์ (ยศขณะนั้น) รองสมุหราชองครักษ์ จะรีบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อออกไปตรวจพื้นที่พร้อมกับกำหนดจุดที่จะเสด็จฯ


ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕ มีกำหนดจะเสด็จฯ ไปพื้นที่พรุแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพรุเสื่อมโทรมขนาดใหญ่ ราษฎรที่ทำมาหากินอยู่บริเวณรอบ ๆ พรุมีปัญหาขาดน้ำในหน้าแล้ง บางปีเกิดน้ำล้นจากพรุท่วมพื้นที่ของราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ขุดลอก แล้วทำอาคารควบคุม เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และระบายน้ำได้สะดวกในหน้าฝน ปัจจุบันราษฎรได้มีชีวิตความเป็นอยู่ และรายได้ดีกว่าเดิมมาก หลังจากทรงงานที่พรุแฆแฆจนมืด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเทียนชัย จั่นมุกดา พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมราชองครักษ์เฝ้าฯ ทรงชี้ในแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ แล้วมีพระราชดำรัสว่า จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรปากคลองน้ำจืด ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างอาคารเก็บน้ำจืดไว้ให้ราษฎรในหน้าแล้งได้ เจ้าหน้าที่ รวมทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของพื้นที่ ร่วมกันทัดทานว่า เสด็จฯ ไปไม่ได้ ทางที่ไปขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อเพราะเป็นหน้าฝน และจุดที่จะเสด็จฯ ไป รถยนต์เข้าไม่ถึง อยู่ห่างจากถนนประมาณหนึ่งกิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั้น ๆ ว่า “ฉันไปได้


การเปลี่ยนเส้นทางกะทันหันในยามค่ำมืดเช่นนี้ ย่อมมีปัญหาที่ทุกคนกังวลยิ่ง คือเรื่องการถวายความปลอดภัย ไม่มีใครทราบว่า เส้นทางที่จะไปจะเจออะไรบ้าง ผมจำได้ว่า พอสุดเส้นทางถนนขรุขระที่รถแล่นได้ ทุกคนต้องลงเดิน ทางที่เดินนั้นมืดมาก สภาพเหมือนเป็นสวนผลไม้ของราษฎร มีการยกร่องเป็นจุด ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินโดยมีเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่องทาง ผู้ที่ตามเสด็จทุกคนเตรียมพกไฟฉายประจำตัวอยู่แล้ว ถ้าใครไม่มี เป็นต้องเดินตกท้องร่องแน่ ๆ สักครู่ก็ถึงบ้านใต้ถุนสูงของเจ้าของสวน ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมอายุประมาณ ๗๐ ปีเศษ นุ่งกางเกงสีน้ำเงินไม่สวมเสื้อ เห็นกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ แสดงอาการตื่นเต้น ดีอกดีใจ เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินผ่านที่ของเขา ชายคนนี้คือ ลุงวาเด็ง


ลุงวาเด็งรับอาสานำทางไปยังจุดที่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร คือปากคลองน้ำจืด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้กรมชลประทานไปพิจารณารายละเอียด เพื่อสร้างประตูบังคับน้ำที่ปากคลอง เพื่อเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในหน้าแล้ง หลังจากประทับอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง จึงเสด็จฯ กลับ โดยทรงแวะที่บ้านลุงวาเด็ง ช่วงนั้นมีสุภาพสตรีสามถึงสี่คน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เอี่ยมสวยงาม คลุมศีรษะเรียบร้อยตามประเพณี ยืนรอเฝ้าฯ รับเสด็จ เข้าใจว่าเป็นครอบครัวของลุงวาเด็ง


ลุงวาเด็งซึ่งยังคงอยู่ในชุดเดิม เฝ้าฯ กราบบังคมทูลฯ อยู่ข้างบ่อน้ำตื้น ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำใหม่เอี่ยมวางอยู่ข้างบ่อ ลุงวาเด็งได้กราบบังคมทูลฯ เป็นภาษายาวี (โดยมีล่ามแปล) ความว่า เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวของเขาอย่างยิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ มาถึงบ้าน แต่เสียใจเหลือเกินที่ไม่มีผลไม้ทูลเกล้าฯ ถวายเลย เงาะกับทุเรียนที่ปลูกไว้ก็เพิ่งขายไป เหลือทุเรียนลูกเล็ก ๆ ห้อยต่องแต่งอยู่ลูกเดียว และยังดิบอยู่ เงินที่ได้มาสองหมื่นบาทก็เอาไปซื้อเครื่องสูบน้ำใหม่ที่เห็นวางอยู่ ผมจำได้ว่าเป็น ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเรื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ที่กล่าวทำนองแหย่เล่นว่า “ไม่มีอะไรถวาย ก็ปั๊มน้ำนั่นไงล่ะ” ลุงวาเด็งแสดงอาการดีใจเหมือนเพิ่งนึกได้และกราบบังคมทูลฯ ว่า “ถวายเลย ขอถวายปั๊มน้ำ” พร้อมกับหันไปทางเจ้าหน้าที่บอกว่า “ยกไปเลย ยกไปเลย” เสียงของลุงวาเด็งบ่งบอกถึงความจริงใจ ว่าตั้งใจทูลเกล้าฯ ถวายด้วยความเต็มใจจริง ๆ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแย้มพระสรวล ลุงวาเด็งแสดงท่าทางงุนงงที่ทุกคนได้แต่ยิ้ม แต่ไม่มีใครมีท่าทีจะไปยกปั๊มน้ำ ลุงวาเด็งจึงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระเมตตา ไม่ทรงรับปั๊มน้ำของลุงหรอก ต่อมาเมื่อใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา ลุงวาเด็งจะหอบหิ้วผลไม้ตามฤดูกาลเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกลุงวาเด็งว่า “พระสหาย” ...


... พวกเราเห็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินวนหลายรอบบริเวณทิศตะวันตก ซึ่งลำน้ำลำพะยังไหลผ่าน พวกเราคาดคะเนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงทอดพระเนตรบริเวณที่น่าสนใจแถบนั้น และเชื่อว่าเดี๋ยวพระองค์ท่านคงจะเสด็จฯ ไปแน่ จึงเอาแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ มาดูกันเป็นการด่วน ครู่ใหญ่ เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งลงจอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินมายังพวกเราที่ยืนรอเฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงชี้ไปที่ลำน้ำพะยังในแผนที่ จุดใกล้ ๆ กับบ้านกุดตอแก่น พร้อมกับมีพระราชดำรัสว่า ลำพะยังเหมือนลำน้ำทั้งหลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำน้ำคดเคี้ยวมาก หน้าน้ำ น้ำจะท่วมเป็นประจำ พอหมดฝน ลำน้ำก็แห้งผาก กลายเป็นหุบเหวลึกสิบถึงสิบห้าเมตร น่าจะพิจารณาจุดที่เหมาะสมสร้างประตูเก็บน้ำไว้ใช้หลังฝน ประเดี๋ยวพระองค์ท่านจะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรตรงจุดนี้ ทรงชี้ในแผนที่ มีพระราชดำรัสแล้ว พระองค์ท่านก็เสด็จฯ ไปยังที่ว่าการอำเภอ


รองสมุหราชองครักษ์ พลอากาศโท สุพจน์ ครุฑพันธุ์ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล และผมจะต้องอยู่ในรถนำขบวน พวกเรารีบตะลีตะลานศึกษาเส้นทางที่จะไปยังจุดที่พระองค์ท่านทรงชี้ มีปลัดอำเภอโทอยู่คนเดียวที่เป็นคนกาฬสินธุ์ แต่ก็ไม่ใช่คนอำเภอเขาวง ไม่ชำนาญพื้นที่เหมือนกัน สรุปว่าระหว่างนำขบวนซึ่งเส้นทางต้องผ่านบ้านกุดตอแก่น เราจะรีบไปพาตัวกำนัน ซึ่งมีบ้านอยู่ที่นั่น ให้นำทางไป


เวลาเกือบ ๑๙.๐๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากอำเภอ ขบวนเริ่มออกเดินทางไปจุดที่ลำพะยังแห้งเป็นหุบเหวลึก พวกเราในรถใจคอไม่สู้ดี เพราะไม่รู้เส้นทางเลย ได้แต่ดูจากแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ และขณะนั้น บรรยากาศมืดสนิท การจัดขบวนสเด็จฯ รถยนต์พระที่นั่งจะเป็นคันที่สอง ต่อจากรถนำซึ่งเป็นรถของเรา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง จำได้ว่าเป็นรถ Jeep Wagoneer พวงมาลัยซ้าย เราเร่งเครื่องเต็มที่ เหลียวดูเห็นไฟหน้ารถขบวนยาวเหยียด เราทิ้งระยะขบวนประมาณสองถึงสามกิโลเมตร พอถึงหน้าบ้านกำนัน ปลัดอำเภอตะโกนเรียก ได้ความว่า กำนันไม่อยู่ ไปกรุงเทพฯ พวกเราชักเลิ่กลั่ก ออกจากหน้าบ้านกำนันก็พบชายสองถึงสามคนยืนอยู่ริมถนน คนหนึ่งนุ่งผ้าขาวม้าไม่สวมเสื้อ ปลัดอำเภอส่งภาษาท้องถิ่นถามไปมา รถยนต์พระที่นั่งก็ใกล้เข้ามา รองสมุหราชองครักษ์ พลอากาศโท สุพจน์ ครุฑพันธุ์ บอกให้คว้าตัวขึ้นมาเลย โดยให้นั่งเบียดข้างหน้า ปลัดอำเภอโต้ตอบกับมัคคุเทศก์ที่นุ่งผ้าขาวม้าตลอดเวลา ซึ่งเราฟังไม่ออก


พอรถออกจากบ้านกุดตอแก่น มัคคุเทศก์บอกให้เลี้ยวซ้าย ขับไปได้ราวสองสามกิโลเมตร มัคคุเทศก์สั่งให้เลี้ยวขวาลงทางเกวียน ถนนขรุขระสุด ๆ รถกระเด้งกระดอนแกว่งไปมา มืดก็มืด มีแต่ไฟรถยนต์ส่องทาง พวกเราชักใจเสีย เพราะรถยนต์พระที่นั่งและขบวนตามมาติด ๆ รถแล่นอยู่บนทางเกวียนเกือบสองสามกิโลเมตร พักใหญ่ รถมาหยุดอยู่ตรงชายป่าละเมาะ สิ้นสุดทางเกวียน เราคิดว่าต้องมาผิดทางแน่ คงจะสื่อสารกันไม่เข้าใจหรืออย่างไร รถยนต์พระที่นั่งมาจอดใกล้ ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ผมวิ่งไปถวายความเคารพ พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสถามว่า “อธิบดีจะพาฉันไปดิสโก้ที่ไหน” ผมยิ้มแห้ง ๆ กราบบังคมทูลตอบว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่าที่นี่ที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า” พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสว่า “ตอนออกจากบ้านกุดตอแก่น ต้องเลี้ยวขวา แต่รถนำเลี้ยวซ้าย ฉันเลยต้องตามมา” มีพระราชดำรัสสั่งให้ถามมัคคุเทศก์ให้ชัดเจนว่า จุดที่ลำพะยังเป็นหน้าผาสูง มองเห็นลำน้ำเป็นร่องเหวลึก มีทางไปได้ไหม ปลัดอำเภอสอบถามได้ความว่า ต้องกลับไปบ้านกุดตอแก่น จากนั้นต่อไปอีกสองถึงสามกิโลเมตร แล้วต้องเดินไปอีกราวห้าร้อยเมตร จะถึงลำพะยังตรงจุดนั้น


ขบวนกลับรถกันกลางทุ่งนาอย่างทุลักทุเล ขณะนั้นเวลาประมาณ ๑๙.๓๐ นาฬิกา วิ่งกลับไปจนสุดทางตามที่มัคคุเทศก์บอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงพระดำเนินท่ามกลางความมืดไปในทุ่งนาตะปุ่มตะป่ำ โดยมีไฟฉายส่องทางและมีมัคคุเทศก์ผ้าขาวม้าเดินนำ ทุกคนต้องเดินอย่างระมัดระวัง ถ้าพลาด เท้าจะแพลงได้ทันที สักครู่มาถึงสระบัวของราษฎร มีรั้วหนามกั้นอยู่ เส้นทางต้องผ่านที่นี่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามไม่ให้ตัดลวดหนาม โดยทรงให้เจ้าหน้าที่ถ่างลวดหนาม แล้วทรงพระดำเนินมุดรั้วลวดหนามเข้าไป


ความรู้สึกของผมขณะนั้นบอกไม่ถูก นึกรำพึงในใจว่า จะมีพระเจ้าแผ่นดินหรือพระประมุขของประเทศไหนหนอในโลกนี้ ที่จะทรงตรากตรำพระวรกายจนถึงทรงมุดรั้วลวดหนาม เพื่อจะเสด็จฯ ไปทรงหาน้ำให้ราษฎร ยิ่งกว่านั้น พระองค์ท่านยังทรงหันกลับมามีพระราชดำรัสเตือนว่า “อธิบดี อย่าลืมซ่อมรั้วให้เขานะ”


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทอดพระเนตรลำพะยังที่แห้งผากเป็นหุบเหวอยู่ครู่ใหญ่ พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานไปพิจารณาจุดที่เหมาะสมในลำน้ำลำพะยังกับลำน้ำก่ำ เพื่อทำประตูเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ในช่วงทรงพระดำเนินกลับ ระหว่างทางมีราษฎรราวสิบคนที่ทราบข่าวการเสด็จฯ ได้มานั่งรอเฝ้าฯ อยู่ข้างกองรวงข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหยิบรวงข้าวมาทอดพระเนตร รวงข้าวมีเมล็ดข้างลีบ ๆ อยู่สี่ถึงห้าเมล็ด ทรงถามด้วยพระพักตร์ที่หม่นหมองว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ราษฎรกราบบังคมทูลตอบว่า “ปีนี้แล้งมาก ข้าวตายเกือบหมด ต้องปักดำไปในหลุมแห้ง ๆ ข้าวที่รอดก็อาศัยน้ำค้าง ไม่พอกิน ปีนี้อดอยากกันทั่ว”


ด้วยพระปรีชาสามารถในเรื่องน้ำ และเรื่องการชลประทานอย่างน่าอัศจรรย์ ระหว่างที่เสด็จฯ กลับ พอถึงบ้านกุดตอแก่น ตรงกลางถนนลูกรังที่มืดมิด ทรงคลี่แผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ พิกัดตรงบริเวณนั้นออกมา เจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่องแผนที่ ทรงชี้ให้คณะผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเลขาธิการ กปร. ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล รองเลขาธิการ คุณพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต ผม คุณสุพจน์ รุจิรกุล และนายช่างชลประทานเจ้าของพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดและทรงวางโครงการ ณ ที่นั้นเอง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานไปพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน มีพระราชดำรัสแนะนำว่า ถ้าสร้างตรงจุดนั้น จะเก็บน้ำได้สามถึงสี่ล้านลูกบาศก์เมตร และให้ส่งน้ำโดยท่อเพื่อประหยัดน้ำ ช่วยพื้นที่บริเวณอำเภอเขาวง


แต่ถึงกระนั้น น้ำก็ยังไม่พอกับความจำเป็น ทรงชี้ไปที่ห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของภูเขาอยู่ต่างลุ่มน้ำ มีพระราชดำรัสต่อไปว่า ห้วยไผ่มีน้ำมาก ถ้าสร้างอ่างตรงจุดนี้ (ที่ทรงชี้) จะเก็บน้ำได้เกือบสิบล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่เกษตรก็มีน้อย น้ำจะเหลือเฟือ แล้วทรงให้พิจารณาผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยสร้างอุโมงค์นำน้ำมาช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำพะยัง


ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนสร้างเสร็จแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อุโมงค์ผันน้ำจากห้วยไผ่ข้ามลุ่มน้ำมาอำเภอเขาวงสร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำโดยอุโมงค์แห่งแรกในประเทศไทย ส่วนประตูเก็บน้ำในลำน้ำก่ำห้าประตู เก็บน้ำได้ประตูละสามถึงห้าล้านลูกบาศก์เมตร ทุกโครงการสร้างเสร็จได้ช่วยเหลือราษฎรอย่างเต็มที่ เป็นไปตามที่ได้ทรงวางโครงการในคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ กลางถนนลูกรังของบ้านกุดต่อแก่นทุกประการ ชีวิตความเป็นอยู่จากที่เคยยากจนลำบากสาหัส ปัจจุบันดีขึ้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ราษฎรพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหมือนฟ้ามาโปรด” ...


... วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังวัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ก่อนเสด็จขึ้นไปบนอุโบสถ มีพระราชดำรัสว่า เดี๋ยวพระองค์ท่านจะเสด็จฯ ไปที่ห้วยหินขาว ทางการไฟฟ้าภูมิภาครีบจัดเตรียมการเอาเครื่องไฟฟ้ากับโคมไฟไปรอไว้ ช่วงพลบค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากอุโบสถ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เองเช่นเคย ขบวนมาจอดอยู่ห่างจากวัดประมาณเจ็ดถึงแปดกิโลเมตร เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ทรงพระดำเนินไปยังเนินดินเตี้ย ๆ ทรงชี้ไปที่พื้นดินข้างหน้า และมีพระราชดำรัสกับผมว่า “อธิบดี เห็นไหม นี่แหละคือห้วยหินขาว”


ผมมองดู เห็นเป็นร่องดินปนกรวดทรายกว้างราวสามถึงสี่เมตร ไม่เห็นมีน้ำสักหยด ผมมองอย่างไรก็ดูไม่ออกว่า นั่นคือ ร่องลำห้วย มีพระราชดำรัสต่อไปว่า “แถวนี้เป็นที่อับฝน ดินปนทราย พอหมดฝน น้ำในลำห้วยก็แห้งสนิท ให้ไปพิจารณากั้นเป็นเขื่อนบริเวณนั้น” พลางทรงชี้ไปที่จุดห่างไปจากที่ทรงยืนประมาณสองถึงสามร้อยเมตร “จะเก็บน้ำได้ราวสี่แสนลูกบาศก์เมตร ช่วงแรก จะมีการระเหยและซึมค่อนข้างมาก ต่อไปจะซึมน้อยลง แต่ไม่เป็นไร น้ำที่ซึมก็จะไปทำให้พื้นที่ท้ายน้ำชุ่มชื้นขึ้น น้ำสี่แสนลูกบาศก์เมตรตามกฤษฎีของชลประทานจะช่วยพื้นที่ได้ราว ๒,๕๐๐ ไร่ แต่ทฤษฎีใหม่ของฉันจะช่วยพื้นที่ได้เกือบหมื่นไร่” ผมยิ่งฟังพระราชดำรัสยิ่งงง เริ่มตั้งแต่ลำห้วยที่ผมมองไม่ออกว่าเป็นลำห้วย แล้วแต่มา ทฤษฎีใหม่ยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกถึงสี่เท่า


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสต่อไปว่า “ให้จัดทำโครงการทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ทำกินของราษฎรที่รับน้ำจากอ่างห้วยหินขาว โดยให้แบ่งแปลงออกเป็น ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ สมมุติว่ามีที่ ๑๐ ไร่ ๓ ไร่ให้ขุดสระเก็บน้ำ ลึกสามถึงสี่เมตร เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงไก่บนบ่อด้วยก็ได้ ๓ ไร่ทำนา หมดหน้านาก็ปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อย ส่วนอีก ๓ ไร่ ทำไร่ ทำพืชสวน อีก ๑ ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยและถนน ตัวเลขจริงปรับได้ตามสภาพพื้นที่ ราษฎรจะทำนาในหน้าฝน เพื่อเอาข้าวไว้บริโภคตามธรรมเนียม หากเหลือก็ขาย น้ำในสระจะช่วยไม่ให้ข้าวขาดน้ำ หากเกิดฝนทิ้งช่วง เมื่อหมดฝน น้ำในสระ ๓ ไร่ จะใช้กับผักผลไม้ และสวนผสม เมื่อน้ำหมด ให้กรมชลประทานวางระบบส่งท่อน้ำมาเติมในสระ ทฤษฎีใหม่นี้ จะทำให้อ่างห้วยหินขาวเพิ่มพื้นที่เกษตรได้มาก ‘อธิบดีใหม่ ต้องใช้ทฤษฎีใหม่’ ”


กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้มีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๖ ทุกประการ น้ำในอ่างห้วยหินขาว ช่วงแรกระเหยและซึมมาก แต่ราษฎรที่อยู่ท้ายน้ำบอกว่า ตั้งแต่มีอ่างห้วยหินขาว บ่อน้ำตื้นที่ไม่เคยมีน้ำในหน้าแล้ง เดี๋ยวนี้มีน้ำตลอดปี สำหรับลำห้วยหินขาวท้ายอ่าง ซึ่งจะแห้งสนิทหลังฝน กลับมีน้ำตลอดปี ...


... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองปัญหาในมุมที่คนส่วนใหญ่มองไม่ค่อยเห็น และพระองค์ท่านจะทรงแก้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ซึ่งได้ผลอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง โครงการมูโนะเป็นโครงการหนึ่งที่ผมได้อยู่ในเหตุการณ์ เพราะได้ติดตามอธิบดีนมัส ปิติวงษ์ไปรับเสด็จที่นราธิวาส ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๒ แม่น้ำโกลกเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ต้นน้ำเป็นเทือกเขาสันกาลาคีรี แม่น้ำไหลออกทะเลที่อำเภอตากใบ มีปัญหาน้ำท่วมอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุไหงปาดีเป็นประจำ ฝั่งมาเลเซียทำคันกั้นน้ำตลอดแนว น้ำแทนที่จะไหลล้นสองฝั่ง กลับล้นมาฝั่งเราฝั่งเดียว จึงท่วมหนักกว่าปกติ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประทานว่า “ฝั่งมาเลเซียทำคันกั้นน้ำ ถ้าฝั่งเราทำบ้าง ต่อไปก็จะสูงขึ้นสูงขึ้นทั้งสองฝั่ง กลายเป็นกำแพง” พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโครงการมูโนะ โดยทำประตูนำน้ำส่วนที่เกินจากแม่น้ำโกลกเข้ามาที่คลองมูโนะ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานสร้างระบบชลประทาน ทำคลองส่งน้ำส่งไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรในอำเภอสุไหงโก-ลก กับอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โครงการมูโนะสอดคล้องช่วยเหลือเกื้อกูลกับโครงการพรุโต๊ะแดงของพระองค์ท่านอีกโครงการหนึ่งด้วย พรุโต๊ะแดงคือป่าชุ่มน้ำผืนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ...


พรุโต๊ะแดงเริ่มต้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ไปสิ้นสุดที่อำเภอสุไหงโก-ลก ระยะทางเกือบสี่สิบกิโลเมตร เดิมครอบคลุมพื้นที่เกือบสองแสนไร่ ในปีที่แล้งติดต่อกัน ราษฎรที่ทำกินอยู่บริเวณรอบพรุจะค่อย ๆ รุกล้ำเข้าไปทำกิน บางปีก็เกิดไฟไหม้ป่าพรุ จนปัจจุบันเหลือพื้นที่พรุเพียงประมาณ ๘๐,๐๐๐ ไร่ ปัญหาการทำกินของราษฎรคือเรื่อง ๔ น้ำ คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเปรี้ยว และน้ำเค็ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการพรุโต๊ะแดง โดยขุดลอกคูคลองแล้วสร้างประตูควบคุมน้ำ ให้บริหารจัดการโดยให้น้ำในพรุอยู่ในระดับไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร ถ้าน้ำน้อยกว่านั้น เมื่อดินแห้ง ปฏิกิริยาของใบไม้รากไม้ที่สะสมอยู่ใต้ดินลึกหลายสิบเมตรจะทำให้เกิดความร้อนเกิดไฟลุกขึ้นเองได้ ยากที่จะทำการดับ เมื่อน้ำมากก็เปิดประตูระบายน้ำออก ไม่ให้ล้นท่วมพื้นที่เกษตรของราษฎร และทรงกำชับให้กรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันไฟไหม้ป่า และป้องกันการบุกรุกของราษฎร เพื่อรักษาผืนป่าชุ่มน้ำอันมีค่านี้ไว้


เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านโคกอิฐ โคกใน และโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ทอดพระเนตรสภาพความยากจนของชาวบ้าน ทรงซักถามถึงปัญหาอุปสรรค ในการดำรงชีพของราษฎร ราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมที่มารอเฝ้าฯ ได้กราบบังคมทูลฯ ว่า ถึงแม้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้บรรเทาเบาบางลงตั้งแต่มีโครงการพรุโต๊ะแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่ก็มีเรื่องน้ำเปรี้ยวที่ไหลมาจากพรุ ทำให้สวนผลไม้ไม่ได้ผล ข้าวก็ได้ไร่ละ ๑๐-๑๕ ถัง บางปีได้เพียง ๔-๕ ถัง ไม่พอกิน สัตว์เลี้ยงมักจะล้มป่วย กรมพัฒนาที่ดินช่วยเหลือโดยนำปูนมาร์ลมาใส่ในนา แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถใส่ให้เพียงพอได้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสว่า น้ำจืดในโครงการมูโนะ มีเหลือเฟือ ให้กรมชลประทานสร้างคลองน้ำจืดมาชะล้างดินเปรี้ยวและใช้น้ำในการทำนา แล้วทำคันกั้นน้ำจากพรุโต๊ะแดง โดยให้ทำระบบคลองระบายน้ำเปรี้ยวแยกออกต่างหาก ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เกษตรของราษฎร และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำให้ความรู้ด้านวิชาการแก่ราษฎร


หลายปีต่อมา วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ไปยังบ้านโคกอิฐ โคกใน และโคกกูแวอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนสังเกตเห็นมีบ้านสร้างใหม่ขึ้นหลายหลัง ต้นผลไม้ก็ดูเขียวชอุ่มงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะข้าวในนากำลังงามแตกกอเต็มท้องทุ่ง ราษฎรที่มารับเสด็จทุกคนมีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ราษฎรกราบบังคมทูลฯ ว่า เดี๋ยวนี้ข้าวที่เคยได้ ๕-๑๐ ถังต่อไร่ ไม่พอกิน ตั้งแต่ได้น้ำจืดพระราชทานและทำคันเอาน้ำเปรี้ยวออก ต้นข้าวก็งดงามได้ถึง ๔๐-๕๐ ถังต่อไร่ ทำนาได้ปีละสองครั้ง เหลือพอขาย ต้นผลไม้ก็พลอยงามให้ผลดี วัวควายก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ ทุกอย่างดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เดี๋ยวนี้สบายแล้ว ทุกคนในขบวนเสด็จฯ สังเกตเห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสันถารกับราษฎรและทรงซักถามในรายละเอียดด้วยพระพักตร์ที่เบิกบานผ่องใส ทุกข์ของราษฎรคือทุกข์ของพระองค์ท่าน คงไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงมีความสุขยิ่งไปกว่าความอยู่ดีกินดี รอดพ้นจากความยากจนของพสกนิกรของพระองค์ท่าน ผมจำภาพนี้ติดตาไม่มีวันลืมเลือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหันพระพักตร์มาที่พวกเรา แย้มพระสรวลแล้วมีพระราชดำรัสว่า “ฉันดีใจมาก


(ส่วนหนึ่งจากบทความ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก” โดยท่านสวัสดิ์ วัฒนายากร)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP